100 ปี สนามบินร้อยเอ็ด จากยุคแรกเริ่มสู่ยุครุ่งเรือง

เครื่องบินมณฑลร้อยเอ็ด 3 หนึ่งในเครื่องบินมณฑลร้อยเอ็ด 1 ถึง 9 ภาพนี้คุณตาวีระ วุฒิจำนงค์ อธิบายว่า เป็นเหตุการณ์การมอบเครื่องบินมณฑลร้อยเอ็ด 1-9 ให้กับกระทรวงกลาโหม ผู้ที่ใส่ชุดปกติขาวคือพระมหาเสวกตรี พระยารณชัยชาญยุทธ สมุหเทศาภิบาลมณฑลร้อยเอ็ด (ภาพจากการค้นคว้าของคุณตาวีระ วุฒิจำนงค์)

ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอกราบคารวะดวงวิญญาณของญาแม่บุญมี คำบุศย์ ผู้บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองร้อยเอ็ดผ่านหนังสือ อดีตรำลึก ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ และคารวะดวงวิญญาณของคุณตาวีระ วุฒิจำนงค์ ผู้ทรงคุณด้านการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ด และเป็นผู้ร่วมบุกเบิกจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร้อยเอ็ด

จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน มีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุประมาณ 1,800-2,500 ปีมาแล้ว สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เครื่องบินเป็นยานพาหนะที่ทันสมัยและสำคัญยิ่งต่อการคมนาคมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่ทว่าเมื่อร้อยปีก่อนเครื่องบินเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ผู้คนยังไม่เคยพบเห็น เครื่องบินจึงมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คนในมณฑลร้อยเอ็ดเป็นอย่างมาก (มณฑลร้อยเอ็ด ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์) ในปี พ.ศ. 2565 สนามบินร้อยเอ็ดมีอายุครบ 100 ปี ผู้คนในจังหวัดร้อยเอ็ดรู้จักเครื่องบินก่อนรถยนต์ เพราะเครื่องบินมาแสดงเมื่อ พ.ศ. 2465 ส่วนรถยนต์คันแรกของจังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีผู้นำมารับส่งผู้โดยสารและบรรทุกสินค้าในจังหวัดคันแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2469

แผนที่เมืองร้อยเอ็ด พ.ศ.2483 (แผนที่ต่อท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหาร แห่งจังหวัดร้อยเอ็ด ในท้องที่อำเภอเมืองร้อยเอ็ด พุทธศักราช 2483)

สนามบินร้อยเอ็ดยุคแรกเริ่ม ตั้งอยู่ในกองพันทหารม้าที่ 5 (ปัจจุบันคือ มณฑลทหารบกที่ 27 ค่ายประเสริฐสงคราม ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด) ก่อสร้างขึ้นสร้างในยุคของพระมหาเสวกตรี พระยารณชัยชาญยุทธ สมุหเทศาภิบาลมณฑลร้อยเอ็ด คนที่ 2 เริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2463 สำเร็จลงเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2465 เป็นสนามบินประจำจังหวัดในมณฑลร้อยเอ็ด ดังแถลงการณ์ของเสนาธิการทหารบก เรื่อง สเเดงการบินในมณฑลร้อยเอ็จ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 39 หน้า 1158 วันที่ 30 กรกฎาคม 2465) ความว่า

…ด้วยเจ้าน่าที่ปกครองท้องถิ่นได้จัดการสร้างสนามบินประจำจังหวัดในมณฑลร้อยเอ็จสำเร็จเรียบร้อยใช้ราชการได้แล้วทุกจังหวัด สมุหะเทสาภิบาลมณฑลร้อยเอ็จมีความประสงค์ขอให้นักบินนำเครื่องบินไปสเเดงให้พลเมืองดู เพื่อเป็นการปลุกใจให้เห็นประโยชน์ของการบิน กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดการส่งเครื่องบินไปตามความต้องการ…

…ครั้นวันที่ 7 เมษายน 2465 นักบินได้นำเครื่องบินจากสนามบินจังหวัดนครราชสีมาเป็นจำนวน 5 เครื่องไปลงที่สนามบินจังหวัดร้อยเอ็จโดยความสวัสดิภาพ ในวันนี้เปิดให้ประชาชนเข้าดูตัวเครื่องบินซึ่งนักบินได้นำไปนั้น

…วันที่ 8 ที่ 9 นักบินได้นำเครื่องบินขึ้นแสดงในอากาศให้ประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดดูและบินลงรับคนโดยสานขึ้นเครื่องบินพาไปในอากาศวิถี…

…เงินที่ข้าราชการและประชาชนในมณฑลนี้เต็มใจช่วยบำรุงกำลังทางอากาศ เนื่องจากสแดงการบินคราวนี้ คือ จังหวัดร้อยเอ็จ ๙๐,๙๗๑ บาท ๔๐ สตางค์ จังหวัดมหาสารคาม ๖๗,๗๖๓ บาท ๗๕ สตางค์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ๖๖,๕๖๕ บาท ๕ สตางค์ รวมทั้งสิ้น ๒๒๕,๓๐๐ บาท ๒๐ สตางค์

จำนวนเงินข้างบนนี้เปนพยานปรากฏชัดว่าประชาชนในมณฑลนี้เห็นประโยชน์ของการบินอันเป็นกำลังของชาติบ้านเมืองอย่างแน่แท้ เมื่อคิดดูว่ามณฑลนี้เป็นมณฑลชั้นนอกมีเพียง 3 จังหวัดเท่านั้น ก็ยังได้เงินมากมายอย่างน่าพิศวงเพียงนี้ แสดงให้เห็นประจักษ์ว่าประชาชนในมณฑลร้อยเอ็ดเต็มไปด้วยความมุ่งหมายที่จะช่วยบำรุงกำลังของชาติให้เจริญยิ่งขึ้นตามลำดับ ไม่สักแต่กล่าวด้วยวาจาว่า รักชาติ

การที่ได้ผลเห็นปานนี้ ก็เพราะพระมหาเสวกตรี พระยารณชัยชาญยุทธ สมุหะเทศาภิบาล ดำเนินการด้วยความสามารถและความตั้งใจเอื้อเฟื้อแก่การเปนอย่างดียิ่ง ประกอบด้วยข้าราชการและราษฎรเต็มใจช่วยเหลือโดยเต็มกำลัง ขอบรรดาผู้ที่ช่วยด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังความคิดทั้งปวงจงได้รับความขอบใจอย่างสูงสุดของข้าพเจ้าทั่วกัน

อนึ่งขอแถลงให้ทราบทั่วกันว่า ณะบัดนี้เครื่องบินของกรมอากาศยาน ได้ทำการรับส่งไปรษณีย์สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดร้อยเอ็จเป็นปรกติการแล้ว

ทั้งนี้ย่อมเปนผลให้ความสดวกแก่หัวเมืองมณฑลที่อยู่ห่างไกลไร้ทางคมนาคมที่จะใช้ยวดยานอย่างเดินเร็วได้ แต่ซึ่งกรมอากาศยานจะสามารถช่วยทำประโยชน์เช่นนี้และประโยชน์อย่างอื่นอีกหลายประการได้ก็ต้องอาศรัยสนามบิน มณฑลใดมีสนามบินไว้มากเเห่ง ก็ยิ่งจะมีทางได้รับประโยชน์มากขึ้น

ทั้งนี้ควรเปนเครื่องเตือนใจว่าเครื่องบินนั้นมีประโยชน์เพียงไร ขอจงช่วยกันบำรุงกำลังของชาติทางอากาศให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปเทอญ

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๕๖๔

บรพัตร์

เสนาธิการทหารบก

ภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เมื่อเครื่องบินของกระทรวงกลาโหม จำนวน 5 ลำ ไปแสดงที่มณฑลร้อยเอ็ด พ.ศ.2465 (ภาพจากการค้นคว้าของคุณตาวีระ วุฒิจำนงค์)

การที่ประชาชนได้ร่วมบริจาคเงินให้กับทางราชการ เพื่อเป็นกำลังทรัพย์บำรุงกำลังของกองทัพอากาศส่วนหนึ่งในการก่อสร้างสนามบิน ได้เงินบริจาคทั้งสิ้น 225,300 บาท 20 สตางค์ เมื่อการก่อสร้างสนามบินได้เสร็จเรียบร้อย สมุหเทศาภิบาลมณฑลร้อยเอ็ดได้แจ้งความประสงค์ต่อกระทรวงกลาโหมขอให้นักบินนำเครื่องบินไปแสดงให้พลเมืองดูเพื่อเป็นการปลุกใจให้เห็นประโยชน์ของการบิน ในวันที่ 7 เมษายน 2465 นายร้อยเอกหลี สุวรรณานุช นายหัวหน้านักบิน ได้นำเครื่องบินจากสนามบินจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 5 เครื่อง (ประวัติกองทัพไทยในรอบ 200 ปี พ.ศ. 2325-2525. กรุงเทพฯ: กรมแผนที่ทหาร, 2525.) ไปลงที่สนามบินจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดให้ประชาชนเข้าดูตัวเครื่องบิน ประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ได้มีผู้คนเข้ามาดูเครื่องบินและมาเที่ยวงานเปิดสนามบินอย่างไม่ขาดสาย ในบันทึกของญาแม่บุญมี คำบุศย์ หน้า 43-44 ได้เล่าเหตุการณ์ไว้ว่า

“พอวันที่เครื่องบินมาลงสนามบินเป็นครั้งแรก มีคนมาดูมืดฟ้ามัวดินบริเวณทุ่งทางเหนือเมืองตามริมห้วยมีคนเต็มไปหมด เพราะมาจากจังหวัดใกล้เคียงก็มาก ทางการกลัวคนจะเข้าไปใกล้ในสนามจึงเกณฑ์กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและทหารทั้งหมดยืนรอบสนามเพราะกลัวจะเกิดอันตราย เพราะทุกคนไม่เคยเห็นว่าเครื่องบินหรือ “เฮือเหาะ” ที่คนสมัยนั้นเรียกเป็นอย่างไรจึงอยากเห็นและอยากเข้าไปดูใกล้ แต่ก็ได้แต่ยืนดูอยู่ห่างๆ เพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่  เคยได้ยินแต่ในนิยายว่าคนเหาะได้จึงอยากจะเห็นมาก

แม่ของข้าพเจ้าก็อยากดูเหมือนกัน จึงอุ้มลูกคนเล็กและจูงคนกลางข้าพเจ้าเดินตามหลังและถือตะกร้าเล็ก ๆ มีขวดน้ำและห่อข้าวเดินผ่านบ้านนายทหารราบ  ท่านถามว่าจะพาลูกไปไหน แม่ของข้าพเจ้า ว่าจะไปดูเครื่องบิน ท่านบอกว่าอย่าไปเลยคนมากดูที่บ้านก็เห็นทั้งแดดร้อนด้วย เพราะเขาบินวนให้คนดู แม่ของข้าพเจ้าตอบว่า “ดิฉันกลัวจะไม่เห็น” ครั้นเดินไปถึงหน้ากองพลยังไม่ถึงสนามบินก็ไปไม่ได้เสียแล้ว เพราะคนแน่นมาก พอถึงช่วงบ่ายเครื่องบินก็มาถึงมีประมาณ 6 – 7 เครื่องเห็นจะได้พอมาถึงก็บินวนรอบเมืองหลายรอบ ทุกคนที่เห็นเครื่องบินเป็นครั้งแรก ต่างก็ตกใจและกลัวเครื่องบินจะตกใส่ ก็วิ่งหลบกันอย่างอลหม่าน คนแก่ ผู้หญิง และเด็กก็ร้องไห้กันอย่างเซ็งแซ่ บางคนร้องไห้เพราะกลัว แต่ส่วนมากร้องไห้เพราะปลื้มปีติและมหัศจรรย์  เพราะเคยได้ยินแต่ในนิยายว่ายนต์เหาะไม่คิดว่าจะได้เห็นจริงๆ ก็เลยร้องไห้คิดถึงพ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้วไม่ได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ ต่างก็มองดูเครื่องบินและนักบินอย่างพิศวงและมองนักบิน เป็นคนที่เก่งอย่างยิ่งบางคนก็ยกมือไหว้และรุมล้อมมาดูกันอย่างแน่นขนัด ทหารต้องกันไว้ให้ดูห่างๆ เครื่องบินก็บินขึ้นลงทุกวันก็ดูทุกวันไม่เบื่อ เครื่องบินจะอยู่กี่วันข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ แล้วก็กลับไปเพราะไม่มีโรงเก็บและบ้านพักทหารต้องสร้างอีกต่อหนึ่งจึงกลับมาอยู่

เมื่อเครื่องบินกลับแล้วทางการจึงประกาศห้ามไม่ให้ราษฎรเอาสัตว์เข้าไปเลี้ยงในสนาม คือเขียนว่า “ห้ามปล่อยช้างม้าโคกระบือเข้ามาเลี้ยงในสนามจะปรับตัวละ 4 บาท” คนกลัวถูกปรับเพราะไม่มีเงินจะเสีย ค่าปรับไหมเพราะเงิน 4 บาท ในสมัยนั้นหายากมากหาทั้งปีก็แทบจะไม่ได้ หญ้าจึงขึ้นสูงถึงเอวถึงอกผู้ใหญ่ จนต่อมาอีกสองปี เมื่อโรงทหาร โรงเก็บเครื่องบิน และบ้านพักนายทหารเสร็จจึงประกาศให้ราษฎรเอาโคกระบือมาเลี้ยง รวมทั้งโคหลวงของทหารพาหนะมาเลี้ยงในสนามหญ้าจึงหมด และให้ทหารบกซ่อมสนามอีกเครื่องบินจึงลงได้ คนก็ดูเขาขึ้นลงอยู่เช่นเดิม และคนบ้านนอกก็มานั่งดูอยู่เสมอเมื่อมีธุระมาในเมือง”

การที่ประชาชนในมณฑลร้อยเอ็ด (ร้อยเอ็ด มหาสารคามและกาฬสินธุ์) ได้เต็มใจช่วยกันบริจาคทรัพย์บำรุงกำลังทางอากาศเป็นจำนวนเงินบริจาคทั้งสิ้น 225,300 บาท 20 สตางค์ กระทรวงกลาโหมจึงประกาศคุณงามความดีของประชาชนมณฑลร้อยเอ็ด โดยจารึกอักษรไว้ที่เครื่องบินชนิดเบรเกต์ (Breguet 14B) ของกรมอากาศยานสำหรับใช้ในกิจการไปรษณีย์และการอื่นๆ จำนวน 9 ลำ ว่า มณฑลร้อยเอ็ด 1 ถึง 9 เป็นการมอบเครื่องบินให้แก่กระทรวงกลาโหมจำนวนมากที่สุดของประเทศในเวลานั้น (วีระ วุฒิจำนงค์, 14 เมษายน 2557) จากความดีความชอบนี้เอง มหาเสวกตรี พระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) สมุหเทศาภิบาลมณฑลร้อยเอ็ด ได้รับพระราชทานยศทหารบกเป็น พันโทพิเศษ แห่งกรมอากาศยาน

มหาเสวกตรี พระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) สมุหเทศาภิบาลมณฑลร้อยเอ็ด ผู้ชักชวนข้าราชการ พ่อค้า คหบดีในมณฑลร้อยเอ็ด บริจาคเงินซื้อเครื่องบิน 9 เครื่อง ที่มีชื่อว่า “มณฑลร้อยเอ็ด 1-9” (ภาพจาก มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6)

นอกจากเครื่องบินมณฑลประจำมณฑลร้อยเอ็ดทั้ง 9 ลำแล้ว ยังมีเครื่องบินอีกลำหนึ่งที่สำหรับใช้ในกิจการไปรษณีย์และการอื่นๆ มีชื่อว่า ขัติยะนารี ในบันทึกของญาแม่บุญมี คำบุศย์ หน้า 43 – 44 ได้เล่าเหตุการณ์ไว้ว่า “หน้าที่หลักของเครื่องบินก็คือเดินเมล์อากาศจากกรุงเทพฯ โคราช ร้อยเอ็ด นครพนม มหาสารคาม อุบลราชธานีและอุดรธานี ข้าพเจ้าเคยเห็นเครื่องบินพยาบาลมาลงที่สนามบินเป็นสีขาวมีกากบาทสีแดง ลำใหญ่กว่าเครื่องบินธรรมดาชื่อ ขัติยะนารี ในว่าบริจาคโดยแม่หญิงขอนแก่นนำโดยคุณหญิงภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนชักชวนเรี่ยไร”

ญาแม่บุญมี คำบุศย์ บุศย์ ผู้บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองร้อยเอ็ดผ่านหนังสืออดีตรำลึก (ภาพจาก คุณสถาพร จุปะมะตัง)

การเดินอากาศไปรษณีย์กับการแพทย์และสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2465 ได้มีการประชุมกันของ เสนาธิการทหารบก เสนาบดีกระทรวงกลาโหม อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขและเจ้ากรมอากาศยาน ที่ห้องประชุมเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เพื่อตกลงเรื่องจัดการบินไปรษณีย์ ผลการประชุมเห็นชอบด้วยกระแสดำริของเสนาธิการทหารบก คือกรมไปรษณีย์โทรเลขมีหน้าที่ในการจัดการไปรษณีย์ของชาติ โดยกรมอากาศยานเป็นผู้ช่วยในการพาหนะ การจัดการบินไปรษณีย์ได้จัดในมณฑลที่มีการคมนาคมช้ามาก่อนตามลำดับขั้นดังนี้

ขั้นที่ 1 สายนครราชสีมา ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ถึงอุบลราชธานี

ขั้นที่ 2 สายนครราชสีมา ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุดรธานี ถึงหนองคาย

ขั้นที่ 3 สายนครราชสีมา ผ่านชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ถึงพิษณุโลก

ขั้นที่ 4 พิจารณาจัดในมณฑลพายัพต่อไป

ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2465 กรมอากาศยานร่วมมือกับกรมไปรษณีย์โทรเลข เปิดสายการเดินอากาศไปรษณีย์ สายที่1 เป็นการทดลองในเส้นทางจังหวัดนครราชสีมา-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-อุบลราชธานี ตามพระดำริของเสนาธิการทหารบก โดยเครื่องบินที่ใช้ทำการขนส่งพัสดุทางอากาศคือเครื่องบินชนิดเบรเกต์ โดยเริ่มเที่ยวบินแรก ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2465 เวลา 8.00 น.เครื่องบิน ลำที่ 1 ออกจากนครราชสีมา ไปยัง มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เครื่องบินแต่ละลำดังกล่าวได้บินต่อไปยังอุบลราชธานีและนครราชสีมาตามลำดับ ในสัปดาห์ต่อไปทุกวันอังคาร เวลา 8.00 น.จะมีเครื่อง 1 ลำ ออกจากสนามบินอุบลราชธานี กลับมายังร้อยเอ็ด มหาสารคาม และนครราชสีมา

คุณตาวีระ วุฒิจำนงค์ ผู้ทรงคุณด้านการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ด และเป็นผู้ร่วมบุกเบิกจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร้อยเอ็ด (ภาพจากคุณสถาพร จุปะมะตัง)

การบินไปรษณีย์สายที่ 1 กิจการได้เจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ “จากคำบอกเล่าของยายทองเลี่ยม เวียงแก้ว เล่าว่าเมื่อครั้งที่เครื่องบินอากาศไปรษณีย์มาลงจอดที่สนามบินมหาสารคาม วันนั้นป้าของคุณยายทองเลี่ยม เวียงแก้ว ได้มีอาการเจ็บท้องอย่างรุนแรงจะรีบไปรักษาให้ทันท่วงทีที่โรงพยาบาลค่ายประเสริฐสงคราม จังหวัดร้อยเอ็ด แต่ในสมัยนั้นรถยนต์ยังไม่มีและระยะเวลาการเดินทางจะล่าช้า จึงได้ขอใช้บริการเครื่องบินให้พาไปรักษาอาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลค่ายประเสริฐสงคราม จังหวัดร้อยเอ็ด (สัมภาษณ์ ทองเลี่ยม เวียงแก้ว อายุ 90 ปี 9 มีนาคม 2558)

การเดินอากาศไปรษณีย์ได้ประโยชน์ต่อทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย เพราะสิ่งที่มาพร้อมเครื่องบินคือเครื่องเวชภัณฑ์ ยารักษาโรคต่างๆ จากกรุงเทพมหานครมายังสถานพยาบาลในมณฑลร้อยเอ็ด ทำให้การรักษาหรือป้องกันโรคในมณฑลร้อยเอ็ดรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ เป็นการคมนาคมที่เป็นประโยชน์ต่อทางด้านการแพทย์อย่างมากในเวลานั้น

ต่อมากรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้ประกาศเปลี่ยนจากการทดลองเป็นการเดินอากาศไปรษณีย์ประจำ จึงมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา “คำแถลงการณ์ของกรมเสนาธิการทหารบก เรื่อง สนามบินสำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม” แจ้งความ ณ วันที่  24  มิ.ย. 2465  (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 39  หน้า  902-903  วันที่ 2 ก.ค. 2465)  ว่าทางกระทรวงกลาโหมได้รับสนามบินเอาไว้ใช้ในราชการเรียบร้อยแล้วและเริ่มใช้งานการเดินอากาศประจำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2466

ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2466 กรมอากาศยานและกรมไปรษณีย์โทรเลขได้เปิดการเดินอากาศไปรษณีย์สายที่ 2 ระหว่างจังหวัดนครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุดรธานีและหนองคาย โดยเริ่มเที่ยวบินแรกในวันที่ 3 ธันวาคม 2466

จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จตรวจราชการมณฑลอีสาน พ.ศ.2469 ภาพนี้ถ่ายที่เมืองร้อยเอ็ด (ภาพจากพระอรรถพล อตฺถพโล)

พ.ศ. 2469 เดือนธันวาคม จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จมาตรวจราชการที่มณฑลภาคอีสานและมณฑลนครราชสีมา พระองค์ได้ขึ้นเครื่องบินจากจังหวัดนครราชสีมามาลงที่สนามบินจังหวัดมหาสารคาม ดังในรายงานตรวจราชการมณฑลภาคอีสานและนครราชสีมา ส่วนว่าด้วยการเมืองและการพรรณนาทั่วไปในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2469 ว่า…แทนที่จะไปมัวเดินทางเกวียนอยู่ตั้ง 10 วัน ทั้งมีนิยมว่าในการที่จะถือเงินทองจำนวนมากไปมา ไปทางเครื่องบินเป็นที่ปลอดภัยดีกว่าไปทางเกวียน มีข้อแปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ในภาคอีสานนี้ราษฎรรู้จักเครื่องบินก่อนรถยนต์ เพราะเครื่องบินได้ขึ้นมาแสดงตั้งแต่ พ.ศ. 2465 แล้ว ไม่ช้านักก็เดินอากาศไปรษณีย์ แต่รถยนต์เพิ่งได้มีขึ้นมาเป็นครั้งแรกต่อใน พ.ศ. 2466….(บันทึกรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลภาคอีสานของจอมพลสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมนครสวรรค์วรพินิต. 2470)

พ.ศ. 2472 เมื่อกรมรถไฟหลวงได้เปิดเดินรถไฟสายจังหวัดนครราชสีมา – อุบลราชธานีขึ้น การคมนาคมระหว่างจังหวัดทั้งสองพ้นมีความสะดวกสบาย การส่งไปรษณีย์ไป – มาได้ทุกวัน กรมอากาศยานและกรมไปรษณีย์โทรเลข จึงได้เลิกการบินไปรษณีย์สายที่ 1 เส้นทางจังหวัดนครราชสีมา-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2472 เป็นต้นมา ต่อมาปี พ.ศ. 2474 เมื่อกรมอากาศยานได้รับคำสั่งจากกระทรวงกลาโหม ให้เลิกกิจการการบินไปรษณีย์และมอบให้กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมดำเนินการต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2474 สนามบินในมณฑลร้อยเอ็ด จึงได้เลิกกิจการการบินไปรษณีย์ตั้งแต่บัดนั้น

นางสาวเอมี่ จอห์นสัน (Amy Johnson )สตรีผู้ขับเครื่องบินมาลงที่สนามบินร้อยเอ็ด เมื่อ พ.ศ.2473 (ภาพจากคุณสถาพร จุปะมะตัง)

พ.ศ. 2473 มีสตรีชาวอเมริกาชื่อ นางสาวเอมี่ จอห์นสัน (Amy Johnson) ได้ขับเครื่องบินมาลงที่สนามบินร้อยเอ็ด ในบันทึกของญาแม่บุญมี คำบุศย์ หน้า 43-44 ได้เล่าเหตุการณ์ไว้ว่า …ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2473 ก็มีสตรีชาวอเมริกาชื่อ นางสาวเอมี่ จอห์นสัน (Amy Johnson) ที่มีความสามารถขับเครื่องบินส่วนตัวชนิดเบรเกต์ปีกสองชั้นจากทวีปอเมริกามาลงที่ทวีปออสเตรเลียแล้วบิน ต่อมาลงที่ดอนเมือง กรุงเทพฯ จะแวะที่ไหนมาบ้างข้าพเจ้าไม่ทราบ ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมทางหน้าหนังสือพิมพ์ ชาวบ้านชาวเมืองอยากดูเธอ จึงมีคนไปต้อนรับเป็นจำนวนมาก เธอมาถึงสนามบินร้อยเอ็ดเวลา 11 นาฬิกา เมื่อเครื่องบินลงสนาม  พวกทหารช่างของกองบินเราก็เข้าไปตรวจเครื่องบินและเติมน้ำมันให้  คนที่เป็นล่ามพูดกับเธอคือดาบเต็ง ต้นเปรมไทย นายทหารในกรมทหารนี้ ผู้ที่ทำหน้าที่จัดเลี้ยงอาหารกลางวัน ก็คือภรรยานายทหารที่มาให้การต้อนรับเธอ พวกชาวบ้านผู้หญิงดีใจมากบางคนร้องไห้เพราะความสงสารเธอ ซึ่งทุกคนรักและยกย่องเธอมาก ต่างอวยพรให้เธอถึงที่หมายด้วยความปลอดภัย ซึ่งเธอก็ตอบผ่านล่ามว่าขอบคุณที่ให้พรเธอพักอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าก็บินต่อไป และเธอจะไปลงฮานอยแต่จะแวะเติมน้ำมันที่เวียงจันทน์  ต่อไปก็คงเข้าจีน รัสเซีย ยุโรป และกลับอเมริกา เธอคงเป็นลูกคนมั่งมีจึงซื้อเครื่องบินส่วนตัวได้ ซึ่งเธอเป็นผู้หญิงที่กล้าหาญมากเป็นเวลาเกือบ 70 ปีแล้วข้าพเจ้ายังรำลึกถึงเธออยู่เสมอ อายุของเธอในขณะนั้นคงจะประมาณ 24-25 ปี ผิวขาว ผมสีน้ำตาล ตาสีน้ำตาล

มิสเอมีจอห์นสันเธอเหินเหาะ

เหินจำเพาะข้ามทวีปรีบผันผาย

จากอเมริกาสู่แดนไกลแม้นใช่ชาย

สู่ออสเตรเลียตามมุ่งหมายได้เช่นกัน

แล้วบินมาถึงไทยได้สำเร็จ

ถึงร้อยเอ็ดเราต้อนรับขมีขมัน

พวกผู้หญิงดีใจร้องไห้พลัน

อวยพรให้เธอนั้นจงปลอดภัย

ขอยุติเพียงเท่านี้ อยากให้ท่านทั้งหลายทราบว่าผู้หญิงเก่งก็มีมานานแล้ว….

สนามบิน มณฑลทหารบกที่ 27 ค่ายประเสริฐสงครามในปัจจุบัน (ภาพจาก เพจประเสริฐสงคราม)

สนามบินร้อยเอ็ดในปัจจุบัน

ปัจจุบันสนามบิน ยังถูกใช้งานในมณฑลทหารบกที่ 27 ค่ายประเสริฐสงครามอยู่เช่นเดิม ส่วนการบินพาณิชย์จังหวัดร้อยเอ็ด คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2532 ท่าอากาศยานร้อยเอ็ดตั้งอยู่เลขที่ 135 หมู่ 2 ถนนร้อยเอ็ด – โพนทอง (ทางหลวงหมายเลข 2044) ตำบลหนองพอก อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ห่างจากตัวเมือง 11 กิโลเมตร เป็นท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ให้บริการประชาชนในพื้นที่ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ยโสธร และมุกดาหาร

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

กองทัพไทย. ประวัติกองทัพไทยในรอบ 200 ปี พ.ศ. 2325-2525. กรุงเทพฯ: กรมแผนที่ทหาร, 2525.

กองทัพอากาศ. ประวัติกองทัพอากาศไทย พ.ศ. 2456- 2526. กรุงเทพฯ : ข่าวทหารอากาศ, 2528.

เติม วิภาคพจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2542.

วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542

อดีตรำลึก. บุญมี คำบุศย์. กรุงเทพฯ: นำอักษรการพิมพ์. 2441 พิมพ์แจกเนื่องในงานวันเกิดครบ 7 รอบเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541.

เอกสารจดหมายเหตุ :

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา คำแถลงการณ์ของกรมเสนาธิการทหารบก เรื่อง สนามบินสำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดมหาสารคาม. เล่มที่ 39 หน้า 902- 903 วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 .

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา. คำแถลงการณ์ของเสนาธิการทหารบก เรื่อง สเเดงการบินในมณฑลร้อยเอ็จ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 39 หน้า 1158 วันที่ 30 กรกฎาคม 2465)

กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล. สบ. 2.47/69 บันทึกรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลภาคอีสานของจอมพลสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมนครสวรรค์วรพินิต. (2470).

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง รับเงินบำรุงกำลังทางอากาศเนื่องแต่คราวสแดงการบินในมญฑลร้อยเอ็จ วันที่ 15 ตุลาคม 2465 เล่ม 39 หน้า 1962

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหารแห่งจังหวัดร้อยเอ็ด ในท้องที่อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด พุทธศักราช 2483 วันที่ 22 ตุลาคม 2483 เล่ม 57 หน้า 596

สัมภาษณ์ :

พระครูพุทธิสารชยากร วัดชัยจุมพล จ.มหาสารคาม

คุณยายทองเลี่ยม เวียงแก้ว อายุ 97 ปี (ปัจจุบันท่านยังสุขภาพแข็งแรงดี)

รศ.ธีระชัย บุญมาธรรม


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2565