บัญญัติ 10 ประการแห่งนู้ด “ศิลปะ” หรือ “อนาจาร”?

ภาพ "เสรีภาพนำประชาชน" (Liberty Leading the People) โดย Eugène Delacroix

นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา เริ่มมีการตั้งคำถามว่า Nude (ภาพเปลือย) คืออะไรกันแน่ ต่างกับ Naked (ภาพโป๊) อย่างไร? จนเป็นที่ถกกันไปมาระหว่าง “โป๊ไม่เปลือย” กับ “เปลือยไม่โป๊” หรือระหว่าง “ศิลปะ” กับ “อนาจาร”

หลายคนพยายามแยกแยะให้เห็นความแตกต่าง และบ้างก็พยายามรวมเข้าไว้ด้วยกัน จนกลายเป็น “ศิลปานาจาร” กระนั้น ประเด็นการถกเถียงเรื่องความหมายของ “นู้ด” ก็ยังไม่มีวี่แววจะยุติ

โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ แสดงความเห็นว่า ความยิ่งใหญ่ของ “นู้ด” แท้จริงแล้วก็คือการถ่ายทอดพฤติกรรมมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งรันทดและงดงาม “นู้ด” จึงเป็นสัญลักษณ์ของการ “เปิดเปลือยทางอารมณ์” สู่การ “ปลดเปลื้องทางอาภรณ์”

ซึ่งได้ข้อสรุปของทฤษฎีแห่งการเขียนภาพนู้ดทั้งหมดสิบข้อ เรียกว่า “บัญญัติ 10 ประการแห่งนู้ด” เป็นความพยายามตีความถึงมูลเหตุหรือแรงจูงใจในการสร้างภาพนู้ดของศิลปินว่า พวกเขาต้องการ “สื่อ” อะไรบ้าง?

เพ็ญสุภา สุขคตะ อธิบาย “บัญญัติ 10 ประการแห่งนู้ด” ดังนี้

หนึ่ง Apollo เรือนกายกำยำล่ำสัน บึกบึนเนื้อหนั่นแน่นหนา

นู้ดกลุ่มแรกนี้ขอบัญญัตินามไว้ว่า อพอลโลถือเอาความงามสง่าอันไม่มีข้อกังขาของเทพอพอลโล ซึ่งชาวกรีกโบราณ ยกย่องนักในฐานะเทพที่เป็นตัวแทนอำนาจเบ็ดเสร็จของ “ผู้ชาย” มาเรียกขาน เป็นนู้ดที่จงใจแสดงสรีระอันสมส่วนของชายชาตรี เน้นกายวิภาคอันแน่นเปรี้ยะหล่อล่ำ มักอยู่ในอิริยาบถแบบ “พระเอกผู้พิทักษ์และครอบครองโลก” กล่าวคือ จะต้องแขนข้างหนึ่งขึ้นเบ่งกล้ามเสมอ และมีการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนล่างพองาม นู้ดประเภทนี้ถูกกับจริตของประติมากรมากกว่าจิตรกร ตัวอย่างผลงานนู้ดกลุ่มอพอลโลชิ้นเยี่ยมได้แก่ รูปปั้น David อันลือลั่นของมิเคลันเจโล (Michelangelo di Lodovico Buonarroti Simoni) ที่กรุงฟลอเรนซ์

ภาพ : รูปปั้น David โดย มิเคลันเจโล (Photo by VINCENZO PINTO / AFP)

สอง Venus I สวยนิ่งนุ่มนวลยวนตา พิสุทธิโสภาอ่าองค์

เปลโต (Plato) เคยกล่าวไว้ในหนังสือ Symposium ว่า เทพีวีนัสนั้นมีอยู่ 2 ภาค คือภาคสวรรค์กับภาคมนุษย์ จึงรับเอาแนวความคิดของเปลโตมาแบ่งกลุ่มภาพสาวเปลือยรูปงามออกเป็น 2 กลุ่มเช่นกัน กลุ่มแรกให้ชื่อว่า Venus I เป็นภาคสาวสวรรค์ พิสุทธิ์ใส หมดจด สุขุมลุ่มลึก มักอยู่ในท่ายืนเอียงอาย หนีบขา เอนสะโพกทิ้งลงข้างหนึ่ง เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากรูปปั้น “วีนัสเดอมีโร” (Venus de Milo) อันก้องโลกยุคกรีกโบราณ นอกจากนี้ ยังได้จัดภาพหญิงเปลือยในท่า นอนเอนกายเท้าแขนบนฟูก ซึ่งเขียนขึ้นในยุคหลังไว้ในกลุ่มนี้ด้วย เช่นงานของ ทิเชียน โกยา มาเน ฯลฯ เนื่องจากมีการแสดงสีหน้าและเรือนร่างด้วยลีลาสงบ เยือกเย็น ไม่เร่าร้อน ประดุจนางเอกเฉกเดียวกับวีนัสภาคสวรรค์

ภาพ : รูปปั้น Venus de Milo โดย Alexandros of Antioch (Photo by RAUL ARBOLEDA / AFP)

สาม Venus II เริงรมย์หยอกเย้าเร้ารื่น แช่มชื่นชวนให้ใหลหลง

ในสมัยเรอเนซอง เป็นที่ทราบกันดีว่าแนวความคิดของลัทธิ Neo-Platonic ได้รับความนิยมอย่างสูง บางที่วีนัสในภาคปุถุชนหรือโลกียะอาจส่งอิทธิพลให้ศิลปินจำนวนมากหันมาเขียนภาพหญิงเปลือยในลักษณะที่เย้ายวนและหยอกล้อมากขึ้นก็เป็นได้ ผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ได้แก่ สองจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งสกุลช่างฟลอเรนซ์ ดาวินชี (Leonardo da Vinci) และราฟาเอล (Raffaello Sanzio da Urbino) นู้ดแบบ Venus II มักแสดงออกด้วยภาพหญิงสาวที่ไม่สำรวม กำลังหัวร่อต่อกระซิกระริกระรี้ อยู่ในอิริยาบถของมนุษย์ เช่น เล่นน้ำ สยายเผ้า หวีผม โล้ชิงช้า ดีดพิณ เก็บดอกไม้ในสวน มีข้อน่าสังเกตว่ามักเป็นภาพที่มีบุคคลเกินกว่าหนึ่งเสมอ กล่าวโดยสรุปคือ เป็นหญิงสาวที่มีชีวิตชีวามากขึ้น เริ่มบิดกาย ยกแข้งยกขา ส่อเค้าถึงความเซ็กซีเย้ายวน แต่ก็ยังไม่ก้าวล่วงไปถึงขั้นกอดรัดเล้าโลมหรือเสพสังวาส แม้หลายภาพจะมีฉากบุรุษเพศเข้ามาเคล้าคลอนัวเนียบ้างก็ตาม

ภาพ : Venus and Cupid ยุคทศวรรษ 1520 โดย Lorenzo Lotto

สี่ Nymph กระหยิ่มยิ้มอวดทรวดทรง อรอนงค์หลงรสรมยา

เป็นนู้ดที่แสดงอาการเริงร่า เร่าร้อน ร่ายรำ โลดแล่น ล่องลอย ปล่อยตัวปล่อยใจจนเสื้อผ้าปลิวว่อน ใบหน้ายิ้มกริ่มฉายแววปราโมทย์ ในเชิงสุขารมณ์ นัยว่าเพิ่งผ่านกามรสมาหมาด ๆ พบอย่างดาษดื่นในภาพเขียนยุคที่มนุษย์บูชากามารมณ์เป็นใหญ่ ได้แก่ยุคบาโรก โรโกโก และนีโอคลาสสิก ช่วงแรกภาพกลุ่มนี้มักแสดงออกด้วยพวกนางฟ้า นางไม้ นางเงือก นางพราย ฯลฯ เป็นฉากที่กระโดดก้าวข้ามจาก Venus II ผู้กำลังกระสันสวาท มาสู่ฉากที่บรรลุจุดสุดยอดไปเรียบร้อยแล้ว (หมายเหตุฉาก Erotic นั้นละไว้ในฐานที่เข้าใจ)

ภาพ : Psyché enlevée par les zéphirs โดย Pierre-Paul Prud’hon

ห้า Adam-Eva คือชนหน่อเชื้อปุถุชาติ พลั้งเผลอผิดพลาดปรารถนา

เป็นนู้ดที่เสนอสภาวะอารมณ์ของมนุษย์ผู้ดิ้นรนซัดส่ายอยู่ในสามโลก สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรกภูมิ ใช้ภาพเปลือยของบุคคลนำเสนอเนื้อหาเรื่องราวที่สะท้อนเรื่องบุญ-บาป เป็นกลุ่มที่พบมากในภาพเขียนยุคเคร่งศาสนา เฟื่องฟูตามฝาผนังโบสถ์ยุคกอทิก โดยเฉพาะภาพคนบาปที่ถูกลงทัณฑ์ในนรก และภาพอดัมกับอีฟ ในที่นี้อีฟมิได้มีความงดงามอ่อนหวานเหมือน วีนัสแต่กลับมีสีหน้าหมองหม่นและแบกทุกข์ ส่วนอดัมก็มิได้มีเรือนกายที่กำยำบึกบึนประดุจเทพอพอลโล อีฟและอดัมเป็นสัญลักษณ์ของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความลังเลสงสัย หวาดกลัว ขาดความเชื่อมั่น และ ซ่อนปม พบงานกลุ่มนี้มากในภาพเขียนของจิตรกรสกุลช่างเฟลมมิช

ภาพ : อดัมและอีก ภาพบนฉากประดับแท่นบูชาแห่งเกนต์ (Ghent Altarpiece A) โดย Jan van Eyck

หก Christ แบกทุกข์ปลุกเทียนศรัทธา ปริเทวนาโศกาลัย

ไม่เพียงแต่ในด้านงดงาม กามราคะ หรือเปิดเปลือยความรู้สึกของปุถุชนเท่านั้นที่ศิลปินได้นำนู้ดมาใช้อย่างสัมฤทธิ์ผล ในแง่ของ “ศรัทธาจริต” ก็เช่นกัน นู้ดสามารถชอนไชเข้าไปล้วงลึกดึงเอาความเจ็บปวดร้าวรานปางตายของพระ ศาสดามาตีแผ่ จนสะกดให้ผู้ชมเกิดความเลื่อมใสในศาสนาคริสต์ได้ ดังเช่นฉากพระคริสต์ถูกตรึงบนไม้กางเขน หรือฉากพระแม่มารีตระกองพระคริสต์ไว้บนตักตอนสิ้นพระชนม์ โดยศิลปินจะเน้นให้เห็นถึงความเสียสละอันใหญ่หลวงของพระองค์ผ่านพระวรกายที่ผ่ายผอมแลเห็นโครงกระดูก หลายภาพมีรอยตะปูตอกตรึงแลเห็นเลือดไหลซิบ ๆ

ภาพ : พระคริสต์ถูกตรึงบนไม้กางเขน (Christ on the Cross Adored by Two Donors) โดย El Greco

เจ็ด Slave ริ้วรอยอัปลักษณ์รันทด สังขารเกินกฎกำหนดได้

นู้ดที่เน้นความโศกาดูรผ่านเรือนกายที่บิดเกลียวของพระคริสต์นั้นถือว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็เจือด้วยลักษณะที่ค่อนข้าง Dramatic ยังมีศิลปะแนวปริเทวนาทุกข์อีกกลุ่มหนึ่งที่สะท้อนออกมาในภาพนู้ด แต่มองแล้วเชิงชวนให้เกิดความสลดหดหูระคนขยะแขยงขนหัวลุกมากกว่า เพราะศิลปินจงใจเผยริ้วรอยอัปลักษณ์แห่งสังขารา เกิด แก่ เจ็บ ตาย ดังเช่น ภาพทาสอาหรับนอนตายระเกะระกะด้วยโรคระบาด ฉากเหล่านี้หากมีเสื้อผ้าเข้าไปประกอบให้รกรุงรัง ก็คงไม่ทำให้เรารู้สึก “ปลงสังเวช” ได้ดีเหมือนกับการนำเสนอด้วยภาพนู้ด

ภาพ : Bonaparte visitant les pestiférés de Jaffa โดย Antoine-Jean Gros แสดงโรคระบาดที่เมืองจาฟฟา

แปด Hercules กระตุ้นพลังพาไป นำชัยชำนะกลับคืน

เมื่อมีด้านท้อแท้ ถดถอย สิ้นหวัง ก็ต้องมีด้านที่ร้อนแรง พลุ่งพล่าน คุณูปการของนู้ดยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดพลังขับเคลื่อนเพื่อการต่อสู้เอาชนะอุปสรรคได้สำเร็จอีกด้วย นู้ดกลุ่มนี้มักใช้ถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญ ประกอบด้วยบุคคลละลานตา เป็นตอนที่นำไปสู่จุด “ไคลแมกซ์” ของเนื้อหา ระหว่าง “ความเป็น” กับ “ความตาย” หรือระหว่าง “ชัยชนะ” กับ “แพ้พ่าย” ดังเช่นงานชิ้นเยี่ยมของ เออแฌน เดอลาครัว (Eugène Delacroix) ชื่อ เทพี่สันติภาพนำชัยสู่มหาชน ลองจินตนาการดูเอาเองว่า หากงานชิ้นนี้ไม่เขียนให้เทพีผู้ถือธงชาติฝรั่งเศสเปลือยท่อนบน ภาพนี้จะน่าดูน่าชมและบังเกิดพลังขับเคลื่อนท้าทายได้เท่านี้หรือไม่?

ภาพ : เสรีภาพนำประชาชน (Liberty Leading the People) โดย Eugène Delacroix

เก้า Nude for Nude’s Sake การเมืองเรื่องนู้ดน่าขัน สารพันทฤษฎีดาษดื่น

เมื่อมี Art for Art’s Sake ศิลปะเพื่อศิลปะได้ ก็ย่อมมี Nude for Nude’s Sake นู้ดเพื่อนู้ดได้เช่นกัน ศิลปินผู้นำนู้ดมาปฏิวัติในรูปโฉมใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นการพลิกอุดมคติในการมองความงามใหม่ก็คือ เซซานน์ (Paul Cézanne) กับปิกาโซ (Pablo Ruiz Picasso) โดยเฉพาะอย่างยิ่งปิกาโซนำภาพนู้ดมาเชิดชูเพื่อประชดสังคมยุคนั้นที่ยังมีการแบ่งชนชั้น รังเกียจหญิงโสเภณี จากนั้นมา “อองรี มาติส” (Henri Matisse) ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษ ก็ได้ยกระดับภาพนู้ดให้กลายเป็นศิลปะบริสุทธิ์อย่างแท้จริงอีกครั้ง โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ (หลังจากที่เคยมีอพอลโลและวีนัสภาคสวรรค์มานานนมแล้ว อุดมคติแห่งนู้ดได้ถูกเบี่ยงเบนไป) ส่วนศิลปินไทยที่เขียนภาพนู้ดได้เยี่ยมยอดเป็นอมตะ คือ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์

ภาพ : ภาพ Blue Nude โดย Henri Matisse (Photo by ROBERT BAYER, BASEL / Succession Henri Matisse/DACS 20 / AFP)

สิบ Nude for… Up to you นู้ดเพื่อชีวิตยั่งยืน หรือเพื่อพลิกฟื้นคุณธรรม

มาถึงยุคสมัยที่นู้ดถูกนำไปใช้กับศิลปะภาพถ่ายและการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์สด ๆ มากกว่าพบในงานปั้นและงานวาด ดังนั้น บัญญัติว่าด้วยนู้ดประการสุดท้ายนี้ จึงเหลือเอาไว้หนึ่งข้อให้ผู้อ่านเติมเป็นการบ้านเอาเอง อาจจะเป็น “นู้ดเพื่อโค่นล้มจริยธรรมเก่า” “นู้ดเพื่อปากท้อง” “นู้ดเพื่อช่วยเหลือคนพิการ” “นู้ดเพื่อสันติภาพ” “นู้ดต่อต้านโรคเอดส์” “นู้ดเพื่อประชดผัวเก่า” “นู้ดเพื่อยั่วชายขี้ริ้ว” หรือ “นู้ดเพื่อเย้ยหญิงขี้เหร่” ก็สุดแท้แต่จะบัญญัติคำนิยาม

ภาพ : สาวอิตาเลียนนู้ด โดย เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินที่เขียนนู้ดแบบ Nude for Nude’s Sake

เพ็ญสุภา สุขคตะ สรุปว่า ภาพนู้ดนับตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมของแต่ละยุคสมัย ดังจะเห็นได้จาก ความงามของนู้ดแบบ “อุดมคติ” นั้น เคยให้คุณค่ากับสตรีอกเล็กคล้ายสาวแรกรุ่น มีหน้าท้องน้อย ๆ พองาม คือช่างจะปั้นทรวงอกให้พอแต่เป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิงเท่านั้น มิได้มีเจตนาเพื่อปลุกเร้าความรู้สึกทางเพศ

เรียกได้ว่า หากใครมีหน้าอกหน้าใจใหญ่เบ้อเร่อเบ้อร่า ก็หมดสิทธิ์ที่จะแจ้งเกิดในโลกศิลปะ เพราะในอดีตเชื่อกันว่าสรีระของหญิงใดก็ตาม หากส่อเค้าในเชิงกามราคะมากเกินไป สตรีนางนั้นมักไม่ค่อยมีปัญญาเท่าที่ควร

ทว่า ความงามของนู้ดแบบ “อุดมคติ” ในต่อมาได้มีการสวนกระแสกลับ ภาพนู้ดที่กลาดเกลื่อนตามแผงหนังสือ หรือตามแกลเลอรีนั้น ล้วนแต่เน้นไปที่ “ขนาด” ใหญ่เบ๊อะบ๊ะแทบทั้งสิ้น ฉะนั้น คุณค่าความงามเชิงอุดมคติในภาพนู้ดจึงไม่เหลือร่องรอย

เพ็ญสุภา สุขคตะ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ภาพนู้ดกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูง แม้แต่นางงามหรือสาวสังคมไฮโซก็ยินยอมพร้อมใจกันถ่ายนู้ดอย่างไม่เคอะเขิน สะท้อนให้เห็นว่า การขานรับภาพนู้ดอย่างเปิดเผยได้บังเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ไม่เพียงแต่เพศชายเท่านั้นที่เป็นฝ่ายเสพ เพศหญิงจำนวนมากก็ดูภาพนู้ดเช่นกัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เพ็ญสุภา สุขคตะ, “บัญญัติ 10 ประการแห่งนู้ด”, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 23 ฉบับที่ 7.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายน 2563