“ห้องลับ” หลังรูปแกะสลักประธานาธิบดีสหรัฐฯ บน “เมาต์รัชมอร์” มีอยู่จริงรึ?

(ซ้าย) แบบร่าง Hall of Records ของ กัตซอน บอร์กลัม, (ขวา) การก่อสร้างรูปสัลกของ จอร์จ วอชิงตัน ในปี 1932

จริงรึ? ที่ว่า มี “ห้องลับ” ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังรูปแกะสลักประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เมาต์รัชมอร์? แน่ใจรึว่านั้นไม่ได้เป็นเพียงพล็อตเรื่องของหนังฮอลลีวูด ที่พระเอกตามแกะรอยปริศนาตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เพื่อหาขุมทรัพย์ที่บรรพชนซ่อนเร้นเอาไว้?

ถ้า “ห้องลับ” หมายถึงห้องที่ผู้สร้างตั้งใจจะ “ไม่ให้ใครรู้” คงบอกได้เลยว่าไม่มี แต่ถ้าเป็นห้อง “ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก” ละก็มีอยู่ห้องหนึ่ง เพียงแต่ว่าห้องดังกล่าวผู้สร้างมิได้เจตนาจะสร้างให้มันเป็น “ห้องลับ” อะไร ติดตรงที่ห้องที่ว่านี้ถูกสร้างค้างคาเอาไว้ไม่สำเร็จ ภายหลังจึงถูกหลงลืมไป จนบางคนเรียกห้องดังกล่าวว่าเป็น “ห้องลับ”

ภาพถ่ายเมาต์รัชมอร์ในปี 2012 โดย Pjuskline, via Wikimedia Commons
ภาพถ่ายเมาต์รัชมอร์ในปี 2012 โดย Pjuskline, via Wikimedia Commons

ที่มาที่ไปของห้องลับแห่งนี้มีอยู่ว่า กัตซอน บอร์กลัม (Gutzon Borglum) ประติมากรผู้ออกแบบวางแผนการก่อสร้างอนุสาวรีย์เมาต์รัชมอร์ ต้องการที่จะสร้างจารึกขนาดใหญ่บอกเล่าเหตุการณ์สำคัญของสหรัฐฯ ประกบคู่กับรูปแกะสลักของเขา เพื่อบอกเรื่องราวให้กับคนรุ่นหลัง

ภาพจำลองแนวคิดในการสลักจารึกเหตุการณ์สำคัญของ บอร์กลัม (National Park Service)
ภาพจำลองแนวคิดในการสลักจารึกเหตุการณ์สำคัญของ บอร์กลัม (National Park Service)

น่าเสียดายว่าไอเดียบรรเจิดของ บอร์กลัม เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากไม่อาจสลักตัวอักษรได้ใหญ่พอที่จะสามารถอ่านเห็นได้จากระยะไกล ประกอบกับต้องกันพื้นที่ให้กับรูปสลักของ อับราฮัม ลินคอล์น จึงทำให้แผนที่จะสร้างจารึกขนาดใหญ่ต้องล้มพับไป

บอร์กลัม จึงเปลี่ยนใจหันมาสร้างห้องขนาดใหญ่ด้วยการเจาะภูเขาแห่งนี้ เพื่อเป็นที่เก็บรักษาเอกสาร และวัตถุสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศแทน

ร่างแบบ Hall of Records
แบบร่าง Hall of Records

ตามแบบที่เขาวางเอาไว้ ห้องแห่งนี้จะมีขนาดราว 24.38 เมตร คูณ 30.48 เมตร มีทางเข้าอยู่ด้านหลังรูปสลักของ ลินคอล์น บนประตูทางเข้าประดับด้วยรูปปั้นนกอินทรีย์สัมฤทธิ์ และเหนือนกอินทรีย์ขึ้นไปมีจารึกระบุว่าเป็น “The Hall of Records”

แผนการก่อสร้างดังกล่าวอย่างที่ได้บอกไปตอนต้นว่า มิใช่ “เรื่องลับ” และมีการกล่าวถึงอย่างชัดเจนในรัฐบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการก่อสร้างเมาต์รัชมอร์ ปี 1938 เพียงแต่ใช้ชื่อต่างออกไปว่า “หอพิพิธภัณฑ์” (museum hall)

แต่เมื่อเข้าปี 1939 หลังการก่อสร้างดำเนินไปได้เพียงไม่ถึงหนึ่งปี ทางรัฐบาลก็สั่งให้ยุติการก่อสร้างห้องดังกล่าว และสั่งให้ บอร์กลัม มุ่งทำการสลักหน้าของประธานาธิบดีทั้ง 4 ให้สำเร็จเท่านั้น

ห้องที่ บอร์กลัม ตั้งใจจะให้เป็นหอเก็บบันทึกสำคัญจึงถูกทิ้งร้างไปนานหลายสิบปี ทำให้หลายคนไม่รู้มาก่อนว่ามีห้องที่ว่านี้อยู่บนเมาต์รัชมอร์ แต่เจตนารมณ์ของ บอร์กลัม ก็ได้รับการสานต่อ แม้จะไม่ได้เป็นไปตามแผนเดิมที่เขาวางไว้

ทางเข้า Hall of Records
ทางเข้า Hall of Records ตรงกลางจะเห็นแท่นสีดำซึ่งเป็นที่เก็บเอกสารสำคัญ ครอบด้วยแผ่นหินแกรนิต (National Park Service)

โดยในปี 1998 เอกสารสำคัญซึ่งจารึกลงบนเครื่องเคลือบ 16 ชิ้น ก็ได้ถูกบรรจุลงในกล่องไม้สัก ก่อนนำไปใส่ในตู้เซฟไทเทเนียมอีกชั้นหนึ่ง แล้วครอบทับด้วยแผ่นหินแกรนิต ติดตั้งไว้ที่ทางเข้าของห้องที่เขาตั้งใจจะให้เป็นหอเก็บบันทึกสำคัญ

อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่า สถานที่แห่งนี้เข้าถึงได้ลำบาก และการเดินทางก็ค่อนข้างอันตราย ทางการจึงมิได้เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าชม เราจึงได้แต่ชมภาพจากสำนักงานอุทยานแห่งชาติของสหรัฐฯ นำมาเผยแพร่เท่านั้น


อ้างอิง: “Hall of Records”. National Park Service. <https://www.nps.gov/moru/learn/historyculture/hall-of-records.htm>


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 2 ตุลาคม พ.ศ.2560