สัลเลขณะ ทุกรกิริยาเพื่อหลุดพ้นสังสารวัฏ

ศาสนิกชนผู้เคร่งครัดในศาสนาเชนขณะประกอบพิธี “สัลเลขณะ” ภาพที่เห็นในเบื้องหลังคือนักบวชในศาสนาเชน (ภาพจาก The Independent, Thursday 4 August 2005 p.28)

แม้ว่าในศตวรรษที่ 21 โลกได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคที่มนุษย์สามารถนั่งยานอวกาศออกไปสำรวจนอกโลกได้แล้ว ความเจริญทางด้านวัตถุยังพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ ไม่หยุดยั้ง แต่ความเชื่อ ความศรัทธาของมนุษย์ที่มีต่อลัทธิศาสนาของตนนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเลย 2,000 ปีก่อนมนุษย์มีความเชื่อในหลักศาสนาอย่างไร ปัจจุบันความเชื่อเหล่านั้นก็ยังคงอยู่

กลางเดือนสิงหาคม 2548 หนังสือพิมพ์ The Independent ได้ลงข่าวเกี่ยวกับหญิงชราชื่อศรัทธา ศรี (Shradha Shri) ในเมืองวีทิศ (Vidisha) ทางตอนใต้ของอินเดีย เสียชีวิตเนื่องจากอดอาหารเกือบ 7 สัปดาห์ ถ้าข่าวนี้เกิดขึ้นในประเทศแถบแอฟริกา คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะมีคนเสียชีวิตเพราะขาดอาหาร แต่นี่คืออินเดีย ประเทศที่แม้จะมีคนจนมากกว่าคนรวย แต่ก็เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังจะกลายมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจอีกประเทศหนึ่งในเอเชีย

Advertisement

แต่เปล่าเลย การเสียชีวิตของหญิงชราผู้นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหรือความอดอยากแต่ประการใด

การเสียชีวิตของเธอ เป็นผลมาจากความเชื่อในศาสนาเชนที่เรียกว่าพิธีกรรมสัลเลขณะ (Sallekhana)

ศาสนาเชนเป็นศาสนาเก่าแก่ของอินเดียที่มีอายุนับย้อนหลังไปเกือบ 600 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ… ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดกันว่า ศาสนาเชนและฮินดูเป็นศาสนาเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ 2 ศาสนานี้แตกต่างกันทั้งในเรื่องวิถีปฏิบัติและหลักความเชื่อโดยสิ้นเชิง

หนึ่งในความเชื่อหลักของเชน คือ ลัทธิอหิงสา ซึ่งเป็นหลักความเชื่อในการไม่เบียดเบียน และดำเนินชีวิตหรือกระทำการใด ๆ ด้วยสันติวิธี มหาตมะ คานธี คือผู้ที่ทำให้ลัทธิอหิงสาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และมีผู้ศรัทธาปฏิบัติตามแนวความคิดนี้ แม้ว่าในท้ายที่สุด มหาตมะ คานธี จะต้องจบชีวิตด้วยสิ่งที่ท่านต่อต้านมาตลอดชีวิต

ศาสนาเชนแบ่งออกเป็น 2 นิกายใหญ่ ๆ คือ นิกายเศวตัมพร นักบวชนิกายนี้จะนุ่งขาวห่มขาว และถือศีลทั่ว ๆ ไป ส่วนนิกายทิฆัมพรนั้น นักบวชจะเปลือยกาย (นุ่งลมห่มฟ้า) ถือเพียงพัดหางนกยูงเพื่อใช้ปัดไล่มด แมลง และบำเพ็ญทุกรกิริยาเพื่อไปสู่การหลุดพ้น

ความเชื่อในเรื่องการละทิ้งสังขารเพื่อไปสู่การหลุดพ้นนี้ ปรากฏออกมาในรูปแบบของพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าสัลเลขณะ ซึ่งผู้ที่ศรัทธาในศาสนาเชนเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่จะชำระจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ หรือการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง

พิธีกรรมสัลเลขณะ คือการเตรียมพร้อมละสังขารเพื่อไปสู่ความหลุดพ้น ผู้ที่ทำพิธีกรรมนี้ต้องค่อย ๆ อดอาหารจนกว่าจะถึงแก่ความตาย และในขณะเดียวกันต้องทำจิตให้ว่างและตัดซึ่งกิเลสทั้งปวง นักบวชชั้นสูงเท่านั้นที่จะอนุญาตให้ผู้มีศรัทธาประกอบพิธีกรรมนี้ได้ เพราะผู้นับถือศาสนาเชนจะศรัทธาและเชื่อฟังนักบวช เพียงแค่แตะปลายเท้านักบวชพวกเขาก็ถือว่าได้รับพรอันสูงสุดแล้ว นักบวชจะอนุญาตก็ต่อเมื่อได้พิจารณาว่าผู้ขอกระทำพิธีมีความกระตือรือร้น หรือสังขารของผู้นั้นร่วงโรยแล้ว หรือเป็นโรคร้ายที่ไม่สามารถรักษาได้ และต้องไม่มีพันธะหรือหน้าที่ใด ๆ และต้องได้รับความเห็นชอบจากครอบครัวของผู้นั้นด้วย

อย่างกรณีของนางศรัทธา ศรี ที่กระทำพิธีสัลเลขณะ ด้วยการอดอาหารจนถึงแก่ความตายภายใน 1 เดือนนั้น ได้รับความเห็นชอบจากนักบวชชั้นสูง เนื่องจากเธอไม่มีพันธะทางโลกแล้ว สามีเธอเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อ 4 ปีก่อน ส่วนลูก ๆ ของเธอแต่งงานและมีครอบครัวกันหมดแล้ว

นายธรรเมศ เชน (Dharmesh Jain) ลูกชายคนรองของเธอเชื่อว่ามารดาของเขาได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องและน่ายกย่อง เธอมีความกล้าในการตัดสินใจละทิ้งสังขารที่ร่วงโรยด้วยตนเอง มารดาของเขาเลือกการบำบัดทางจิตวิญญาณและไม่กลัวการเผชิญหน้ากับความตาย เธอไม่ได้รู้สึกกลัวหรือครวญครางด้วยความทุกข์ทรมาน ตรงกันข้ามเธอดูมีความสุข พวกเขาจะจัดพิธีศพอย่างสมเกียรติและเฉลิมฉลองการหลุดพ้นของเธอ

แม้จะมีเสียงซุบซิบว่านางศรัทธา ศรี ป่วยเป็นซีสต์ในกระเพาะอาหาร เธอเพียงต้องการหนีความทุกข์ทรมานด้วยการเลือกความตายก่อนเวลาอันควร หาใช่การกระทำเพื่อชำระจิตวิญญาณเพื่อการหลุดพ้นแต่อย่างใด แต่ถึงอย่างไรก็ตามผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต่างเดินทางมาเฝ้าดูวาระสุดท้ายของเธอ เพราะปัจจุบันนี้พิธีกรรมสัลเลขณะไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก ผู้ที่ศรัทธาเชื่อว่าเป็นการกระทำที่สูงส่งและต้องการมีส่วนร่วม แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่รู้หลักความเชื่อนี้ต่างลงความเห็นว่านี่เป็นเพียงการฆ่าตัวตาย

ฆ่าตัวตาย หรือเตรียมละทิ้งสังขารเพื่อมุ่งสู่การหลุดพ้น อาจจะแตกต่างในเชิงความคิดแต่ไม่ได้แตกต่างในเชิงปฏิบัติเลย น่าแปลกที่ว่า โลกาภิวัตน์และการศึกษาไม่ได้ทำให้ความเชื่อในพิธีกรรมนี้เปลี่ยนไปเลย ดังเช่น นายธรรเมศ เชน ที่ยังเชื่อว่าพิธีกรรมนี้คือการชำระจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ ทั้ง ๆ ที่เขาได้รับการศึกษาถึงระดับ MBA และมีหน้าที่การงานที่น่านับถือในสังคม

ไม่ใช่ว่าสังคมอื่น ๆ ในอินเดียจะเพิกเฉยต่อพิธีกรรมนี้ ตรงกันข้ามประเด็นนี้เป็นข้อโต้เถียงมาช้านาน เมื่อคนทั่วไปมองว่ามันคือการฆ่าตัวตาย และเมื่อหลายปีก่อนเคยมีภาพของชายผู้กระทำพิธีสัลเลขณะตอนเสียชีวิตแพร่ออกไปเกือบทั่วประเทศ ร่างกายที่เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ซึ่งเป็นภาพที่ชวนสลดอย่างยิ่ง คนอินเดียเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐควรยื่นมือเข้ามาจัดการเรื่องนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ควรยกย่องและลอกเลียนแบบ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการฆ่าตัวตายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของอินเดีย แต่ตำรวจก็ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับพิธีกรรมสัลเลขณะ เนื่องจากสิ่งนี้เป็นความเชื่ออย่างแรงกล้าของผู้ที่นับถือศาสนาเชน และพวกเขายืนยันว่าพิธีนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อผู้นับถือศาสนาอื่นแม้แต่น้อย และเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นเกรงว่าหากเข้าไปจัดการเรื่องนี้อาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มผู้นับถือศาสนาเชนได้

ปัจจุบันพิธีกรรมสัลเลขณะมีให้เห็นไม่มากนัก อาจจะเป็นเพราะไม่มีใครมีศรัทธาแรงกล้าที่ต้องการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ แต่ก็ใช่ว่าความเชื่อในพิธีกรรมนี้จะเลือนหายไป ความเชื่อนี้ยังคงแทรกซึมอยู่ในสังคมของผู้นับถือศาสนาเชน ซึ่งรอคอยที่จะแสดงความยกย่องกับผู้ที่กล้าละทิ้งสังขารด้วยวีธีนี้ พวกเขายังคงรักษาความเชื่อและประเพณีดั้งเดิมเอาไว้

แม้ว่าวิธีการหลุดพ้นนี้จะแตกต่างจากหลักความเชื่อศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ที่ถือว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาปมหันต์

แม้ว่าคนภายนอกจะตั้งคำถามว่าการละทิ้งสังขารด้วยพิธีกรรมสัลเลขณะเป็นการหลุดพ้นที่แท้จริงหรือ และพิธีกรรมนี้ต่างจากการฆ่าตัวตายอย่างไร

เชื่อว่าผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้คงเป็นเพียงผู้ที่ได้กระทำพิธีสัลเลขณะแล้วเท่านั้น


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มิถุนายน 2560