เสลี่ยงปริศนา ที่วัดท่าพูด หรือจะเป็นของโบราณที่พระเจ้าตาก ถวายเป็นพุทธบูชา?

เสลี่ยงปริศนา ในพิพิธภัณฑ์วัดท่าพูด จังหวัดนครปฐม ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับพฤษภาคม 2550

ถ้าใครได้มีโอกาสไปเที่ยวแถวๆ ตลาดน้ำวัดดอนหวายที่จังหวัดนครปฐม ลองขับรถเลยไปอีกไม่ไกลนักก็จะถึง วัดท่าพูด อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน เป็นวัดเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่วัดนี้มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน และสิ่งของที่ได้พระราชทานไว้ให้แก่อดีตเจ้าอาวาส

วัดท่าพูด : วัดที่ “เจตภูต” กับ “แมงดาวเรือง” สร้าง

ตามตำนานที่ชาวบ้านเล่าสืบกันมานั้นเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งมีพี่น้องสองคนนั่งพิงกันอยู่ใกล้จอมปลวกใหญ่ เมื่อพี่ชายนอนหลับไป น้องชายมองเห็นแมงดาวเรือง (แมงคาเรือง) [1] คลานออกมาจากจมูกของพี่ชาย แล้วคลานหายเข้าไปในจอมปลวก

ต่อมาน้องชายก็นอนหลับไปเช่นกันและฝันไปว่ามีเจตภูตมาบอกทางไปขุมทรัพย์ในภูเขา เพื่อให้ขุดไปขายแล้วนำเงินมาสร้างวัด เมื่อสะดุ้งตื่นขึ้นมาจึงเล่าให้พี่ชายฟัง จากนั้นจึงออกตามหาขุมทรัพย์ แต่ก็ไม่พบ ภายหลังจึงได้นึกถึงจอมปลวกที่พวกตนนอนพิงอยู่ ทั้งแมงดาวเรืองก็คลานหายเข้าไปในจอมปลวก จึงลองขุดจอมปลวกดู พบทรัพย์สมบัติมากมาย

สองพี่น้องจึงนำไปขายและนำเงินที่ได้ไปสร้างวัดตามที่เจตภูตได้สั่งไว้ในความฝัน จากนั้นสองพี่น้องจึงเดินทางหาที่สร้างวัด ได้พบกับทางสามแพร่งแห่งหนึ่งมองดูเหมาะสมจึงได้สร้างวัด ณ ที่แห่งนั้น และได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดเจตภูต” เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเจตภูตที่มาเข้าฝันบอกให้สร้าง [2]

ส่วนประวัติในการสร้างวัดนั้นในหนังสือประวัติวัดท่าพูด กล่าวไว้ว่าวัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2275 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยไม่ได้กล่าวถึงหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันประวัติการสร้างดังกล่าว แต่หลักฐานที่เก่าที่สุดที่พบคือจารึกบนแผ่นอิฐมอญ

แผ่นอิฐมอญจารึกนี้มี 3 แผ่น ซึ่งอาจารย์เทิม มีเต็ม และอาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ กรมศิลปากร เป็นผู้อ่านจารึก แผ่นที่ 1 อ่านว่า “ปีมะเมีย” แผ่นที่ 2 อ่านว่า “ได้จุลศักราชพันร้อย” “ศก อุโบสถ” แผ่นที่ 3 อ่านว่า “อิฐตาโค ตาดา”

อย่างไรก็ตาม หลักฐานจากจารึกแผ่นอิฐมอญนี้ ได้ระบุถึงปี จ.ศ. 1100 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2281 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยอยุธยาตอนปลาย

แผ่นอิฐนี้สันนิษฐานกันว่า น่าจะเป็นชิ้นส่วนของพระอุโบสถเดิมของวัดท่าพูด โดยการขุดดินขึ้นมาปั้นทำเป็นอิฐมอญเพื่อใช้ก่อผนังพระอุโบสถ และมีกลุ่มชาวบ้านช่วยดำเนินการสร้างจนแล้วเสร็จ [3]

อย่างไรก็ตามในหนังสือรับรองสภาพวัด ของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐม ที่ พศ 0025/324 รับรองว่าวัดท่าพูด “ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2275 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2301” ซึ่งถ้าหากเชื่อถือตามนี้ ปัจจุบัน (พฤษภาคม พ.ศ. 2550-กองบรรณาธิการ) วัดท่าพูดจะมีอายุถึง 275 ปี ซึ่งถือเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในย่านนี้

“หลวงพ่อรด” วัดท่าพูด : พระราชาคณะอยุธยาที่หนีพม่ามาเมืองนครไชยศรี?

เอื้อน วาราชนนท์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนวัดท่าพูด ได้บันทึกประวัติวัดท่าพูดในช่วงที่เสียกรุงครั้งที่ 2 ไว้ว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ประชาชนตลอดจนสมณชีพราหมณ์ก็ได้หลบหนีภัยสงครามไปตามที่ต่างๆ ในจำนวนนี้มีพระราชาคณะร่วมมาด้วยรูปหนึ่ง ชาวกรุงศรีอยุธยาเรียกท่านว่า พระอาจารย์รด” [4]

คณะของท่านได้หนีมาบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน [5] เนื่องจากพม่าไม่ชำนาญเดินทัพมาบริเวณนี้ เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณบ้านกระทุ่มล้ม แขวงเมืองนครไชยศรี (เขตอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม) จึงพร้อมใจกันตั้งหลักฐานบริเวณนั้น และได้ช่วยกันสร้างสำนักสงฆ์ชั่วคราวขึ้น เรียกว่า “หนองตารด” ตามชื่อพระอาจารย์รด และเนื่องจากที่กลางทุ่งนาแห่งนี้เป็นที่ดอน จึงได้ช่วยกันขุดสระขนาดใหญ่ขึ้นแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเรียกกันว่า “หนองรี” หรือ “หนองตาผี” หรือ “ดอนชุมนุม” ห่างจากวัดท่าพูดไปประมาณ 2 กิโลเมตร

ขณะนั้นวัดท่าพูดไม่มีพระภิกษุจำพรรษา เมื่อชาวบ้านทราบข่าวว่ามีพระอยุธยามาจึงไปอาราธนาให้มาจำพรรษาที่วัดท่าพูดนี้สืบไป “พระอาจารย์รด” รับอาราธนาเป็นเจ้าอธิการวัดท่าพูดตามคำขอร้องของชาวบ้าน ส่วนชาวบ้านจากอยุธยาที่ติดตามมาก็ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบบริเวณวัดนี้

นอกจากนี้ยังเล่ากันอีกว่า เมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินได้มีพระราชโองการให้เสาะหาพระราชาคณะที่หลบหนีภัยสงครามไปตามที่ต่างๆ ให้เข้ามาในพระนครกรุงธนบุรีเพื่อจะได้ช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญต่อไป

ครั้งนั้นทางการได้ทราบข่าวพระอาจารย์รดว่ามาจำพรรษาที่วัดท่าพูด จึงอาราธนาให้ไปจำพรรษาในพระนคร แต่พระอาจารย์รดปฏิเสธ เนื่องจากรับอาราธนาชาวบ้านท่าพูดแล้ว ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเรือกัญญา 2 ลำ คานหาม 1 องค์ กระโถนและกาน้ำลายเทพพนมอย่างละ 1 ชุด ถวายประดับเกียรติยศพระอาจารย์รด [6]

เรื่อง “พระอาจารย์รด” นี้ เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนได้พยายามสอบค้นกับเอกสารต่างๆ ก็ยังไม่พบชื่อ “พระอาจารย์รด” ในทำเนียบพระสงฆ์ในกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตามเรื่องความสำคัญของพระราชาคณะรูปนี้ ดูจะมีเค้าลางที่เป็นไปได้ เนื่องจากมีการพบหลักฐานซึ่งเป็นโบราณวัตถุสำคัญๆ มากมาย รวมถึงพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมุดไทยจำนวนมาก ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าวัดนี้น่าจะเคยเป็นวัดที่มีบุคคลสำคัญมาอยู่หรือเคยปกครองมาก่อน

เสลี่ยงเจ้าปัญหา เรือกัญญา และพญาตาก

สัญญา สุดล้ำเลิศ แห่งโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา ผู้ริเริ่มศึกษาค้นคว้า “เสลี่ยง” หรือที่อาจารย์สัญญาเรียกว่า “พระยานมาศ” โดยศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ ผลการศึกษาเทียบเคียงกับงานศิลปกรรมสมัยต่างๆ พบว่า พระยานมาศของวัดท่าพูดน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง ราว พ.ศ. 2089-2199 หรืออายุประมาณ 400 ปี

และยังได้ตั้งข้อสันนิษฐานได้น่าสนใจว่า เสลี่ยงคันนี้น่าจะสร้างขึ้นในช่วงอยุธยาตอนกลางและสมเด็จพระเจ้าตากสินได้พระราชทานให้หลวงพ่อรดในคราวที่โปรดให้ประชุมพระราชาคณะที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังฯ) ในตอนต้นรัชกาล รวมทั้งยังเกี่ยวโยงกับสถานะของพระอาจารย์รดที่อาจเป็นพระราชาคณะชั้นสูงที่ผูกพันกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน หรืออาจเป็นถึงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่นำราษฎรหนีมาพร้อมกับเรือกัญญา 2 ลำ ก็อาจเป็นได้

อย่างไรก็ตามผู้เขียนมีความเห็นในแง่มุมที่ต่างไปจากความคิดข้างต้น กล่าวคือเสลี่ยงคันนี้น่าจะได้รับพระราชทานจากเจ้านายเชื้อพระวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง (ซึ่งรวมถึงสมเด็จพระเจ้าตากสิน) ที่ถวายเป็นพุทธบูชามหากุศลตามอย่างบุรพมหาจักรพรรดิราชที่ทรงกระทำสืบมาแต่ก่อน อันเนื่องมาแต่พระราชศรัทธาที่ทรงมีต่อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัด มากกว่าที่จะพระราชทานแก่หลวงพ่อรดโดยตรง

เหตุที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากเสลี่ยงของวัดท่าพูดคันนี้ มีฐานถึง 5 ชั้น ฐานแต่ละชั้นยิ่งสูงพื้นจะยิ่งแคบ ไม่น่าจะเหมาะกับการนั่ง (ไม่ว่าจะนั่งห้อยขา หรือนั่งขัดสมาธิพื้นราบ) ซึ่งต่างจากเสลี่ยง หรือพระยานมาศทั่วไปที่ฐานแต่ละชั้น พื้นจะมีขนาดใกล้เคียงกัน การที่สร้างให้ฐานมีความลดหลั่นกันลงมานั้น ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า เสลี่ยงนี้น่าจะใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญเพื่อเป็นเครื่องสักการะประดับเกียรติ หรือใช้แห่แหนในโอกาสสำคัญมากกว่า

อนึ่ง ในบรรดาพระเสลี่ยงที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันนั้น มีพระเสลี่ยงคันหนึ่งที่ใช้สำหรับเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชอ่านพระอภิธรรมนำพระโกศพระบรมศพ เรียกว่า “พระเสลี่ยงกลีบบัว” แสดงว่าธรรมเนียมการสร้างพระเสลี่ยงสำหรับพระราชทานพระราชาคณะมีมานานแล้ว และหากเสลี่ยงองค์ที่วัดท่าพูดจะพระราชทานแก่หลวงพ่อรดจริง ก็น่าจะมีเค้าใกล้เคียงกับ “พระเสลี่ยงกลีบบัว” นี้ แต่ปรากฏว่าทั้งขนาด ลวดลาย จำนวนชั้นฐานก็ไม่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะชั้นฐานของเสลี่ยงที่วัดท่าพูดนั้นฐานชั้นบนแคบกว่าฐานชั้นล่างมาก และสูงจนเกือบจะเป็นพระที่นั่ง หรือบัลลังก์

คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าเสลี่ยงนี้ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญจริงแล้ว พระพุทธรูปสำคัญของวัดท่าพูดคือพระอะไร?

ความจริงที่วัดท่าพูดนี้มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ถึง 2 องค์ องค์หนึ่งคือหลวงพ่อพระศรีสรรเพชญ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อเพชร และหลวงพ่อผลบุญ

ประวัติของพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์นี้ไม่กระจ่างชัดนัก ทราบกันแต่เพียงว่า ต่างก็เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหลวงพ่อพระศรีสรรเพชญ์นี้เป็นพระประธานในพระวิหารวัดท่าพูด ส่วนหลวงพ่อผลบุญ [7] นั้น เล่ากันว่าเป็นพระพุทธรูปประธานในกุฏิของหลวงพ่อรด หลวงพ่อผลบุญนี้เป็นเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมาไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร

ผู้เขียนสันนิษฐานว่า หลวงพ่อผลบุญนี้อาจเป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งในวัดสำคัญของกรุงศรีอยุธยา ในคราวที่บ้านเมืองมีภัยชาวบ้านจึงได้อาราธนามาด้วย และเมื่ออาราธนามาแล้วจึงยังคงรักษาไว้ในกุฏิหลวงพ่อรด ผู้เป็นเจ้าอธิการเพื่อความปลอดภัย

เสลี่ยงของวัดท่าพูด มีฐานถึง 5 ชั้น น่าจะใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญมากกว่า (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับพฤษภาคม 2550)

คำถามต่อมาก็คือ เพราะเหตุใดจึงต้องถวายเสลี่ยง? มูลเหตุของการถวายเสลี่ยงนี้ ถ้าเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นผู้ถวาย ก็มีมูลเหตุทั้งในเรื่องของพระราชศรัทธาที่ทรงมีต่อพระพุทธรูปสำคัญนี้ ซึ่งอาจเนื่องจากความผูกพัน ซึ่งวัดในอยุธยาที่ผูกพันกับสมเด็จพระเจ้าตากสินที่สุด เห็นจะเป็นวัดโกษาวาศน์ หรือวัดคลัง ปัจจุบันคือวัดเชิงท่า นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในเรื่องอภินิหารบรรพบุรุษ และปฐมวงศ์ ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเรียนหนังสือขอมไทย ทรงผนวชและจำพรรษาที่วัดนี้ ดังความปรากฏว่า

“…ครั้นนายสินค่อยเจริญใหญ่อายุศม์ได้ 9 ขวบแล้ว เจ้าพระยาจักรีจึ่งได้นำกุมารไปฝากไว้ ในสำนักนิ์พระอาจาริย์ทองดีมะหาเถร ณ วัดโกษาวาศน์ นัยะหนึ่งว่าวัดคลัง ครั้นนายสินเรียนหนังสือขอมไทยได้จนจบบริบูรณ์แล้ว จึ่งเรียนคัมภีร์พระไตรปิฎก สมควรกับคุณานุรูปชำนิชำนาญแล้ว จนอายุศม์ได้ 13 ปี…

…ครั้นอายุศม์นายสินได้ 21 ปี เจ้าพระยาจักรีจึ่งประกอบการอุปสมบทนายสินเปนพระภิกษุสงฆ์ อยู่ในสำนักนิ์อาจาริย์ทองดี ณ วัดโกษาวาศน์ ครั้นนายสินเปนพระภิกษุสงฆ์ได้สามพรรษาแล้ว ก็ลาสิกขาบทละเพศบรรพชิตศึกออกมาทำราชการดั่งเก่า…” [8]

ดังนั้นหากหลวงพ่อผลบุญนี้เป็นพระพุทธรูปที่อาราธนามาจากกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชศรัทธา ก็น่าจะเป็นพระพุทธรูปจากวัดโกษาวาศน์นี้ หรือถ้าเป็นแง่ของความศักดิ์สิทธิ์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสด็จฯ ผ่านและทรงกระทำสัจจาธิษฐานต่อหลวงพ่อพระศรีสรรเพชญ์ หรือหลวงพ่อผลบุญ แล้วจึงอุทิศเครื่องราชูปโภคนี้ถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นก็ไม่ใคร่จะมั่นคงนัก รวมถึงเหตุการณ์ที่บั่นทอนกำลังใจ เช่น เรื่องคำทำนายของมหาโสภิตะเกี่ยวกับการล่มสลายของกรุงธนบุรี ก็มีเป็นไปได้

อนึ่งการถวายเครื่องราชูปโภคโดยเฉพาะ “เสลี่ยง” เป็นพุทธบูชานั้นมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยแล้ว ในจารึกแผ่นทองแดงอู่ทอง ซึ่งสันนิษฐานว่า จารึกแผ่นนี้อาจเป็นของพระเจ้าศรีหรรษวรมันที่ 1 ซึ่งครองราชย์ประมาณปี พ.ศ. 1453-65 กล่าวถึงพระเจ้าศรีหรรษวรมัน ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าศรีอีศานวรมัน ได้ทรงขึ้นครองราชย์ และได้ส่งเสลี่ยงที่ประดับด้วยเพชรพลอย และคณะดนตรีฟ้อนรำ ถวายแด่เทพเจ้า ความตอนหนึ่งว่า

“…พระเจ้าศรีหรรษวรมเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าศรีอีศานวรมผู้ทรงพระเกียรติอันแผ่ไปทั่ว ได้รับสิงหาสนะ มาโดยลำดับ พระองค์ได้ส่งสีวิกา อันประดับด้วยรัตนะเป็นต้น พร้อมด้วยฟ้อนรำ และดนตรีเป็นอาทิ เป็นทักษิณาถวายแด่พระศรีมัตอัมราตเกศวร…” [9]

ในจารึกปราสาทหินพระวิหาร 2 สร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 มหาศักราช 1043 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1664 ความตอนหนึ่งกล่าวถึงภควัตบาทกัมรเตงอัญดคุรุศรีทิวากรบัญฑิตที่ได้ถวายทรัพย์ สิ่งของ และทาสแก่เทวสถานแต่ละแห่งเป็นจำนวนมาก [10]

“…(พระราชาได้ทรงศึกษา) บรรดาศาสตร์ทั้งปวง เป็นต้นว่า ศาสตร์อันลึกลับ ทรงทำมหรสพเพื่อฉลองการสำเร็จศาสตร์ ทรงถวายทักษิณา…ทรงถวายเสลี่ยงทอง ซึ่งประดับด้วยรูปพระยานาค 5 เศียร พัดขนนกยูงด้ามทอง 2 อัน ฉัตร…(ทรัพย์) ที่เป็นรัตนะ ซึ่งเป็นของที่ควรถวายไว้ เป็นต้นว่า มงกุฎ กุณฑล ตุ้มหู สายสร้อย กำไลมือ…แหวนนพรัตน์ พาน ถ้วย กระโถน แก้วน้ำ เครื่องนุ่งห่ม หม้อทอง…แด่ภควัตบาทกัมรเตงอัญ…”

ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินเอง ก็มีพระราชศรัทธา พระราชอุทิศเครื่องราชูปโภคถวายเป็นพุทธบูชาอยู่หลายคราว อาทิ ในคราวที่เสด็จไปสมโภชพระมหาธาตุพระฝาง และคราวเสด็จไปทรงเจริญกรรมฐานที่วัดบางยี่เรือ มีใจความว่า

“…ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน 11 แรม 10 ค่ำ จึงเสด็จดำเนินไปยังเมืองสวางคบุรี กระทำการสมโภชพระมหาธาตุสามวันแล้ว เปลื้องพระภูษาทรง สพักออกจากพระองค์ทรงพระมหาธาตุแล้วให้ปฏิสังขรณ์พระอารามและพระมหาธาตุให้บริบูรณ์ดังเก่า… [11]

ครั้นถึง ณ วันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนอ้าย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาเสด็จไปทรงเจริญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถ วัดบางยี่เรือใต้ แล้วทรงพระราชอุทิศถวายเรือโขมดยาปิดทองทึบลำหนึ่ง หลังคาบัลลังก์ดาดสีสักหลาดเหลืองคนพายสิบคน…”

ส่วนเรือกัญญาและกระโถนเบญจรงค์ หรือเครื่องถมปัด ที่เชื่อกันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินได้พระราชทานในคราวเดียวกันกับเสลี่ยงนั้น ก็อาจมีความเป็นไปได้ หรืออาจเป็นสิ่งที่ได้รับมอบ หรือได้รับพระราชทานในคราวอื่นๆ ต่างกรรมต่างวาระกันก็อาจเป็นได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะวัดท่าพูดก็ยังคงมีความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องนับแต่สมัยหลวงพ่อรดมา สังเกตได้จากการสร้างเสนาสนะ ศาสนสถานต่างๆ เช่น จุฬามณีเจดีย์ พระอุโบสถเดิม ที่มีความงดงามวิจิตร เกินไปกว่าความเป็น “วัดบ้านนอกธรรมดาๆ”

วัดท่าพูดนี้จึงน่าจะเป็นวัดสำคัญในสมัยโบราณ นอกจากนี้ในฐานข้อมูลรายชื่อวรรณกรรมท้องถิ่นภาคตะวันตก ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พบว่า ที่วัดท่าพูดนี้ ปัจจุบันมีสมุดไทยโบราณหลงเหลืออยู่ถึง 56 ฉบับ ในจำนวนนั้น มีพระธรรมเทศนา วรรณคดี ตำรายา ตำนานทางพระพุทธศาสนา และกฎหมาย ซึ่งจะเห็นว่าเป็นเอกสารสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมาย

วัดท่าพูด และโบราณวัตถุอันเป็นสมบัติของวัด ล้วนมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ แม้จะยังไม่กระจ่างชัดก็ตาม การศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องจะช่วยสร้างพลังและปลุกกระแสสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ ช่วยให้ต่อมอนุรักษ์วัฒนธรรมได้ปูดโปนขึ้น สิ่งนี้จะช่วยนำพาให้ศิลปวัฒนธรรมของชาติคงอยู่ต่อไปได้ไม่สิ้นสูญ

ขอขอบคุณพระครูวรดิตถานุยุต เจ้าอาวาสวัดท่าพูด อาจารย์ชนกพร พัวพัฒนกุล อาจารย์เขมฤทัย บุญวรรณ อาจารย์เสกสันต์ ผลวัฒนะ คุณศิริธัญ ระรื่นรมย์

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของ “แมงคาเรือง” ไว้ว่า หมายถึง “น. ชื่อตะเข็บชนิดที่ตัวเรืองแสงเมื่ออยู่ในที่มืด ส่วนใหญ่อยู่ในสกุล Geophilus วงศ์ Geophilidae เช่น G. phosphoreus, G. electricus ขนาดเล็กเท่าก้านไม้ขีด ยาว 3.5-4.5 เซนติเมตร มีจำนวนปล้อง 30-60 ปล้อง หรือมากกว่า ขายาวกว่าความยาวของปล้องมาก อาศัยอยู่ตามที่รกรุงรัง กองขยะมูลฝอย ฯลฯ แมงคา ก็เรียก.”

[2] เอื้อน วาราชนนท์. “ประวัติวัดท่าพูด,” ใน ที่ระลึกได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์และมุทิตาสักการะพระครูวรดิตถานุยุต จร.ทช. (นครปฐม : คณะกรรมการวัดท่าพูด, 2548), น. 52.

[3] สัญญา สุดล้ำเลิศ. “จารึกบนแผ่นอิฐมอญ วัดท่าพูด,” ใน ที่ระลึกได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์และมุทิตาสักการะพระครูวรดิตถานุยุต จร.ทช. (นครปฐม : คณะกรรมการวัดท่าพูด, 2548), น. 61-62.

[4] ผู้เขียนได้ตรวจสอบกับรายชื่อพระราชาคณะในสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว พบว่ามีการบันทึกเฉพาะสมณศักดิ์เท่านั้น ไม่มีการบันทึกนามเดิมแต่อย่างใด จึงไม่อาจสอบค้นได้ว่าพระอาจารย์รดนี้คือพระราชาคณะรูปใดในกรุงศรีอยุธยา

[5] ในคราวที่พระอาจารย์รดหนีมานี้เล่ากันว่าได้ขนเอาตำรับตำราต่างๆ ติดมาด้วย ซึ่งตำราเหล่านี้ภายหลังหลวงพ่อแก้วได้เรียนรู้ จนกลายเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และได้พบกับกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ในสมัยต่อมา

[6] เอื้อน วาราชนนท์. “ประวัติวัดท่าพูด,” ใน ที่ระลึกได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์และมุทิตาสักการะพระครูวรดิตถานุยุต จร.ทช. (นครปฐม : คณะกรรมการวัดท่าพูด, 2548), น. 52-53.

[7] เป็นชื่อที่ชาวบ้านตั้งขึ้นในภายหลังตามวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์รด

[8] สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. บุญเตือน ศรีวรพจน์ ชำระต้นฉบับ. อภินิหารบรรพบุรุษ และปฐมวงศ์. (กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2548), น. 3-6.

[9] จารึกในประเทศไทย เล่ม 1. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), น. 225-228.

[10] จารึกในประเทศไทย เล่ม 4. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), น. 77-95.

[11] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2548), น. 179.

รายการอ้างอิง :

กรมศิลปากร. เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2539.

จารึกในประเทศไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529.

จารึกในประเทศไทย เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529.

จารึกในประเทศไทย เล่ม 4. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529.

ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์. พระพุทธศาสนาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช. กรุงเทพฯ : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527.

ตรงใจ หุตางกูร และนวพรรณ ภัทรมูล. โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2547.

ประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2523.

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2548.

ที่ระลึกได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์และมุทิตาสักการะพระครูวรดิตถานุยุต จร.ทช. นครปฐม : คณะกรรมการวัดท่าพูด, 2548.

สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. บุญเตือน ศรีวรพจน์ ชำระต้นฉบับ. อภินิหารบรรพบุรุษ และปฐมวงศ์. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2545.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เสลี่ยงปริศนา กับศรัทธาพระเจ้าตาก : ข้อสันนิษฐานว่าด้วยที่มาของเสลี่ยง ‘หลวงพ่อรด’ วัดท่าพูด นครปฐม” เขียนโดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2565