หลุมศพในสโตนเฮนจ์ หลักฐานความเท่าเทียมทางเพศในยุคก่อนประวัติศาสตร์

ภาพถ่ายสโตนเฮนจ์ เมื่อเดือนมีนาคม 2004 โดย Sara Khan, via Wikimedia Commons

สโตนเฮนจ์ (Stonehege) อนุสาวรีย์หินขนาดยักษ์ในเขตวิลต์เชียร์ (Wiltshire) ประเทศอังกฤษ ถูกสันนิษฐานว่าได้ถูกก่อสร้างขึ้นต่อเนื่องเป็น 6 ระยะ ในช่วง 3000-1520 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งการค้นพบร่างผู้เสียชีวิตในพื้นที่แห่งนี้มีมาตั้งแต่การขุดค้นในปี 1920

เบื้องต้นมีการสันนิษฐานว่า ร่างผู้เสียชีวิตเหล่านี้ถูกฝังมาตั้งแต่ยุคต้นๆที่มีการก่อสร้างสโตนเฮนจ์ แต่การศึกษาหลักฐานต่างๆที่จะใช้ยืนยันข้อสันนิษฐานดังกล่าวกลับมีไม่มากนัก จนกระทั่งเมื่อปี 2008 ทีมนักวิจัยได้ทำการตรวจสอบซากโครงกระดูกเหล่านี้อีกครั้งและได้พบกับ “ความเท่าเทียมทางเพศจนน่าตกใจ”

รายงานการค้นพบในครั้งนี้ถูกเผยแพร่อยู่ในวารสาร British Archaeology ฉบับเดือนมีนาคม/เมษายน 2016 โดยทีมสำรวจได้ทำการตรวจสอบหลุม ออบรีย์หมายเลข 7 (Aubrey Hole 7, AH7) อีกครั้ง หลังซากโครงกระดูกเกือบทั้งหมดที่เคยถูกพบในหลุมแห่งนี้ได้ถูกฝังกลับไปดังเดิมตั้งแต่ 45 ปีก่อนเนื่องจากนักโบราณคดีในสมัยนั้นไม่ได้ความสนใจที่จะทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และไม่อาจหาพิพิธภัณฑ์ที่จะรับไปดูแลต่อได้

จากการตรวจสอบอายุด้วยคาร์บอนพบว่า ซากกระดูกที่พบในหลุม AH7 มีอายุระหว่าง 3090-2900 ปีก่อนคริสตกาล ใกล้เคียงกับซากกระดูกที่พบในหลุม AH32 ที่มีอายุในช่วง 3030-2880 ปีก่อนคริสตกาล ขณะที่โครงกระดูกจากหลุมอื่นๆ มีอายุอยู่ในช่วง 3100-2600 ปีก่อนคริสตกาล แสดงให้เห็นว่าการฝังศพบริเวณสโตนเฮนจ์มิได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียว

คริสตี วิลลิส (Christie Willis) นักศึกษาปริญญาเอกของ UCL (University College London) ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกมนุษย์ ที่ทำการศึกษาโครงกระดูกจากหลุม AH7 จำนวนราว 45 กิโลกรัมซึ่งถูกขุดค้นขึ้นมาใหม่ พบว่ากระดูกจำนวนดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนของมนุษย์ 27 ราย สามารถระบุเพศของโครงกระดูกเหล่านี้ได้โดยแบ่งเป็นชาย 9 ราย และหญิง 14 ราย (บางส่วนไม่สามารถสรุปได้)

British Archaeology กล่าวว่า การค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมทางเพศในระดับที่น่าแปลกใจ ขัดแย้งกับอุดมคติแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งสุสานหลายแห่งทางตอนใต้ของอังกฤษที่มาจากยุคหินใหม่ที่เก่าแก่กว่าหลุม AH7 ล้วนมีสัดส่วนของผู้ชายสูงกว่ามาก

การค้นพบดังกล่าวยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีกเมื่อสโตนเฮนจ์ ถือเป็นอนุสาวรีย์ที่มีความพิเศษเป็นอย่างมาก การฝังศพของบุคคลต่างๆในพื้นที่แห่งนี้จึงต้องเป็นบุคคลที่ถูกเลือกจากสถานะที่พิเศษเช่นกัน จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้หญิงในสังคมยุคนั้นมีสถานะที่ค่อนข้างโดดเด่นได้รับการยอมรับไม่แพ้ผู้ชาย