ผู้เขียน | วันชนะ กล่ำแก้ว |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังจากที่ทางเพจศิลปวัฒนธรรมได้เผยแพร่บทความเรื่อง “พระเจ้าตาก (สิน) และเจ้าพระยาจักรีมุสลิมสองพ่อลูก” ไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ซึ่งบทความดังกล่าวเผยแพร่ครั้งแรกเป็นฉบับพิมพ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2523 โดยปรับปรุงจากกรายงานผลการวิจัยเรื่อง “บทบาทมุสลิมในปลายอยุธยา–ธนบุรี พ.ศ. 2300–2325″ ของเพ็ญศรี กาญจโนมัยและ นันทนา กบิลกาญจน์ ก็ได้ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรงแก่ผู้อ่านบางส่วน ซึ่งน่าจะไม่ได้อ่านเนื้อหาในบทความจนอาจทำให้เข้าใจไปว่า บทความดังกล่าวพยายามอ้างว่า “พระเจ้าตาก” และ “เจ้าพระยาจักรี” เป็นพ่อลูกกัน และทั้งคู่เป็นมุสลิม!
แต่ความจริงแล้วคำพาดหัวดังกล่าวพยายามสื่อถึงความสัมพันธ์ของ “พระเจ้าตาก” กับ “เจ้าพระยาจักรี” สองคน ซึ่งผู้วิจัยอ้างว่าทั้งสองคน (ที่เป็นเจ้าพระยาจักรีนี้) เป็นมุสลิมที่มีความสัมพันธ์เป็นพ่อลูกกัน และอาจจะด้วยไม่เข้าใจว่า “เจ้าพระยาจักรี” เป็นบรรดาศักดิ์และราชทินนามที่มิได้จำกัดไว้เฉพาะสำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงทำให้มีผู้เข้าใจไปว่าคำว่า “เจ้าพระยาจักรี” ที่ใช้ในพาดหัวบทความนั้นหมายถึง เจ้าพระยาจักรี “ทองด้วง” หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงเกิดความเข้าใจผิดถึงขนาดที่คิดไปว่า บทความดังกล่าวอ้างว่า สองกษัตริย์ไทยในอดีตเป็นชาวมุสลิม!
อย่างไรก็ดี ตำแหน่ง “เจ้าพระยาจักรี” เป็นบรรดาศักดิ์และราชทินนามที่มีมาแต่โบราณ ดังที่หนังสือวชิญาณวิเศษได้อธิบายไว้ว่า “ตำแหน่งขุนนางนั้น ได้ตั้งเป็นธรรมเนียมขึ้นแรกแต่ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ ๑ ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเก่าเมื่อจุลศักราช ๗๙๖ เป็นสืบมาดังนี้ อัครมหาเสนาบดี ๒ ฝ่ายพลเรือนคือเจ้าพระยาจักรี ฝ่ายทหารคนหนึ่งคือเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี”
ความเข้าใจผิดดังกล่าวทำให้ผู้อ่านบางคนได้แสดงความไม่พอใจลงในเพจศิลปวัฒนธรรม อ้างว่าการนำเสนอดังกล่าวขาด “จรรยาบรรณ” แต่ก็มีผู้อ่านท่านอื่นเข้ามาอธิบายให้เข้าใจว่า “เจ้าพระยาจักรี” แท้จริงนั้นมีความหมายเช่นใด และถูกนำมาใช้ในลักษณะใดทำให้ยุติความไม่พอใจของผู้อ่านบางคนได้
แต่บทความดังกล่าวยังถูกนำไปเผยแพร่ต่อในกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “ชำแหละตำนานพระเจ้าสร้างโลก” ซึ่งระบุว่าเป็นกลุ่มที่สร้างมาเพื่อ “เพื่อเปิดโปง ความชั่วของลัทธิโจรมุสลิมไทย ที่ฆ่าพี่น้องไทย ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และจังหวัดใกล้ใกล้เคียง” ได้มีสมาชิกหลายคนแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงโดยอ้างว่า บทความดังกล่าว แอบอ้างว่ากษัตริย์ไทยเป็นมุสลิม (ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด บทความดังกล่าวระบุแต่ว่า เจ้าพระยาจักรี 2 คน เป็นมุสลิม ซึ่งทั้งสองคนไม่เคยเป็นกษัตริย์!) เช่น
และแม้จะมีผู้เข้าไปอธิบายถึงตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี และยกตัวอย่างขุนนางมุสลิมในราชสำนักไทย แต่สมาชิกในกลุ่มดังกล่าวต่างไม่รับฟังและกล่าวหาว่า “บิดเบือน ความจริง” หรือ “เขียนประวัติศาสตร์ใหม่” หรือ “ดิ้นไปน้อง…. สกิลความรู้ มึงแค่หางอึง… ดิ้นไป”
ปัญหานี้ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวล แม้ประเทศไทย และอาณาจักรไทยในอดีตจะมีความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนชาวมุสลิม และมีขุนนางมุสลิมรับใช้ราชสำนักมาแต่โบราณ แต่ปัจจุบันกระแสต่อต้านมุสลิมที่กำลังทวีความรุนแรงได้ทำให้กลุ่มชาตินิยมขวาจัดแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวมุสลิมมากขึ้นเรื่อยๆ จนละเลยประวัติศาสตร์ และไม่อาจรับฟังความเห็นของผู้อื่นได้ นอกจากนี้การที่ระบบการศึกษามิได้ให้ความกระจ่างถึงบทบาทและตำแหน่งหน้าที่ของขุนนางในอดีตเท่าใดนัก (เน้นย้ำการศึกษาที่ตัวบุคคลมากกว่าระบบ) ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง (โดยมิได้พิจารณาให้ดี) เช่นกรณีนี้