รูปแกะสลักบนมงกุฎพระเจ้าเฮนรีที่ 8 สาบสูญร่วม 400 ปี นักล่าสมบัติอ้าง พบแล้วอยู่ในทุ่ง

ภาพวาดของ พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 โดย Hans Holbein ปีค.ศ. 1537 ไฟล์ public domain

โลกใบนี้มีสิ่งของโบราณมีค่ามากมายหายสาบสูญไปโดยไม่สามารถติดตามได้ สำหรับราชวงศ์อังกฤษ มงกุฎของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เป็นอีกหนึ่งโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าของกษัตริย์ซึ่งบรรดาชิ้นส่วนอันมีค่าที่ประดับตกแต่งบนมงกุฎล้วนกระจัดกระจายไปแทบทั้งสิ้น ขณะที่วัตถุดิบส่วนใหญ่ก็ถูกหลอมแปรรูปไปเป็นเหรียญในสมัยที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษเผชิญการคุกคามจากกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านในช่วงค.ศ. 1649 เวลาผ่านมาเกือบ 400 ปี มีนักล่าสมบัติอ้างว่า พบชิ้นส่วนสำคัญบนมงกุฎ ซึ่งเชื่อว่ามีมูลค่าในปัจจุบันหลักล้านปอนด์

เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากมีส่วนช่วยเหลือในการค้นหาอย่างมาก แต่การค้นหาจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลยหากปราศจากข้อมูลใบ้หรือเค้าลางบ่งชี้ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ประกอบกับ “โชค” สักเล็กน้อย ดังเช่นกรณีของนักล่าสมบัติมือสมัครเล่นรายหนึ่งที่อ้างว่า พบชิ้นส่วนปริศนาสีทองบนท้องทุ่งแถบ Northamptonshire ในอังกฤษ รูปปั้นแกะสลักที่เขาพบมีรูปทรงเป็นตัวบุคคล ดูจากลักษณะภายนอกคล้ายนักบุญ สูง 2 นิ้วครึ่ง กว้างประมาณ 1 นิ้ว

รายงานข่าวจากสำนักข่าว The Sun สื่อแท็บลอยด์อังกฤษที่มักรายงานข่าวซุบซิบเปิดเผยการค้นพบว่า เป็นผลงานของเควิน ดัคเค็ตต์ (Kevin Duckett) ชายหนุ่มที่ทำงานซ่อมแซมตกแต่งรถคลาสสิก และผู้คลั่งไคล้การตรวจจับโลหะ

ปัจจุบัน ชิ้นส่วนนี้อยู่ในการครอบครองของพิพิธภัณฑ์บริติช (British Museum) ซึ่งกำลังตรวจพิสูจน์ว่า เป็นชิ้นส่วนเครื่องประดับที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของมงกุฎกษัตริย์แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ (Tudor) หรือไม่

มงกุฎที่ถูกตั้งข้อสังเกตคือ มงกุฎแห่งราชวงศ์อังกฤษซึ่งปรากฏหลักฐานว่า พระเจ้าเฮนรีที่ 8 สวมใส่มงกุฎนี้ในการเฉลิมฉลองเทศกาล Epiphany (พระเยซูแสดงองค์ต่อมนุษย์) ในวันที่ 6 มกราคม ภายหลังยังถูกสวมใส่โดยทายาททั้ง 5 ของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ในพิธีราชาภิเษกของแต่ละพระองค์ สันนิษฐานกันว่า อาจเป็นมงกุฎที่สร้างขึ้นมาสำหรับพระเจ้าเฮนรีที่ 7 หรืออาจเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ก็ได้

อย่างไรก็ตาม มงกุฎนี้ไม่ปรากฏให้เห็นในเวลาต่อมา มีคำบอกเล่ากันว่า เนื้อเหล็กอันมีค่าของตัวมงกุฎถูกหลอมไปทำเหรียญ ขณะที่เครื่องประดับบนมงกุฎถูกแยกขายภายหลังจากราชวงศ์อังกฤษสิ้นอำนาจในปี 1649

ขณะที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Historic Royal Palaces องค์กรที่ดูแลพระราชวังต่างๆ ในอังกฤษอธิบายไว้ว่า มงกุฎนี้เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและอำนาจหน้าที่ด้านการศาสนา(ของกษัตริย์) มงกุฎนี้จึงถูกหลอมสูญสลายที่หอคอยแห่งลอนดอนเมื่อปี 1649 ตามคำสั่งของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) นักการเมืองและผู้นำทางการทหารฝ่ายตรงข้ามกลุ่มกษัตริย์นิยมที่ทรงอิทธิพลในช่วงทศวรรษ 1640 ถึง 1650

ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นมีความเป็นไปได้ว่า อาจต้องถูกรื้อตำรามาเขียนใหม่หากการพิสูจน์ชิ้นส่วนที่นายเควิน พบ ออกมาว่าเป็นชิ้นส่วนของมงกุฎโบราณจริง ซึ่งนั่นพอจะตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า ส่อแววว่าจะหมายถึงชะตากรรมของมงกุฎนี้รอดพ้นจากเงื้อมมือของฝ่ายรัฐสภาซึ่งต่อต้านกษัตริย์นิยมในอังกฤษหรือไม่

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการคือปากคำของนายเควิน ซึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวท้องถิ่นว่า ท้องทุ่งที่เขาค้นพบชิ้นส่วนนี้ตั้งอยู่ใกล้กับโซนยุทธการแห่งเนสบี (Naseby) การรบที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน 1645 ระหว่างกองทัพรัฐสภานำโดยเซอร์โทมัส แฟร์แฟกซ์ และโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ กับกองทัพฝ่ายกษัตริย์ โดยผลออกมาว่ากองทัพรูปแบบใหม่ฝั่งตรงข้ามกษัตริย์เอาชนะกองทัพฝ่ายกษัตริย์นำโดยพระเจ้าชาร์ลสที่ 1 และเจ้าชายรูเพิร์ต แห่งไรน์

ภาพวาด โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ในยุทธการแห่งเนสบี ฝีมือ Charles Landseer คาดว่าวาดเมื่อ 1851 (ไฟล์ public domain)

นักประวัติศาสตร์บางรายอธิบายว่า กองทัพกษัตริย์ถูกจับเป็นเชลยหลายพันนาย ขณะที่กองทัพฝ่ายกษัตริย์อีกส่วนล่าถอยไปอย่างทุลักทุเล ทิ้งของใช้ส่วนพระองค์ไว้จำนวนหนึ่ง (สมเกียรติ วันทะนะ, 2560)

ภายหลังจากยุทธการที่เนสบี ฝ่ายรัฐสภานำเอกสารที่อ้างว่า ฝ่ายกษัตริย์ทิ้งเอาไว้ชิ้นหนึ่งคือ พระราชสาสน์ที่กษัตริย์ติดต่อขอความช่วยเหลือจากสมาพันธ์คาทอลิกไอร์แลนด์ และชาติคาทอลิกอื่นในยุโรปนำมาเผยแพร่โดยเรียกว่า “การเปิดกล่องพระราชสาสน์” หลังจากนั้น ฝ่ายรัฐสภาก็ได้รับความสนับสนุนจากชาวอังกฤษ เนื่องจากชาวอังกฤษมองว่า ฝ่ายกษัตริย์ชักศึกเข้าบ้าน พยายามนำพวกคาทอลิกมาปราบปรามประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนท์

นักล่าสมบัติสมัครเล่นตั้งทฤษฎีว่า ชิ้นส่วนนี้อาจมาจากพระเจ้าชาร์ลสที่ 1 อาจมีใครทำชิ้นส่วนนี้หลุดหล่นขณะถอยร่นออกจากพื้นที่

เควิน ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมต่อสมมติฐานที่เชื่อมโยงชิ้นส่วนซึ่งเขาค้นพบกับความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นชิ้นส่วนจากมงกุฎที่ถูกแยกส่วนประกอบกระจัดกระจายออกไปภายหลังจากเขารับชมคลิปวิดีโอการสร้างมงกุฎจำลองที่เผยแพร่โดย Historic Royal Palaces ตั้งแต่เมื่อปี 2012

เว็บไซต์ Historic Royal Palaces เล่าถึงที่มาที่ไปการสร้างมงกุฎจำลองขึ้นมาว่า แม้มงกุฎจริงจะไม่อาจหวนกลับคืนมาทั้งหมด แต่ยังโชคดีที่ข้าราชบริพารของกษัตริย์บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับรายการสิ่งของซึ่งถือเป็นบันทึกที่ช่วยให้เบาะแสโครงสร้างส่วนประกอบของมงกุฎได้อย่างดีจนนำมาสู่การสร้างมงกุฎจำลอง (ชมการสร้างมงกุฎจำลองจากคลิปด้านบน)

บันทึกที่จดไว้ปรากฏรายละเอียดตั้งแต่ขนาดและตำแหน่งของเครื่องประดับอย่างทับทิม แซฟไฟร์ มรกต เพชร และไข่มุขรวมกันเป็นจำนวนหลายร้อยชิ้นไปจนถึงชิ้นส่วนรูปปั้น 5 ชิ้นซึ่งประดับตกแต่งรอบมงกุฎ

ขณะที่รูปทรงและรูปแบบการตกแต่งมงกุฎ พวกเขาอ้างอิงจากหลักฐานภาพวาดพระเจ้าชาร์ลสที่ 1 โดย Daniel Mytens เมื่อปี 1631

เว็บไซต์ Historic Royal Palaces ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า มงกุฎต้นฉบับทำจากทองคำน้ำหนัก 84 ออนซ์

สำหรับผู้รับผิดชอบการสร้างมงกุฎจำลองมีนามว่าแฮร์รี่ คอลลินส์ (Harry Collins) [2007-2012] ร่วมมือกับทีมช่างทำทองที่เก่งกาจนำข้อมูลที่รวบรวมจากบันทึกมาต่อยอดสร้างเป็นมงกุฎจำลองโดยใช้กรรมวิธีเดียวกับช่างสมัยราชวงศ์ทิวดอร์ผลิตมงกุฎจำลองตามฉบับพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เคยสวมใส่ในพิธี

นอกจากนี้ การคัดเลือกสีเครื่องประดับต่างๆ ยังพิถีพิถัน คัดเลือกสีและรูปทรงให้ใกล้เคียงกับเครื่องประดับช่วงท้ายยุคกลางเพื่อสร้างมงกุฎจำลองที่สวยงามและดูเสมือนจริงมากที่สุด รายละเอียดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนปริศนาที่ค้นพบและยังต้องพิสูจน์กันคือ งานแกะสลักขนาดเล็กที่จะประดับรอบมงกุฎ

งานแกะสลักประกอบด้วยนักบุญ 4 คน (St George, St Edmund, St Edward the Confessor และ พระเจ้าเฮนรีที่ 6 [เป็นที่เคารพนับถือเทียบเท่านักบุญ]) และชิ้นงานแกะสลักอีกชิ้นที่อ้างอิงจาก Virgin and Child (แม่พระและพระกุมาร)

เดิมทีแล้วมงกุฎประดับรูปแกะสลักแค่ 3 ชิ้น คือพระเยซู, เซนต์จอร์จ และVirgin and Child (แม่พระและพระกุมาร) แต่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 นำรูปแกะสลักพระเยซูออก และนำรูปปั้นกษัตริย์(นักบุญ)แห่งราชวงศ์อังกฤษ 3 ราย (St Edmund, Edward the Confessor และพระเจ้าเฮนรีที่ 6) มาใส่แทนที่ในภายหลังเพื่อเป็นการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ถึงพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่มีเหนือศาสนจักรภายหลังช่วงการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษ

ย้อนกลับมาที่การกล่าวอ้างของเควิน เขาปักใจเชื่อว่ารูปแกะสลักที่พบนั้นเป็นรูปแกะสลักของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 เขาอ้างว่า พบอักษร SH สลักอยู่ด้านใต้ (เชื่อว่าย่อมาจาก Saint Henry) แต่เขาไม่มั่นใจจนกระทั่งได้ชมคลิปการสร้างมงกุฎจำลอง และเขาเดินทางไปถึงสถานที่จัดแสดงมงกุฎจำลองในพระราชวัง ซึ่งเขาพบว่า เมื่อนำรูปแกะสลักชิ้นที่เขาพบ เทียบกับรูปแกะสลักบนมงกุฎจำลองมีลักษณะเหมือนกันอย่างกับ “ฝาแฝด” ซึ่งเขาใช้คำเปรียบเปรยช่วงเวลานี้ว่า เสมือนแสงสว่างจากดวงดาวส่องมาโปรดเขาเลยทีเดียว (คลิกชมภาพชิ้นส่วนที่นี่)

ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ชิ้นส่วนแกะสลักสีทองนี้อยู่ในการดูแลของพิพิธภัณฑ์บริติช และอยู่ระหว่างตรวจสอบยืนยัน หากได้รับคำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญของสถาบันอย่างเป็นทางการ นายเควิน และเจ้าของที่ดินอาจได้รับส่วนแบ่งหากชิ้นส่วนนี้ถูกพิจารณารับซื้อจากพิพิธภัณฑ์ ตัวเลขจากสำนักข่าวแท็บลอยด์อย่าง The Sun ประเมินว่า อาจมีมูลค่ามากถึง 2-2.7 ล้านปอนด์


อ้างอิง:

สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560

Henry’s Crown. Historic Royal Palaces. Online. Access 3 FEB 2021. <https://www.hrp.org.uk/hampton-court-palace/whats-on/henrys-crown/#gs.rxi3z4>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2564