โลกตะลึง ครอบครัวนักต้มตุ๋น “กรีนฮอลจ์” สามัญชนผันมาปลอมศิลปะ ทำขายไปกว่าร้อยชิ้น

Vernon Rapley เจ้าหน้าที่ตำรวจหัวหน้าหน่วยศิลปะและวัตถุโบราณ ขณะสำรวจเครื่องมือและชิ้นงานศิลปะปลอมที่เกี่ยวข้องกับ Shaun Greenhaigh ในงานแสดงศิลปะที่ V&A gallery ในลอนดอน เมื่อ 22 มกราคม 2010 (ภาพจาก LEON NEAL / AFP)

ถ้าไม่นับเรื่องราวของนักตุ๋นในตำนานอย่างแฟรงค์ อแบกเนล (Frank Abagnale) ซึ่งเป็นนักปลอมเช็คตัวยง และยังปลอมตัวเป็นหมอ ทนาย นักบิน ฯลฯ อย่างที่ไม่มีใครจับได้ไล่ทันแล้ว คดีฉ้อโกงครอบครัวกรีนฮอลจ์ (Greenhalgh) ในอังกฤษที่ศาลตัดสินโทษเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมาคงเป็นคดีน่าทึ่งที่สุดในโลกเป็นแน่

เรื่องราวการฉ้อโกงของครอบครัวนี้ถูกเปิดเผยเมื่อบริติชมิวเซียม (British Museum) แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปะและโบราณวัตถุของสก๊อตแลนด์ยาร์ดว่าแผ่นจารึกนูนต่ำสมัยอัสซีเรียน 3 ชิ้น ที่มีคนนำมาเสนอขายให้กับทางพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นของปลอม

เจ้าหน้าที่ตำรวจของสก๊อตแลนด์ยาร์ดสาวไปถึงต้นตอและพบว่าวัตถุโบราณเหล่านี้เป็นของครอบครัวกรีนฮอลจ์ซึ่งอาศัยอยู่แถบชนบททางตอนเหนือของอังกฤษ

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปตรวจค้นบ้านของพวกเขาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 ก็ต้องแปลกใจเมื่อพบก้อนหินที่ใช้ในการแกะสลัก เตาหลอมโลหะ รูปปั้นที่เสร็จเพียงครึ่งตัว อุปกรณ์ที่ใช้ในงานประติมากรรมและจิตรกรรม ฯลฯ ซุกซ่อนอยู่ตามสวน ห้องนอน ห้องครัว และห้องใต้หลังคา

ครอบครัวกรีนฮอลจ์ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการปลอมแปลงภาพเขียน รูปปั้น และวัตถุโบราณอีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นงานที่ประณีตและเลียนแบบได้อย่างแนบเนียน แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะและโบราณคดีก็คงยากที่จะชี้จุดบกพร่องในผลงานเหล่านี้

ฌอน กรีนฮอลจ์ (Shaun Greenhalgh) หนุ่มอังกฤษวัย 47 ปี รับสารภาพว่าแอบปลอมภาพเขียน รูปปั้น จารึก และโบราณวัตถุมาเป็นเวลา 17 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532-49 โดยมีจอร์จกับโอลีฟ (George, Olive) บิดามารดาวัย 80 เป็นผู้ช่วย

พวกเขานำผลงานปลอมไปขายให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ นำออกประมูล ขายทอดตลาด และขายให้กับนักสะสม เกือบทั่วโลกรวมแล้วเกือบ 120 ชิ้น คิดเป็นรายได้กว่า 10 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง

ฌอนปลอมแปลงงานศิลปะและโบราณวัตถุมีชื่อไว้มากมาย อาทิ รูปปั้นเป็ดของ บาร์บารา เฮปเวิร์ธ (Barbara Hepworth), ภาพเขียนของ โทมัส มอรัน (Thomas Moran) จิตรกรยุคศตวรรษที่ 19, จารึกโบราณอารยธรรมอียิปต์และลุ่มแม่น้ำเมโสโปเตเมีย ฯลฯ เขาต่างจากนักปลอมแปลงงานศิลปะอื่นๆ ตรงที่มีพรสวรรค์เชี่ยวชาญศิลปะหลายแขนงทั้งงานปั้น การแกะสลัก และการเขียนภาพ

นอกจากนี้เขายังปลอมแปลงเอกสารโบราณ จดหมาย รวมถึงหลายเซ็นของคนดัง เพื่อปั้นเรื่องยืนยันว่าพวกเขามีความเชื่อมโยงกับบุคคลเหล่านั้น และได้รับสืบทอดสมบัติล้ำค่าจริงๆ ฌอนเป็นอัจฉริยะขนานแท้ เขาทำของเลียนแบบได้เพียงแค่ดูภาพเขียน รูปปั้นหรือภาพโบราณวัตถุในหนังสือหรือแค็ตตาล็อกเท่านั้น

หลังจากสืบหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่พบว่าผลงานปลอมของครอบครัวกรีนฮอลจ์มีอยู่ตามแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่กรุงเวียนนาจนถึงนิวยอร์ก และคาดการณ์ว่าในตลาดค้างานศิลปะมีผลงานของ ฌอน กรีนฮอลจ์ อยู่ถึงร้อยละ 20 ของสินค้าทั่วโลก

ครอบครัวกรีนฮอลจ์ผิดจริงตามข้อกล่าวหา ศาลจึงตัดสินจำคุกนายฌอน กรีนฮอลจ์ เป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน ข้อหาฉ้อโกง มารดาของฌอนถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 1 ปี ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนให้กระทำผิด ส่วนบิดาซึ่งทำหน้าที่เจรจาซื้อขายและคิดอุบายปั้นแต่งความเป็นมาของวัตถุโบราณแต่ละชิ้นจะถูกศาลพิพากษาโทษภายในต้นปีพ.ศ. 2551

ทั้งๆ ที่รอดพ้นจากเงื้อมมือของกฎหมายมานานเกือบ 2 ทศวรรษ สามารถตบตานักสะสม แกลเลอรี่ศิลปะ และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ให้เชื่อว่าได้ครอบครองโบราณวัตถุหรืองานศิลปะล้ำค่าของจริง แต่ในที่สุดครอบครัวกรีนฮอลจ์กลับตกม้าตายเพียงความโลภและสะเพร่า

รายได้เกือบ 1 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง จากการขายรูปปั้น “The Amarna Princess” ศิลปะในยุคอียิปต์ในปี พ.ศ. 2546 ทำให้พวกเขาชะล่าใจและนำแผ่นจารึกนูนต่ำยุคอัสซีเรียน 3 แผ่นไปเสนอขายให้บริติชมิวเซียม ในปี พ.ศ. 2549 พร้อมเรียกราคาสูงขึ้นอีกหลายเท่า

แต่แผ่นจารึกทั้งสามแผ่น กลับนำครอบครัวกรีนฮอลจ์มาสู่จุดจบ เมื่อเจ้าหน้าที่ของบริติชมิวเซียมเกิดสงสัยและเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกและอักษรคูนิฟอร์มมาช่วยตรวจสอบ และพบว่าตัวอักษรคูนิฟอร์มที่อยู่บนจารึกสะกดผิดไปจากจารึกของจริงและรายละเอียดของบังเหียนม้าไม่เหมือนกับจารึกแผ่นอื่นๆ ในยุคอัสซีเรียน

และยิ่งเป็นที่น่าสงสัยมากขึ้นเมื่อจอร์จยอมลดราคาจากที่เคยตั้งไว้สูงลิ่ว ทางพิพิธภัณฑ์จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ของสก๊อตแลนด์ยาร์ด จากนั้นอีก 18 เดือน ครอบครัวกรีนฮอลจ์ก็ถูกดำเนินคดี

ชีวิตจริงของครอบครัวนักปลอมแปลงงานศิลปะและวัตถุโบราณที่น่าทึ่งยิ่งกว่านวนิยายนี้ จบลงเช่นเดียวกับเรื่องราวของ แฟรงค์ อแบกเนล นักตุ๋นบันลือโลก นั่นคือข้อสรุปที่ว่าไม่มีใครที่ทำผิดแล้วสามารถรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายได้ แต่หลังจากกลับตัวกลับใจ แฟรงค์ใช้พรสวรรค์ในด้านการปลอมเช็คช่วยงานของ FBI จนได้รับความชื่นชมและรางวัลเกียรติยศมากมาย

สำหรับฌอน กรีนฮอลจ์…คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าหลังจากพ้นโทษแล้ว เขาจะนำพรสวรรค์ด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะมาใช้ในทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้หรือไม่…

Update : ภายหลังจากรับโทษจำคุกเกือบ 5 ปี ฌอน ออกมาเปิดเว็บไซต์ขายงานศิลปะที่ลงชื่อว่าเป็นผลงานของเขาเอง เขายังเขียนหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ A Forger’s Tale: Confessions of the Bolton Forger เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2558 และตีพิมพ์ในวงกว้างอีก 2 ปีต่อมา ฌอน ยังไปร่วมในสารคดีต่างๆ อีกหลายชิ้น 


อ้างอิง

Daily Mail ฉบับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2550
The Times ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2550
BBC News, www.bbc.co.uk
Newsweek, www.newsweek.com
Chicago Tribune, www.chicagotribune.com


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564