ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระพุทธมนต์ “นวัคหายุสมธัมม์” สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปฐมเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ทรงริเริ่มธรรมเนียมการสวดนวัคหายุสมธัมม์ อันเป็นพิธีเจริญพระพุทธมนต์ที่เริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๕
นวัคหายุสมธัมม์ (อ่าน นะ-วัก-คะ-หา-ยุ-สะ-มะ-ทำ) แปลว่า ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกำหนดด้วยองค์เก้า หรือธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์
เนื่องจากใน พ.ศ. ๒๔๑๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ ๕๐ พรรษา ทรงต้องการให้ทำพิธีแบบใหม่แทนที่เคยทำกันมา จึงตรัสปรึกษากับสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) แต่ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ดังนั้นจึงจัดแบบพิธีสวดนพเคราะห์ถวายใหม่ เรียกว่า นวัคหายุสมธัมม์ คือ ให้พระสงฆ์ ๕ รูป สวดพระธรรมต่างๆ ที่มีข้อธรรมเท่าจำนวนเกณฑ์กำลังดาวนพเคราะห์เฉพาะองค์ คือสวดดังนี้
อนุตตริยปาฐะ (อนุตตริยะ ๖) สำหรับพระอาทิตย์
จรณปาฐะ (จรณะ ๑๕) สำหรับพระจันทร์
มัคควิภังคปาฐะ (มรรค ๘) สำหรับพระอังคาร
อินทริยะ พละ โพชฌังคปาฐะ (อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗) สำหรับพระพุธ
ทสพลญาณปาฐะ (ทสพลญาณ ๑๐) สำหรับพระเสาร์
ทสสัญญา นวอนุปุพพวิหารปาฐะ (สัญญา ๑๐ อนุปุพพวิหาร ๙) สำหรับพระพฤหัสบดี
สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิปาทปาฐะ (สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔) สำหรับพระราหู
สัปปุริสธัมม อริยธน สัมมาสมาธิปริกขารปาฐะ (สัปปุริสธรรม ๗ อริยทรัพย์ ๗ สัมมาสมาธิบริขาร ๗) สำหรับพระศุกร์
อาฆาตปฏิวินยปาฐะ (อาฆาตวัตถุ ๙) สำหรับพระเกตุ
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ทรงพระนิพนธ์บทขัดตำนาน สำหรับพระธรรมบทนั้นๆ ด้วย แบบสวดนวัคหายุสมธัมม์ที่จัดขึ้นใหม่นี้ โปรดให้โหรบูชาเชิญเทวดานพเคราะห์มาฟังสวดพระพุทธมนต์ทีละองค์ และพระสงฆ์ ๕ รูปสวดพระธรรมสำหรับเทวดาองค์นั้น สวดสลับไปกันกับโหรบูชา
พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคหายุสมธัมม์ได้กระทำครั้งแรกที่วังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ครั้นถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๒๕ พรรษา มีพระราชปรารภจะทรงทำพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาให้พิเศษที่ทำมาแต่ก่อน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงกราบบังคมทูลให้ทรงทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคหายุสมธัมม์ และได้ทำในงานหลวงตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา ต่อมาผู้อื่นก็ทำตามเมื่อทำบุญฉลองอายุที่เข้าเขตสำคัญ เช่น ครบ ๖๐ ปี เป็นต้น พิธีดังกล่าวจึงได้แพร่หลายและเป็นบทสวดพระปริตรอย่างหนึ่งที่นิยมสวดกันในเมืองไทย
ในพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ยังทรงให้นิมนต์พระสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามจำนวน ๕ รูป ทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคหายุสมธัมม์
อ้างอิงจาก
นนทพร อยู่มั่งมี. พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์. (จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสอายุวัฒนมงคล ๘๑ ปี พระพรหมวัชราจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺทโก) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๖). กรุงเทพฯ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, ๒๕๖๖