เผยแพร่ |
---|
นักวิจัยในจีนเผยผลการศึกษากะโหลกที่เชื่อว่าเป็นของสายพันธุ์มนุษย์โบราณ ซึ่งกลุ่มผู้วิจัยเชื่อว่าอาจมีแนวโน้มเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด โดยนักวิจัยเรียกมนุษย์สายพันธุ์นี้ว่า “มนุษย์มังกร” (Dragon Man) ทีมผู้วิจัยแสดงความคิดเห็นว่า กะโหลกนี้เป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับสายพันธุ์ของมนุษย์ยุคปัจจุบันมากที่สุด
รายงานข่าวเผยว่า นักวิจัยจากจีนค้นพบกะโหลกนี้ที่ “ฮาร์บิน” (Harbin) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนตั้งแต่ปีค.ศ. 1933 โดยกลุ่มคนงานก่อสร้างสะพาน แต่เพิ่งได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่ผลการศึกษาวิจัยกะโหลกได้ตีพิมพ์ในวารสาร The Innovation เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา
ในช่วงเวลาที่คนงานค้นพบกะโหลก จีนอยู่ใต้อำนาจของญี่ปุ่น คนงานที่พบเห็นกะโหลกลักลอบนำมันกลับบ้านไปเพื่อหลีกเลี่ยงการพบเห็นของชาวญี่ปุ่น รายงานข่าวจาก BBC เผยว่า คนงานนำไปซ่อนในก้นบ่อน้ำของครอบครัว และคงอยู่ในนั้นมาราว 80 ปี เมื่อเขาใกล้เสียชีวิตจึงบอกกล่าวกับคนในครอบครัวถึงเรื่องนี้ กระทั่งกะโหลกมาสู่มือของนักวิทยาศาสตร์
รายงานข่าวยังเผยว่า ลักษณะของกะโหลกที่พบมีขนาดใหญ่ เป็นกะโหลกขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่สายพันธุ์ Homo ขณะที่โครงสร้างรูปทรงทำให้บ่งชี้ได้ว่า สมองของเจ้าของกะโหลกนี้มีขนาดใกล้เคียงกับมนุษย์ในปัจจุบันมากทีเดียว แต่มีเบ้าตาขนาดใหญ่ รูปทรงเบ้าตาเกือบเป็นทรงสี่เหลี่ยม ปากกว้าง และฟันขนาดใหญ่กว่า กะโหลกชิ้นดังกล่าวปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ Geoscience Museum ในมหาวิทยาลัย Hebei GEO
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษากะโหลกนี้มองว่า กะโหลกชิ้นนี้เป็นตัวแทนของสายพันธุ์มนุษย์ที่อาจเป็นสายพันธุ์ซึ่งปรากฏใหม่ พวกเขาเรียกชื่อว่า Homo longi (คำว่า long มาจากคำศัพท์จีนที่หมายถึงมังกร) หรือ “มนุษย์มังกร” (Dragon Man) และเชื่อว่า อาจเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ปัจจุบันมากที่สุดแล้ว และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงความเข้าใจเกี่ยวกับสายพันธุ์มนุษย์ใหม่ในอนาคต
Qiang Ji ศาสตราจารย์ด้านบรรพชีวินวิทยา (paleontology) จากมหาวิทยาลัย Hebei GEO University กล่าวว่า ในแง่หนึ่ง ลักษณะของกะโหลกนี้บ่งชี้ถึงลักษณะตามแบบลักษณะของมนุษย์โบราณ ขณะเดียวกัน กะโหลกนี้ยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะการผสมผสานระหว่างมนุษย์ดึกดำบรรพ์ (primitive) และคาแรกเตอร์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ที่เรียกกันว่า โฮโม (Homo)
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า กะโหลกนี้เป็นของชายอายุราว 50 ปี อาศัยในป่า สภาพภูมิประเทศแบบที่ราบลุ่ม ในกลุ่มชุมชนขนาดเล็ก
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบด้วยชุดของกรรมวิธีทางธรณีเคมีแล้วเชื่อว่า กะโหลกนี้มีอายุย้อนไปถึง 146,000 ปี ซึ่งเทียบเคียงได้กับยุคไพลส์โตซีนช่วงกลาง (Middle Pleistocene) เป็นช่วงที่พบการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของสายพันธุ์มนุษย์ ฉะนั้น ในงานศึกษานี้ นักวิทยาศาสตร์จึงสันนิษฐานด้วยว่า โฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens) และ Homo longi อาจพบเจอกันในยุคนี้ด้วย
Xijun Ni ศาสตราจารย์ด้านไพรเมตวิทยา (primatology) และบรรพชีวินวิทยา (paleontology) จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งจีน และมหาวิทยาลัย Hebei GEO แสดงความคิดเห็นในงานวิจัยว่า ชนกลุ่มนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับโฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens) ที่ล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก รวบรวมผลไม้และผัก ไม่แน่ว่าอาจหาปลาด้วย
นักวิทยาศาสตร์ยังสันนิษฐานว่า ขนาดตัวของเจ้าของกะโหลกน่าจะมีร่างกายขนาดใหญ่ ทำให้เชื่อว่า พวกเขาน่าจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยจนทำให้พวกเขาสามารถกระจายตัวไปอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วเอเชีย
นักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมศึกษาในงานวิจัยครั้งนี้มีนักวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักรรวมอยู่ด้วย นั่นคือศาสตราจารย์ คริส สตริงเกอร์ (Prof Chris Stringer) จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ในลอนดอน ซึ่งคริส ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า ในกลุ่มฟอสซิลที่ปรากฏในรอบล้านปีมานี้ กะโหลกชิ้นนี้ถือเป็นชิ้นสำคัญมากที่สุดอีกชิ้นเท่าที่เคยค้นพบมา เขากล่าวว่า
“สิ่งที่คุณพบตอนนี้คือ สาขาหนึ่งของมนุษย์ซึ่งแยกออกมา ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในเส้นทางที่จะพัฒนาต่อมาเป็นโฮโมเซเปียนส์ (สายพันธุ์มนุษย์ในปัจจุบัน) แต่เป็นกะโหลกจากกลุ่มสายพันธุ์ที่ยาวนานซึ่งวิวัฒนาการในภูมิภาคมาหลายแสนปีแล้วก็สาบสูญไปในที่สุด”
ทั้งนี้ ซากกะโหลกของ “มนุษย์มังกร” ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษากันนี้เป็นอีกหนึ่งซากร่างของมนุษย์ยุคแรกๆ ซึ่งถูกค้นพบในจีนและพบว่ายากจะจัดกลุ่มได้ แถมยังมีข้อถกเถียงว่า ซากเหล่านี้ควรถูกจัดเป็นกลุ่มตัวอย่างของสายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ หรือนีแอนเดอร์ธัลส์ (Neanderthals) หรือ Denisovans หรืออาจเป็นสายพันธุ์อื่น
โดยนักวิทยาศาสตร์ทั้งจากจีน และจากอังกฤษ แสดงความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป บ้างก็บอกว่าเป็น Denisovans บ้างก็บอกว่าใกล้เคียงกับนีแอนเดอร์ธัลส์ (Neanderthals)
Xijun Ni แสดงความคิดเห็นว่า Homo longi เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด มากกว่านีแอนเดอร์ธัลส์
หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงโดย ธนพงศ์ พุทธิวนิช
อ้างอิง :
” ‘Dragon man’ fossil may replace Neanderthals as our closest relative”. Phys. Online. Published 25 JUN 2021. Access 28 JUN 2021. <https://phys.org/news/2021-06-dragon-fossil-neanderthals-closest-relative.html>
Ghosh, Pallab. “Scientists hail stunning ‘Dragon Man’ discovery”. BBC. Online. Published 26 JUN 2021. Access 28 JUN 2021. <https://www.bbc.com/news/science-environment-57432104>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2564