รัฐรับมือไข้หวัดสเปนระบาดหนักในเมืองไทย เมื่อปี 2461 อย่างไร

การปรุงยาในโรงพยาบาล สมัยรัชกาลที่ 6 (ครองราชย์ 2453-2468) ภาพประกอบจาก สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ไข้หวัดใหญ่สเปน หรือ ไข้อินฟลูเอนซา ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีนาคม 2460 กลายพันธุ์จนเป็นโรคระบาดร้ายแรงแพร่กระจายไปยังทวีปยุโรปและเอเชียในเดือนเมษายน 2461 การระบาดของโรครุนแรงขึ้นสูงสุดในช่วงกันยายน-พฤศจิกายน 2461 จึงค่อยๆ ผ่อนคลายลงตามลำดับ ประมาณการว่ามีผู้ติดเชื้อทั่วโลกราว 500 ล้านคน และผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 ล้านคนภายในช่วงเวลาเพียงสองปี

ส่วนสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยเป็นอย่างไร รัฐบาลมีมาตรการรับมือการระบาดอย่างไร ผศ. ดร. พีรศรี โพวาทอง อธิบายไว้ในบทความเรื่อง “เมืองกรุงเทพฯ กับไข้อินฟลูเอนซา พ.ศ. 2461” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2564) พอสรุปได้ดังนี้

สำหรับการระบาดในประเทศสยามเมื่อปี 2461 นั้น ศ. นพ.สำราญ วังศพ่าห์ อธิบายว่า สาเหตุของการระบาดในสยามมาจากทหารไทยที่กลับจากการพระราชสงครามในทวีปยุโรป โดยมีผู้ป่วยเป็นไข้อินฟลูเอนซา 2,317,663 คน (ร้อยละ 27.32) เสียชีวิต 80,263 คน (ร้อยละ 0.946) ของประชากรสยาม 8,478,566 คน โดยในช่วงสูงสุดมีผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ ถึงวันละ 72 คน [1]

ตุลาคม 2461 คอลัมน์ ข่าวเบ็ดเตล็ด ในหนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ ฉบับวันที่ 16 ตุลาคม 2461 รายงานว่าในขณะนั้นมีผู้ที่ติดเชื้อแล้วเฉพาะในเมืองกรุงเทพฯ ราว 200,000 คน ทำให้บริษัท ห้างร้าน โรงงาน ตลอดจนโรงเรียน ต้องปิดตัวลงเป็นการชั่วคราว

11 ตุลาคม 2461 กรมประชาภิบาล กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศ “คำแนะนำวิธีป้องกันโรคหวัด ไข้หวัด แลไข้ปอดบวม เปนโรคที่เกิดโดยพันธุ์ไม้อย่างละเอียด เรียกว่าเชื้อโรค จากปากหรือจมูกคนที่เปนโรค” ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ อธิบายสมุฏฐานของโรคตามทฤษฎีเชื้อโรค (Germ Theory) ว่า “เชื้อโรคนี้เข้าไปในร่างกายเราได้โดยสูดฝอยหรือลอองซึ่งผู้ป่วยจามหรือไอออกมาปนอยู่กับอากาศ หรือมิฉนั้นเชื้อโรคอาจเข้าไปได้โดยปากของเราถูกต้องสิ่งที่เปื้อนน้ำลายผู้ป่วย

ทางที่จะป้องกันเชื้อโรคนี้มี 3 วิธี คือ (ก) ระวังมิให้เชื้อโรคเข้าปากหรือจมูก…(ข) บำรุงร่างกายให้แข็งแรง…(ค) ถ้าเป็นขึ้นแล้วระวังอย่าให้เชื้อโรคไปติดผู้อื่น โดยระบุทิ้งท้ายว่า แนวปฏิบัติเหล่านี้มิใช่เรื่องง่าย แต่ประชาชนก็ควรพยายามป้องกันตัวเองอย่างดีที่สุดจากโรคติดต่อต่าง

กลางเดือนตุลาคม 2461 กระทรวงมหาดไทยมีโทรเลขแนะนำไปยังจังหวัดทั้งปวง “ว่าโรคนี้อาจเปนอันตรายได้อย่างไร ควรระวังตัวอย่างไร และเมื่อเปนขึ้นแล้วควรใช้วิธีรักษาอย่างไร เช่น ให้ใช้ยาระบายก่อนแล้วจึงใช้ยาแก้ไข้ เปนต้น ให้แพทย์หลวงแลนายอำเภอเรียกประชุมแพทย์ตำบล ชี้แจงให้เข้าใจ

29 ตุลาคม 2461 ด้วยราษฎรโดยมากยังพอใจใช้ยาไทยอยู่ [แม้กระทรวงนครบาลจัดหายารักษาไข้อินฟลูเอนซามาแจกจ่ายแล้ว] ครั้นจะจัดซื้อยาเขียวหรือยาแก้ไข้ทั่วๆ แจกจ่าย ก็เกรงว่าจะไม่เป็นผล เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล จึงจัดประชุมแพทย์แผนไทยผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน ได้แก่ หม่อมเจ้าเปล่ง ชุมแสง, นายพันโท หม่อมเจ้ากรรมสิทธิ์ ปราโมช, หลวงเทวพรหมา (ดี โกมลพิมพ์), หลวงนฤนาถแพทยาการ (คร้าม ไกรพันธุ), นายผูก และขุนอุดมโอสถ (เพ็ชร์ แพทยานนท์) มาปรึกษาหารือกัน

ที่ประชุมมีมติว่าควรใช้ยา 4 ขนาน คือ ยาเขียวเบญจขันธ์ ยาถ่ายพิศม์ไข้ ยาห้ารากดับพิศม์ และยาแก้เหนื่อยหอบ ที่จะปรุงยาขึ้นที่ในเรือนจำกองมหันตโทษและลหุโทษ โดยใช้งบประมาณของกรมศุขาภิบาล และให้หลวงนฤนาถแพทยาการเป็นผู้กำกับการปรุงยาทั้งหลายนั้น [2]

สำหรับการแจกจ่ายยาให้แก่ราษฎรนั้น รัฐได้จัดตั้งจุดแจกจ่ายยา 19 แห่งทั่วพระนคร คือที่สถานีตำรวจนครบาล 9 แห่ง (ชนะสงคราม พาหุรัด วัดพระยาไกร วัดหงส์ วัดบุปผาราม บุคคโล นางเลิ้ง บางกอกน้อย และจักรวรรดิ) โรงเรียนตำรวจสระประทุม ตลอดจนโรงพยาบาล 7 แห่ง (โรงพยาบาลบางรัก โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลโรคติดต่อ วชิรพยาบาล ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลจีน) ตลอดจนที่หน้าเรือนจำกองมหันตโทษและลหุโทษ ซึ่งเป็นที่ที่มีผู้ไปรับแจกยามากที่สุด

หนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์รายงานว่าราษฎรนิยมรับยาไทยมากกว่ายาฝรั่ง โดยในช่วงวันที่ 1-30 พฤศจิกายน มีผู้รับยาไทย 19,572 คน รับยาฝรั่ง 7,729 คน  รวม 27,301 คน

31 ตุลาคม 2461 การระบาดในพระนครรุนแรงขึ้น รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงนครบาลจัดคณะแพทย์ไปประจำตามโรงพยาบาลและสถานีตำรวจต่างๆ ในพระนคร เพื่อตรวจรักษาและแจกจ่ายยาให้แก่ประชาชน ตามความในประกาศกระทรวงนครบาล ลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2461 ความตอนหนึ่งว่า

“…อินฟลูเอนซา หรืออย่างไทยเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่ ชุกชุม แลเปนอันตรายถึงชีวิตก็มีมาก…ให้เสนาบดีกระทรวงนครบาลจัดเจ้าพนักงานแพทย์ออกไปประจำตามสถานที่ๆ ประชุมชน ในตำบลที่จะสดวกในท้องที่ๆ เกิดความไข้ สำหรับทำการช่วยเหลือรักษาพยาบาลผู้ที่ป่วยไข้…ให้แจกจ่ายยาให้เปนทานแก่ผู้ที่ป่วยเจ็บ จนกว่าความไข้เจ็บนั้นจะสงบเบาบางลง” [3]

1 พฤศจิกายน 2461 กระทรวงนครบาลออกประกาศฉบับหนึ่ง เรื่อง “คำอธิบายเรื่องไข้ที่เปนกันชุมอยู่ในเวลานี้ หมอข้างไทยเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่ หมอฝรั่งเรียกว่า อินฟลูเอนซา”  ในหนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ เพื่อให้ข้อมูล 3 ประเด็นสำคัญคือ อาการของโรค, การรักษาพยาบาล และการที่ควรป้องกัน

ตัวอย่างเช่น เรื่อง “อาการของโรค” ที่ “คำอธิบายเรื่องไข้ที่เปนกันชุมอยู่ในเวลานี้” ระบุชัดว่า

โรคเช่นนี้เปนโรคที่ติดต่อกันได้ คนหนึ่งเปน คนที่ช่วยรักษาพยาบาล หรือคนที่รวมกันอยู่ในหมู่มากๆ ก็ติดต่อกันไปได้ เมื่อแรกจะเปน มีอาการให้ครั่นตัว, หนาวสั่น, ปวดศีร์ษะ, เมื่อยระบม, บางทีก็มีน้ำตาไหล น้ำมูกไหล หรือไอ บางทีก็ท้องร่วงแลอาเจียนด้วย บางทีก็มีส่าผุดตามผิวหนัง บางทีก็คัดจมูกหรือแสบคอก็มี เวลาจับตั้งแต่วันหนึ่งถึง 5 วัน

ตอนวันแรกๆ มีความร้อนมาก ถ้าได้วัดด้วยปรอดวัดไข้ ขีดความร้อนจะขึ้นสูงกว่าร้อย บางทีถึง 104 ดีกรีก็มี เวลาส่งเหงื่อออกโซมแล้ว ชักให้อ่อนเพลีย” สำหรับการรักษาพยาบาล ในเบื้องต้นผู้ป่วยควรอยู่แต่ในห้อง ทำร่างกายให้อบอุ่น ไม่กระทบลมเย็น “ในเวลายังมีเหงื่อโซมๆ อย่าอาบน้ำ ถ้าน้ำเย็นไม่ควรเลย ถึงน้ำมนต์ก็ไม่ควร เพราะจะเปนเหตุให้ปอดอักเสบ ข้อนี้สำคัญนัก เมื่อปอดอักเสบแล้วรักษายาก พอดีพอร้ายถึงตาย ควรระวังให้มาก” [4]

27 พฤศจิกายน 2461 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมสาธารณสุขขึ้น เพื่อรวมงาน “พแนกป้องกันความป่วยไข้ ให้ความศุขแก่ประชาชน คือ (Public Health)” ซึ่งแยกกันอยู่ที่กรมศุขาภิบาล กระทรวงนครบาล ทางหนึ่ง และกรมประชาภิบาล กระทรวงมหาดไทย ทางหนึ่ง ตั้งเป็นกรมสาธารณสุข ขึ้นกระทรวงมหาดไทย โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร เป็นอธิบดีพระองค์แรก [5]

ที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงมาตรการส่วนหนึ่งของรัฐ อย่างไรผลกระทบของโรคระบาดทำให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ (วันที่ 28 ตุลาคม 2461) รายงานว่า

ราคาหยูกยาแลอาหารการกินต่างขึ้นราคาไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง…เช่นยาเบ็ดเตล็ดต่างๆ มียาเขียว, ยาหอม หรือยาควินิน, แอซไปริน แพงขึ้นกว่าธรรมดา นอกจากราคาที่เรียกว่า ฝรั่งรบกันแล้ว ยังเพิ่มราคาสำหรับยุคค่าที่ป่วยกันขึ้นมากอีกด้วย ปลาหางแพงจนคนซื้อรับประทานไม่ได้ แห้ว, กล้วยหักมุก แลผลไม้สำหรับคนป่วย ตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายายก็ไม่เคยแพงเหมือนคราวนี้…

ระยะเวลา 100 กว่าปี จากไข้หวัดสเปน หรือไข้อินฟลูเอนซาที่เคยระบาดรุนแรง ถึงโควิด19 ที่กำลังระบาด บรรยายกาศของบ้านเมือง และอารมณ์ของผู้คนในเวลานั้นกลับเวลานี้ ดูเหมือนไม่ต่างกันเท่าใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] สำราญ วังศพ่าห์, “ประวัติศาสตร์การแพทย์ไทย: ไข้หวัดใหญ่สมัยรัชกาลที่ 6,” สารศิริราช 19 (11) พฤศจิกายน 2510, 615-620.

[2] “การประชุมการแพทย์ไทยที่กระทรวงนครบาล,” The Bangkok Times 4 พฤศจิกายน 2461, 6-7

[3] “ประกาศกระทรวงนครบาล,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 35 วันที่ 3 พฤศจิกายน 2461, 1855.

[4] “คำอธิบายเรื่องไข้ที่เปนกันชุมอยู่ในเวลานี้ หมอข้างไทยเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่ หมอฝรั่งเรียกว่า อินฟลูเอนซา,” The Bangkok Times 1 พฤศจิกายน 2461, 6.

[5] “ประกาศตั้งกรมสาธารณสุขและตั้งอธิบดีกรมสาธารณสุข,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 35 วันที่ 8 ธันวาคม 2461, 302-303.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2565