กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง การเริ่มต้นความจริงเกี่ยวกับปัตตานี ด้วยประวัติศาสตร์แห่งการลวง

เต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน กษัตริย์ปัตตานีพระองค์สุดท้าย

สามปีหลังการสถาปนาราชวงศ์จักรีเมื่อ พ.ศ. 2325 ปัตตานีมิได้ส่งเครื่องบรรณาการให้แก่กรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงส่ง พระยาราชบังสัน (แม้น) นำทัพเรือเข้าโจมตีปัตตานี เรือรบสยามแล่นตามลำคลองปาแปรีอันเป็นสาขาของแม่น้ำปัตตานีไปจนถึงประตูเมือง สุลต่านปัตตานีไม่ยอมจำนน พระยาราชบังสันสั่งให้เรือรบยิงถล่มประตูเมือง กระสุนปืนใหญ่ตกในเมืองหลายนัดทำให้ชาวเมืองปัตตานีล้มตายกันมาก ที่สุดปัตตานีก็ยอมแพ้ต่อสยาม [1] ใน พ.ศ. 2351 พระองค์โปรดให้เจ้าเมืองสงขลาเป็นผู้ดูแลควบคุมปัตตานีแทนเจ้านครศรีธรรมราช และดินแดนนั้นก็กลายเป็น 7 หัวเมือง คือ ปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง รามัน ยะลา สายบุรี และระแงะ [2]

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่งเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2444 เมื่อรัฐบาลสยามออกกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ 7 หัวเมือง ข้อบังคับนี้ระบุว่า รัฐบาลจะแต่งตั้งปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมืองไปช่วยพระยาเมืองทั้งหลายปกครองตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 จะส่งพนักงานสรรพากรไปเก็บภาษีอากรตามระเบียบกระทรวงการคลัง แม้ว่าในส่วนครอบครัวและศาสนาจะเคารพประเพณีอิสลามว่าด้วยการแต่งงานและสืบตระกูล แต่ก็จะส่งผู้พิพากษาไปตัดสินคดีตามพระธรรมนูญศาลหัวเมือง ร.ศ. 114 ที่สำคัญคือจะส่งข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณให้ไปตรวจราชการทั้งภายในเมือง และที่เกี่ยวกับต่างประเทศต่างพระเนตรพระกรรณให้ “เป็นไปโดยเรียบร้อยตามพระราชประสงค์” [3]

รายงานของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2542) ระบุว่า นับแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงประมาณ พ.ศ. 2445 เกิดการต่อสู้เพื่อให้ปัตตานีเป็นอิสระจากการปกครองของสยามถึง 6 ครั้ง คือ กรณี ตนกูลัมมิเด็น พ.ศ. 2329, ระตูปะกาลัน พ.ศ. 2349, นายเซะ และเจะบุ พ.ศ. 2364 และ พ.ศ. 2369, เจ้าเมืองหนองจิก พ.ศ. 2370, เจ้าเมืองปัตตานี (ตนกูสุหลง) พ.ศ. 2374 และ ตนกูอับดุลกาเดร์ (พระยาวิชิตภักดีฯ) พ.ศ. 2445 [4] ซึ่งเป็นจุดจบแห่งยุคสมัยรายาปัตตานี เพราะไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งเชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีขึ้นครองเมืองอีกต่อไป

หลังจากนั้น 4 ปี รัฐบาลสยามก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการหัวเมืองปักษ์ใต้เป็น 4 เมือง คือ ปัตตานี ยะลา สายบุรี และระแงะ

วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2452 สยามลงนามใน “สัญญากรุงเทพฯ” ยกสิทธิการปกครองและบังคับบัญชาเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้อังกฤษ โดยฝ่ายอังกฤษรับรองว่าจะให้รัฐบาลสหพันธรัฐมลายูจัดการหนี้สินที่รัฐเหล่านั้นมีกับรัฐบาลสยามให้เรียบร้อย กับยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและอำนาจกงสุลในสยาม ส่วนคนในบังคับอังกฤษก็ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคนพื้นเมือง เว้นแต่ไม่ต้องเป็นทหารเท่านั้น [5]

ในสายตาของนักประวัติศาสตร์บางคน สนธิสัญญานี้เป็นผลดีต่อไทยในแง่ของความเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ แม้จะต้อง “เสียดินแดนมลายู 4 รัฐ รวมเนื้อที่ประมาณ 15,000 ตารางไมค์ และพลเมืองกว่าห้าแสนคนให้อังกฤษก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ดินแดนที่เป็นคนไทยแท้ๆ” [6] อันที่จริงสนธิสัญญานี้ทำให้สุลต่านมลายูบางองค์ โดยเฉพาะที่กลันตันและตรังกานูโกรธเคืองมากจนปรารภกับนาย Arthur C. Adams ที่ปรึกษาการคลังอังกฤษประจำไทรบุรีว่า “ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับการขายลูกวัว ฉันให้อภัยคนซื้อซึ่งไม่มีพันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้” [7]

ใน พ.ศ. 2459 เกิดการปกครองท้องที่เป็นจังหวัดในมณฑลปัตตานี เวลานั้นสายบุรียังนับเป็นจังหวัดหนึ่ง จนกลายมาเป็นจังหวัดเช่นในปัจจุบัน ใน พ.ศ. 2476 โดยเปลี่ยนสายบุรีให้กลายเป็นอำเภอหนึ่งของปัตตานีไปในที่สุด [8]

เตช บุนนาค เริ่มต้นข้อเขียน “พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ ร.ศ. 121” ว่า “ในรัชกาลอันยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411 – พ.ศ. 2453) ปี ร.ศ. 121 หรือ พ.ศ. 2445 เป็นปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์รุนแรงบังเกิดขึ้นมากผิดปกติ” [9] เหตุการณ์ที่ว่า “รุนแรง” นั้นได้แก่ขบถผู้มีบุญภาคอีสาน ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2444 จนถึงประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2445 ทางภาคเหนือเกิดขบถเงี้ยวเมืองแพร่ ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2445 ทั้งสองเหตุการณ์รัฐบาลต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม ในปีเดียวกันพระยาแขกเจ้าเมือง ตานี ยะหริ่ง สายบุรี ระแงะ รามันห์ ยะลา และหนองจิก “ก็แสดงท่าทีว่าได้คบคิดขบถอยู่บ้างเหมือนกัน แต่รัฐบาลสามารถระงับเหตุการณ์ไว้ได้ก่อน เรื่องจึงมิได้ลุกลามขึ้นเป็นขบถเช่นที่อื่น” [10]

คำอธิบายปรากฏการณ์ “ขบถ ร.ศ. 121” โดยเฉพาะกรณีพระยาแขกทั้งเจ็ด “คบคิดขบถ” อาจสรุปได้ว่า เป็นปฏิกิริยาของท้องถิ่นต่อการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือกรุงเทพฯ โดยอาศัยการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5 ส่วนเหตุผลแห่งการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 ก็คือความจำเป็นที่ต้องปรับรูปสยามให้เป็นรัฐชาติสมัยใหม่ เพื่อโต้ตอบกับอิทธิพลอำนาจของจักรวรรดินิยมฝรั่งที่แวดล้อมประเทศอยู่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส เมื่อเสด็จประพาสหัวเมืองมลายู ใน พ.ศ. 2434 ว่า “เราไม่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษแต่อย่างใดในบรรดาหัวเมืองเหล่านี้…หากเราต้องสูญเสียหัวเมืองเหล่านี้ให้แก่อังกฤษ เราจะขาดแต่เพียงดอกไม้เงินดอกไม้ทอง นอกเหนือไปจากเครื่องราชบรรณาการนี้แล้ว ก็ไม่มีการสูญเสียทางด้านวัตถุอื่นใดอีก อย่างไรก็ตาม การสูญเสียดินแดนเหล่านี้ไปย่อมเป็นการเสื่อมเสียเกียรติภูมิของประเทศ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงต้องย้ำความเป็นเจ้าของดินแดนในส่วนนี้” [11]

อันที่จริงในสมัยนั้นอังกฤษและฝรั่งเศสได้ตกลงทำปฏิญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส 1896 (พ.ศ. 2439) ที่จะให้สยามเป็นรัฐกันชน แม้ทั้งสองประเทศจะยอมรับรองเอกราชและอธิปไตยของสยามเหนือบริเวณลุ่มเจ้าพระยา เพชรบุรี แม่กลอง ท่าจีน และบางปะกง แต่ก็ปล่อยดินแดนทางตอนใต้ไว้โดยปราศจากหลักประกันใดๆ [12]

เหตุการณ์พระยาแขก “คบคิดขบถ” นี้ มีคำอธิบายว่าเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลส่วนกลางส่งข้าราชการเข้าไปปกครองตามระบบเทศาภิบาล ทำให้ “ผู้นำของหัวเมืองทั้งเจ็ดไม่พอใจเพราะถูกริดรอนอำนาจลงอย่างมาก” [13] แต่เมื่อย้อนไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับหัวเมืองทั้งเจ็ด เมื่อ พ.ศ. 2444 ก็พอเข้าใจได้ว่า ความไม่พอใจของผู้นำและผู้คนในท้องถิ่นเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ 7 หัวเมือง คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นทั้งในด้านการบริหารปกครองเมือง การคลัง การติดต่อกับต่างประเทศ ตลอดจนการศาล ให้อำนาจเหล่านี้ย้ายตำแหน่งแห่งที่จากมือของเจ้าเมืองในท้องถิ่นมาขึ้นต่อรัฐบาลที่กรุงเทพฯ

ในแง่นี้บางคนจึงสรุปว่า เหตุแปรเปลี่ยนเกิดขึ้น “เมื่อสี่จังหวัดภาคใต้ถูกรวมเข้าไปในประเทศไทยเมื่อปี 2445” และเห็นว่า “ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ถือกำเนิดมาโดยบรรดาอดีตเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งต้องเสียสิทธิพิเศษไป เจ้าผู้ครองนครคนแรกที่ตั้งตัวเป็นกบฏคือ พระยาวิชิตภักดี (อับดุลกอเดร) อดีตเจ้าผู้ครองนครปัตตานีคนสุดท้ายซึ่งได้ต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี 2444” [14]

เตช บุนนาค ผู้ศึกษา “ขบถ ร.ศ. 121” โดยตรง เห็นว่ากรณีพระยาแขกทั้งเจ็ด เมื่อ พ.ศ. 2445 นั้นยังไม่ใช่ขบถ เป็นแต่เพียง “คบคิดขบถ” ยังไม่เกิดความรุนแรงขึ้น เพราะทางกรุงเทพฯ ยับยั้งไว้ได้ก่อนจึงมิได้มีใครเจ็บใครตายดังเช่นการปราบปรามด้วยกำลังทหารในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในสายตาของผู้คนอีกมากได้ถือว่าเกิด “กบฏ” ขึ้นแล้ว และเพราะถือว่าเกิด “กบฏ” ก็อาจเข้าใจต่อไปด้วยว่าเกิดความรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในสายตาของผู้เขียนประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี กลับเห็นว่าเหตุการณ์เมื่อ ค.ศ. 1902 หรือ พ.ศ. 2445 นี้สำคัญต่ออนาคตของปัตตานีเป็นอย่างยิ่ง Syukri เขียนว่า “ปี ค.ศ. 1902 เป็นปีที่เมืองปะตานีสูญเสียอำนาจอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการสูญเสียอธิปไตยของบรรดารายาและชาวเมืองปะตานี สิทธิเสรีภาพและความเป็นเอกราชอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้ากรุงสยามโดยสิ้นเชิง นับเป็นปีแห่งอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองปะตานี” [15]

ข้าพเจ้าสงสัยว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้คนอย่าง Syukri รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ “อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองปะตานี” จริงอยู่สิ่งที่มากับข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ 7 หัวเมือง หมายถึงการสิ้นสุดของเอกราชปัตตานี แต่นอกจากเหตุผลในเชิงโครงสร้างแห่งความพ่ายแพ้ของหัวเมืองซึ่งมีอดีตเป็นอาณาจักรต่อรัฐชาติสมัยใหม่แล้ว ยังจะมีคำอธิบายอื่นต่อความรู้สึก “อัปยศที่สุด” นี้หรือไม่

เพื่อตอบคำถามนี้คงต้องย้อนไปพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับปัตตานี โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2444 ที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ส่งขุนนางสำคัญคือพระยาศรีสิงหเทพมาเจรจากับเจ้าเมืองมลายู เพื่อแก้ปัญหาความไม่พอใจของเจ้าเมืองที่เกิดขึ้น จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 ที่เต็งกู อับดุลกาเดร์ถูกจับ ข้าพเจ้าจะพิจารณาเหตุการณ์นี้จากเอกสารของฝ่ายนักวิชาการมาเลย์มุสลิมที่ตีพิมพ์ในมาเลเซีย โดยเฉพาะงานของ Nik Anuar Nik Mahmud (1999) ซึ่งอาศัยหลักฐานเอกสารชั้นต้นมาสร้างภาพเหตุการณ์การเจรจานี้ได้อย่างน่าสนใจ และน่าจะช่วยให้เข้าใจทั้ง “ความอัปยศที่สุด” และความสัมพันธ์ระหว่าง “ความจริง” ในกรณีนี้ และปัญหาที่ “ความจริง” นี้ส่งผลต่อปัญหาความรุนแรงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลาต่อมาได้

ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2440 รัฐบาลสยามทำสัญญาลับกับรัฐบาลอังกฤษ เหตุผลฝ่ายไทยคือสัญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส พ.ศ. 2439 เท่ากับปล่อยให้ตอนใต้ของไทยปราศจากหลักประกัน ในขณะที่อังกฤษเห็นความจำเป็นจะสกัดกั้นอิทธิพลของเยอรมนีไม่ให้ก้าวเข้ามาทางตอนใต้ของไทย

สัญญาฉบับนี้ระบุว่า ไทยจะไม่ยอมให้ชาติหนึ่งชาติใดเช่าซื้อ หรือถือกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนไทยตั้งแต่ตำบลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษก่อนเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนอังกฤษสัญญาว่าจะให้ความคุ้มครองทางทหารต่อไทยหากถูกรุกรานจากชาติอื่น [16] ในสายตาของฝ่ายมลายูมุสลิม สัญญาลับนี้เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลสยามจัดการเปลี่ยนแปลงในหัวเมืองภาคใต้ได้สะดวกขึ้น

กรุงเทพฯ ส่งพระยาสุขุมนัยวินิตมาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลที่ปัตตานี สิ่งแรกที่พระยาสุขุมฯ ดำเนินการคือ จัดเก็บภาษีอากรฝิ่นและเหล้าใหม่ [17] โดยแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งให้กรุงเทพฯ ต่อมามีการเก็บภาษีที่ดินโดยไม่มีใบรับรอง ทำให้เก็บภาษีได้ปีละหลายครั้ง ใน ค.ศ. 1900 เริ่มเก็บภาษีส่งออกและนำเข้าโดยแบ่งให้ฝ่ายเจ้าเมืองมลายูเพียงร้อยละ 12.5 เท่านั้น เจ้าเมืองมลายูทั้งหลายคัดค้านระบบภาษีเช่นนี้มาแต่ต้น เพราะเห็นว่าสิทธิในการจัดเก็บภาษีเป็นของเจ้าเมืองไม่ใช่รัฐบาลสยาม

พระยาสุขุมนัยวินิต

เมื่อเต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดินขึ้นเป็นเจ้าเมืองปัตตานีคนใหม่ในปี ค.ศ. 1898 กรุงเทพฯ ก็ตัดไม่ให้รายได้ส่วนนี้แก่เจ้าเมืองปัตตานีคนใหม่ อีกทั้งรัฐบาลสยามยังได้เลื่อนการแต่งตั้งท่านเป็นเจ้าเมืองปัตตานีอย่างเป็นทางการออกไปอีก 2 ปี ระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าเมือง พระยาสุขุมนัยวินิตเกณฑ์กำลังทหารกว่า 600 คนมาบีบบังคับการเสียภาษีของประชาชน ยิ่งกว่านั้นข้าหลวงใหญ่ผู้นี้ยังห้ามไม่ให้เจ้าเมืองลงโทษประชาชนที่ขาดละหมาด (นมัสการ) วันศุกร์ และห้ามประชาชนบริจาคทานให้มัสยิดอีกด้วย [18]

แม้เมื่อเต็งกูกามารุดดินได้เป็นเจ้าเมืองปัตตานีในที่ “พระยาวิชิตภักดี” แล้ว ก็ยังไม่สามารถร้องเรียนให้รัฐบาลกรุงเทพฯ แก้ปัญหาทุกข์ร้อนต่างๆ ของปัตตานีได้ จึงร้องเรียนไปยังนาย Frank Swettenham ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่สิงคโปร์เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1901 ในจดหมายร้องเรียนนั้นระบุว่า การกดดัน ก่อกวนของรัฐบาลสยามที่กระทำต่อปัตตานี “กำลังนำไปสู่ความพินาศของบ้านเมืองของข้าพเจ้า” [19] แต่เพราะอังกฤษประสงค์จะสร้างสัมพันธ์อันดีกับสยาม จึงไม่ได้ให้ความช่วยเหลือดังที่เจ้าเมืองประสงค์

๑ Frank Swettenham
๒ พระยาศรีสหเทพ ปลัดทูลฉลองมหาดไทย

เต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน จึงเรียกประชุมเจ้าเมืองต่างๆ ที่วังจาบัง ตีกอ ในปัตตานี เพื่อหารือถึงแนวทางดำเนินการต่อไป ที่ประชุมเห็นชอบที่จะก่อขบถ โดยวางแผนไว้ในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1901 หลังจากได้อาวุธจากสิงคโปร์ โดยหวังว่าเมื่อหัวเมืองทางใต้ลุกฮือขึ้น ฝรั่งเศสจะเข้าตีสยามจากอินโดจีนทางเหนือ สยามคงต้องยอมปล่อยหัวเมืองมลายูให้เป็นอิสระ [20]

แต่ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1901 Swettenham ได้พบกับเต็งกูอับดุลกาเดร์ที่สิงคโปร์ เขาได้แนะนำรายาปัตตานีให้อดทน ให้หาทางออกที่ไม่ใช้ความรุนแรง และให้คำมั่นว่าหากฝ่ายปัตตานีทำตาม เขาจะปรึกษากับรัฐบาลอังกฤษให้หาทางคืนอำนาจให้รายาปัตตานี เต็งกูอับดุลกาเดร์ คล้อยตามความเห็นของข้าหลวงอังกฤษผู้นี้ จึงยกเลิกแผนจะก่อขบถ ขณะเดียวกัน Swettenham ก็ได้ห้ามส่งอาวุธจากสิงคโปร์มายังเมืองต่างๆ ในปัตตานี [21] กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้ส่งข่าวดังกล่าวให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์จึงทรงส่งพระยาศรีสหเทพ [22] มายังปัตตานีเพื่อสืบความ

วันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) พระยาศรีสหเทพและคณะเดินทางมาถึงปัตตานี ได้เข้าพบเต็งกูอับดุลกาเดร์ทันที รายาปัตตานีได้อธิบายให้พระยาศรีสหเทพทราบถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เจ้าเมืองมลายูทั้งหลายไม่พอใจข้าหลวงเทศาภิบาล ปัญหาที่ประชาชนต้องประสบเพราะการกดขี่ของข้าราชการสยาม ตลอดจนผลกระทบต่อสถานภาพของเจ้าเมือง รายาปัตตานีเสนอทางออกว่า สยามควรให้ปัตตานีปกครองตนเองเช่นเดียวกับรัฐเคดาห์ ใช้กฎหมายท้องถิ่นเป็นหลักในการปกครองและใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทางราชการ [23]

วันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1901 พระยาศรีสหเทพได้เข้าพบเต็งกูอับดุลกาเดร์อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ได้ขอให้รายาปัตตานีลงชื่อในหนังสือฉบับหนึ่ง ซึ่งเขียนด้วยภาษาไทย โดยแจ้งกับรายาปัตตานีว่า เนื้อหาในหนังสือฉบับนี้เป็นข้อร้องเรียนต่างๆ และแนวทางแก้ไขปัญหาของเต็งกูอับดุลกาเดร์ เพื่อจะนำเสนอต่อองค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

รายาปัตตานีปฏิเสธไม่ยอมลงชื่อในหนังสือนั้น เพราะเขียนเป็นภาษาไทย พระยาศรีสหเทพให้คำมั่นว่า หนังสือนี้มิใช่หนังสือสัญญาและรายาจะไม่ถูกผูกมัดจากเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว เต็งกูอับดุลกาเดร์ยังคงปฏิเสธไม่ยอมลงนาม จนที่สุดพระยาศรีสหเทพให้เจ้าหน้าที่แปลหนังสือนั้น และอ่านให้รายาปัตตานีฟัง หลังจากอ่านแล้ว พระยาศรีสหเทพได้ให้คำมั่นอีกครั้งหนึ่งว่า ฝ่ายปัตตานีจะไม่มีข้อผูกมัดใดๆ จากหนังสือดังกล่าว และยังสามารถแก้ไขได้ในภายหลังหากรายามีประสงค์

๑ พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม เจ้าเมืองยะหริ่ง
๒ อังกูสุลัยมาน บินอังกูซอและห์ เจ้าเมืองยะลาคนสุดท้าย
๓ เต็งกูอับดุลมุตตอลิบ บินเต็งกูอับดุลกอเดร์ หรือพระยาสุริยะสุนทรฯ เจ้าเมืองสายบุรีคนสุดท้าย

เมื่อได้ฟังคำมั่นรับรองแข็งแรง ที่สุดเต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน รายาปัตตานีก็ยอมลงนามในหนังสือนั้น พระยาศรีสหเทพจึงออกเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ เมื่อไปถึงสิงคโปร์ พระยาศรีสหเทพแจ้งให้ Swettenham ทราบว่า ปัญหาปัตตานีคลี่คลายแล้ว เพราะเต็งกูอับดุลกาเดร์ ยอมรับระเบียบการปกครองแบบใหม่ของรัฐบาลสยามในการเจรจานั้น [24]

แต่ที่ปัตตานี หลังจากพระยาศรีสหเทพจากไป เต็งกูอับดุลกาเดร์ ได้ให้คนของตนแปลหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นภาษามลายู ท่านตกใจเป็นล้นพ้น เมื่อพบว่าเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากที่พระยาศรีสิงหเทพได้อ่านให้ฟัง แม้ว่าหนังสือนั้นจะเป็นหนังสือที่จะส่งถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจริง แต่เนื้อหากลับเป็นว่า รายาปัตตานีเห็นชอบและยอมรับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 เพื่อความมั่นคงของปัตตานี และเห็นชอบให้แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของสยามที่มีอำนาจเด็ดขาดทุกเรื่องในปัตตานี [25]

เมื่อรู้ว่าตนถูกหลอก รายาปัตตานีก็ให้คนของตัวเดินทางไปพบพระยาศรีสหเทพที่สิงคโปร์เพื่อแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบ พระยาศรีสหเทพเตรียมกลับมาพบกับเต็งกูอับดุลกาเดร์อีกครั้งหนึ่ง ในที่ประชุมหารือระหว่างเจ้าเมืองมลายูต่างๆ ที่หนองจิกเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1901 ในการประชุมนี้พระยาศรีสหเทพได้ขอไม่ให้รายาปัตตานีแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้เจ้าเมืองอื่นๆ ในที่ประชุมได้ทราบ [26]

แต่รายาปัตตานีไม่ได้เข้าร่วมประชุมที่หนองจิกในครั้งนั้นโดยอ้างว่าป่วย ในที่ประชุมพระยาศรีสหเทพได้ขอให้เจ้าเมืองต่างๆ ที่มา ยอมรับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 เจ้าเมืองทั้งนั้นปฏิเสธเว้นแต่เจ้าเมืองยะหริ่งที่สนับสนุนรัฐบาลสยาม

ก่อนกลับกรุงเทพฯ พระยาศรีสหเทพได้เดินทางมาพบรายาปัตตานี และขอให้ท่านรับรองพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 รายาปฏิเสธอีก และได้ส่งหนังสือคัดค้านไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่รัฐบาลสยามก็ไม่ได้ใส่ใจ ครั้นวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1901 รายาปัตตานีก็ได้รับหนังสือแจ้งจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองใหม่ที่เรียกว่า ข้อบังคับปกครองเจ็ดหัวเมือง ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2445)

เต็งกูอับดุลกาเดร์ได้พยายามต่อรองกับรัฐบาลสยามเพื่อยอมให้ปัตตานีปกครองตนเองได้เช่นที่เคยเป็นมา แต่การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้วและอดีตไม่หวนคืนมา

ต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) รายาปัตตานีได้ร้องเรียนไปยังข้าหลวงอังกฤษประจำสิงคโปร์อีกครั้งหนึ่ง เรียกร้องให้อังกฤษขอให้สยามปลดปล่อยปัตตานีให้เป็นอิสระ ทั้งยังแจ้งกับ Swettenham ด้วยว่า หากอังกฤษไม่ให้ความร่วมมือ ชาวปัตตานีก็ไม่มีทางเลือกนอกจากจะก่อขบถหรือขอความช่วยเหลือจากมหาอำนาจยุโรปอื่นๆ [27]

ข้าหลวงอังกฤษประจำสิงคโปร์เห็นว่า ปัญหาในปัตตานีจะกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของอังกฤษ จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงร่วมมือกับอังกฤษคลี่คลายปัญหา พระพุทธเจ้าหลวงปฏิเสธข้ออ้างที่ว่า รัฐบาลไทยไม่ใส่ใจกับปัญหาในปัตตานี และทรงเห็นว่าการขบถจะเกิดขึ้นได้ก็เพียงเพราะเจ้าเมืองมลายูได้รับความช่วยเหลือจากมหาอำนาจยุโรปเท่านั้น อันที่จริงกรุงเทพฯ ไม่ได้คิดจะร่วมมือกับอังกฤษ อีกทั้งไม่พอใจการปฏิเสธข้อบังคับปกครองเจ็ดหัวเมืองของเจ้าเมืองมลายูที่นำโดยรายาปัตตานี และไม่พอใจการที่รายาปัตตานีขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ

ดังนั้นเช้าวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) พระยาศรีสหเทพในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งให้รายาปัตตานีทราบว่า ท่านจะมาถึงปัตตานีในตอนบ่ายสามโมง และขอให้รายาปัตตานีเข้าพบ

หลังทำพิธีละหมาด (นมัสการ) บ่าย (อัสริ) เต็งกูอับดุลกาเดร์พร้อมด้วยคณะ 20 คน ได้เดินทางมาพบพระยาศรีสหเทพยังที่พักซึ่งมีตำรวจสยามคุ้มกันอยู่ถึง 100 คน พระยาศรีสหเทพขอให้รายาปัตตานีเข้าไปในห้อง แล้วได้อ่านข้อบังคับปกครองเจ็ดหัวเมือง พ.ศ. 2445 ให้ท่านฟัง และขอให้ท่านลงนาม เต็งกูอับดุลกาเดร์ไม่ยอมลงนามอีกและขอเจรจากับรัฐมนตรีมหาดไทยซึ่งประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ รายาปัตตานีไม่ประสงค์จะทำการผิดพลาดเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว พระยาศรีสหเทพยืนยันขอให้ท่านลงนาม ให้เวลาท่าน 5 นาที ไม่เช่นนั้นจะถูกถอดถอนออกจากการเป็นเจ้าเมือง เต็งกูอับดุลกาเดร์ปฏิเสธไม่ยอมลงนามตามคำของพระยาศรีสหเทพ ท่านจึงถูกจับในที่นั้น [28]

ในเวลานั้นผู้ติดตามรายาปัตตานีแสดงท่าทีไม่ยอมให้ท่านถูกจับ จะชิงตัวเสียจากการควบคุมของพระยาศรีสหเทพ แต่รายาปัตตานีเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะให้ประชาชนต้องเสียเลือดเนื้อ เพราะตระหนักดีว่ามีกำลังน้อยกว่ามาก ท่านจึงถูกจับนำตัวมายังสงขลา ไม่กี่วันหลังจากนั้น เจ้าเมืองระแงะและเจ้าเมืองสายบุรีก็ถูกจับด้วย และนำตัวมายังพิษณุโลก ถูกพิพากษาจำคุก 3 ปีในข้อหา “ขัดคำสั่ง” พระมหากษัตริย์สยาม ผู้เฒ่าผู้แก่ปัตตานีที่ยังอยู่เล่ากันว่า รายาปัตตานีถูกขังไว้ที่บ่อในวัดแห่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก [29]

ต่อเมื่ออดีตรายาปัตตานี “สารภาพความผิดและสัญญาว่าจะไปอยู่ทำมาหากินอย่างไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง…จะไม่เกี่ยวข้องแก่การบ้านเมืองอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นอันขาด” พระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงอนุญาตให้กลับไปปัตตานีได้ [30]

เมื่อเดินทางไปถึงปัตตานี มีราษฎรประมาณ 500 คน นั่งเรือ 80 ลำ ไปรับที่ปากน้ำ อีกประมาณ 2,000 คน ยืนต้อนรับอยู่บนตลิ่งสองข้างแม่น้ำตานี มีฝ่ายศาสนาอีกกว่าร้อยคนรอรับอยู่ที่บ้าน และหลังจากนั้นก็มีราษฎร กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นร้อยๆ คนไปเยี่ยมอดีตรายาปัตตานีผู้นี้ไม่เว้นแต่ละวัน สภาพการณ์นี้ทำให้รัฐบาลกังวลถึงกับต้องส่งเรือรบลำหนึ่งไปทอดสมอที่ปากน้ำเมืองปัตตานี [31]

เต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดินอพยพไปพำนักอยู่ในรัฐกลันตัน ในเวลาต่อมาและสิ้นชีวิตที่นั่น เมื่อ พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1933)

คงต้องกล่าวว่า ภาพของ “ความจริง” เกี่ยวกับกรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง “คบคิดขบถ” เมื่อพิจารณาจากเอกสารฝ่ายมลายูมุสลิมเป็นหลัก จะมีรายละเอียดที่สำคัญมากมาย ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ ซึ่งมีอำนาจมากกว่า กับปัตตานีซึ่งเคยเป็นเมืองประเทศราชและกำลังแปรเปลี่ยนไปเป็นหัวเมือง และต่อมาเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งคงเห็นได้ชัด ปัญหาความละเอียดอ่อนทางความสัมพันธ์กับมหาอำนาจยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษก็ออกจะเด่นชัด ปัญหาการสร้างรัฐชาติไทยผ่านการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่กรุงเทพฯ ชนิดที่ส่งผลลดทอนอำนาจในท้องถิ่นก็ปรากฏให้เห็น

แต่ที่น่าสนใจและไม่ค่อยได้กล่าวถึงกันนัก คือรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นและรายละเอียดของการที่เหตุการณ์จบลง คงกล่าวได้ว่าพระยาศรีสหเทพมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ วิธีการที่ท่านใช้คือการลวงให้รายาปัตตานีลงนามในหนังสือยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมืองของตนเอง และเมื่อรายาปัตตานีประจักษ์ว่าตนถูกหลอกและประท้วงแสดงความไม่เห็นด้วย ที่สุดก็ต้องถูกจับและบังคับด้วยกำลังให้ยินยอม เหตุการณ์จบลงโดยไม่เสียเลือดเนื้อ

ในขณะที่เอกสารของนักวิชาการฝ่ายไทยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะรายาปัตตานีไม่ได้รับความร่วมมือจากอังกฤษ เจ้าเมืองอื่นๆ รวมทั้งราษฎรในปัตตานีก็ไม่มีทีท่าว่าจะก่อจลาจลเพราะ “เป็นสุขมาก” [32] แต่ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องอธิบายว่าเหตุใดราษฎรจึงพากันมาต้อนรับยินดีกับรายาเมื่อท่านเป็นอิสระกลับมาสู่ปัตตานี ถึงขนาดรัฐบาลกรุงเทพฯ ต้องส่งเรือรบมาเฝ้าระวัง ในส่วนเอกสารของฝ่ายมลายูปัตตานีระบุต่างออกไปว่า รายาปัตตานียินยอมถูกจับเพราะเห็นแก่ประชาชนของตนไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ [33]

Syukri สรุปกรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมืองนี้ไว้ในบทสุดท้ายของหนังสือประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานีว่า “ในปี ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) ราชอาณาจักรสยามได้ยกเลิกราชวงศ์มลายูปะตานีด้วยการใช้อุบายต่างๆ ตั้งแต่นั้นมารัฐปะตานีได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามไทยโดยปริยาย” [34]

สิ่งที่เกิดขึ้นกับปัตตานีในรอบร้อยปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อใส่ใจกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นอิสระของปัตตานี เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง “ความจริง” กับความรุนแรง แต่ไม่ว่าความรุนแรงจะส่งผลให้ “ความจริง” ที่ปรากฏในแต่ละยุคแต่ละตอนเป็นเช่นไร

เหตุการณ์ปลาย พ.ศ. 2444 และต้น พ.ศ. 2445 ที่มักถูกเรียกกันว่า “ขบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง” หรือ “พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ” ในฐานะเหตุการณ์ที่เป็นสิ่งอ้างอิงซึ่งจะแปรสภาพเป็นบริบททางประวัติศาสตร์ของปัตตานี ไม่ว่าจะในฐานะชัยชนะแห่งการปฏิรูปการปกครองของสยาม หรือ “ความอัปยศอย่างที่สุด” ของผู้คนจำนวนหนึ่งในปัตตานี ก็เริ่มต้นขึ้นด้วยประวัติศาสตร์แห่งความลวงที่ทิ้งร่องรอยไว้กับสังคมไทยเป็นเวลาร่วมหนึ่งศตวรรษ


งานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของข้าพเจ้าเรื่องความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง” : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ มีทั้งหมด 6 บท (ไม่นับบทนำและบทสรุป) โดยมุ่งพิจารณาผลของความรุนแรงต่อการจัดการ “ความจริง” เกี่ยวกับความรุนแรงนั้นเอง งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดวิจัยใหญ่เรื่องการจัดการ “ความจริง” ในสังคมไทย ที่มีสมบัติ จันทรวงศ์ เป็นหัวหน้าคณะวิจัย (ทั้งหมดมีงานวิจัย 6 เรื่อง) ได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ส่วนที่ว่าด้วยเจ้าแขกเจ็ดหัวเมืองนี้อยู่ในบทที่ 2 เรื่อง “การศึกษาปัตตานี : หนึ่งทศวรรษภูมิทัศน์วิชาการ (2534-2543) ในหนึ่งศตวรรษประวัติศาสตร์การปกครองปัตตานี”

ข้าพเจ้าขอขอบคุณอาจารย์ทวีศักดิ์ เผือกสม แห่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ และคุณสะรอนี ดือเระ ผู้ช่วยวิจัยที่ทำหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ครองชัย หัตถา. ปัตตานี : การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต. (ปัตตานี : โครงการปัตตานีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี, 2541), หน้า 112-113.

[2] เพิ่งอ้าง. หน้า 114.

[3] เตช บุนนาค. “พระยาแขกหัวเมืองคบคิดขบถ ร.ศ. 121,” ใน ขบถ ร.ศ. 121. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2524), หน้า 59-60. ข้อความในอัญประกาศอยู่ในหน้า 60

[4] คณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภา. รายงานการพิจารณาฯ ศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ. บทที่ 2 หน้า 14-15.

[5] เพ็ญศรี ดุ๊ก. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงสิ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม) (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2542), หน้า 154-155. ทวีศักดิ์ เผือกสม ได้ให้ความเห็นว่าไม่เคยมีการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เพราะเงื่อนไขในการยกเลิกข้อหนึ่งคือ เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ประมวลกฎหมายโดยสมบูรณ์ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ควรต้องตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “สัญญากรุงเทพฯ” (1909 หรือ 2452) ฉบับนี้ให้สัตยาบันกันเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2453 ที่กรุงลอนดอน ในสัญญายังมีอีกข้อหนึ่งกำหนดให้โอนดินแดนทั้งสี่ ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน หลังจากที่ให้สัตยาบัน

[6] เพิ่งอ้าง. หน้า 155.

[7] อ.บางนรา. ปัตตานี : อดีต-ปัจจุบัน. หน้า 164-165. อ้างถึงใน ทวีศักดิ์ เผือกสม. “อยุธยาในเงื้อมมือของปัตตานี : ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของปัตตานีและบทสนทนาระหว่างศูนย์กลางกับท้องถิ่นในการเขียนประวัติศาสตร์” (เอกสารต้นฉบับ, กำลังจะตีพิมพ์), หน้า 44.

[8] ครองชัย หัตถา. ปัตตานี. หน้า 117-118. และ รัตติยา สาและ. การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิก. หน้า 51-58.

[9] เตช บุนนาค. ขบถ ร.ศ. 121. หน้า 57.

[10] เพิ่งอ้าง. หน้า 58.

[11] ชารอม อาหมัด. ความสัมพันธ์ระหว่างเคดาห์กับสยาม (2528). หน้า 119-120. อ้างถึงใน ครองชัย หัตถา. ปัตตานี. หน้า 111.

[12] เพ็ญศรี ดุ๊ก. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. หน้า 128-131.

[13] ปิยนาถ บุนนาค. นโยบายการปกครองของรัฐบาลไทยต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2475-2516). (กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534), หน้า 74. น่าสนใจที่ปิยนาถมิได้กล่าวถึงเหตุการณ์พระยาแขก “คบคิดขบถ” เอาไว้เลย เพียงกล่าวว่า รายาปัตตานี สายบุรี และระแงะมีปฏิกิริยาต่อต้านนโยบายของรัฐบาลกรุงเทพฯ

[14] อิมรอน มะลูลีม. วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศ : กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อิสลามิคอะเคเดมี, 2538), หน้า 140. คงไม่ต้องกล่าวว่าในปี พ.ศ. 2445 นั้นทั้ง “จังหวัด” และ “ประเทศไทย” ล้วนยังไม่เกิดทั้งคู่

[15] อิบรอฮีม ชุกรี. ประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี. (ปัตตานี : โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2541), หน้า 43. โปรดพิจารณาข้อความนี้ในฉบับภาษาอังกฤษได้จาก Syukri. History of the Malay Kingdom of Patani (Sejarah Kerajaan Melayu Patani). Conner Bailey and John N. Miksic (trans.). (Athens, Ohio : The Center for International Studies, Ohio University, 1985), p.62.

[16] เพ็ญศรี ดุ๊ก. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. หน้า 149-151.

[17] Nik Anuar Nik Mahmud. Sejarah Perjuangan Melayu Patani, 1785-1954. (Bangi, : Penerbit Universiti Kebangsaan Malaysis, 1999), p.28. (In Malay)

[18] Mohd. Zamberi A. Malek. Harimau Malaya : Biografi Tengku Mahmood Mahyiddeen. (Bangi, : Penerbit Universiti Kebangsaan Malaysis, 1999), p.25. (In Malay)

[19] อ.บางนรา. ปัตตานี : อดีต-ปัจจุบัน. หน้า 85-87. อ้างถึงใน ทวีศักดิ์ เผือกสม. “อยุธยาในเงื้อมมือของปัตตานี,” หน้า 43.

[20] Nik Anuar Nik Mahmud. Sejarah Perjuangan Melayu Patani. p.31.

[21] Ibid.

[22] ทวีศักดิ์ เผือกสม ให้ความเห็นว่า ท่านพระยาศรีสหเทพผู้นี้น่าจะเป็น “ปลัดทูลฉลองมหาดไทย” เมื่อแรกข้าพเจ้าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระยาศรีสิงหเทพ เมื่อตรวจสอบต้นฉบับของ Nik Anuar Nik Mahmud อีกครั้งหนึ่งก็พบว่าเป็นพระยาศรีสหเทพ ต้องขอบคุณอาจารย์ทวีศักดิ์ เผือกสม ไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง

[23] จดหมายลับของ Swettenham ถึง CO, Rahsia และ Sulit ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. 1901 อ้างถึงใน Ibid., pp.32-33

[24] Ibid., p.33.

[25] Ibid.

[26] Ibid.

[27] จดหมายของรายาปัตตานีถึง Swettenham ลงวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1902 อ้างถึงใน Ibid., p.37.

[28] Ibid., p.39.

[29] รัตติยา สาและ. การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2544), หน้า 54.

[30] เตช บุนนาค. ขบถ ร.ศ. 121. หน้า 97.

[31] เพิ่งอ้าง. หน้า 97-98.

[32] เพิ่งอ้าง. หน้า 92-94.

[33] อิบรอฮีม ชุกรี. ประวัติราชอาณาจักรมลายูปตานี. หน้า 42.

[34] เพิ่งอ้าง. หน้า 44.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2560