ผู้เขียน | กานต์ จันทน์ดี |
---|---|
เผยแพร่ |
กาย ฟอกส์ (Guy Fawkes) เกิดเมื่อปี 1570 ในครอบครัวโปรแตสแตนท์ที่เมืองยอร์ก ประเทศอังกฤษ ก่อนเปลี่ยนไปนับถือนิกายโรมันคาทอลิก และเดินทางออกจากอังกฤษในปี 1593 เพื่อร่วมรบกับกองทัพสเปนซึ่งเป็นรัฐคาทอลิก ในสงครามกับเนเธอร์แลนด์ที่เป็นสาธารณรัฐโปรแตสแตนท์
ในช่วงเวลานั้น อังกฤษอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ซึ่งครองบัลลังก์ของทั้งอังกฤษและสก็อตแลนด์ (ในฐานะพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสก็อตแลนด์) พระองค์เป็นโอรสพระองค์เดียวของราชินีแมรีแห่งสก็อตแลนด์ ซึ่งขึ้นครองบัลลังก์สก็อตตั้งแต่ยังทรงแบเบาะ
เมื่อราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษสิ้นพระชนม์โดยไร้รัชทายาท พระองค์ได้ทรงอ้างสิทธิในการครองบัลลังก์ของอังกฤษด้วยในฐานะผู้สืบสายเลือดของพระเจ้าเฮนรีที่ 7
ผู้นับถือนิกายคาทอลิกในอังกฤษขณะนั้นไม่พอใจพระเจ้าเจมส์อย่างรุนแรงที่ปฏิเสธที่จะให้อิสรภาพในการนับถือศาสนากับชาวคาทอลิกมากขึ้น โรเบิร์ต เคทส์บีย์ (Robert Catesby) และพวกจึงวางแผนที่จะสังหารพระเจ้าเจมส์ โดยหวังที่จะให้ชาวคาทอลิกขึ้นมามีอำนาจเหนือแผ่นดินอังกฤษอีกครั้ง
ฟอกส์ซึ่งยังคงร่วมรบกับสเปน ได้รับการติดต่อจากโธมัส วินทัว (Thomas Wintour) หนึ่งในผู้ก่อการ ให้เข้าร่วมการลงมือลอบสังหารพระเจ้าเจมส์ โดย กาย ฟอกส์ ซึ่งตอนนี้หันมาเรียกตัวเองว่า “กุยโด” ชื่อของเขาในภาษาอิตาเลียน เป็นผู้มีความชำนาญด้านวัตถุระเบิด จึงได้รับหน้าที่สำคัญในการจัดหาและวางระเบิดใต้สภาขุนนางในวันที่ 5 พฤศจิกายน 1605 ซึ่งพระเจ้าเจมส์และคณะรัฐมนตรีจะมาเข้าร่วมประชุมด้วย เป็นแผนลอบสังหารที่รู้จักกันในนาม “Gunpowder Plot”
แต่ความพยายามของเคทส์บีย์ที่คอยหาผู้สมรู้ร่วมคิดเพิ่มอยู่เรื่อยๆ นี่เองที่ทำให้แผนการของพวกเขาล้มเหลว เพราะ ฟราสซิส เทรสแฮม (Francis Tresham) หนึ่งในบุคคลที่ถูกชักชวน เชื่อกันว่าน่าจะเป็นผู้ที่ไปเตือนลอร์ดมอนทีเกิล (Lord Monteagle) น้องเขยซึ่งเป็นคาทอลิก มิให้เข้าร่วมการประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 พฤศจิกายน 1605 อันเป็นวันก่อเหตุ ทำให้แผนการของพวกเขารั่วไหล ฟอกส์ถูกตรวจพบพร้อมกับวัตถุระเบิดจำนวนมากในห้องใต้ดินของพระราชวังเวสต์มินส์เตอร์ในคืนวันที่ 4 พฤศจิกายน
ฟอกส์ถูกจับไปทรมานด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้สารภาพผิดพร้อมเปิดเผยชื่อผู้ที่เข้าร่วมขบวนการ ซึ่งตามกฎหมายแล้วการทรมานในการสอบสวนถือเป็นสิ่งต้องห้าม เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากกษัตริย์ และฟอกส์ก็สามารถทนรับการทรมานกว่า 2 วัน ก่อนยอมเปิดปากสารภาพ
เมื่อเขาถูกถามว่าเหตุใดจึงครอบครองดินปืนเป็นจำนวนมาก เขาตอบว่า “ก็เอาไว้ระเบิดพวกขี้ข้าสก็อตให้กระเด็นกลับไปถึงเทือกเขาบ้านเกิดพวกมึงไง” และยังกล่าวว่า เขารู้สึกเสียใจที่แผนการดังกล่าวล้มเหลว ความแน่วแน่ของฟอกส์จึงทำให้เขาได้รับความชื่นชมจากพระเจ้าเจมส์ว่าเขาคือผู้ที่มีความมั่นคงต่อความเป็นโรมัน (คาทอลิก) อย่างแท้จริง
ในวันที่ 27 มกราคม 1606 ฟอกส์ถูกไต่สวนโดยคณะตุลาการพิเศษ ซึ่งตัดสินให้เขามีความผิดจริงตามข้อกล่าวหา และสั่งให้รับโทษประหารในวันที่ 31 มกราคม ด้วยการแขวนคอ ลากประจานและชำแหละร่างเป็นชิ้นๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ลงโทษผู้ทรยศ แต่เขาเลือกที่จะกระโดดจากแท่นประหารจนคอหักตายเพื่อเลี่ยงความตายอย่างอัปยศ ซึ่งเขาจะต้องถูกตัดอวัยวะเพศ ผ่าท้องและตัดร่างกายเป็นสี่ส่วนทั้งที่ยังมีชีวิต
นับแต่นั้นมา ฟอกส์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายและภาพตัวแทนของชาวคาทอลิกหัวรุนแรง และยังเป็นเหตุที่ถูกอ้างเพื่อใช้ในการกดขี่ชาวคาทอลิกในอังกฤษอย่างยาวนานกว่า 200 ปี ซึ่งในวันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปีในอังกฤษจะมีการฉลองความล้มเหลวของฟอกส์ ด้วยการเอาตุ๊กตาฟางที่เป็นตัวแทนของเขามาเผาบนกองไฟ
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันฟอกส์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจรัฐ และ “หน้ากากขาว” หรือหน้ากากกาย ฟอกส์ ก็ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการชุมนุมประท้วงต่างๆ หลังการเผยแพร่ภาพยนต์ดัง “V for Vendetta” ซึ่งมีตัวเอกเป็นนักอนาธิปไตยที่สวมหน้ากากกาย ฟอกส์ ตลอดเวลา โดยเขาต้องการจุดชนวนการปฏิวัติด้วยการก่อการร้าย เพื่อล้มรัฐบาลเผด็จการที่ปกครองสหราชอาณาจักรตามท้องเรื่อง
อ่านเพิ่มเติม :
- ค้นคนรัก-ผู้ชิงเก้าอี้พระสวามีควีนอลิซาเบธที่ 1 แล้วทรงเป็น “ราชินีพรหมจรรย์” จริงหรือ?
- ภาพ “ฝรั่ง” วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี ที่ดูคล้ายพระเจ้าเจมส์ที่ 1
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“Guy Fawkes”. BBC History. <http://www.bbc.co.uk/history/people/guy_fawkes>
“Guy Fawkes Day: A Brief History. <http://www.history.com/news/guy-fawkes-day-a-brief-history>
“9 Things You Never Know about Guy Fawkes”. The Telegraph. <http://www.telegraph.co.uk/history/11209784/9-things-you-never-knew-about-Guy-Fawkes.html>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 27 มกราคม พ.ศ.2560