“เสฉวน” เปิดให้ชมสิ่งปลูกสร้างยุคโบราณกว่า 80 แห่ง ผ่านเทคโนโลยี VR ดูได้ทุกซอกมุม

วัดหวงเจ๋อ เมืองกว่างหยวน มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2017 ภาพจาก (แฟ้มภาพ ซินหัว)

สถาบันวิจัยโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีนครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลซื่อชวน หรือ เสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เผยว่าสิ่งปลูกสร้างโบราณท้องถิ่นจำนวน 83 แห่ง ได้เปิดให้เข้าชมผ่านเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) ด้วยการสแกนรหัสคิวอาร์ (QR code) แล้ว

ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ซื่อชวน หรือ เสฉวน ดำเนินการสำรวจและจัดทำแผนผังของสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากกว่า 100 แห่ง โดยมีสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ 83 แห่ง ที่เก็บรวบรวมข้อมูลความเป็นจริงเสมือนครบถ้วนแล้ว

ศูนย์สถาปัตยกรรมโบราณของสถาบันฯ ได้ยืนยันหรือกำหนดอายุของสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ 23 แห่ง และสร้างฐานข้อมูลของสิ่งปลูกสร้างจากยุคราชวงศ์หยวน (ปี 1271-1368) และราชวงศ์หมิง (ปี 1368-1644)

รายงานระบุว่าผู้ชื่นชอบสถาปัตยกรรมโบราณสามารถเข้าชมทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มความเป็นจริงเสมือน รวมถึงเหล่านักวิชาการสามารถเข้าถึงหลักฐานเพื่อการวิจัยเพิ่มขึ้น

ผู้สแกนรหัสคิวอาร์สามารถเข้าชมวัดเป้าเอินในอำเภอผิงอู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างโบราณที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดจากยุคราชวงศ์หมิง โดยผู้ใช้งานจะเริ่มการเข้าชมที่ลานจัตุรัสของวัดฯ และสามารถเข้าถึงทุกซอกทุกมุมภายในวัดแห่งนี้

อวี๋ซูหมิ่น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวว่า คณะนักวิจัยเข้าใจอัตลักษณ์การเปลี่ยนแปลงทางรูปทรงของสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์จากยุคราชวงศ์หยวนจนถึงต้นยุคราชวงศ์ชิงในซื่อชวน ช่วยให้กำหนดอายุของสิ่งปลูกสร้างได้แม่นยำยิ่งขึ้น

อวี๋ ระบุว่ามีการตีพิมพ์รายงานการสำรวจทางสถาปัตยกรรมโบราณแห่งซื่อชวนชุดแรก ซึ่งเป็นผลการศึกษาสถาปัตยกรรมโบราณแห่งซื่อชวนระยะแรกแล้ว ส่วนรายงานฯ ชุดที่ 2 จะถูกตีพิมพ์ภายในปีนี้

เหยียนจิ้นซง หัวหน้าสถาบันฯ กล่าวว่า ซื่อชวนมีสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์จากยุคราชวงศ์ซ่ง (ปี 960-1279) และราชวงศ์หยวนอยู่มากเป็นอันดับหนึ่งในพื้นที่ตอนใต้ของจีน การจัดตั้งฐานข้อมูลสถาปัตยกรรมโบราณจึงมีนัยสำคัญมาก

คลิกอ่านเพิ่มเติม : วัดเสวียนคง วัดแขวนอยู่กลางผาสูง อายุกว่าพันปี สิ่งมหัศจรรย์แห่งสถาปัตยกรรมจีน


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากข่าว “เสฉวนดึงเทคโนโลยี VR พาเที่ยวสิ่งปลูกสร้างยุคโบราณ” เผยแพร่เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ในบริการข่าวสารภาษาไทยโดยสำนักข่าวซินหัว เรียบเรียงใหม่โดยกองบรรณาธิการ

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2565