“พระนามพระเจ้าแผ่นดิน” ที่เรียกกัน ๕ แบบอย่าง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

พระนามพระเจ้าแผ่นดิน

ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีวิธีเรียก “พระนามพระเจ้าแผ่นดิน” แตกต่างกัน ๕ อย่าง คือ พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ พระนามพิเศษถวายเพิ่มพระเกียรติยศ พระนามที่เรียกกันในเวลาเมื่อเสด็จดำรงพระชนม์อยู่ พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อเวลาล่วงรัชกาลไปแล้ว และพระนามที่เรียกในราชการในเวลาเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว

พระนามแต่ละประเภทมีรายละเอียดพอสรุปได้ดังนี้

Advertisement

๑. พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ 

พระนามพระเจ้าแผ่นดินนี้เกิดขึ้นในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ จะมีการถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินใหม่ จารึกลงในพระสุพรรณบัฏ (แผ่นทอง) ถวายเมื่อทำพระราชพิธีราชาภิเษก

๒. พระนามพิเศษถวายเพิ่มพระเกียรติยศ

ในแผ่นดินพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด มีเหตุการณ์อันเป็นพระเกียรติยศพิเศษ ก็จะมีการถวายพระนามพิเศษเฉลิมพระเกียรติยศนั้น เช่น พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมี ก็จะถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นว่า “พระเจ้าช้างเผือก”

๓. พระนามที่เรียกกันในเวลาเมื่อเสด็จดำรงพระชนม์อยู่

มักเรียกเหมือนกันทุกพระองค์ คือผู้ที่เป็นข้าขอบขัณฑสีมาก็เรียกพระเจ้าแผ่นดินของตนว่า ขุนหลวง หรือพระเป็นเจ้า หรืออย่างเราเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัว มิได้ออกพระนามเฉพาะพระองค์

ถ้าชาวเมืองอื่นเรียกก็มักจะเรียกตามนามเมืองที่พระเจ้าแผ่นดินนั้นๆ ครอง ดังเช่นเรียกว่าพระเจ้าอู่ทอง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าอังวะ เป็นต้น บางทีก็เรียกตามพระนามเดิมของพระเจ้าแผ่นดินนั้นๆ เช่นเรียกว่า พระร่วง พระยาอู่ พระเจ้ามังลอง ดังนี้ พระนามที่เรียกว่าตามนามเมืองหรือตามพระนามเดิมอย่างนี้ ล้วนเป็นคำของพวกเมืองอื่นเรียก

๔. พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อเวลาล่วงรัชกาลไปแล้ว 

ดังเช่น ขุนหลวงเพทราชา ขุนหลวงเสือ ขุนหลวงท้ายสระ ขุนหลวงทรงปลา เป็นต้น จนตลอดขุนหลวงบรมโกศ ขุนหลวงหาวัด เกิดแต่ไม่รู้ว่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ที่ล่วงรัชกาลแล้วพระองค์ใด เรียกพระนามในราชการว่าอย่างไร

ราษฎรก็เรียกเอาตามที่สำเหนียกกำหนดกัน ดังเช่นว่า ขุนหลวงเพทราชา ก็เพราะได้เป็นที่พระเพทราชาอยู่เมื่อก่อนได้ราชสมบัติ เรียกว่าขุนหลวงเสือ ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นร้ายกาจ เรียกว่าขุนหลวงท้ายสระ ก็เพราะเสด็จอยู่พระที่นั่งข้างท้ายสระ

ส่วนขุนหลวงหาวัดนั้น พระนามเดิมเรียกในราชการว่า เจ้าฟ้าอุทุมพร ได้เป็นกรมขุนพรพินิต เมื่อเสวยราชย์อยู่ในราชสมบัติไม่ช้า ก็สละราชสมบัติออกผนวช คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ขุนหลวงหาวัด หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินที่อยู่วัด มาแต่ครั้งกรุงเก่า

๕. พระนามที่เรียกในราชการเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว 

เกิดแต่ความจำเป็นที่จะต้องเรียกพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อนๆ ให้ปรากฏพระนามผิดกัน เพราะพระนามตามพระสุพรรณบัฏมักจะเหมือนกันโดยมาก จึงต้องสมมติพระนามขึ้นสำหรับเรียกเฉพาะพระองค์

เรื่องนี้มีความลำบากเป็นอุทาหรณ์ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง คือเมื่อรัชกาลที่ ๒ เรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง ก็เป็นอันถูกต้องเรียบร้อยมาตลอด ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ มีรัชกาลที่ล่วงแล้วเป็น ๒ รัชกาลขึ้น เกิดเรียกกันขึ้นว่า แผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัย รับสั่งว่าถ้ารัชกาลที่ ๑ เป็นแผ่นดินต้น รัชกาลที่ ๒ เป็นแผ่นดินกลาง รัชกาลที่ ๓ ก็จะกลายเป็นแผ่นดินสุดท้าย เป็นอัปมงคล

จึงประกาศให้เรียกรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ตามพระนามพระพุทธรูป ซึ่งทรงสร้างเป็นพระบรมราชูทิศไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้เรียกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๑ ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๒ ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

มาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่า เรื่องพระนามแผ่นดินควรจะกำหนดไว้ให้เป็นยุติเสียแต่แรกทีเดียว จึงถวายพระนามรัชกาลที่ ๓ ว่า พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนรัชกาลของพระองค์เอง ให้เรียกว่า พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นธรรมเนียมสืบต่อมาจนบัดนี้


อ้างอิง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. อธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี, มหาอำมาตย์ตรี พระยาภรตราชา พิมพ์ช่วยในการพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงทองย้อย เสนีณรงค์ จ จ. เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘.