ร่วมถวายอาลัย และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผ่านถ้อยอักษรใน “ศิลปวัฒนธรรม”

ปก "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับพฤศจิกายน 2559

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 นอกจากจะนำมาซึ่งความเศร้าโศกแก่พสกนิกรทั้งแผ่นดินแล้ว สิ่งที่ตามมาคือขั้นตอนต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องด้วยการพระราชพิธีพระบรมศพ โดยเป็นไปตามธรรมเนียมแห่งโบราณราชประเพณีอย่างสมพระเกียรติยศ

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ร่วมถวายอาลัย และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วยการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเผยแพร่ความรู้ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2559 นำเสนอบทความพิเศษเพื่อเป็นบันทึกแห่งความอาลัยในแผ่นดินรัชกาลที่ 9

“การสืบราชสมบัติในราชสกุลมหิดล ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”  โดย  ไกรฤกษ์ นานา กล่าวถึงการสืบราชสมบัติตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักยึดเหนี่ยวสำหรับคนไทยมานานแสนนาน โดยมีพระราชวงศ์จักรีเป็นเสาหลักของแผ่นดินและจะเป็นเช่นนี้ตราบนานเท่านาน

“ธรรมเนียมการสรงน้ำพระบรมศพ สุกำศพ และการไว้ทุกข์ในงานพระบรมศพ” โดย นนทพร อยู่มั่งมี ค้นคว้าเอกสารที่กล่าวถึงขั้นตอนเบื้องต้นที่สำคัญคือ การสรงน้ำพระบรมศพ การสุกำพระบรมศพ และการไว้ทุกข์ ซึ่งหลักฐานและข้อมูลของธรรมเนียมดังกล่าวที่ปรากฏล้วนมีแบบแผนปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัย กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อยและมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมแก่กาลสมัย

“ตำนานพระโกศทองใหญ่ 3 รัชกาล” และ “พระชฎาห้ายอดในพระบรมโกศ” โดย พิชญา สุ่มจินดา กล่าวถึงตำนานของพระโกศทองใหญ่ 3 องค์ ที่สร้างขึ้นใน 3 รัชกาล คือ พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 1 พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 5 และพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 9

ส่วนบทความ “พระชฎาห้ายอดในพระบรมโกศ” นำเสนอข้อมูล “พระชฎาห้ายอด” ที่นอกจากใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในวโรกาสสำคัญแทนพระมหาพิชัยมงกุฎ ยังใช้ทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์เมื่อสวรรคตด้วย ถือเป็นพระราชประเพณีปฏิบัติเฉพาะพระบรมศพพระมหากษัตริย์เท่านั้น

“พิธีกงเต็กหลวง พิธีกรรมประวัติศาสตร์แห่งความจงรักภักดีของชาวไทยเชื้อสายจีน”  โดย เศรษฐพงษ์ จงสงวน อธิบายความหมายการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล (กงเต็ก) กำเนิดพิธีกงเต็กในประเทศจีน พิธีกงเต็กในประเทศไทย พิธีกงเต็กหลวงในพระราชสำนัก และลำดับขั้นตอนการประกอบพิธีกงเต็ก

“ป้ายสถิตวิญญาณ จากจีนสู่ราชสำนักไทย” โดย ถาวร สิกขโกศล นำเสนอข้อมูลที่มาของพระราชพิธีสังเวยพระป้ายจากประเพณีเซ่นไหว้บรรพชนที่หน้าป้ายสถิตวิญญาณของจีน ได้แพร่เข้าสู่ราชสำนักไทย ด้วยเหตุที่พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีมีเชื้อสายจีนมาแต่ต้นราชวงศ์

“พระราชอำนาจและพระมหากรุณาธิคุณในรัชกาลที่ 9 ต่อศิลปวิทยาการด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระอัจฉริยภาพในศาสตร์และศิลป์หลายสาขาทั้ง ด้านจิตรกรรม ดนตรี การถ่ายภาพ และวรรณกรรม ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “อัครศิลปิน” และยังมีพระราชอำนาจในฐานะ “บรมครู” ทรงมอบหรือครอบพระราชทานให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ย่อมทรงกระทำได้ เมื่อไม่มีประธานไหว้ครู ทรงเข้าอุปถัมภ์พิธีครอบโขน ละครอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้สืบทอดต่อไปโดยไม่ขาดสาย นับเป็นเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการนาฏศิลป์และดนตรีไทยที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เก็บความโดย เสมียนอัคนี

“คุณทองแดง” สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ 9 โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย วาทะเล่าประวัติศาสตร์ “คุณทองแดง” สุนัขทรงเลี้ยงที่มีบทบาทในฐานะสัตว์เลี้ยงที่โปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง จนกล่าวกันว่า คุณทองแดงคือสุนัขประจำรัชกาล

“นภาไร้ทินกร” โดย หลวงเมือง “…ข้าพเจ้าไม่เคยนึกถึงเรื่องการเสด็จสวรรคตของพระองค์ท่าน แม้จะได้ข่าวว่าทรงพระประชวรจากแถลงการณ์ของสำนักพระราชวัง ครั้นมีประกาศข่าวร้ายออกมาจริง จิตใจก็ยังไม่ยอมรับ คงต้องใช้เวลาอีกช้านาน ข้าพเจ้ายังนึกไม่ออกว่า ถ้ายอมรับแล้วจะเป็นอย่างไร”

และ “เมื่อเมืองไทยร้องไห้” โดย วสิษฐ เดชกุญชร อดีตนายตำรวจราชสำนักประจำ “…ผมเขียนเรื่องนี้ด้วยน้ำตา พยายามนึกว่าการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเป็นเรื่องธรรมดา ทรงหนีความตายไม่พ้นเช่นเดียวกับทุกคน แต่ก็ยังอดนึกไม่ได้ว่าน่าจะทรงมีพระชนมายุยืนยาวกว่านี้ แต่เมื่อเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว ก็ต้องบอกตนเองว่า สิ่งที่จะทำต่อไปนี้คือถวายพระราชกุศลเป็นประจำและต่อเนื่อง และรับพระราชงานที่ทรงทิ้งเอาไว้และทำต่อ เพื่อประชาชนและเพื่อชาติ สนองพระราชปณิธานไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่”

ถ้อยอักษรเพียงน้อยนิดในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2559 มิอาจบรรยายถึงพระมหากรุณาธิคุณได้ทั่วสิ้นตลอดรัชสมัย 70 ปีที่ยาวนานแห่งแผ่นดินรัชกาลที่ 9 แผ่นดินของ “พ่อ” กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมและนักเขียนทุกท่านขอร่วมถวายอาลัย และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้