ถ้วยเงิน-โทรฟี รางวัลกีฬา “กอล์ฟ” เครื่องหมายแห่งชัยชนะสุดหรูหรา

การมองถ้วยรางวัลกอล์ฟที่ Builth Wells Golf Club ภาพถ่ายราว ค.ศ. 1935

ถ้วยรางวัลกีฬากอล์ฟ ค่อนข้างหรูหราและหลากหลายกว่ากีฬาอื่น ๆ คือเป็นถ้วยเงินโบราณ หรือโทรฟี (trophy) เป็นเหยือก (jug) เป็นเหรียญ (medal) เป็นเสื้อสามารถแจ็คเก็ตสีเขียว และรูปสัญลักษณ์อื่น ๆ ที่แปลกตา และขอให้เชื่อเถอะครับ ว่ารางวัลกีฬากอล์ฟยุคหนึ่งเป็นเข็มขัดแชมเปี้ยน คงจะเป็นแบบเข็มขัดนักมวยนั่นแหละครับ โก้มาก ขอนำมาเล่าไว้สั้น ๆ ดังนี้

รางวัลที่เป็นถ้วยเงินโบราณ (แบบกรีก-โรมัน) ที่เก่าแก่ที่สุดในวงการกอล์ฟ เป็นของบริษัทนักกอล์ฟหนุ่มเมืองเอดินบะระ ถือกันว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกด้วยซ้ำไป โดยมอบให้ผู้ชนะในการแข่งขันเมื่อปี ค.ศ. 1744 ที่จัดขึ้นโดยบริษัทเอง ที่สนามกอล์ฟเมืองลีธ์ (Leith) สก๊อตแลนด์

ในปี ค.ศ. 1870 ทอม มอร์ริสยังทอม หรือทอมหนุ่ม (บิดาคือทอม อาวุโส-โอลด์ทอม) ชนะการแข่งขัน บริติช โอเพ่น เป็นครั้งที่ 3 นั้น เขาได้รับรางวัลเป็นเข็มขัดแชมเปี้ยน ต่างจากสองครั้งแรกเป็นถ้วยเงิน ทอมหนุ่มอยากได้เข็มขัดนี้เป็นการถาวร เขาจำเป็นต้องจ่ายเงินซื้อถึง 25 ปอนด์

นับแต่ยังทอมได้เข็มขัดแห่งชัยชนะนั้นแล้ว ก็ไม่มีรางวัลใด ๆ อย่างเป็นทางการให้ผู้ชนะในห้วงปี ค.ศ. 1870-71 จนปี ค.ศ. 1872 ยังทอมเป็นผู้ชนะในการแข่งขันบริติช โอเพ่นอีกครั้งเป็นครั้งที่ 4 เขาได้รับรางวัลเป็นเหรียญทอง สลักอักษรว่า “รางวัลแชมเปี้ยนกอล์ฟ” อีกปีหนึ่งถัดมา รางวัลผู้ชนะเปลี่ยนเป็นเหยือกเงิน (ภาชนะทรงสูง ปากแคบ และมีหูนิ้ว) มีชื่อทอมหนุ่มสลักไว้ในฐานะแชมป์เก่า

จากยุคยังทอม นานมากจนถึงปี ค.ศ. 1920 รางวัลผู้ชนะกอล์ฟเปลี่ยนจากเหยือกมาเป็นถ้วย คือถ้วยวอล์เกอร์ หรือวอล์เกอร์ คัพ เป็นถ้วยรางวัลใบแรก เป็นของจอร์จ เฮอร์เบิร์ต วอล์เกอร์ ประธานสมาคมกอล์ฟอเมริกัน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อย่อว่า ยูเอสจีเอ มอบให้ผู้ชนะกอล์ฟสมัครเล่น ระหว่างทีมจากอเมริกาแข่งกับอังกฤษ

ถ้วยรางวัลกอล์ฟสตรีที่เรียกว่า แอลพีจีเอนั้นเรียกว่าแวร์ โทรฟี เป็นถ้วยเงินเพื่อเป็นที่ระลึกถึงเกลนนา คอลเลท แวรี ผู้ชนะติดต่อกันในห้วงปี ค.ศ. 1922-35 ถึง 6 ครั้ง

ปี ค.ศ. 1927 พ่อค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่งชื่อแคม ไรเดอร์ ได้อุทิศถ้วยเงินใบงาม (ทรงโบราณ กรีก-โรมัน) ให้สมาคมกอล์ฟอังกฤษ ถ้วยเงินใบนี้มอบให้แก่ทีมผู้ชนะอังกฤษ-อเมริกา ซึ่งเป็นทีมเหย้าเยือน ตามประเพณีเป็นทีมชายล้วน ในปัจจุบันเป็นทีมยุโรป-อเมริกา ถ้วยใบนี้คือไรเดอร์ คัพ

ถ้วยไรเดอร์ คัพ (Ryder Cup) ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) ที่สนามบราบาซอน (Brabazon Course) ประเทศอังกฤษ (JEFF HAYNES / AFP)

ในปี ค.ศ. 1932 มีการแข่งขันทีมสมัครเล่นหญิงอังกฤษ-อเมริกา รางวัลผู้ชนะคือถ้วยเคอร์ติส หรือเคอร์ติส คัพ ถ้วยรางวัลใบนี้ผู้บริจาคคือพี่สาวน้องสาวคู่หนึ่ง ชื่อมาร์กาเร็ตและแฮเรียต เคอร์ติส อดีตแชมป์กอล์ฟสมัครเล่นชาวอเมริกัน

ขอย้อนกลับไปปี ค.ศ. 1902 มีถ้วยเงินชื่อยาว ๆ ใบหนึ่งคือลอรี่ ออคเตอร์ โลนี่ เป็นที่พิสมัยแก่นักกอล์ฟในรายการเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพทุกคน เป็นถ้วยรางวัลรูปทรงเหยือก สำหรับใส่ไวน์แดงเป็นการเฉพาะ ต่อมา เหยือกใบนี้หายไปอย่างไร้ร่องรอย!

เรื่องถ้วยรางวัลหาย คล้ายมีบ่อย ๆ (ถ้วยทองฟุตบอลโลกจูลิเมต์ก็เคยหาย) แต่ถ้าหายในระหว่างแข่งขัน และผู้ชนะกำลังจะรับถ้วยอยู่แล้วนั้น เป็นเรื่องสาหัสมาก เบน ฮาเก้น แชมป์พีจีเอ ปี ค.ศ. 1927 ชนะแล้วไม่ได้รับถ้วย ชื่อวานา เมเกอร์ โทรฟี ที่หายไปอย่างลึกลับ ไปพบอีกทีใน 3 ปีต่อมา ซ่อนอยู่ในโกดังสินค้าที่เมืองดีทรอยท์!

ปี ค.ศ. 1900 มีถ้วยรางวัลอีกใบชื่อวาร์ดอน โทรฟี สำหรับผู้ชนะบริติช โอเพ่น และยูเอส โอเพ่น ได้รับบริจาคมาจากแฮรี วาร์ดอน อดีตแชมป์ ยูเอส โอเพ่น ปี ค.ศ. 1900 ถ้วยชื่อนี้ยังมีให้นักกอล์ฟทำเงินสูงสุดแต่ละปีด้วย วาร์ดอนเป็นที่รู้จักอีกมุมหนึ่งคือเขาเป็นคนแรกที่จับไม้กอล์ฟแบบโอเวอร์แล็ป

สำหรับถ้วยเงินรางวัลใบแรกของยูเอส โอเพ่น คือยูเอส โอเพ่น โทรฟี เป็นสิทธิ์ของนักกอล์ฟมือเก๋า ชื่อ ลอยด์ แมนกรัม ผู้ชนะแมทช์ใหญ่ถึง 3 แมทช์ภายใน 3 เดือน เมื่อปี ค.ศ. 1946 ส่วนถ้วยเงินสำหรับแชมป์ บริติช โอเพ่น ซึ่งแข่งขันที่สนามรอยัล ลิเวอร์พูล อังกฤษ ที่ฐานถ้วยมีรอยบุบที่เห็นได้อยู่มุมหนึ่ง เหตุเพราะทอม วัตสัน แชมป์ปีนั้น (1983) ทำหลุดมือตกกับพื้นในพิธีมอบรางวัลนั่นเอง

ถ้วยเงินหรือโทรฟี คือเครื่องหมายแห่งชัยชนะ แบบไทยเราก็มีเหมือนกันชนิดต้นแบบคือขันน้ำพานรอง เป็นขันเงินอเนกประสงค์ ใช้ตักน้ำ ตักข้าว (ใส่บาตร) หรือตั้งโชว์ มอบแก่ผู้ชนะทุกสาขา นักวิ่ง นักกีฬา นักร้อง นักมวย และนางงาม

พิศมัย โชติวุฒิ นางสาวสยาม พ.ศ. 2481 ถือถ้วยรางวัลที่เป็นขันน้ำพานรอง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2549)

เราเพิ่งมาเปลี่ยนตามฝรั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง ทำให้รางวัลผู้ชนะขันน้ำพานรองหายไปน่าเสียดายอยู่ครับ

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ว่าด้วยเรื่องถ้วยรางวัลกีฬากอล์ฟ” เขียนโดย ส.สีมา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มิถุนายน 2565