“พระที่นั่งไพศาลทักษิณ” พระที่นั่งองค์สำคัญ ใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นามของพระที่นั่งหมายถึง “ผู้ยิ่งใหญ่ทางใต้” 

ตามคัมภีร์ไตรภูมิ ระบุว่า พระมหาจักรพรรดิราชจะอุบัติขึ้นเฉพาะในชมพูทวีป ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ เป็นสถานที่สำคัญในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงอาจถือได้ว่า เป็นที่อุบัติของพระมหาจักรพรรดิราชได้ด้วย

ที่สําคัญพระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน (หมายถึง ที่ออกว่าราชการของพระอินทร์) จึงสื่อว่าพระที่นั่งไพศาลทักษิณก็คือชมพูทวีป ซึ่งมีพระมหาจักรพรรดิประทับ

พระที่นั่งไพศาลทักษิณตั้งอยู่ระหว่างท้องพระโรงหน้ากับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม ทอดยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก มีความยาว ๓๕ เมตร กว้าง ๘ เมตร ใช้เป็นที่ประทับทรงพระสำราญและประกอบพระราชกรณียกิจบางประการ เช่น การบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการภายใน หรือให้เจ้านายฝ่ายในเฝ้า ใช้เป็นที่เสวยพระกระยาหาร

แต่หน้าที่สำคัญของ “พระที่นั่งไพศาลทักษิณ” คือการใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งภายในมีปูชนียวัตถุอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีประดิษฐานรวม ๓ สิ่ง คือ

๑. พระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานในพระวิมาน อยู่บริเวณตอนกลางของพระที่นั่งตรงกับพระทวารเทวราชมเหศวร

๒. พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับรับน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประดิษฐานอยู่เกือบสุดองค์พระที่นั่งด้านทิศตะวันออก ตรงหน้าพระทวารที่ลงจากหอพระสุลาลัยพิมาน

๓. พระที่นั่งภัทรบิฐ เป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประดิษฐานอยู่สุดองค์พระที่นั่งด้านตะวันตก ตรงหน้าพระทวารที่ลงจากหอพระธาตุมณเฑียร

นอกจากนี้ ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณมีการประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งวาดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วาดภาพจำลองสรวงสวรรค์ เช่น ภาพเล่าเรื่องประวัติและสวรรค์ของพระอินทร์ ภาพเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ภาพเทวดา เป็นต้น

ภาพเหล่านี้ช่วยเสริมความหมายและความศักดิ์สิทธิ์ให้กับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่สถาปนาผู้ดํารงตําแหน่งพระมหากษัตริย์ให้มีสถานะดุจดั่งองค์สมมติเทพ


อ้างอิง

ดร. นนทพร อยู่มั่งมี, ผศ. ดร. พัสวีสิริ เปมกุลนันท์. เสวยราชสมบัติกษัตรา, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม ๒๕๖๒.