‘ศิลปวัฒนธรรม’ เปิดไลน์อัพคอลัมนิสต์ใหม่! พร้อมปรับลุคครั้งใหญ่ รับกระแสความสนใจสังคม

เครือมติชนตอบรับคลื่นความสนใจสังคม พร้อมต่อยอดความแข็งแกร่งคุณภาพ จัดงาน ‘MATICHON MAGAZINES : NEW CHAPTER สู่อนาคตอันท้าทาย’ เผยทิศทางการปรับรูปเล่มและเนื้อหา ‘เทคโนโลยีชาวบ้าน-ศิลปวัฒนธรรม-มติชนสุดสัปดาห์’ 3 นิตยสารในเครือมติชนครั้งใหญ่ อัดแน่นสาระความรู้ ทั้งมิติเกษตร ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และการเมือง จัดเต็มผู้เชี่ยวชาญ นักคิด และนักวิชาการชั้นนำหลากหลายสาขา ในบทบาท ‘คอลัมนิสต์’ ตอกย้ำกระแสการอ่านบูม ทุกฉบับเริ่ม พ.ย. นี้

วันที่ 28 ตุลาคม 2565 ที่อาคารมติชนอคาเดมี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หรือ เครือมติชน จัดงาน MATICHON MAGAZINES : NEW CHAPTER สู่อนาคตอันท้าทาย เผยทิศทางการปรับเปลี่ยนรูปเล่ม เนื้อหา และการเพิ่มความพิเศษของนิตยสารในเครือมติชนทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ผู้นำสื่อด้านการเกษตร นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ผู้นำสื่อด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม และ นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ผู้นำสื่อด้านการเมืองที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ซึ่งแต่ละฉบับล้วนมีฐานผู้อ่านที่เหนียวแน่น โดยมีผู้บริหารเครือมติชน นำโดย นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการเครือมติชน น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการเครือมติชน คอลัมนิสต์ นักเขียน และเอเยนต์ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

Advertisement

เอ็มดีเครือมติชน เผย ‘การเมือง-ศิลปวัฒนธรรม-การเกษตร’ ประเด็นหลักสังคมไทย 

น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการเครือมติชน กล่าวว่า เนื้อหาของนิตยสารทั้ง 3 ฉบับ และสื่อทั้งหมดในเครือมติชนเชื่อมโยงกับโครงสร้างสังคมไทย ดังนั้นจึงไม่มีวันตกยุคสมัย เพราะสะท้อนความต้องการของสังคมไทย คือ การเมือง ศิลปวัฒนธรรม และการเกษตร และตอนนี้ทั้ง 3 ประเด็นก็อยู่ในความสนใจของคน เราจึงต้องเชื่อมั่นในเนื้อหาที่ทำมาตั้งแต่ต้น เพราะเกิดมาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ที่ผ่านมา นิตยสารแต่ละฉบับมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ แต่ละทศวรรษก็มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายแบบ เป็นพลวัตที่เกิดขึ้น ต้องมองว่านิตยสารมีชีวิตและวงจรของตัวเอง สิ่งที่เครือมติชนทำคือทำให้พลวัตดังกล่าวดำเนินต่อไปได้

“การทำสิ่งพิมพ์มีระบบนิเวศ เราอยู่มาได้เพราะมีความสัมพันธ์อันดีกับเอเยนต์ กลุ่มคนที่สนับสนุน มีคนอ่าน มีคนทำ ปัจจุบันถ้ากลุ่มคนทำสิ่งพิมพ์ไม่ออกมาพูด ไม่ยืนหยัด ก็จะไม่มีเสียงออกมาจากฝั่งสิ่งพิมพ์เลย ในยุคนี้อย่างไรเสียเราก็ยังเชื่อว่าสิ่งพิมพ์ยังเป็นต้นทางของวิธีคิด สิ่งพิมพ์ช่วยลำดับความน่าจะรู้ ความน่าสนใจที่หลากหลาย ทำให้โลกทัศน์ของทุกคนกว้างขึ้น ขณะที่สื่อโซเชียลก็มีจุดเด่นอีกแบบ”

กรรมการผู้จัดการเครือมติชน บอกอีกว่า ปัจจุบันมีคำกล่าวว่าคนไม่อ่านหนังสือเล่มและสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ซึ่งมีทั้งจริงและไม่จริง อย่างหนังสือเล่มคนอ่านเยอะขึ้น เห็นได้จากมหกรรมหนังสือระดับชาติที่ผ่านมา เราเห็นการเติบโตของสำนักพิมพ์ต่างๆ มีสำนักพิมพ์ที่ทำเรื่องเฉพาะตัวหลายด้าน ส่วนนิตยสารอาจถูกเทคโนโลยีเข้าแทรกแซง ถูกดึงความเร็วไป เลยอาจสั่นคลอนการอ่าน แต่ถ้าเราปรับคุณภาพและเนื้อหา คนอ่านก็ยังสนใจอยู่ เช่น นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนคำว่า ศิลปะ และ วัฒนธรรม กลายเป็นคำควบที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน 

น.ส.ปานบัว เผยอีกว่า สำหรับการเปลี่ยนแปลงนิตยสารในเครือมติชนครั้งนี้ สอดคล้องกับสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะ เช่น นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์จะมีคอลัมน์เรื่องกฎหมายหรือวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งการรู้หลายมิติจะนำสู่การตัดสินใจและการตระหนักรู้ ที่ทำให้เราคิดวิเคราะห์ได้ในอนาคต 

“ต้องขอขอบคุณการสนับสนุนที่ทุกท่านมีให้เครือมติชนมาโดยตลอด เราพยายามประคับประคองสิ่งพิมพ์ให้เติบโตต่อไปได้ การเมืองกำลังเข้าสู่โหมดความเข้มข้น เป็นจังหวะของมติชนสุดสัปดาห์ ขณะเดียวกันตอนนี้เรื่องศิลปวัฒนธรรมกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุกในการพูดคุยและต่อยอดในหลายๆ ด้าน ถูกนำไปเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตประจำวันได้สนุกและมีสีสันมากขึ้น สุดท้ายคือเทคโนโลยีชาวบ้าน ที่เรื่องการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะเป็นเรื่องปากท้อง ความมั่นคงทางอาหาร และเป็นเกษตรอัจฉริยะ ดังนั้นการปรับรูปเล่มและเนื้อหาของทั้ง 3 เล่มในช่วงเวลานี้คือจังหวะที่เหมาะสมที่สุด เพื่อตอบรับความต้องการของทุกคน” 

น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการเครือมติชน

‘เทคโนโลยีชาวบ้าน’ เปิด 3 คอลัมน์ใหม่ หนุนภาคการเกษตร 

จากนั้นเป็นช่วงสเปเชียล ฟอรัม ‘MATICHON MAGAZINES : NEW CHAPTER’ โดยผู้บริหารนิตยสารในเครือมติชนทั้ง 3 ฉบับ และผู้บริหาร บริษัท งานดี จำกัด ในเครือมติชน ร่วมด้วยคอลัมนิสต์ 6 ราย มาถ่ายทอดการปรับลุคและเนื้อหาให้เข้มข้น ตอบโจทย์ความต้องการของผู้อ่าน สอดรับกับกระแสสังคมในปัจจุบัน 

น.ส.สุจิต เมืองสุข บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เผยว่า เทคโนโลยีชาวบ้านก้าวขึ้นสู่ปีที่ 35 ซึ่งท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเติบโตไปพร้อมกับการเป็นผู้นำข่าวสารภาคเกษตรในโลกออนไลน์ แต่ทีมงานก็ลงมือทำไปพร้อมกับความมั่นใจ เพราะเห็นถึงความสำคัญของภาคการเกษตร ที่มีประชากรส่วนนี้ในไทยมากถึง 25 ล้านคน ที่ผ่านมา เทคโนโลยีชาวบ้านสามารถตอบสนองความต้องการผู้อ่านได้อย่างตรงจุด เป็นสิ่งพิมพ์ทางการเกษตรรายปักษ์เพียงฉบับเดียว ที่ได้รับรางวัลสื่อสร้างสรรค์ระดับประเทศ และเป็นนิตยสารรายปักษ์เพียงฉบับเดียว ที่ยังคงอยู่บนแผงหนังสือให้ได้จับต้อง

“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะเป็นการเสริมจุดแข็งที่มีอยู่ให้แข็งแกร่งและครอบคลุมมากขึ้น และเพื่อให้เติบโตไปพร้อมกับโลกออนไลน์ที่พัฒนาในทุกย่างก้าว โดยรูปเล่มของนิตยสารจะยังคงความเป็นเทคโนโลยีชาวบ้านไว้ พร้อมจัดวางอาร์ตเวิร์คใหม่ให้สะดุดตา จัดหน้าสีให้เนื้อหาตรงใจผู้อ่าน ปรับตัวหนังสือให้อ่านง่าย เพราะฐานของผู้อ่านนิตยสารมีตั้งแต่วัยรุ่นถึงผู้สูงวัย รวมทั้งเพิ่มคอลัมน์ใหม่ถึง 3 คอลัมน์”

บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน กล่าวถึงรายละเอียดคอลัมน์ใหม่ว่า คอลัมน์แรก คือ ‘เกษตรต่างแดน’ นำเทคนิควิธีการ กลไกการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ ในต่างประเทศ ที่มีปัจจัยแวดล้อมแตกต่างจากประเทศไทยมาถ่ายทอด เพื่อให้เกษตรกรไทยและผู้สนใจ เลือกเฉพาะส่วนที่เหมาะกับบ้านเราไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

ต่อมา คือ ‘เกษตรในเมือง’ เพราะเห็นว่า ปัจจุบันคนเมืองที่สนใจทำเกษตรมีมาก อย่างไรก็ดี คอลัมน์นี้เหมาะกับทุกคนที่มองหาตัวอย่างการทำการเกษตร ตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ในพื้นที่จำกัด หรืออาจเป็นเกษตรเมือง ที่ต้องการให้มีพื้นที่สีเขียวไว้พักสายตา พักใจ และจุดประกายให้ผู้ที่รักเกษตรแต่มีพื้นที่จำกัด ได้ลองทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จ สุดท้าย ‘เกษตรทางรอด’ เผยมุมมองที่เป็นเหตุผลว่า ทำไมการแก้ปัญหาของเกษตรกรในหลายด้านถึงไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นแนวทางการแก้ปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว 

นายศรายุทธ ยิ้มยวน อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรองประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) บอกว่า การเป็นคอลัมนิสต์ ‘เกษตรทางรอด’ ถือเป็นการตอบแทนสังคม เพราะสมัยอยู่ ธ.ก.ส. ก็อยู่กับชาวบ้าน ได้คลุกคลีกับภาคเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย จึงอยากมาสื่อสารผ่านคอลัมน์นี้ ให้ความรู้และคำแนะนำแก่เกษตรรายย่อยทุกคน โดยจะไม่ใช้ศัพท์วิชาการ เพื่อให้เข้าใจง่ายและอ่านเพลิน 

นายองอาจ ตัณฑวณิช อดีตกรรมการสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คอลัมนิสต์ ‘เกษตรในเมือง’ เผยว่า มีโอกาสร่วมงานกับนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน ครั้งนั้นเขียนเรื่องพืช กล้วยไม้ สัตว์ มาถึงยุคนี้ที่เป็นช่วงโควิด สังคมให้ความสำคัญกับการเกษตรมากขึ้น แต่มีคนส่วนหนึ่งที่ยังไม่กล้าปลูกเพราะยังไม่มีความรู้ วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้นำเสนอความรู้ด้านดังกล่าว เพื่อให้ทุกคนที่อาศัยในคอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว สามารถปลูกพืชได้ ช่วยให้เกิดความมั่นคงทางอาหารได้ทางหนึ่ง 

‘ศิลปวัมนธรรม’ นำคนรุ่นใหม่เสริมจุดแข็ง ต่อยอดประเด็นความสนใจเรื่องเมือง-วรรณคดี

นายสุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า นิตยสารศิลปวัฒนธรรมได้เสริมทัพนักวิชาการรุ่นใหม่ อาทิ คอลัมน์ ‘เมืองโบราณ ย่านเก่า’  โดย รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ที่จะทำให้สายตาของผู้อ่านที่มองย่านเก่า และอาคารต่างๆ ในเมืองเปลี่ยนไป ทั้งในประเทศไทยและอุษาคเนย์ ซึ่งไม่มีการเขียนไว้ในตำรา ส่วนคอลัมน์ ‘ในวรรณคดีมีประวัติศาสตร์’  โดย อาจารย์ธนโชติ เกียรติณภัทร เป็นนักวิชาการที่สนใจทั้งวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ซึ่งหาได้ยากยิ่ง การนำเสนอประเด็นเหล่านี้จะทำให้คนไทยรุ่นใหม่ใกล้ชิดวรรณคดีมากขึ้น

รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เผยว่า สิ่งที่สนใจนอกจากประวัติศาสตร์ศิลปะก็คือเรื่องเมือง เพราะเมืองเป็นตัวกำหนดบทบาทของมนุษย์ทั้งโลก อีกอย่างตอนนี้กระแสการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองกำลังมา ถ้าเติมเรื่องเล่าที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็น่าจะสนุกขึ้น 

“ผมจึงรวมเรื่องเมือง ซึ่งเป็นเรื่องการตั้งถิ่นฐาน มาสู่เรื่องย่าน และลงมาถึงเรื่องอาคารและสิ่งก่อสร้าง สุดท้ายก็ประกอบรวมขึ้นมาเป็นเรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิต คอลัมน์นี้จะเล่าถึงภาพรวมของเมืองในการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ และถ้ามีโอกาสก็จะขยับขยายไปยังพื้นที่รอบข้างในภูมิภาค เพื่อให้เราอยู่ร่วมกับเมืองอย่างเข้าใจ และอาจเป็นการตามกินของอร่อยในเมืองด้วย”

ด้าน อาจารย์ธนโชติ เกียรติณภัทร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เล่าว่า สอนวรรณคดีสุโขทัยกับวรรณคดีอยุธยาอยู่แล้ว จึงอยากนำจุดนี้มานำเสนอ เพราะวรรณคดีและประวัติศาสตร์เป็นสิ่งคู่กัน กลายเป็นคอลัมน์ ‘ในวรรณคดีมีประวัติศาสตร์’ ซึ่งจะนำเสนอให้เห็นว่า วรรณคดีเป็นเรื่องเข้าถึงง่าย ไม่ใช่เอาไว้บูชา 

นายสุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

‘มติชนสุดสัปดาห์’ ลุยเต็มพิกัด! จัดเต็ม 9 คอลัมนิสต์ใหม่ รุกประเด็นการเมือง วิทยศาสตร์ สังคม

นายพิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์ ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เผยว่า คอลัมนิสต์ใหม่ทั้ง 9 ราย แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ การเมือง วิทยาศาสตร์ และสังคม ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก 

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า ติดตามความเป็นไปทางการเมืองและติดตามข้อมูลข่าวสารจากมติชนมาตลอด เมื่อได้รับการติดต่อจากมติชนสุดสัปดาห์ให้เป็นคอลัมนิสต์ใหม่ก็รู้สึกขอบคุณและเป็นเกียรติ แต่ด้วยภารกิจที่มีเยอะ จึงได้ปรึกษากับอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ของมติชนสุดสัปดาห์อยู่แล้ว อาจารย์ก็สนับสนุน จึงตอบตกลง 

“จากที่ติดตามมติชนสุดสัปดาห์ จะเห็นว่ามีนักวิชาการมากมายที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ไว้อย่างแหลมคม ซึ่งผมอยากเสริมแง่มุมทางกฎหมายและเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะ 7-8 ปีกับการบริหารราชการที่ผ่านมานั้นเกิดปัญหามากมาย และหนึ่งในเงื่อนไขคือรัฐธรรมนูญ จึงอยากนำเสนอแง่มุมนี้ในภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่มีศัพท์ทางกฎหมาย เพื่อสื่อสารถึงทุกคนได้ง่ายขึ้น” 

ส่วน นายประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟ นักโฆษณา ผู้อยู่เบื้องหลังแคมเปญ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็เล่าว่า เติบโตมากับนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งให้ความรู้ วิธีคิด และมุมมองที่น่าสนใจมากมาย สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้สามารถพัฒนาฝีมือการทำงานจนเก่งขึ้นมาได้ ทั้งยังเป็นจุดเชื่อมโยงให้โลกของครีเอทีฟกับโลกการเมืองมาเจอกัน

“เมื่อได้รับคำชักชวนให้เป็นคอลัมนิสต์จึงตอบตกลง จะถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์การทำงานออกมา เช่น วิธีคิดงานดีๆ ควรเริ่มต้นหรือวิเคราะห์อย่างไร รวมทั้งหยิบเรื่องราวที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคมมาถ่ายทอดโดยอิงกับหลักความคิด” 

‘งานดี’ ชี้ หนังสือคือเพื่อน พร้อมยืนหยัดคู่สื่อสิ่งพิมพ์ 

นายนฤตย์ เสกธีระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท งานดี จำกัด บอกว่า เครือมติชนปรับเปลี่ยนทั้งรูปแบบและเนื้อหาครั้งใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อทำให้นิตยสารเป็นเสมือนเพื่อนคู่คิดและที่ปรึกษาของผู้อ่าน ทั้งการมองการเมือง สังคม และการทำมาหากิน ที่สามารถเข้าถึงผู้อ่านในวงกว้างมากที่สุด 

“หนังสือคือเพื่อนที่ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา อย่างมติชนสุดสัปดาห์ให้แง่มุมทางการเมือง เทคโนโลยีชาวบ้านคือเพื่อนที่ชี้ทางเกษตร ทำมาหากิน และศิลปวัฒนธรรมคือการค้นหาสิ่งใหม่ในสิ่งเก่า ทำให้เราคิดว่าควรเอาข้อมูลข่าวสารพวกนี้ไปให้ถึงผู้อ่านมากที่สุด และต้องพึ่งพาเอเยนต์ งานดียังยืนหยัดกับสิ่งพิมพ์ที่มีอยู่ และอยากขอให้เอเยนต์และผู้จัดจำหน่ายช่วยรับนิตยสารทั้งหมดไปสู่สังคม สร้างการเติบโตของสังคมร่วมกัน เช่นที่เชื่อมั่นและร่วมเดินทางกับเครือมติชนมากว่า 40 ปี” 

เปิดไลน์อัพคอลัมนิสต์ใหม่ ‘จัดเต็มนักคิด นักวิชาการ กูรูคนรู้จริง!

คอลัมนิสต์ใหม่ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน มีทั้งหมด 3 ราย ประกอบด้วย กรรณิกา เพชรแก้ว นักเขียน และนักข่าว สำนักข่าวต่างประเทศ และอาจารย์พิเศษ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศรายุทธ ยิ้มยวน อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และรองประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องอาจ ตัณฑวณิช อดีตกรรมการสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

คอลัมนิสต์ใหม่ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม มีทั้งหมด 5 ราย ประกอบด้วย รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ธนโชติ เกียรติณภัทร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์ รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อาทิตย์ ศรีจันทร์ นักวิจารณ์ และนิสิตปริญญาเอก ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คอลัมนิสต์ใหม่ นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ มีทั้งหมด 9 ราย ประกอบด้วย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกิต กอบกิจวัฒนา ผู้วางกลยุทธ์การสื่อสาร เบื้องหลังแคมเปญ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ เจ้าของเพจชื่อดัง ผู้เล่าเรื่องมิดไลฟ์ ไครสิส ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ ดร.ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ อาจารย์ปรัชญาและศาสนา และ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญรัฐสวัสดิการ

รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจารย์ธนโชติ เกียรติณภัทร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

มอบหนังสือ-ประมูลเก้าอี้พร้อมลายเซ็น ‘ชัชชาติ’ เข้าโครงการ ‘ชุมชนอุดมปัญญา’ หนุนการอ่านสังคมไทย

‘MATICHON MAGAZINES : NEW CHAPTER สู่อนาคตอันท้าทาย’ ยังมีกิจกรรมมอบหนังสือและนิตยสารใน ‘โครงการชุมชนอุดมปัญญา’ ของเครือมติชน แก่บ้านหนังสือชุมชนสังกัด กทม. 40 แห่ง โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับมอบ และมอบหนังสือแก่ที่อ่านหนังสือ ตามที่ผู้บริจาคแสดงความจำนงอีก 60 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งมีกิจกรรมพิเศษ การประมูลเก้าอี้พร้อมลายเซ็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อนำรายได้สมทบทุนเข้าโครงการชุมชนอุดมปัญญา

นอกจากนี้ ยังมีการจับรางวัลตั๋วเครื่องบิน จำนวน 3 รางวัล รางวัลละ 2 ที่นั่ง และการจับแจกรางวัลมอบแก่ลูกค้าสมาชิกแฟนพันธุ์แท้นิตยสารเครือมติชน จำนวน 5 รางวัล อีกด้วย

อิ่มอร่อยจากจากร้านเด็ด เมนูดัง คัดมาเน้นๆ โดย ‘เส้นทางเศรษฐีออนไลน์’

ภายในงาน ยังสร้างสีสันความอร่อยให้ผู้ร่วมงานทุกคนด้วยเมนูเด็ดจากร้านดัง ที่คัดสรรโดย ‘เส้นทางเศรษฐีออนไลน์’ ในเครือมติชน ทั้ง ก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นกุ๊กซู ร้านดังบน tiktok ร้านข้าวมหาสมุทร ที่อัดแน่นด้วยกั้ง ไข่ปู เนื้อปู ไข่กุ้ง ร้านแม่ หมูสะเต๊ะ กับเมนูหมูสะเต๊ะที่ทั้งหอมทั้งนุ่ม ร้านกุยช่ายฮ่องเต้ แบรนด์ลูกของทายาทร้านกุยช่ายสะพานหัน ที่พัฒนากุยช่ายให้บางกรอบ ไม่อมน้ำมัน ตอบโจทย์คนใส่ใจสุขภาพ และร้านยายทำให้หลานขาย ขนมไทยเจ้าดังในซอยอารีย์ 

น.ส.สมิทธานันท์ ธนาภิวงศ์ เจ้าของร้านแม่ หมูสะเต๊ะ กล่าวว่า วันนี้นำหมูสะเต๊ะเมนูเด็ดประจำร้านมาออกบูธ สูตรเด็ดความอร่อย คือ หมูนุ่ม เพราะเลือกใช้หมูรุ่นส่วนสันนอก ที่ผ่านการคำนวณปริมาณความกว้าง ความยาว ความหนาของหมูแต่ละไม้ ช่วยให้เครื่องปรุงซึมเข้าเนื้อหมูทุกส่วน เมื่อนำไปปิ้งจะนุ่มมาก โดยไม่ต้องใส่เบกกิ้งโซดา ทีเด็ดอีกอย่างของร้าน คือหมูแทรกมัน ที่เลือกใช้ส่วนคอแท้ เท็กซ์เจอร์คล้ายเนื้อวากิว ทานแล้วเด้งสู้ฟัน จุ๊ยซี่ หอมมันหมู

นายกิตติศักดิ์ ไกรบำรุง เจ้าของร้านฮ่องเต้ กุยช่ายบางกรอบ เผยว่า กุยช่ายบางกรอบเป็นแบรนด์น้องใหม่ ที่ต่อยอดมาจากร้านกุยช่ายสะพานหันของครอบครัว โดยปรับสูตรแป้งให้บางกรอบ และใช้วิธีการทอด 2 ครั้ง จากนั้นนำเข้าเครื่องสะบัดน้ำมัน เพื่อรีดน้ำมันและความชื้นออกจากกุยช่ายถึง 90% เคล็ดลับนี้จะช่วยให้กุยช่ายกรอบนาน 4-6 ชั่วโมง และความอร่อยอีกอย่างที่ต้องทานคู่กัน คือ น้ำจิ้มสูตรเด็ดสุดเข้มข้น จะช่วยเคลือบกุยช่าย ทานแล้วอร่อยมากๆ

ฉลองวาระพิเศษ  3 นิตยสารเครือมติชน “มติชนสุดสัปดาห์-ศิลปวัฒนธรรม-เทคโนโลยีชาวบ้าน” ก้าวสู่ New chapter เสริมทัพคอลัมนิสต์ ปรับรูปเล่มใหม่ เพิ่มคุณภาพ สมัครสมาชิกวันนี้ถึง 4 พ.ย. รับส่วนลดพิเศษ พร้อมรับทันทีกระเป๋า BIGTOTE จัดส่งด้วยระบบ EMS

สมัครสมาชิกเทคโนโลยีชาวบ้าน คลิก : https://bit.ly/3SQXpXH
สมัครสมาชิกศิลปวัฒนธรรม คลิก : https://bit.ly/3Dn8Non

สมัครสมาชิกมติชนสุดสัปดาห์ คลิก : https://bit.ly/3U96mMR