ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“การเสด็จออกมหาสมาคม” หมายถึงเสด็จออกที่ประชุมใหญ่ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ฯลฯ
การเสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์จะเสด็จออกมหาสมาคม ภายหลังการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งภัทรบิฐเสร็จสิ้นลง ถือเป็นหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย
พระมหากษัตริย์จะเสด็จฯ มาประทับ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ซึ่งเป็นท้องพระโรงสําหรับทรงว่าราชการ ธรรมเนียมต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ปรากฏว่ามีพิธีสงฆ์ในขั้นตอนนี้ หากในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จฯ ถึงแล้ว ทรงถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระภิกษุสงฆ์ ๓๐ รูป
เมื่อพระสงฆ์ถวายพระพรลาแล้ว จึงเสด็จเข้าไปในพระวิสูตร (ผ้าม่าน) เพื่อเปลี่ยนเครื่องทรงมหาสมาคม โดยจะประทับบนพระที่นั่งภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เบื้องล่างของพระที่นั่งมีมหาดเล็กเชิญพระแสงรายตีนตองประจํามุมอยู่งานถวายพัดโบกเบื้องหลังตามโบราณราชประเพณี
บริเวณภายนอกจะมีพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดจนบรรดาทูตานุทูตคอยเข้าเฝ้า สำหรับบริเวณภายนอกพระที่นั่ง เจ้าพนักงานตระเตรียมพระราชพาหนะอันเป็นสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราช เช่น พระที่นั่งราเชนทรยาน พระยาช้างต้น ม้าต้น เทียบไว้ที่เกย รวมถึงการเทียบเรือพระที่นั่งบริเวณท่าราชวรดิฐ ด้วย
เมื่อถึงกำหนดเวลาตามพระราชพิธี เจ้าพนักงานไขพระวิสูตรเบื้องหน้าพระราชบัลลังก์ให้เปิดออก เจ้ากรมตำรวจหลวงชูพุ่มดอกไม้ให้สัญญาณชาวประโคม ประโคมดุริยางคดนตรี กระทั่งมโหระทึก เป่าแตร สังข์ ตีกลองชนะ ขึ้นพร้อมกัน ทหารบกยิงปืนใหญ่บริเวณท้องสนามหลวง ทหารเรือยิงปืนใหญ่สลุตจากเรือรบเพื่อเฉลิมพระเกียรติ
แต่เดิมนั้น การเสด็จออกมหาสมาคมตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีกราบบังคมทูลถวายเมือง ไพร่พล และทรัพย์สิน
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงบางประการ เป็นต้นว่า พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และข้าทูลละอองธุลีพระบาทยืนถวายคำนับ ไม่ต้องนั่งถวายบังคมดังที่ผ่านมา
เสนาบดีที่ดำรงตำแหน่งมานานกว่าผู้อื่นกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล และแสดงความจงรักภักดีในนามพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง ไม่มีการกราบบังคมทูลถวายสรรพสมบัติ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เปลี่ยนเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่เป็นผู้ถวายพระพรชัยมงคล
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคลในนามคณะรัฐมนตรีและข้าราชการทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน และประธานรัฐสภาเป็นผู้กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคลในนามของประชาชน
อ้างอิง
เว็บไซต์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒. http://phralan.in.th
ดร. นนทพร อยู่มั่งมี, ผศ. ดร. พัสวีสิริ เปมกุลนันท์. เสวยราชสมบัติกษัตรา, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม ๒๕๖๒.