ระฆังฝรั่งสามใบเถา หอระฆังยอดมงกุฎ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสนพระทัยระฆังฝรั่งใบใหญ่ที่แขวนเดิม มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ผู้ทรงสถาปนาวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2565 ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดระบบควบคุมการตีระฆังฝรั่งสามใบเถา หอระฆังยอดมงกุฎ

ในการนี้ พระเดชพระคุณ พระพรหมวัชราจารย์ เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐฯ ได้มอบหมายให้ พระวชิรธรรมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และเลขานุการวัดราชประดิษฐฯ และพระมหาอนุลักษ์ ชุตินนฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และเลขานุการสำนักงานโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐฯ ถวายพระพร อธิบายถึงความเป็นมาของการจัดสร้างระฆังและวิธีการตีระฆังฝรั่งสามใบเถา หอระฆังยอดมงกุฎ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสนพระทัย และมีพระราชปุจฉาเกี่ยวกับระฆังฝรั่งสามใบเถาด้วย

พระวชิรธรรมเมธี และพระมหาอนุลักษ์ ชุตินนฺโท ถวายพระพร อธิบายถึงความเป็นมาของการจัดสร้างระฆังและวิธีการตีระฆังฝรั่งสามใบเถา (ภาพจากเพจ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม)

หอระฆังยอดมงกุฎ เป็นหอระฆังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ผู้ทรงสถาปนาพระอาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันตก และสถาปัตยกรรมไทยประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนยอดเป็นกุฎาคาร “ยอดมงกุฏ” สื่อความหมายถึงพระมหาพิชัยมหามงกุฎ มีความพิเศษต่างจากหอระฆังทั่วไป ที่ไม่มีบันไดขึ้นไปตีระฆัง ใช้การดึงเชือกตีระฆังด้านในจากเชือกที่โยงมาด้านล่างอาคารแทน

ระฆังใบใหญ่ที่แขวนเดิม ตอนกลางของระฆัง มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ผู้ทรงสถาปนาพระอาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นภาษาอังกฤษ ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ ว่า S P B P M M ได้แก่ Somdet Phra Baramendr Phra Maha Mongkut และระบุตัวเลขใต้พระปรมาภิไธยย่อ คริสตศักราช 1861 ตรงกับ พุทธศักราช 2404 หรือ 3 ปีก่อนการสถาปนาพระอาราม บริเวณปากระฆังมีข้อความว่า FOUNDERS LONDON ระบุถึงการผลิตที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

จารึกพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ว่า S P B P M M ใต้พระปรมาภิไธยย่อบนระฆังระบุตัวเลข ค.ศ. 1861 (พ.ศ. 2404 คือ ปีที่หล่อระฆัง) ล้อมรอบด้วยดาวหกแฉกหลายดวง

เนื่องในโอกาสสถาปนาพระอาราม ครบ 150 ปี ในปีพุทธศักราช 2557 คณะผู้แทนเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ร่วมกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานระฆัง Whitechapel Bell Foundry ถนนไวท์ชาเพล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ที่เคยทำการหล่อระฆังในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสั่งทำระฆังในพระปรมาภิไธยอีกครั้ง จำนวน 3 ใบ ใหญ่, กลาง, เล็ก โดยยึดตามแบบธรรมเนียมเดิมที่เคยมี ทดแทนลูกเดิมที่ชำรุดจากแรงเหวี่ยงของการใช้งาน พร้อมนำเทคโนโลยีการตีระฆังแบบอัตโนมัติของสหราชอาณาจักรมาใช้

ระบบการตีระฆังอัตโนมัติ ที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าเป็นตัวตีแทนกำลังคน ทำให้น้ำหนักการตีเป็นระดับเดียวกัน ซึ่งแพร่หลายในยุโรป ส่งผลให้ระฆังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น เพราะเดิมการใช้แรงคนในการตี มีผลกระทบคือแรงในตีไม่สม่ำเสมอ แรงบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่กำลังของคนที่ตี ส่งผลให้ระฆังแตกร้าวง่ายและมีอายุการใช้งานที่สั้นลง

แต่ระบบตีระฆังด้วยระบบอัตโนมัติ อย่างยุโรปนั้น พบปัญหาเรื่องจังหวะการตีระฆัง ที่ไม่ได้เป็นทำนองอย่างไทยประเพณี ทางวัด จึงได้ทำความร่วมมือกับภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการประดิษฐ์ “ระบบควบคุมการตีระฆังอัตโนมัติ” ของระฆังฝรั่งสามใบเถาหอระฆังยอดมงกุฏ ที่อนุรักษ์การตีระฆังอย่างไทยประเพณี ให้ตรงตามที่ปรากฏในจารึกหินอ่อน ของวัดนิเวศธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา อันเป็นวัดสาขาที่นำแบบของพระอารามไปใช้ เมื่อคราวส่ง พระอมราภิรักขิต (อ่อน อมโร) ไปครองเป็นปฐมเจ้าอาวาส

หอระฆังยอดมงกุฎ เป็นหอระฆังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ผู้ทรงสถาปนาพระอาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น (ภาพจากเพจ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม)

ทั้งนี้ได้ดำเนินการทดลองระบบจนมีความเสถียรมั่นคง ไม่มีความคลาดเคลื่อน พร้อมเป็นต้นแบบที่จะเอื้อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาต่อไป นับว่าเป็นการอนุรักษ์การตีระฆังอย่างไทยโบราณให้คงอยู่ พร้อมกับการพัฒนาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปด้วยในอันจะเป็นประโยชน์ต่อวัดไทยในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

ติดตามข้อมูลอื่นๆ ได้ที่เพจ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2565