ทำไมน่านน้ำไทยกลายเป็น “ทุ่งทุ่นระเบิด” ในสงครามโลกครั้งที่ 2

ทุ่นระเบิดแบบทอดประจำที่ บ้างเรียกว่าแบบเดนมาร์ก สามารถวางบนผิวพื้นที่น้ำตื้นหรือลอยอยู่ใต้ผิวน้ำก็ได้ (ภาพจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2564)

ตลอดช่วงสงคราม [สงครามโลกครั้งที่ 2] นี้ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นยุทธภูมิเลย แต่สงครามในรูปแบบใหม่ก็ทำให้ประเทศไทยและคนไทยที่ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ กลับอยู่ในสถานะ “บ้านแตกสาแหรกขาด” และตอนปลายสงครามบางภูมิภาคกลับอดอยากกันอยู่ไม่น้อยได้อย่างไรกัน

อันที่จริงก่อนไฟสงครามจะลามมาถึงประเทศไทย เกิดการสู้รบในยุโรปตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) หลังจากเยอรมนีบุกโปแลนด์ แม้เยอรมนีจะทิ้งช่วงไประยะหนึ่ง แล้วเดือนเมษายน พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) จึงได้เริ่มบุกเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สวีเดน นอร์เวย์ ด้วยสงครามสายฟ้าแลบ และเดือนพฤษภาคมก็รุกและสามารถยึดครองฝรั่งเศสได้ในเวลาเพียง 40 กว่าวัน

ช่วงนั้นสรรพาวุธต่างๆ ที่กองทัพไทยต้องการก็อยู่ในสภาพหาเพิ่มไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศในยุโรปที่เคยขายอาวุธให้ ก็ไม่รับคำสั่งซื้อใหม่ หนำซ้ำบริษัทโบฟอร์ส (Bofors) สวีเดนที่กองทัพเรือสั่งปืนรักษาฝั่งขนาด 120 มม. ไปกับปืนป้อมคู่ขนาด 6 นิ้ว จำนวน 6 ป้อม (12 กระบอก) ของเรือลาดตระเวน ร.ล.ตากสิน และ ร.ล.นเรศวร ที่สั่งต่อที่อิตาลี ก็มีคำส่งจากรัฐบาลไม่ให้ส่งออกอาวุธ ให้เอาไว้สำหรับใช้ในประเทศก่อน ทำให้อู่ต่อเรือที่อิตาลีหาปืนจากแหล่งอื่นไปติดแทน และเกณท์เรือเข้ารบ ไม่ยอมส่งมอบให้กองทัพเรือ ต้องมาตามฟ้องเรียกเอาเงินครึ่งหนึ่งของราคาเรือที่ได้ชำระไปแล้วคืนภายหลังสงคราม

ในช่วงนั้นไทยเราก็มีสินค้าที่เป็นปัจจัยการทำสงครามที่มหาอำนาจต้องการ เช่น ยางพารา ดีบุก ฯลฯ ที่ญี่ปุ่นมาเจรจาขอเหมาเอา ขณะที่อังกฤษ อเมริกาก็ต้องการนั้น ก็ได้อาศัยการเจรจาเพื่อการแลกเปลี่ยนให้ได้น้ำมัน ที่เราขาดและมีโรงกลั่นน้ำมันเอง ก็เพียงขนาดเล็ก ยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้เองในประเทศ

ส่วนเสบียงอาหาร ทั้งข้าวปลานั้น เรายังเชื่อว่ามีบริบูรณ์ ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดการขาดแคลนขึ้นได้

จนต่อมาเมื่อเกิดสงครามแล้ว ญี่ปุ่นเข้ายึดมาลายา สิงคโปร์ เราก็พึ่งน้ำมันจากสิงคโปร์โดยญี่ปุ่นจัดให้ และก็ซื้อเครื่องบินจากญี่ปุ่นกันทั้งกองทัพอากาศที่มีเครื่องบินแบบอื่นๆ อีก และกองทัพเรือก็ซื้อทั้งเครื่องบินทะเลและปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ฯลฯ เข้ามาจัดตั้งหน่วยต่อสู้อากาศยานเพิ่มกำลังขึ้น

แม้ในช่วงต้นสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรยังรบติดพันเป็นฝ่ายรับ เพราะรบทั้งเยอรมนีกับญี่ปุ่นที่มีชัยทุกแนวรบ ทำให้การรบติดพันในยุทธภูมิต่างๆ กับเยอรมนีและญี่ปุ่น จึงยังไม่มีโอกาสมาปิดศึกด้านเอเชียตะวันออกเท่าไร จนญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำที่มิดเวย์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2485 ที่เป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม แต่ประเทศไทยก็เหมือนคนดวงตก ต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมพระนครปลายเดือนกันยายนถึง วันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 2 เดือนเศษ จึงเริ่มทำให้เศรษฐกิจชาวบ้านเริ่มรวนเรกันมากขึ้น

แต่หลังจากนั้น สถานการณ์การรบในยุโรป สัมพันธมิตรเริ่มได้เปรียบ สามารถหยุดและเริ่มจัดการกับเยอรมนี-อิตาลี ได้ จึงเริ่มมาเพ่งเล็งทางเอเชีย

วันที่ 10 มกราคม 2487 ภัยชนิดใหม่ก็มาเยือน เครื่องบินอังกฤษมาทิ้งทุ่นระเบิดแม่เหล็กในลำน้ำเจ้าพระยากับบริเวณปากน้ำ และในอ่าวสัตหีบ ที่หน้าสถานีทหารเรือสัตหีบ เพื่อขัดขวางการเดินเรือ

ปรากฏว่า วันที่ 12 มกราคม เรือวลัยโดนทุ่นระเบิดที่สำโรงเรือจม และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ที่นำนักเรียนออกฝึกขากลับจากหัวหินถูกทุ่นระเบิดที่ปากทางเข้าอ่าวสัตหีบเสียหาย ทั้งที่เรือหลวงเจ้าพระยาที่เดินทางล่วงหน้าเข้ามากลับไม่ถูกทุ่นระเบิด น่าจะเป็นการวางสนามทุ่นระเบิดอิทธิพล มีการตั้งเกณท์เรือผ่าน ซึ่งจะมีผลทางจิตวิทยากับเรือที่มากวาดทุ่นระเบิด และการจะคิดเปิดเส้นทางให้เดินเรือ โดยในขณะนั้นกองทัพเรือมีและรู้จักก็แต่ทุ่นระเบิดชนิดทอดประจำที่ ที่สั่งจากเดนมาร์ก 200 ลูกเท่านั้น

จากนั้นวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เครื่องบินอังกฤษมาทิ้งทุ่นระเบิดแม่เหล็กที่หน้าอ่าวสัตหีบเพิ่มเติมอีก

วันที่ 8 พฤษภาคม 2487 เครื่องบินอเมริกันมาทิ้งทุ่นระเบิดบริเวณทุ่งไก่เตี้ย และจะทิ้งทุ่นลงในอ่าวสัตหีบอีก เรือหลวงสุราษฎร์จอดอยู่ในอ่าวยิงเครื่องบิน B-24 ไฟใหม้และไปตกลงทางตะวันตกของเกาะจระเข้ และมีการมาทิ้งทุ่นระเบิดตามที่ต่างๆ ที่มิได้เป็นฐานทัพ (ได้รายละเอียดหลังสงคราม) อีก เช่น

ในแม่น้ำท่าจีน เมื่อวันที่ 10 มกราคม และวันที่ 5 มิถุยายน 2487 เครื่องบินมาวางบริเวณบางหญ้าแพรกและสันดอนนอกปากน้ำ รวม 2 ครั้ง 17 ลูก

ปากน้ำแม่กลอง 3 ครั้ง 22 ลูก ในระหว่างวันที่ 27-28 มีนาคม และวันที่ 27 มิถุนายน 2488 รวม 3 ครั้ง 22 ลูก

บริเวณเกาะสีชังถึงเกาะล้าน ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2487 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2488 รวม 8 ครั้ง 181 ลูก

อ่าวชุมพร ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2488 กับบริเวณเกาะต่างๆ ใกล้เคียง รวม 12 ครั้ง 192 ลูก

อ่าวประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2488 รวม 6 ครั้ง 31 ลูก

บ้านดอน บริเวณเกาะนกเภา 3 ลูก เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2488

สงขลา บริเวณเกาะหนูเกาะแมว และทางเข้าทะเลสาบ 3 ครั้ง จำนวน 46 ลูก ทำให้ ร.ล.แม่กลองถูกทุ่นระเบิดที่ช่องด้านเหนือเกาะหนู เสียหายเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2488

โดยที่ทราบภายหลังคือทุ่นระเบิดที่วางโดยเรือดำน้ำอเมริกันบริเวณเกาะคราม ที่บริเวณเกาะลิ้นและด้านใต้เกาะครามจำนวน 64 ลูก ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม และวันที่ 19 ตุลาคม 2485 ที่ทำให้ ร.ล.รัตนโกสินทร์ (ลำที่ 1) เสียหายเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2487

บริเวณแหลมปากพระด้านเหนือภูเก็ต วางโดยเรือดำน้ำอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2488 จำนวน 12 ลูก กับที่สตูลบริเวณกระโจมไฟและเกาะอันยิงอีก 24 ลูก และวางโดยเครื่องบินรอบภูเก็ต เช่น เกาะมะพร้าว เกาะมาลี อ่าวมะขาม อ่าวราไวย์อีก 3 ครั้ง รวม 62 ลูก (เมื่อช่วงปี 2530 ยังเคยพบทุ่นระเบิดเก่าลอยขึ้นมาที่ภูเก็ต ต้องส่งเรือตรวจฝั่งไปทำลาย)

ฯลฯ

นอกเหนือจากเรือรบของกองทัพเรือที่ได้กล่าวถึงจะโดนทุ่นระเบิด ยังมีเรือเอกชนและเรืออื่น เช่น เรือซิดนีย์มารูของญี่ปุ่นที่มีบทบาทขนทหารญี่ปุ่นมาส่งที่บางปู สมุทรปราการ เมื่อวันบุกขึ้นไทย ขนาด 3,223 ตัน ถูกทุ่นระเบิดที่สนามฯ เกาะลิ้นเสียหายมาก, เรือยูโยมารูของญี่ปุ่นขนาด 9,000 ตัน ถูกทุ่นระเบิดที่สนามฯ เกาะสีชังจม, เรือยนต์สหประมงไทย ถูกทุ่นระเบิดที่สนามฯ ปากคลองสรรพสามิต (ถัดป้อมพระจุล) จม, เรือกลไฟชื่อกระโห้ ถูกทุ่นระเบิดที่สนามฯ ปากคลองบางกระเจ้า จมพร้อมเรือพ่วง นายท้ายและลูกเรือเสียชีวิต ฯลฯ

แม้สิ้นสงครามแล้ว การกวาดทุ่นระเบิดก็ยังไม่หมด มีเรือที่ถูกทุ่นระเบิดอีก เช่น เรือสินค้าชื่อนิภา ขนาด 516 ตัน ของบริษัทเดินเรือไทย, เรือกลไฟกัววันมารู ของบริษัทอีสต์เอเชียติก ฯลฯ มีเรือโดนทุ่นระเบิดตามสนามทุ่นระเบิดต่างๆ ที่ข้าศึกมาวางไว้ ลำสุดท้ายที่โดนคือเรือสำรวจของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือเอง

กองทัพเรือมีเรือกวาดไม่พอที่จะดูแล ต้องเกณฑ์หรือว่าจ้างเรือเอกชนมาช่วยถึง 18 ลำ ทั้งที่เราก็ไม่มีวิทยาการพอ และขอความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม ญี่ปุ่นได้ส่งแม่เหล็กแท่งกวาดมาให้ ทราบภายหลังว่ายึดมาจากสัมพันธมิตร จึงมากวาดจนเห็นผล ทุ่นระเบิดได้ระเบิดให้เห็น

แต่เมื่อข้าศึกเห็นว่าเราเริ่มกวาดได้ และเปิดเส้นทางเรือ ก็เปลี่ยนมาวางทุ่นระเบิดเสียงบ้าง งานจึงดูซ้ำซาก ต้องใช้ความอดทนและเสี่ยงอันตรายยิ่ง บางครั้งเรือกวาดเองก็ชนทุ่นระเบิดเสียชีวิตกันเอง

แม้หลังสงคราม สัมพันธมิตรจะให้ผังสนามทุ่นระเบิดที่มาวางทุ่นเองโดยละเอียด และส่งเรือกวาดทุ่นระเบิดมาช่วยทำการ 4 ลำ เพราะต้องการส่งสินค้ามาขาย และอังกฤษเองต้องขนข้าวสารที่เรียกเป็นค่าปฏิกรรมสงครามจากไทยออกไปจึงต้องมาช่วยกวาด

เรืออังกฤษนำโดย เรือมายิเชียน ขนาด 1,200 ตัน เป็นเรือหัวหน้าหมู่ เริ่มกวาดจากสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 แล้วก็ไปกวาดที่เกาะสีชัง โดยไทยเราก็ขอซื้อเรือกวาดทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ (Fleet Minesweeper) ชั้น Algerine ขนาดราว 1,300 ตัน จากอังกฤษ ชื่อ HMS Minstrel (เพิ่งมาปลดประจำการไม่กี่ปีมานี้) เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2490 ในราคา 230,000 ปอนด์ จัดนายทหารและกำลังพลไปรับที่สิงคโปร์ ได้รับพระราชทานชื่อว่า ร.ล.โพสามต้น มาช่วยกวาดทุ่นระเบิดในทะเล

สงครามทุ่นระเบิดนี้เป็นการตัดกำลังเส้นทางการเดินเรือการขนส่งสินค้าและคมนาคมทางทะเลในและนอกประเทศได้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในภาคใต้ ทำให้ในช่วงปลายสงคราม ช่วง 5-6 เดือนสุดท้าย แทบจะไม่สามารถส่งข้าวสารจากภาคกลางลงไปได้เท่าไรเลย ข้าวของขาดแคลนและมีราคาแพง ยิ่งฝั่งอันดามัน

ซึ่งในสมัยก่อนสงครามยังไม่มีถนนเลียบชายฝั่งอันดามัน ถนนจาก….ลงไปทางตะวันตกสร้างไปถึงกระบุรีเท่านั้น การเดินเรือชายฝั่งช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ สินค้าจากภาคกลางและกรุงเทพฯ ลำเลียงต่อลงไปเป็นทอดๆโดยเฉพาะน้ำมันขาดแคลนหนักมาก เพราะ ร.ล.สมุย ที่ทหารเรือผลัดเวรกันนำเรือไปลำเลียงน้ำมันจากสิงคโปร์มา 17 เที่ยว มีเรือดำน้ำมาดักโจมตีตั้งแต่เที่ยวที่ 5 แล้ว แต่มักจะดักเราไม่เจอ และเราใช้วิธีหนีเข้าฝั่ง จนเที่ยวเรือที่ 18 เนื่องจากอเมริกายึดฟิลิปปินส์คืนได้หมดตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2488

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม กรมเชื้อเพลิงทหารบกเช่าเรือสุธาทิพย์ให้กรมเสนาธิการทหารเรือจัดลูกเรือไปเสี่ยงชีวิตฝ่าอันตรายไปลำเลียงน้ำมันมาจากสิงคโปร์มาจนได้ แต่ฝ่ายบกไม่ได้เตรียมการลำเลียงเข้าไปพระนคร เนื่องจากลำน้ำเจ้าพระยาถูกวางทุ่นระเบิดแม่เหล็ก ยังต้องคอยการกวาดทุ่นระเบิด เรือต้องมารอการจัดการลำเลียงทางบกนอกสถานที่อยู่อีกถึง 7 วัน ญี่ปุ่นที่เตรียมการรอไว้ ก็มาขนน้ำมันของตนไป

สถานีรถไฟบางกอกน้อยที่จะลงใต้ก็ถูกทิ้งระเบิดใหญ่เช่นกัน รวมทั้งที่ชุมทางบางซื่อกับมักกะสันที่มีโรงซ่อมหัวรถจักร โรงงานปูนซีเมนต์ที่บางซื่อ โรงไฟฟ้าวัดเลียบ สะพานข้ามแม่น้ำสายต่างๆ ทั้งในพระนครและต่างจังหวัด รวมทั้งสะพานข้ามแม่น้ำแควที่จะออกไปพม่า ล้วนได้รับภัยทางอากาศถี่ยิ่งขึ้นในช่วงปลายสงคราม โดยเฉพาะเมื่อเครื่องบิน B-29 ป้อมบินขนาดหนักที่ในตัวเครื่องปรับความดันได้ (Pressurized) ที่ได้ทดลองบินครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 ประสบผลสำเร็จด้วยดี ได้รับการปรับและพัฒนาจนเข้าสู่สายการผลิต และออกมาก่อนปลายสงคราม ญี่ปุ่นเองยังถูกทำลายย่อยยับ เครื่องบินไทยก็ยากที่จะไต่เพดานบินขึ้นไปต่อกรด้วย

วันที่ 30 พฤษภาคม เครื่องบินมาโจมตีเรือที่จอดในอ่าวสัตหีบ เรือในอ่าวและปืนบนฝั่งได้รวมกำลังกันยิงต่อสู้เครื่องบิน ไม่มีเรือได้รับอันตราย

ทว่าถัดมา 2 วัน คือ วันที่ 1 มิถุนายน 2488 เครื่องบินมาโจมตี มุ่งตรงยังเรือต่างๆ ที่แยกย้ายกันจอด ร.ล.ท่าจีน เรือสลูปถูกระเบิดตัวเรือเสียหายมาก ต่อมาต้องปลดประจำการ

ยังมีความเสียหายจากข้าศึก นอกจากทุ่นระเบิดและเครื่องบินทิ้งระเบิดแล้วยังมีเรือลำเลียงขนาด 500 ตันขึ้นไปจะถูกเรือดำน้ำโจมตีด้วยตอร์ปิโด ส่วนเรือเล็กลงมาจนถึงเรือใบชาวบ้าน เรือดำน้ำจะลอยลำขึ้นยิงด้วยปืนใหญ่ประจำเรือ ทางอันดามันมีราว 40 ลำ กับทางฝั่งอ่าวไทยอีกร่วม 50 ลำ ที่เป็นตัวเลขทางการ จึงก่อให้เกิดการขาดแคลนเสบียงอาหารเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้นช่วงปลายสงครามเดือนสองเดือนสุดท้ายก่อนการทิ้งระเบิดปรมาณู คนไทยไม่น้อยที่อยู่ในแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ ได้ชื่อว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว ต้องประสบกับภาวะอดอยากขาดแคลน เพราะถูกตัดเส้นทางคมนาคม มีกองทัพญี่ปุ่นมาแย่งกินแย่งใช้อยู่บ้าง แต่ด้านพลังงาน เรานำเข้าน้ำมันไม่ได้และที่ขนมาได้แต่ขนส่งแจกจ่ายไม่ได้ วัตถุดิบและสารเคมีทำหัวไม้ขีดไฟก็นำเข้าไม่ได้เพราะถูกทุ่นระเบิดปิดอ่าว คนไทยปลายสงครามต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบมนุษย์ยุคหินหรือคนติดเกาะ

 


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก มนต์ชัย ราบรื่นทวีสุข. “เมื่อไทยเผชิญสงครามตัดกำลัง” ใน, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2564


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มีนาคม 2565