เส้นเวลาของฟิล์มกระจก มรดกความทรงจำแห่งโลก

ก่อนที่ฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาและอนุรักษ์ไว้ในฐานะมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ จะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลก ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยองค์การยูเนสโก ฟิล์มกระจกชุดนี้ได้เดินทางผ่านกาลเวลานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นการเดินทางผ่านกาลเวลาที่ยาวนาน ก่อนที่จะได้มาจัดแสดงเพื่อให้ปรากฎต่อสายตาของประชาชนชาวไทยในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

การเดินทางของฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการเผยแพร่และถ่ายทอดวิธีการถ่ายภาพโดยคณะเผยแพร่ศาสนาของพระสังฆราช โดยพระสังฆราช ฌ็อง บาติสต์ ปาเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) และบาทหลวง ลาร์นอดี (L’ Abbé Larnaudie) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งได้ถ่ายทอดวิชาการถ่ายภาพให้แก่ พระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) และพระปรีชา กลการ (สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งเป็นช่างภาพรุ่นแรกของไทย

การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในยุคแรกนิยมในหมู่ชนชั้นสูง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิยมในการถ่ายภาพทำให้เกิดการแพร่หลายในหมู่เจ้านาย ขุนนาง และผู้นิยมการถ่ายภาพมากขึ้น ช่วงพุทธศักราช ๒๔๗๒ ภายหลังจากการผลิตฟิล์มชนิดเซลลูลอยด์ การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกก็ได้รับความนิยมลดลงและเลิกใช้ในการบันทึกภาพทั่วไป หลงเหลือแต่เพียงผู้นิยมเพียงกลุ่มเล็กๆ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ ทรงริเริ่มจัดตั้งแผนกจดหมายเหตุ รวมถึงหอรูปขึ้น และได้ทรงขอพระราชทานฟิล์มกระจกส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงของพระองค์ที่ทรงถ่ายไว้ และทรงรวบรวมฟิล์มกระจกบางส่วนจากร้านถ่ายรูป “ฉายานรสิงห์” ซึ่งเป็นห้างถ่ายรูปของราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มารวบรวมไว้ในหอรูป

ในเวลาต่อมา เมื่อมีการแบ่งส่วนราชการใหม่ ฟิล์มกระจกในหอพระสมุดวชิรญาณถูกส่งมอบให้สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นผู้ดูแลตามลำดับ ฟิล์มกระจกชุดนี้จึงถูกเรียกตามแหล่งที่มาเดิม คือ หอพระสมุดวชิรญาณ ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณถูกจัดเก็บในกล่อง ไม้สักที่มีร่องสำหรับป้องกันการกระแทกของกระจก และมีกระดาษพิมพ์คำอธิบายภาพด้วยหมึกสีน้ำเงิน อันเป็นภูมิปัญญาการจัดเก็บฟิล์มกระจกให้คงสภาพเดิม ป้องกันความเสียหายได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วย ฟิล์มกระจกหลากหลายขนาด ตั้งแต่ ๔ นิ้ว ถึง ๑๒ นิ้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๕,๔๒๗ แผ่น แบ่งเป็น ภาพบุคคล ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชินี พระบรมราชเทวี พระอัครราชเทวี พระอัครชายาเธอ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ ภิกษุ และชาวต่างประเทศ ภาพสถานที่ เช่น พระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังเจ้านาย สถานที่ราชการ ร้านค้า สถานีรถไฟ ไปรษณีย์ โรงพยาบาล ถนน สะพาน คลอง วัด โบราณสถาน เป็นต้น ภาพเหตุการณ์สำคัญ ภาพพระราชพิธีและพิธีสำคัญ และภาพเบ็ดเตล็ด เช่น พระพุทธรูป นาฏศิลป์ การละคร เครื่องประกอบพิธีสำหรับงานต่าง ๆ เป็นต้น

พุทธศักราช ๒๕๔๖

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้เริ่มนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับฟิล์มกระจก โดยสแกนฟิล์มกระจกต้นฉบับให้ได้ภาพดิจิทัล เพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ฟิล์มกระจกต้นฉบับ และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการเข้าถึงภาพถ่ายฟิล์มกระจกที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น

วันที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

ได้มีการพิจารณาเสนอฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับซึ่งเก็บรักษาอยู่ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย

นิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร

วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๙

ในการประชุมกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย ครั้งที่ ๒/๒๕๕๙ คณะกรรมการฯ มีมติให้สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรอกแบบข้อความเพื่อนำเสนอขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก โดยเป็นการให้ข้อมูลรายละเอียดของฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๓๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

ที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจาก ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก นับเป็นเอกสารรายการที่ ๕ ที่ได้รับการ ขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกมาแล้ว ๔ รายการ ได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ ขึ้นทะเบียนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๖ เอกสารจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฎิรูปการบริหาร การปกครอง ประเทศสยาม ขึ้นทะเบียนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๒ จารึกวัดโพธิ์ ประกาศขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๑ และขึ้นทะเบียนในระดับโลกในพุทธศักราช ๒๕๕๔ และบันทึกการประชุมคณะกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในรอบ ๑๐๐ ปี ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๖

พุทธศักราช ๒๕๖๑

กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มูลนิธิ สิริวัฒนภักดี และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของฟิล์มกระจก ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ในฐานะที่เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย อันสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ บุคคล สถานที่ และเหตุการณ์สำคัญในอดีต อันเป็นการบันทึกความทรงจำจากอดีตตกทอดสู่คนรุ่นปัจจุบัน ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับจัดทำนิทรรศการ และจัดพิมพ์หนังสือ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” โดยร่วมกับสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ คัดเลือกภาพจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ นำเสนอภาพจากฟิล์มกระจกซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

เป็นวันเริ่มต้นของการเฉลิมฉลองในโอกาสที่ฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกในปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยองค์การยูเนสโก ผ่านนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก Celebrating the National Glass Plate Negative Registered as UNESCO Memory of the World”

กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จึงขอเชิญประชาชนชาวไทย ร่วมเดินทางย้อนเวลาตามเส้นทางเดินของฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวิชรญาณไปพร้อมกันระหว่างวันที่ ๒๖ พฤษภาคม – ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๙.๐๐ – ๑๙.๐๐ นาฬิกา ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ซึ่งเป็นวันหยุดของพิพิธภัณฑ์

นอกจากการแสดงภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก ในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การเสวนา การอวดภาพจากนักสะสมและบุคคลที่มีชื่อเสียง การจำหน่ายของที่ระลึก และพบกับกิจกรรมพิเศษในวันอาทิตย์ตลอดระยะเวลาของการจัดงาน ได้แก่ การสาธิตการทำฟิล์มกระจกและการถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจก เพื่อให้ผู้ชมได้รู้จักกระบวนการและที่มาของฟิล์มกระจก และถ่ายภาพย้อนยุคกับ “ฉายานิติกร” ที่เคยฝากชื่อไว้ในงานอุ่นไอรักที่ผ่านมาทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ตลอดระยะเวลาของการจัดงาน โดยสามารถดูรายละเอียดของกิจกรรมต่าง ๆ ได้ที่ www.thaiglassnegative.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร ๐๒ ๒๘๑ ๑๕๙๙ ต่อ ๒๒๒ ในวันและเวลาราชการ

[ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ]