โปสเตอร์ “เตือนภัย” ผู้โดยสารรถไฟ แบบโหดๆ

"นั่งรถอย่าชะโงกหน้าต่าง" วาดโดยคุณศุภารัตน์(ตามที่ระบุในภาพ) พิมพ์โดยบริษัทประชุมช่าง จำกัด นายประสงค์ เหตระกูล ผู้พิมพ์ เมื่อปี พ.ศ.2511 (อ้างโดย โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ) ชมภาพอื่นๆได้ที่ เฟซบุ๊กโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ อัลบัม โปสเตอร์เตือนภัย (https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1012977258760802.1073742212.222323771159492&type=3)

เฟซบุ๊กของโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟได้เผยแพร่ภาพโปสเตอร์เตือนให้ระวังเหตุอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ในเขตพื้นที่ของการรถไฟฯ ซึ่งเคยนำมาใช้ติดประชาสัมพันธ์ตามสถานีต่างๆ เพื่อแจ้งเตือนผู้โดยสารและประชาชนทั่วไป ในช่วงปี พ.ศ.2508 – 2511

หลายภาพแสดงถึงผลลัพธ์ของความประมาทจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตด้วยภาพที่น่าสยดสยองถูกเน้นด้วยเลือดสีแดงสดที่สาดกระจายออกมาจากร่างของผู้ประสบเหตุอย่างเด่นชัด ด้วยหวังสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้พบเห็น เพื่อมิให้ประพฤติเป็นเยี่ยงอย่าง ชาวเน็ตหลายคนเมื่อได้เห็นภาพแล้วรู้สึกโหยหาอดีต บางรายอยากให้นำภาพเหล่านี้กลับมาใช้อีกครั้งเพื่อเตือนให้เด็กๆ “ไม่ดื้อ”

อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงผลเสียของการได้รับรู้ถึงเหตุการณ์รุนแรงเกินพอดี เช่นงานวิจัยของศูนย์สุขวิทยามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเท็กซัสที่อ้างว่า เด็กๆที่เติบโตมากับภาพเหตุการณ์ความรุนแรงอาจมีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ตามมาในภายหลัง

และแม้กระทั่งผู้ใหญ่เองการได้เห็นภาพความรุนแรงอย่างสม่ำเสมอก็มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตเช่นกัน ทั้งนี้จากผลวิจัยของมหาวิทยาลัยโตรอนโต ที่ทำการศึกษาผลกระทบของภาพความรุนแรงต่อสุขภาพจิตของนักข่าว ซึ่งได้ข้อสรุปว่า นักข่าวที่ได้เห็นภาพความรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะหดหู่ ซึมเศร้า บางรายเลือกที่จะใช้เหล้าแก้ปัญหา ทำให้อัตราการบริโภคแอลกอฮอล์ของนักข่าวกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ: 26 กรกฎาคม 2559