ปฏิรูปการปกครองไทย ปี พ.ศ. 2437 : จุดสิ้นสุดของระบบจตุสดมภ์

การศึกษาเรื่องการเมืองการปกครองไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการปกครองปี พ.ศ. 2435 เป็นอย่างมาก จนบางท่านกล่าวว่าการปฏิรูปการปกครองในปี พ.ศ. 2435 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการปฏิวัติที่แท้จริงเพียงครั้งเดียวในเมืองไทย เพราะเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหาของการปกครอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมไทยโดยรวม [1]

ผู้เขียนได้รับอิทธิพลจากความคิดนี้เช่นเดียวกัน จนกระทั่งผู้เขียนได้มีโอกาสไปค้นคว้าเอกสารชั้นต้นที่กองจดหมายเหตุ กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส จึงมีความคิดว่าการปฏิรูปการปกครองในปี พ.ศ. 2435 ไม่ได้เป็นการปฏิวัติทางการปกครองอย่างแท้จริง เพราะระบบจตุสดมภ์ซึ่งเป็น “หัวใจ” ของการปกครองแบบเดิมของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ยังคงปรากฏอยู่อย่างชัดเจนหลังการปฏิรูปในปีดังกล่าว

แต่การปฏิรูปที่นำไปสู่การล่มสลายของระบบจตุสดมภ์มากที่สุดน่าจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2437 เมื่อโครงสร้างสำคัญของการใช้อำนาจแบบเดิมถูกยกเลิก

การปฏิรูปการปกครอง ปี พ.ศ. 2435

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระราชาธิบายในเรื่องการแก้ไขการปกครองแผ่นดิน ปี พ.ศ. 2435 ความตอนหนึ่งว่า

“แต่ส่วนตัวข้าพเจ้าเองก็รู้สึกว่าได้รับความหนักมาจำเดิมตั้งแต่ได้นั่งในเศวตฉัตรจนถึงบัดนี้ แต่ความหนักนั้นเปลี่ยนไปต่างๆ ไม่เหมือนกันในสามสมัย คือ แรกๆ และกลางๆ และบัดนี้ เพราะได้รับตำแหน่งสำคัญเช่นนี้มาช้านาน ได้รับรู้ทางราชการทั่วถึงทดลองมาแล้ว จึงเห็นว่าการปกครองในบ้านเมืองเราซึ่งเป็นไปในปัจจุบันนี้บ้านเมืองยิ่งเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า การปกครองอย่างเก่านั้น ก็ยิ่งไม่สมกับความต้องการของบ้านเมืองหนักขึ้นทุกที จึงได้มีความประสงค์อันยิ่งใหญ่ ที่จะแก้ไขธรรมเนียมการปกครองให้สมกับเวลา ให้เป็นทางที่จะเจริญแก่บ้านเมือง

การปกครองบ้านเมืองของเราซึ่งได้จัดมาแต่ก่อนนั้น ได้แบ่งเสนาบดีเป็น 6 ตำแหน่ง ยกเป็นอัครมหาเสนา 2 คือ สมุหนายก ได้บังคับกรมฝ่ายพลเรือนทั่วไป สมุหพระกลาโหม ได้บังคับการฝ่ายทหารทั่วไป

เมื่อพิเคราะห์ดูตามตำแหน่งที่ตั้งขึ้นแต่เดิมก็ดูเหมือนจะให้บังคับการได้สิทธิ์ขาดตลอดในการพลเรือนฝ่ายหนึ่ง การทหารฝ่ายหนึ่ง แต่เมื่อตรวจดูตามพระราชพงศาวดารก็เห็นได้ว่าอัครมหาเสนาบดีทั้ง 2 คนนี้หาได้บังคับการทั่วไปในฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารสิทธิ์ขาดดังที่ตั้งขึ้น…

นอกจากที่เป็นสมุหบัญชีที่เป็นการสำคัญ ก็บังคับการหัวเมืองอย่างหนึ่ง บังคับศาลชำระความซึ่งขึ้นอยู่ในกรมนั้นอย่างหนึ่ง ตำแหน่งซึ่งได้บังคับการหัวเมืองนี้ คงจะแบ่งบังคับอยู่ใน 2 กรมนี้แต่เดิมมา ท่านอัครมหาเสนา 2 คนนี้ เป็นผู้ถือตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ ซึ่งนับว่าเป็นตราหลวง เฉพาะแต่ดำเนินพระบรมราชโองการอย่างเดียวจึงจะมีไปได้

แต่เมื่อมีเหตุเปลี่ยนแปลงไป คือเมื่อสมุหพระกลาโหมมีความผิดก็ยกหัวเมืองกลาโหมไปขึ้นกรมท่า ใช้ตราบัวแก้วเป็นตราดำเนินพระบรมราชโองการอีกดวงหนึ่ง กลาโหมไม่มีหัวเมืองขึ้น ตลอดมาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้ยกหัวเมืองกรมท่ากลับมากลาโหม แบ่งเมืองมหาดไทย (สมุหนายกเดิม) มาบ้าง คงไว้ให้กรมท่าบ้าง จึงได้เกิดเป็นกรมที่บังคับหัวเมืองขึ้นเป็น 3 ทั้งกรมท่า

การซึ่งแบ่งฝ่ายพลเรือนฝ่ายทหาร ซึ่งดูเหมือนกันทั้งสองฝ่ายนี้คงจะเป็นด้วยหัวเมืองขึ้นสองฝ่ายนี้เป็นต้นเหตุ เมื่อมีราชการเกิดขึ้นในหัวเมืองขึ้นกรมมหาดไทย ก็เป็นหน้าที่ของกรมมหาดไทยไป เกิดขึ้นในกลาโหมก็เป็นหน้าที่ของกลาโหมไป ด้วยอาศัยเหตุว่าผู้ซึ่งได้เคยบังคับบัญชาการในหัวเมืองเหล่านั้นมารับรู้เบาะแสในการจะเกณฑ์ผู้คน พาหนะ เสบียงอาหาร ดีกว่าผู้ซึ่งไม่เคยบังคับกัน…” [2]

ส่วนเสนาบดีอีก 4 ตำแหน่ง ซึ่งเรียกว่าจตุสดมภ์นั้น มีพระคลังกรมท่า กรมเมืองหรือกรมพระนครบาล กรมวังและกรมนา

ในบรรดา 4 กรมนี้ พระคลังกรมท่ามีหน้าที่มากที่สุด ในสมัยหลังๆ “เจ้าพระยาพระคลังกลายเป็นผู้ว่าราชการต่างประเทศมากขึ้น…ไม่อาจจะทำการทั้งปวงให้ตลอดไป ได้ทิ้งรกรุงรังอยู่ให้เป็นที่เสื่อมเสียไปในทางราชการ…” [3]

นอกจากนี้ยังมีกรมใหญ่ๆ เป็นพลเรือนบ้างเป็นทหารบ้าง ยังไม่มีการแบ่งหน้าที่การบังคับบัญชาให้ชัดเจนถูกต้องเหมาะสม ตามลักษณะงานอีกจำนวนหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ราชการ อำนาจ หน้าที่ และผลประโยชน์ของกรมต่างๆ มีความแตกต่างกันมาก และมีกรมใหม่ๆ ขนาดใหญ่ที่ควรจะยกระดับเป็นกรมมีเสนาบดีอีกจำนวนหนึ่ง จึงทรงให้จัดโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินเสียใหม่เป็น 12 กรมคือ [4]

กรมมหาดไทย สำหรับบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเมืองลาวประเทศราช

กรมกลาโหม สำหรับบังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตก ตะวันออก และเมืองมลายูประเทศราช

กรมท่า เป็นกรมว่าการการต่างประเทศอย่างเดียวไม่ต้องว่าหัวเมือง

กรมวัง ว่าการในพระราชวัง และกรมซึ่งใกล้เคียงรับราชการในพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน

กรมเมือง ว่าการโปลิศและการบัญชีคน คือกรมสุรัสวดี และรักษาคนโทษ

กรมนา ว่าการเพาะปลูกและการค้าขาย ป่าไม้ บ่อแร่

กรมทั้งหกนี้ตั้งตำแหน่งเดิม เป็นแต่เปลี่ยนหน้าที่บ้าง ต้องตั้งเสนาบดีขึ้นใหม่อีกหกกรม คือ

กรมพระคลัง ว่าการบรรดาภาษีอากรและเงินที่จะรับจะจ่ายในแผ่นดินทั้งสิ้น

กรมยุติธรรม ได้บังคับศาลที่จะชำระความรวมกันทั้งแพ่ง อาญา นครบาล อุทธรณ์ ทั้งแผ่นดิน

กรมยุทธนาธิการ เป็นพนักงานที่จะได้ตรวจตราจัดการในกรมทหารบกทหารเรือ ซึ่งจะมีผู้บังคับบัญชาการทหารบกทหารเรือต่างหากอีกตำแหน่งหนึ่ง

กรมธรรมการ เป็นพนักงานที่จะบังคับบัญชาการเกี่ยวกับสงฆ์ ตำแหน่งที่พระยาพระเสด็จ และเป็นผู้บังคับการโรงเรียน และโรงพยาบาลทั่วทั้งพระราชอาณาเขต

กรมโยธาธิการ เป็นพนักงานที่จะตรวจการก่อสร้างทำถนน ขุดคลอง และการช่างทั่วไป ทั้งการไปรษณีย์และโทรเลข หรือรถไฟซึ่งจะมีสืบไปภายภาคหน้า

กรมมุรธาธิการ เป็นพนักงานที่รักษาพระราชลัญจกร รักษาพระราชกำหนดกฎหมาย และหนังสือราชการทั้งปวง

สิ่งใหม่ที่เกิดจากการปฏิรูปฯ ปี พ.ศ. 2435

ประการแรก คือ การประกาศจัดตั้งกรมใหม่ 6 กรม อย่างเป็นทางการ (กรมในที่นี้มีฐานะเทียบเท่ากระทรวงในปัจจุบัน)

ประการที่ 2 การระบุหน้าที่ของแต่ละกรมอย่างชัดเจน

ประการที่ 3 กรมท่า เป็นกรมว่าการต่างประเทศอย่างเดียวไม่ต้องว่าราชการหัวเมือง

ประการที่ 4 กรมกลาโหมเพิ่มการบังคับบัญชาการหัว เมืองที่เคยขึ้นกับกรมท่า

ประการที่ 5 กรมยุทธนาธิการบังคับบัญชาการทหารทั้งหมดแทนกรมกลาโหม

หากพิจารณาเพียงผิวเผินอาจสรุป ว่าระบบจตุสดมภ์ได้ถูกประกาศยุบเลิกโดยการปฏิรูปการปกครอง ปี พ.ศ. 2435 เพราะกรมถูกตั้งขึ้นใหม่อีก 6 กรม อีกทั้งมีการกำหนดหน้าที่ของกรมต่างๆ อย่างชัดเจน

แต่ความต่อเนื่องของจตุสดมภ์ยังคงมีอยู่อย่างชัดเจนในเรื่อง การแบ่งอำนาจการปกครอง ซึ่งการปฏิรูปการปกครองปี พ.ศ. 2435 ได้ให้กรมมหาดไทยและกรมกลาโหมปกครองภูมิภาคและประเทศราชต่อไป ในเอกสารต่างประเทศจะเรียก สมุหกลาโหม และสมุหนายก (เสนาบดีกรมมหาดไทย) ว่า VICEROY หรือ อุปราชต่อไป การปฏิรูปนี้ถือเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นเอง (Development) มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง (Ministerial Structure) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่โครงสร้างพื้นฐานทางการปกครองไทยว่า ด้วยเรื่องการแบ่งอำนาจการปกครองออกเป็นสองส่วน คือ สมุหกลาโหม และสมุหนายก ยังคงดำรงอยู่

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า โครงสร้างของการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ผ่านสมุหกลาโหมและสมุหนายกในระบบจตุสดมภ์ เป็นโครงสร้างทางวัฒนธรรม (Cultural Structure) หรือ “หัวใจ” ของการปกครองไทยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย เนื่องจากมีโครงสร้างของบุคคลสัมพันธ์และผลประโยชน์ที่สลับซับซ้อนแฝงอยู่

การปฏิรูปการปกครองปี พ.ศ. 2435 แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจทรงต้องการแบ่งการปกครองประเทศออกเป็นสองภูมิภาค โดยให้เสนาบดีกรมมหาดไทยและกรมกลาโหมปกครอง และทรงต้องการแยกกิจการทหารออกจากกิจการพลเรือน โดยให้กรมยุทธนาธิการบังคับบัญชาการทหารทั้งหมดแทนกรมกลาโหม

หรือการปฏิรูปการปกครองปี พ.ศ. 2435 อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจทรงเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จได้ในคราวเดียวโดยปราศจากความบาดหมางและความขัดแย้ง

สถานการณ์หลังการปฏิรูปฯ ปี พ.ศ. 2435

แม้การปฏิรูปการปกครองแผ่นดินปี พ.ศ. 2435 จะลดอำนาจของกรมท่าหรือกระทรวงการต่างประเทศ แต่ในทางปฏิบัติแล้วอำนาจของเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้ลดลงเลย ดังจะเห็นได้จากบันทึกของ M. Pilinski อุปทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ความตอนหนึ่งว่า

บรรดาเสนาบดีสยาม กรมหลวงเทววงศ์วโรปการ พระอนุชาต่างมารดา ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอนุชาของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นเสนาบดีพระองค์เดียวที่ทรงปฏิบัติพระภารกิจเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศได้อย่างเต็มอำนาจหน้าที่ และทรงมีอิทธิพลเหนือหน่วยราชการอื่นอีกด้วย พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น แม้จะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี แต่การปฏิบัติราชการต่างๆ ยังต้องขึ้นกับรัฐบาลต่างจังหวัด (Gouvernement de Provinces) หรือกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และต่างประเทศ ซึ่งคอยควบคุมกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง ด้วยเหตุนี้กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงรับผิดชอบเฉพาะจังหวัดทางภาคใต้และภาคตะวันตก แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ทรงสามารถก้าวก่ายงานของจังหวัดทางภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของกรมหลวงเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ แต่เพียงผู้เดียว” [5]

จากบันทึกของ M. Pilinski จะเห็นว่า อำนาจของเสนาบดีกรมท่า กรมกลาโหมและกรมมหาดไทยไม่เปลี่ยนแปลง เสนาบดีเหล่านี้ยังคงปกครองภูมิภาคต่างๆ ในความดูแลของตน เช่นเดียวกับในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ทำไมกรมหลวงเทววงศ์วโรปการจึงยังคงสามารถรักษาพระอำนาจของพระองค์ไว้ได้ ทั้งๆ ที่พระอำนาจดังกล่าวขัดแย้งกับพระราชบัญญัติการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินปี พ.ศ. 2435

การปฏิรูปการปกครอง ปี พ.ศ. 2437

การปฏิรูปการปกครองแผ่นดินปี พ.ศ. 2435 เกิดจากความคิดของกลุ่มผู้นำประเทศชาวไทยเอง ส่วนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองครั้งสำคัญในปี พ.ศ. 2437 ได้รับแรงผลักดันจาก M. Rolin Jacquemyns ที่ปรึกษาทั่วไปชาวเบลเยี่ยมอย่างมาก

M. Pilinski บันทึกไว้ว่า “หลังวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 พระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อให้เกิดความวิตกแก่ชาวสยามทั่วหน้าในปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเก็บพระองค์ ไม่ปรากฏพระองค์ในงานพระราชพิธีต่างๆ ทั้งนี้อาจจะต้องการพักผ่อนพระวรกาย แต่พระองค์กลับทรงทุ่มเทเวลาให้กับการพิจารณาข้อเสนอของ M. Rolin Jacquemyns ที่ขอให้มีการปฏิรูปราชการแผ่นดิน” [6]

จนในที่สุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้จัดการปฏิรูปการปกครองประเทศอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2437 ความบางตอนว่า

“ด้วยทรงปรารภถึงพแนกราชการที่แบ่งเป็นกระทรวง ทบวง กรม อยู่ต่างๆ ทุกวันนี้ยังเป็นการก้าวก่ายปะปนกันอยู่ ตามการที่ได้จัดมาเป็นครั้งเป็นคราว โดยสมควรแก่กาลสมัยที่ล่วงมา ดังมีแจ้งอยู่ในประกาศลงวันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทร์ศก 111 นั้นแล้ว บัดนี้ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า การที่เป็นมาแล้วนั้นกระทำให้เห็นว่า สมควรจะต้องแก้ไขการในกระทรวงต่างๆ ให้เป็นพแนกต่างกันตามพนักงานน่าที่ของกระทรวงนั้นๆ เพื่อจะได้ทำการให้สำเร็จไปโดยสดวกโดยเร็ว ไม่ให้ยุ่งยากลำบากที่จะรักษาราชการตามน่าที่ต่างๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยมั่นคงทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินี้ไว้ว่า

ข้อ 1. บรรดาหัวเมืองชั้นในชั้นนอก แลเมืองประเทศราชที่แบ่งเป็นปักษ์ใต้อยู่ในกระทรวงกระลาโหมก็ดี แลที่อยู่ในกระทรวงต่างประเทศก็ดี ตั้งแต่นี้สืบไปให้อยู่ในบังคับบัญชาตราพระราชสีห์กระทรวงมหาดไทย

ข้อ 2. เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีน่าที่รักษาการภายในพระราชอาณาเขตรตลอดทั่วไป เว้นไว้แต่ในกรุงเทพมหานคร กับเมืองที่ติดต่อใกล้เคียงควรเป็นเขตรแขวงกรุงเทพฯ ดังจะกำหนดไว้ในประกาศฉบับหนึ่งอีกต่างหากในภายน่านั้น คงให้อยู่ในน่าที่กระทรวงนครบาลรักษาการตามเดิม ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับใบบอกจากหัวเมืองทั้งปวงนั้น แลมีท้องตราพระราชสีห์ตามพระกระแสพระบรมราชโองการ ฤาพระบรมราโชวาท เพื่อที่จะได้บำรุงความเรียบร้อย แลให้ความเจริญในเมืองนั้นๆ

ข้อ 3. ให้เสนาบดีกระทรวงกระลาโหมมีน่าที่กำกับรักษาการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับทหารบก ทหารเรือ แลเครื่องสรรพวุธ ยุทธภัณฑ์ แลป้อมค่ายคู อู่เรือรบ แลพาหนะสำหรับทหาร แลให้เป็นผู้รับใบบอก รายงานการทหารแลมีตราพระคชสีห์ตามพระบรมราชโองการ ฤาพระบรมราโชวาทในการทหารทั่วหัวเมืองประเทศราช แลปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งพระราชอาณาเขตรเพื่อจะรักษาการบ้านเมืองให้อยู่เป็นสุขเกษมปราศจากสรรพภยันตราย

ข้อ 4. กรมยุทธนาธิการนี้ ให้ขึ้นกระทรวงกระลาโหม เหมือนอย่างกรมทหารเรือ กรมช้าง กรมแสง ดังที่ว่าไว้ในประกาศลงวันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทร์ศก 111 นั้น แต่ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการให้คงมียศเสมอเสนาบดี แลให้เข้าในที่ประชุมเสนาบดี แลเป็นผู้กราบบังคมทูลพระกรุณา แลรับพระบรมราชโองการในเรื่องแบบธรรมเนียมข้อบังคับสำหรับความประพฤติอันเรียบร้อยในกองทหารทั้งปวง

ข้อ 5. พระราชบัญญัติแลประกาศแต่ก่อน อันเป็นที่ขัดขวางกับความในพระราชบัญญัติให้ยกเลิกเสีย ให้คงไว้แต่ความที่ถูกต้องสมกันกับพระราชบัญญัตินี้เทอญ” [7]

การปฏิรูปราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2437 ได้ลิดรอนพระราชอำนาจของกรมหลวงเทววงศ์วโรปการอย่างมาก ในฐานะเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศที่ปกครองจังหวัดทางตะวันออก ส่วนเจ้าพระยาพลเทพ สมุหกลาโหมซึ่งชราภาพมากแล้วได้พ้นจากราชการ แล้วให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงพระคลังทรง ดำรงตำแหน่งแทนในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2437 นั้นเอง [8]

จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้แบ่งอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศให้ชัดเจนตามแบบอย่างของประเทศตะวันตก นับเป็นการปฏิวัติอำนาจในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง

ศูนย์กลางอำนาจเปลี่ยนจากเสนาบดีที่ปกครองภูมิภาคมารวมไว้ที่ส่วนกลาง คือที่พระมหากษัตริย์ มีการแยกข้าราชการทหารออกจากข้าราชการพลเรือนโดยเด็ดขาด โดยมีกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลตามลำดับ และมีการแบ่งงานและหน้าที่ของกรมต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีเสนาบดีเจ้ากระทรวงเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

แต่หลายท่านอาจเห็นว่า กรมเมืองยังคงกำกับดูแลกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ในปี พ.ศ. 2437 จึงควรนับเป็นความต่อเนื่อง และความทันสมัยของระบบจตุสดมภ์ในแง่การแบ่งอำนาจบริหารราชการแผ่นดินและการปกครองส่วนท้องถิ่น แม้อำนาจการปกครองดังกล่าวไม่เด็ดขาด ไม่สมบูรณ์ และไม่มากเท่าอำนาจของสมุหกลาโหมและสมุหนายก นอกจากนี้การแบ่งอำนาจหน้าที่ของฝ่ายทหารออกจากฝ่ายพลเรือนเป็นพระราชดำริดั้งเดิมของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอยู่แล้ว

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การปฏิรูปปี พ.ศ. 2435 และปี พ.ศ. 2437 เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองแบบดั้งเดิมของไทยที่เสื่อมไปเนื่องจากเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมตามกาลเวลา มากกว่าเป็นการปฏิวัติทางการเมืองอย่างที่ศึกษากันในปัจจุบัน

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อกองทัพ ในการกำกับดูแลกำลังพลอย่างใกล้ชิดด้วยพระองค์เอง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้ากรมยุทธนาธิการ ซึ่งเทียบได้กับผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังคงมียศเสมอเสนาบดี และให้เข้าในที่ประชุมเสนาบดี

ด้วยทรงเห็นความสำคัญของบทบาทกองทัพบกในการรักษาความมั่นคงและการพัฒนาประเทศ ซึ่งบทบาททั้งสองนี้ เป็นตัวกำหนดพัฒนาการของกองทัพบกไทยตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, เอกสารการเมืองการปกครองไทย (พ.ศ. 2417-2477), (กรุงเทพฯ : สถาบันสยามศึกษา, 2532), หน้า 68

เรื่องเดียวกัน, หน้า 72-73

เรื่องเดียวกัน, หน้า 74-75

เรื่องเดียวกัน, หน้า 96-97

จดหมาย เลขที่ 28 ลง 31 มี.ค. 2438 M. Pilinski ถึง รมต. กต.ฝศ. หอจดหมายเหตุ กต.ฝศ. ชุด CP แฟ้ม Siam เล่ม 20 หน้า 164

จดหมาย เลขที่ 1, ลง 05 ม.ค. 2438 M. Pilinski ถึง รมต. ฝศ. หอจดหมายเหตุ กต.ฝศ. ชุด CP แฟ้ม Siam เล่ม 20 หน้า 14

กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์, ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 14 กฎหมาย ร.ศ. 112-113, หน้า 204-206

เรื่องเดียวกัน, หน้า 202-20


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2565