ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หมายถึง ที่อยู่ของพระมหาจักรพรรดิราช ซึ่งตามพระราชนิติธรรมประเพณี พระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว แต่ยังมิได้ทรงรับบรมราชาภิเษก จะไม่ประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นอันขาด ต่อเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว จึงจะเสด็จขึ้นประทับได้
พระที่นั่งองค์นี้เป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่ เป็นประธานของหมู่พระมหามณเฑียร มีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมไทยประเพณี โดยเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน
เครื่องหลังคาของพระที่นั่งเป็นแบบซ้อนชั้น ตามคติความเชื่อเรื่องปราสาทหรือเรือนฐานันดรสูง ประดับกรอบหน้าบันด้วยเครื่องลํายอง ได้แก่ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียว ขอบสีส้มคาดสีเหลืองตามฐานานุศักดิ์แห่งสถาปัตยกรรมไทยประเพณี
ภายในประกอบด้วยพระที่นั่ง ๓ องค์เรียงต่อกัน ได้แก่ พระที่นั่งองค์ตะวันออก พระที่นั่งองค์กลาง และพระที่นั่งองค์ตะวันตก
ความสำคัญอยู่ที่ “พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก” ประดิษฐานพระวิมานที่บรรทมโดยเฉพาะของพระมหากษัตริย์ คือ “พระแท่นราชบรรจถรณ์” เป็นพระแท่นบรรทมของพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับราชสมบัติบรมราชาภิเษกตามราชประเพณี ตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์แขวนพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงรับบรมราชาภิเษกแล้วได้เสด็จฯ ไปประทับภายในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานอยู่เป็นประจำ
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์เป็นพระราชฐานที่ประทับแห่งใหม่ภายในพระบรมมหาราชวัง และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นพระราชฐานที่ประทับ จึงมิได้เสด็จฯ ไปประทับ ณ พระวิมานที่บรรทมในพระที่นั่งองค์ตะวันออกเป็นประจําดังเดิม
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยังมีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เพื่อให้พระมหากษัตริย์เสด็จฯ ไปประทับแรม ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ตามขัตติยราชประเพณี เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียรแล้ว จะประทับแรม ๑ ราตรีบ้าง ๓ ราตรีบ้าง เพื่อให้เป็นมงคลฤกษ์
หลังจากนั้นจะเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระราชมณเฑียรสถานหรือพระราชวังอื่นๆ ตามพระราชอัธยาศัย
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียรจะเตรียมการจัดแต่งพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน โดยตั้งพระแท่นบรรทมพร้อมตั้งเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร ได้แก่ พระแส้หางช้างเผือก ศิลาบดโมรา พานพืชที่มีข้าวเปลือก ถั่ว งา เมล็ดพันธุ์ผักกาด เมล็ดฝ้าย พานฟัก กุญแจทอง จั่นหมากทอง วิฬาร์หรือ แมว และไก่ขาว ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีความหมายอันเป็นสิริมงคลต่างๆ เช่น พันธุ์พืชต่างๆ หมายถึงความเจริญงอกงาม ศิลา หมายถึงความหนักแน่น ฟัก หมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุข
เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จฯ มายังพระราชมณเฑียรแล้ว พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายในจะทรงปูลาดพระที่และทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับแล้วจะประทับเอนพระองค์เบื้องขวาลงบนพระแท่นบรรทม ทรงรับการถวายพระพร แล้วทรงโปรยดอกพิกุลทองพิกุลเงินพระราชทาน เป็นเสร็จการพระราชพิธี
อ้างอิงจาก
ดร. นนทพร อยู่มั่งมี, ผศ. ดร. พัสวีสิริ เปมกุลนันท์. เสวยราชสมบัติกษัตรา, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม ๒๕๖๒.