เผยแพร่ |
---|
ความขัดแย้งภายในคณะราษฎรพอจะจำแนกครั้งสำคัญอยู่ 3 ช่วงเหตุการณ์ คือ 1. การนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2476 ถึงกบฏกรมขุนชัยนาทนเรนทร พ.ศ. 2481 2. สงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ. 2484 ถึงรัฐประหาร พ.ศ. 2490 และ 3. ขบวนการประชาธิปไตย พ.ศ. 2492 ถึงกบฏแมนฮัตตัน พ.ศ. 2494
ความขัดแย้งครั้งที่ 1 การนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี มีนาคม พ.ศ. 2475 (ปฏิทินเก่า) นำมาซึ่งการปิดสภา จนลามไปถึงกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 และสิ้นสุดที่กบฏกรมขุนชัยนาทนเรนทรหรือที่คุ้นเคยในชื่อกบฎพระยาทรงสุรเดช ทั้งหมดนี้เริ่มตั้งแต่การนำเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือที่รู้จักกันดีในนามสมุดปกเหลืองของปรีดี พนมยงค์ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในขณะนั้น
กลุ่มพระยาทรงสุรเดชมีความไม่พอใจกับเรื่องนี้เท่าไร และต่อต้านร่วมกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรีคนแรกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกผู้ก่อการ นำมาซึ่งการปิดสภาในวันขึ้นปีใหม่ (ปฏิทินเก่า) ขณะนั้นเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นเหตุให้ปรีดี พนมยงค์ ถูกเนรเทศไปพำนักอยู่ที่ฝรั่งเศสพักใหญ่ๆ
การรัฐประหารเงียบด้วยการปิดสภาของกลุ่มพระยามโนฯ นี้ เป็นเหตุให้พระยาพหลฯ ร่วมกับกลุ่มทหารหนุ่มของหลวงพิบูลฯ และทหารเรือนำโดยหลวงศุภฯ กลับมารัฐประหารซ้ำอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 หรือว่าขาดเพียง 4 วันจะครบรอบปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ครั้งนี้จึงนับได้ว่าคณะราษฎรกลับมาถือครองอำนาจอย่างมั่นคงจริงๆ พระยาพหลฯ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับการลดทอนบทบาทของ 3 ทหารเสือที่เหลือ ความประนีประนอมกับระบอบเก่าก็ดูเหมือนจะสิ้นสุดลง และยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อเกิด “กบฏบวรเดช” กลางเดือนตุลาคมปลายปีนั้นเอง
กบฏคราวนั้นยังผลให้สมาชิกราชวงศ์สำคัญจำนวนไม่น้อยที่ต้องผละแผ่นดินเกิด ย้ายถิ่นฐานไปยังต่างประเทศจนสิ้นพระชนม์ในต่างแดน เช่น กรมพระสวัสดิ์ฯ (พ.ศ. 2478 ที่ปีนัง [1]) กรมพระกำแพงฯ (พ.ศ. 2479 ที่สิงคโปร์ [2]) หรือแม้แต่การสละราชบัลลังก์ (พ.ศ. 2478) จนถึงการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ (พ.ศ. 2484 ที่อังกฤษ [3]) นอกเหนือจากกรมพระนครสวรรค์ฯ ที่ได้เสด็จไปใช้ชีวิตที่บันดุงก่อนหน้าเจ้าองค์อื่นๆ หลังปฏิวัติ 2475 หมาดๆ และสิ้นพระชนม์หลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ อีก 3 ปีต่อมา (พ.ศ. 2487 [4])
ผลสะเทือนต่อเนื่องยังทำให้เกิดการหวาดระแวงซึ่งกันและกันในหมู่คณะราษฎร รายละเอียดความแตกแยกและตัวละครต่างๆ พึงสืบค้นใน คำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482 เรื่องกบฏ ไม่เฉพาะแต่เพียงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพระยาทรงฯ กับผู้ก่อการที่ครองอำนาจรัฐในขณะนั้น ในกลุ่มทหารเรือก็เริ่มออกอาการหลังปราบกบฏบวรเดชด้วยเช่นกัน
ดังปรากฏรายละเอียดในหนังสืออนุสรณ์งานศพของหลวงสินธุฯ หัวหน้าสายทหารเรือจนเป็นเหตุให้หลวงศุภฯ ผู้มีบทบาทกร้าวในรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง คือ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ต้องหลุดจากวงจรอำนาจในกองทัพเรือไป และต่อเนื่องมาถึงความหวาดระแวงกันและกันในสายพลเรือน เช่น บุคลากรที่ทำงานการรถไฟ ดังที่ปรากฏในหนังสือนุสรณ์งานศพของเล้ง ศรีสมวงศ์
ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลเดินทางมาถึงจุดแตกหักในปลาย พ.ศ. 2481 (ปฏิทินเก่า) ทันทีที่หลวงพิบูลขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การกวาดล้างครั้งใหญ่ เริ่มต้นด้วยการกวาดล้างฝ่ายปฏิปักษ์ขนานใหญ่ รวมทั้ง 3 ทหารเสือคณะราษฎรได้รับการเชิญออกนอกประเทศ คือ พระยาทรงสุรเดชเลือกไปอินโดจีน ส่วนพระยาฤทธิอัคเนย์ไปยังสหรัฐมลายู และพระประศาสน์พิทยายุทธ ซึ่งยังถือว่าถนอมน้ำใจด้วยการย้ายไปเป็นอัครราชทูตที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
คดีนี้มีผู้ได้รับโทษสูงสุดคือประหารชีวิตแต่มีลดโทษ เป็นกรณีพิเศษ 3 คน คือกรมขุนชัยนาทนเรนทร, พระยาเทพหัสดิน ณ อยุธยา และหลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันทน์) คนสุดท้ายนี้ คือลูกศิษย์ของพระยาทรงฯ และสมาชิกคณะราษฎร แต่ท้ายสุดยังมีผู้ต้องโทษประหารถึง 18 ชีวิต
ความขัดแย้งครั้งที่ 2 ระหว่างกลุ่มจอมพล ป. กับกลุ่มนายปรีดีในห้วงสงครามมหาเอเชียบูรพา คือจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ผู้ถือข้างญี่ปุ่น พ.ศ. 2484-2488 กับขบวนการเสรีไทยที่นำโดยปรีดี ซึ่งแนวร่วมครั้งนั้นยังประกอบด้วยสมาชิกคณะราษฎรอีกราว 20 คน ประกอบด้วยผู้ก่อการที่เป็นกำลังสำคัญของปรีดีต่อมา เช่น หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สวรรณชีพ) ดิเรก ชัยนาม [5]
หลังสงครามยุติเมื่อญี่ปุ่นยอมจำนน และส่งผลให้จอมพล ป. และพวกถูกดำเนินคดีในฐานะอาชญากรสงคราม เมื่อปรีดีกลับมามีอำนาจเต็มได้มีส่วนในการจัดตั้งพรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรคสหชีพ และพรรคแนวรัฐธรรมนูญ พรรคสหชีพเป็นการแปลงสภาพของ ส.ส. ประเภทที่ 1 ผ่านการเลือกตั้งตรงทั่วประเทศ นำโดยกลุ่ม ส.ส. สายอีสานที่ร่วมในเสรีไทย ส่วนพรรคแนวรัฐธรรมนูญเสมือนกับ ส.ส. ประเภท 2 ที่แปลงสภาพออกมา พรรคนี้นำโดยถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) [6]
การเดินเกมในสภาครั้งนั้นส่งผลให้ปรีดีขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 อันสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อควง อภัยวงศ์ (หลวงโกวิทอภัยวงศ์) [7] จนแยกทางเดินกับปรีดี พร้อมเข้าร่วมกับ 2 พี่น้องตระกูลปราโมชและกลุ่มอนุรักษนิยมที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะผู้ก่อการเพื่อจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 5 เมษายน พ.ศ. 2489 ถัดมาเพียง 1 เดือน คณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นับว่าถึงจุดสูงสุดเมื่อสามารถผลักดันจนเกิดรัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุด
กระนั้นเพียงอีก 1 เดือนถัดมาก็เกิดกรณีสวรรคตเมื่อเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน เหตุการณ์นี้ถือเป็นหายนะสู่การนับถอยหลังของคณะราษฎรสายปรีดี จนถึงจุดจบในอีก 1 ปีถัดมาด้วยรัฐประหาร 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ก่อนหน้านั้นเมื่อต้นปี ปรากฏนิมิตหมายสำคัญอยู่หนึ่งวาระคือ พระยาพหลฯ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 และจัดงานฌาปนกิจหลังสงกรานต์ปีเดียวกัน โดย 2 ผู้ก่อการสำคัญที่สุด คือ ปรีดี และ จอมพล ป. จึงได้มาพบหน้ากันเป็นครั้งสุดท้ายในงานนี้เอง [8]
คณะรัฐประหารนำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ได้ชูจอมพล ป. พิบูลสงครามกลับขึ้นเถลิงอำนาจอีกครั้ง กลุ่มโค่นล้มปรีดีครั้งนี้ ยังประกอบด้วยคณะราษฎรฝ่ายทหารบกอีก 3 คน คือ หลวงกาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) ก้าน จำนงภูมิเวท และน้อม เกตุนุติ ทั้งยังมีพรรคประชาธิปัตย์นำโดยนายควงเป็นแนวร่วม ปรีดีจำต้องลี้ภัยสู่ประเทศจีนเพื่อขอให้รัฐบาลจีนซึ่งขณะนั้นยังปกครองโดยเจียงไคเช็คสนับสนุนก่อนพยายามกลับมาทวงประชาธิปไตยคืนอีก 2 ปีต่อมา [9]
หากจะด้วยความอาภัพในชะตากรรมของประเทศและปัจเจกชนตัวท่านเอง การต่อสู้ในครั้งนั้นประสบกับความพ่ายแพ้อย่างถาวรจนถูกเรียกขานจากฟากผู้ถือครองอำนาจรัฐยามนั้นว่า “กบฏวังหลวง พ.ศ. 2492” ส่งผลให้ปรีดีต้องหลบหนีการไล่ล่าข้ามไปซ่อนตัวยังจังหวัดธนบุรีอีกเกือบ 6 เดือน จวบจนจังหวะเหมาะจึงปลอมตัวเป็นช่างไฟฟ้าลงเรือประมงค่อยๆ เร้นกายออกนอกประเทศโดยพำนักอยู่ในสิงคโปร์พักหนึ่ง ก่อนเดินทางต่อไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ปลายเดือนกันยายนและปรากฏกายอยู่ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนนำโดยเหมาเจ๋อตงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492
นี้คือจุดเริ่มต้นของการจากมาตุภูมิอันเป็นที่รักอย่างไม่มีวันกลับด้วยวัยเพียง 49 ปีโดยใช้ชีวิตที่เหลือเกือบครึ่งค่อนในดินแดนหลังม่านไม้ไผ่ 21 ปี (กันยายน พ.ศ. 2492-พฤษภาคม พ.ศ. 2513) และย้อนกลับไปเสวยบั้นปลายชีวิต 13 ปี (พฤษภาคม พ.ศ. 2513-พฤษภาคม พ.ศ. 2526) ในดินแดนต้นธารแห่งการปฏิวัติ ที่ท่านได้เคยบ่มเพาะชุดความคิด “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” แต่ครั้งปฐมวัย นับรวมเวลาที่ดำรงชีพอยู่ในประเทศจีนและฝรั่งเศสทั้งสิ้น 34 ปี จนถึงวันอสัญกรรมอย่างศานติสุขด้วยวัย 82 ปี 11 เดือน กับ 22 วัน และได้นิวัติกลับประเทศไทยในรูปแบบอัฐิธาตุ เมื่อ พ.ศ. 2529
ความขัดแย้งครั้งที่ 3 ความพ่ายแพ้ครั้งสุดท้ายของปรีดีคราวกบฏวังหลวงนี้ ในด้านรัฐบาลก็จวนเจียนเพลี่ยงพล้ำจากศักยภาพของกองกำลังฟากทหารเรือที่ดูยังเป็นหอกข้างแคร่ จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ “กบฏแมนฮัตตัน 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494” [10] ในอีก 2 ปีถัดมา ฝ่ายทหารบกจึงสบโอกาสใช้เป็นข้ออ้างในการกวาดล้างคณะราษฎรสายทหารเรืออย่างสิ้นซาก ไม่ว่าจะเป็น พล.ร.อ. สินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุฯ) พล.ร.ท. นาวาวิจิต (หลวงนาวาฯ) พล.ร.ต. ชลิต กุลกำมธร และ พล.ร.ต. ชลี สินธุโสภณ ร่วมทั้งนายทหารเรือที่มิได้เป็นผู้ก่อการคณะราษฎรท่านอื่นๆ [11]
จากเดิมก่อนหน้าที่ได้ลดบทบาททหารเรือสายสัตหีบของ 2 คณะราษฎรที่เป็นญาติพี่น้องกันอย่าง พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ (หลวงสังวรฯ) และ พล.ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ ระหว่างนั้นแม้แต่หลวงกาจฯ สมาชิกคณะราษฎรที่มีส่วนสำคัญในการรัฐประหาร 8 กันยายน พ.ศ. 2490 และร่างรัฐธรรมนูญซ่อนไว้ใต้ทุ่มจนได้รับฉายาว่า “นายพลตุ่มแดง” ยังถูกกลุ่มราชครูนำโดย พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ขจัดพ้นวงจรอำนาจด้วยการเนรเทศไปยังฮ่องกงเมื่อต้น พ.ศ. 2493
ปลายปีเดียวกับกบฏแมนฮัตตันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยเป็นการถาวร รัฐบาลจอมพล ป. ชิงนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 กลับมาปัดฝุ่นปรับปรุงเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2495 จนเกิดความขัดแย้งอย่างหนักกับกลุ่มอนุรักษนิยม แต่ในแง่การบริหาร คณะรัฐประหารกลับมีเสถียรภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม จอมพล ป. เองก็ประสบปัญหาในการบริหารอำนาจระหว่างกลุ่มราชครูโดย พล.ต.อ. เผ่ากับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ล่วงถึง พ.ศ. 2498 เมื่อจอมพล ป. กลับจากการเดินทางไปยุโรปและอเมริกา จึงมีดำริที่จะนำประเทศกลับสู่วิถีประชาธิปไตยด้วยการเปิดให้ประชาชนไฮด์ปาร์ควิพากษ์รัฐบาลอย่างเสรี
แต่ทุกอย่างก็สายเกินแก้สำหรับจอมพลตราไก่ผู้โดดเดี่ยวจากสหายร่วมก่อการ
จนล่วงถึงการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ก่อนการฉลอง 25 พุทธศตวรรษกลับถูกครหาเรื่องความไม่โปร่งใส จนกรุยทางไปสู่อวสานผู้นำสมาชิกคณะราษฎรคนสุดท้าย หลังฉลองแซยิด 60 ปี ได้เพียง 2 เดือน ด้วยการรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 อันนำพาประเทศไทยสู่รัฐเผด็จการทหารนำโดยจอมพล สฤษดิ์ที่จับมือกับกลุ่มอนุรักษนิยม [12] และถูกปกครองแบบไร้รัฐธรรมนูญนับแต่ พ.ศ. 2501 ถึง พ.ศ. 2511 อีกทศวรรษเต็มๆ ต่อมา
ฉากอวสานผู้นำประเทศคนสุดท้ายของสมาชิกผู้ก่อการ 2475 ณ วันรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ฉายไว้ว่าหลังจาก จอมพล ป. เข้าเฝ้าฯ ในหลวง และเรียกประชุมสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลารวมถึงพบปะกับเผ่า ศรียานนท์ บุรุษเหล็กแห่งเอเชียที่ทำเนียบรัฐบาล [13]
เมื่อถึงเวลา 22.00 น. จอมพลผู้พิสมัยการขับรถด้วยตนเองก็วิ่งรถยนต์คู่ใจ “วิหคเหิรฟ้าสีเขียวแก่” ตรงดิ่งสู่บ้านชิดลมเพื่อเปลี่ยนพาหนะเป็น “ซีตรองสีไข่ไก่” คันใหม่เอี่ยมอ่อง [14] เจ้าของชื่อเรียก “กัปตัน” ที่ชาวคณะราษฎรเรียกขาน ขับยานพาหนะด้วยตนเอง เดินทางพร้อมคณะติดตาม 3-4 คนเลียบเลาะถนนสายลาดยางที่ดีสุดขณะนั้นคือ ถนนสุขุมวิท…
นายกรัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 15 ปี เดินทางลี้ภัยจรจากบ้านเกิดเมืองนอน นับเป็นจุดสิ้นสุดเขตแดนทางการเมืองสมัยผู้นำคณะราษฎรอย่างถาวร!
เชิงอรรถ :
[1] ถวายพระเพลิงที่วัดปินบังอร ปีนัง 22 ธันวาคม พ.ศ. 2478 ดู อ.ก. รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต), พ.27 สายลับพระปกเกล้าฯ, น. 440-446 และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงมยุรฉัตร, ชีวิตในต่างประเทศ เล่ม 2 (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์ไทยพณิชยการ, 2493), น. 338-344.
[2] พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงมยุรฉัตร, ชีวิตในต่างประเทศ เล่ม 2, น. 354-376.
[3] รายละเอียดการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ดู คุณหญิง มณี สิริวรสาร, ชีวิตเหมือนฝัน เล่ม 1 (กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์, 2535), น. 475-484. และ นรุตม์, ลำดับเรื่อง, ใต้ร่มฉัตรหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ (กรุงเทพฯ แพรวสำนักพิมพ์, 2539), น. 105-109. รวมทั้งฉบับภาษาอังกฤษโดย Pimsai Amranand and Ping Amranand, Siamese Memoirs: The Life & Times of Pimsai Svasti (Bangkok: Amulet Production, 2011), pp. 56-57.
[4] ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์ (พระนคร: โรงพิมพ์จันหว่า, 2513. ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้า อรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 10 มกราคม พุทธศักราช 2513), น. 45.
[5] ดู ภาคผนวก ก. ผู้ร่วมปฏิบัติการในขบวนการเสรีไทย ใน วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546), น. 1367-1394.
[6] ดู Textbooks Foundation – มูลนิธิโครงการตำราฯ, การบรรยายสาธารณะ ชุดปฏิวัติ 2475: อยากจำ vs อยากลืม เรื่อง “พลเรือตรี ถวัลย ธํารงนาวาสวัสดิ์ คณะราษฎร ทหารประชาธิปไตย” เข้าถึงเมื่อ 6 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://tinyurl.com/vsy3gq|
[7] ดู Textbooks Foundation – มูลนิธิโครงการตำราฯ, นายควง อภัยวงศ์ คณะราษฎร นายกรัฐมนตรี, เข้าถึงเมื่อ 6 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้ https://tinyurl.com/rvg77dp
[8] เชาวน์วัศ สุดลาภา, พรรคการเมือง (กรุงเทพฯ: สหสยามพัฒนา 2511), น. 85.
[9] รายละเอียดเรื่องปรีดีหนีทั้ง 2 หน และชีวิตในเมืองจีน วรรณไว พัธโนทัย ให้รายละเอียดข้อมูลชั้นต้นในคําไว้อาลัยชื่อว่า “ยอดประดู่ผู้ไม่รู้โรย” ดูหนังสืองานศพ ร.อ. วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน 29 กันยายน 2539
[10] ข้อมูลชั้นต้นจากผู้ก่อการ ดู อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของ มนัส จารุภา ราวต้น พ.ศ. 2517 (หนังสือมิได้ระบุรายละเอียดวันเวลาของงาน) ปรีดีและท่านผู้หญิงพนมยงค์เขียนคําไว้อาลัยจากกรุงปารีสไว้ให้ด้วย
[11] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี ชลิต กุลกํามธร (หอรัตนชัยการพิมพ์, ณ เมรุวัดธาตุทอง 2 พฤศจิกายน 2534), น. 105.
[12] การเมืองยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นสู่อำนาจครั้งที่ 2 พ.ศ. 2490-2500 โปรดดู สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2553), และ ณัฐพล ใจจริง, ขุนศึก ศักดินา และ พญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2563).
[13] บันทึก “หนีไปกับจอมพล” โดยชุมพล โลหะชาละ ทหารติดตาม ต่างกันในจุดนี้ โดยระบุว่าจอมพล ป. ถามหาว่า “เผ่าอยู่ไหนรู้ไหม”
[14] วิเทศกรณีย์ (นามแฝง), เมื่อจอมพล ป. ลี้ภัย (พระนคร: พิบูลย์การพิมพ์, 2505), น. 542-543.
หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก นริศ จรัสจรรยาวงศ์. 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน, สำนักพิมพ์มติชน พิพม์ครั้งแรก มิถุนายน 2564
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2565