Marie “เจ้าหญิงฝรั่งเศส” ในพงศาวดารรัชกาลที่ 5 เป็น “นางฟ้า” หรือ “สายลับ”?

พระราชวงศ์เดนมาร์ก เจ้าชายวัลเดอมาร์และมารี ยืนอยู่ด้านขวาสุด

ในปี พ.ศ. 2440 ที่โต๊ะเสวยอันทรงเกียรติของพระราชวังอามาเลียงบอค ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประทับเป็นประธานอยู่ด้วยเจ้านายชั้นสูง มีอาทิ พระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์ก พระเจ้าแผ่นดินกรีก และพระเจ้าแผ่นดินสยาม เจ้าหญิงองค์หนึ่งทรงถามพระเจ้ากรุงสยามขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า “จริงหรือที่เขาว่าฝ่าบาทมองหาภรรยาอยู่ตลอดเวลา”

พระเจ้ากรุงสยามผู้ทรงมีเมตตาตรัสตอบอย่างนุ่มนวลว่า “อาจจะจริง แต่คงไม่ตลอดไป ถ้าข้าพเจ้าได้พบสุภาพสตรีผู้เลอโฉมอย่างท่านเสียก่อน” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าพระราชทานถึงความแก่นกล้าของเจ้าหญิงองค์นั้นให้สมเด็จพระราชินีฟังในภายหลังว่า “คุ้นกับมารีแล้ว เปนคนสนุกสนานช่างยั่วช่างเล่น สำบัดสำนวนตัดพ้อฉันค่อนจะอยู่ข้างเปนพระ (อภัย) มณี คุยเล่นอยู่จนบ่าย 3 โมง”[8]

เจ้าหญิงองค์นั้นเป็นราชนิกุลฝรั่งเศส มีเชื้อสายมาจากกษัตริย์ฝรั่งเศสสายราชวงศ์ออเล-อง ชาวราชนิกุลนี้มีความกล้าบ้าบิ่นเป็นวิสัยติดตัวมาแทบทุกลำดับชั้น เช่น พระเจ้าหลุยส์ฟิลิป พระอัยกาของเจ้าหญิงองค์นั้น ก็เคยแสดงความกล้าหาญ โดยออกเสียงชี้ขาดให้ตัดสินประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ผู้ก่อความวุ่นวายให้บ้านเมืองมาแล้ว เจ้าหญิงฝีปากกล้าองค์นั้นมีพระนามว่า Princess Marie Amilie Francoise Helene ในเวลาต่อมาจะเป็นผู้มีบทบาทไม่น้อย ในฐานะผู้สร้างกระแสทางการเมืองระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม จนถึงขั้นปลุกระดมในบางครั้ง

คำพังเพยที่ว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร สามารถนำมาใช้กับเจ้าหญิงมารี (ต่อไปจะเรียกมารี) ได้เสมอ เพราะถึงแม้เธอจะเป็นหอกข้างแคร่ ที่สร้างความรำคาญใจอยู่เสมอก็ตาม ความเป็นฝรั่งเศสที่น่าหวาดระแวงในตัวเธอก็ยังพอมีอิทธิพลทางการเมืองแฝงอยู่มาก เพราะมารีเป็นถึงพระชายาของเจ้าชายวัลเดอมาร์แห่งเดนมาร์ก ผู้เป็นพระสหายสนิทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้พระองค์ต้องทรงปฏิบัติต่อเธออย่างบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นตลอดเวลา

ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักเดนมาร์กกับราชสำนักสยามดำเนินมาช้านานตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๕ การจัดส่งพระราชโอรสไปศึกษาหาความรู้ในทวีปยุโรป เป็นพระบรมราโชบายระยะยาวของพระเจ้าอยู่หัวในอันที่จะให้พระโอรสกลับมาเป็นกำลังสำคัญของชาติ และที่สำคัญจะได้ปลูกมิตรภาพกับเจ้านายในราชสำนักต่างๆ ในความเข้าใจของคนไทย อังกฤษ รัสเซีย และเยอรมนี เป็นที่ตั้งของราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น ทว่ายังมีพระโอรสอยู่พระองค์หนึ่ง ที่ทรงสำเร็จวิชาการทหารกลับมาเป็นพระองค์แรกจากราชสำนัก “โนเนม” ที่คนไทยมองข้ามคือเดนมาร์ก ซึ่งไม่ใช่มหาอำนาจอันดับหนึ่งเลย

แต่ในมุมมองที่ซ่อนเร้น เดนมาร์กเป็นเสาหลักของราชวงศ์ยุโรปในทัศนะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และจะเป็นองค์ประกอบหลักของเรื่องนี้ มีผลทำให้ปัจจัยอื่นๆ ติดตามมา การที่เจ้าหญิงฝรั่งเศสทรงเข้ามาคลุกคลีอยู่ในราชวงศ์เดนมาร์กจึงเป็นเรื่องแปลก และแปลกเข้าไปอีกเมื่อเธอทรงเกี่ยวข้องกับสยามผ่านทางราชวงศ์เดนมาร์ก

มารีซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง ยังไม่แสดงตัวออกมาชัดเจนนักในระยะแรก แต่สายใยที่เกิดจากความผูกพันระหว่างสองพระราชวงศ์จะเป็นแม่เหล็กที่ดึงเธอเข้ามาในภายหลัง ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจนำการเมือง และจะได้อธิบายต่อไป

ช่องทางของชาวยุโรปที่ใช้เป็นหนทางเข้าสู่เอเชีย เกิดจากการที่ควีนอลิซาเบธที่ 1 พระราชินีอังกฤษทรงเริ่มขยายอิทธิพลเข้าไปในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกขึ้นบังหน้าเพื่อดูแลการค้าขาย แต่โดยความมุ่งหวังทางจักรวรรดินิยมแล้วมีไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของอังกฤษมากกว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มหาอำนาจยุโรปมิได้แก่งแย่งชิงดีกันเฉพาะแสวงหาอาณานิคมเท่านั้น ยังแข่งขันกันเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ขนาดราชอาณาจักรเดนมาร์ก ซึ่งเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ก็ยังมีความทะเยอทะยานที่จะสร้างเขตอิทธิพลของตนเองทางด้านพาณิชย์นาวี ชัยภูมิที่วิเศษของเดนมาร์ก ซึ่งมีทะเลใหญ่ขนาบอยู่ทั้ง 2 ด้าน คือทะเลเหนือ (North Sea) ทางตะวันตก และทะเลบอลติก (Baltic Sea) ทางตะวันออก เอื้ออำนวยให้กรุงโคเปนเฮเกนนครหลวง กลายเป็นศูนย์กลางการค้าและเดินเรือของประเทศแถบยุโรปเหนือที่เรียกว่าสแกนดิเนเวียทั้งหมด กษัตริย์เดนมาร์กจัดตั้งบริษัทอีสต์เอเชียติกขึ้น ทำนองเดียวกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ และในเวลาอันรวดเร็วได้พัฒนาตนเองขึ้นเป็นคู่แข่งทางการค้าที่น่าเกรงขามของอังกฤษ

นอกจากภาพพจน์ของผู้แทนการค้าใหม่ในยุโรปแล้ว กิตติศัพท์ในการเป็นชาตินักเดินเรือชั้นหนึ่งของโลก และการที่เดนมาร์กไม่มีนโยบายสร้างอาณานิคม เป็นภาพพจน์สำคัญที่ทำให้เดนมาร์กผงาดขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ถึงแม้จะเป็นรองอยู่บ้างก็ตาม แต่ในมุมกลับ เดนมาร์กซึ่งไม่มีนโยบายเกี่ยวกับอาณานิคมเลย ย่อมไม่ใช้ความกดดันทางการเมือง ทำให้เกิดความหวาดระแวงในความรู้สึกของชาวตะวันออก จึงมักจะได้รับการต้อนรับด้วยท่าทีที่เป็นมิตรมากกว่าชาวตะวันตกอื่นๆ ผลที่ตามมาคือ การตอบสนองด้านผลประโยชน์ทางการค้าและอนาคตที่สดใสกว่าทางการเมืองในระยะยาว

ภาพลักษณ์สำคัญอีกข้อหนึ่งที่ทำให้เดนมาร์กได้รับความเกรงใจจากประเทศยุโรปด้วยกันคือ “เหตุผลทางเครือญาติ” ในระหว่างพระราชวงศ์ยุโรปด้วยกัน พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 พระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์ก ทรงได้สมญานามว่าพ่อตาของยุโรป จากการที่ทรงมีพระราชธิดาผู้ทรงสิริโฉมถึง 2 พระองค์ คือเจ้าหญิงดัคมาร์และเจ้าหญิงอเล็กซานดรา ต่อมาได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระราชินีของผู้นำประเทศมหาอำนาจยุโรปถึง 2 ประเทศ คือพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ของอังกฤษ ตามลำดับ

นอกจากนั้นพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 ยังเป็นพระบรมราชชนกของกษัตริย์อีก 2 พระองค์ คือพระเจ้าเฟเดอริกที่ 8 แห่งเดนมาร์ก และพระเจ้ายอร์จที่ 1 แห่งกรีก แล้วยังเป็นพระอัยกาของกษัตริย์อีก 3 พระองค์ คือพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย พระเจ้ายอร์จที่ 5 แห่งอังกฤษ และพระเจ้าฮากอนที่ 7 แห่งนอร์เวย์ อีกนัยหนึ่งคือไม่เคยมีกษัตริย์ยุโรปพระองค์ไหนจะทรงเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของราชสำนักยุโรปมากเท่าพระองค์ในสมัยนั้น[11]

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีโอกาสได้ผูกสัมพันธ์กับพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 ทำให้ทรงแน่พระทัยว่า ราชวงศ์ยุโรปจะเป็นที่พึ่งได้ในวันข้างหน้า ทรงอธิบายความรู้สึกนี้ให้พระราชินีฟังว่า

“เวลาจะจากไว้อาลัยกันมาก กอดซบหน้าและจูบกันทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ กิง (พระเจ้าคริสเตียนที่ 9) แลกวีนบอกฉันว่ารักเต็มที่แล้ว ตัวคงจะไม่อยู่นาน แต่ดีใจที่ฉันได้รู้จักกับลูกหลานเปนอันได้เปนมิตรกันทั้ง 3 ชั่วคนแล้ว และถ้าได้ไปเมืองอิงค์แลนด์แลกรีก ก็จะได้พบหมดสิ้นทั้งครัวเรือน” (8) ความอาลัยอาวรณ์ซึ่งมีอยู่ในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นได้แม้ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ซึ่งห่างจากครั้งแรกถึง 10 ปี และพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 ได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว “รู้สึกสบายเพราะคุ้นเหมือนบ้าน แต่จะห้ามความรู้สึกคิดถึงเจ้าแผ่นดินและพระมเหษีที่สิ้นพระชนม์ไม่ได้ เพราะจำได้ว่าเคยนั่งด้วยกันตรงนั้น เคยพูดเช่นนั้น แลเล่นไพ่ตรงนั้น” และอีกครั้งหนึ่งตรัสว่า “ความพร้อมเพรียงในฉันพี่น้อง ถึงว่าเจ้าแผ่นดินและพระมเหษีองค์ก่อนล่วงไปแล้ว ทายกันว่าจะไม่ดีเหมือนแต่ก่อนนั้น ดูยังมีอยู่มาก เชื้อเก่าที่ท่านทั้งสองนั้นผูกพันไว้ ยังเป็นการมั่นคงอยู่”[5]

กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช รัชกาลที่ ๕ ทรงส่งไปเป็นโอรสบุญธรรมของกษัตริย์เดนมาร์ก

และด้วยสาเหตุนี้ จึงได้ทรงตัดสินพระทัยส่งหนึ่งในพระโอรสรุ่นใหญ่ที่จะไปยุโรปให้ไปยังราชสำนักเดนมาร์ก ดังบันทึกในพระราชประวัติของกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เล่าไว้ว่า

“ส่วนกรมหลวงนครไชยศรีฯ นั้น ทรงกำหนดให้ศึกษาวิชาฝ่ายทหาร ในเวลานั้นสมเด็จพระเจ้าคฤศเตียนที่ 9 เสวยราชย์อยู่ในประเทศเดนมารค เปนที่ชอบชิดสนิทกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบว่าจะส่งพระเจ้าลูกเธอออกไปเล่าเรียนในยุโรป ได้ทูลมาว่า ถ้าจะโปรดให้เสด็จไปยังประเทศเดนมารคบ้าง ก็จะทรงยินดีรับเปนพระธุระอุปการะ ประกอบกับที่ได้ทรงทราบว่า ในเดนมารคการฝึกทหารนับว่าเปนอย่างดี และใช้ลักษณะการเกณฑ์ทหาร ชายชาวเมืองต้องเปนทหารทั่วไป จึงมีพระราชประสงค์จะโปรดให้กรมหลวงนครไชยศรีฯ ไปเรียนวิชาทหารที่นั่น

ในเวลาที่เล่าเรียนอยู่ในประเทศเดนมารคนั้น ทั้งสมเด็จพระเจ้าคฤศเตียนและพระมเหษี ทรงพระเมตตาสนิทสนมกับกรมหลวงนครไชยศรีฯ เหมือนอย่างกับเปนพระญาติวงษ์พระองค์ 1 เวลาว่างการเล่าเรียน โปรดให้ไปเฝ้าแลไปเสวยที่พระราชวังเปนนิตย์ ถึงเจ้านายในราชวงศ์เดนมารค ก็พากันชอบพอรักใคร่ทุกๆ พระองค์ แลประเทศเดนมารคนั้น เปนที่ประชุมเจ้านายในราชวงศ์รุสเซียและราชวงศ์อังกฤษ เพราะเหตุที่เกี่ยวดองเปนพระญาติวงษ์กับพระเจ้าคฤศเตียน เจ้านายมักประชุมกันที่วังเบินสตอฟเนืองๆ กรมหลวงนครไชยศรีฯ จึงคุ้นเคยชอบพอกับเจ้านายทั้ง 2 ประเทศนั้นมาก”[4]

ในระหว่างที่สัมพันธภาพดำเนินไปอย่างสนิทสนม พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 ได้ทรงแสดงท่าทีรุกคืบต่อพระราชวิเทโศบายของพระองค์กับสยาม ในปี พ.ศ. 2419 กัปตันอังเดร ริชลิว (Captain Andre du Plessis De Rechelieu) นายทหารเรือเดนมาร์กถือพระราชสาส์นพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 เข้ามาถวายตัวช่วยกิจการกองทัพเรือสยาม ตรงกับสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำลังปฏิรูปกองทัพเรือพอดี กัปตันริชลิวได้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่อย่างรวดเร็ว

อีก 6 ปีต่อมา เขาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงชลยุทธโยธิน กิจการทหารเรือเดนมาร์กฝังรากหยั่งลึกลงในกิจการทหารไทยอย่างที่สยามไม่เคยลิ้มรสมาก่อน พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระชลยุทธโยธินนำ ม.ร.ว.กลาง (ต่อมาเป็นพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ) และ ม.ร.ว.พิน (พลเรือตรี พระยานาวาพลพยุหรักษ์) ไปศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศเดนมาร์ก[9]

พระยาชลยุทธโยธิน คนเดนมาร์กที่มีหัวใจเป็นไทย

วีรกรรมที่โดดเด่นที่สุดทำให้ไทยเห็นกึ๋นชาวเดนมาร์ก เกิดขึ้นระหว่างวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เมื่อพระยาชลยุทธโยธินได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงในการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา และเขาได้บัญชาการให้ทหารไทยยิงสกัดกั้นการบุกรุกของเรือรบฝรั่งเศสไม่ให้รุกล้ำผ่านสันดอนเข้ามา เมื่อไม่สำเร็จและฝ่ายศัตรูนำเรือมุ่งเข้ากรุงเทพฯ เขาได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรีพุ่งเข้าชนเรือรบฝรั่งเศสเพื่อเผด็จศึก ในการต่อสู้ครั้งนั้นนายทหารเรือเดนมาร์กร่วมรบอยู่ด้วยถึง 11 นาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับใจในสปิริตของชาวเดนมาร์กมาก อีกหลายปีต่อมายังมีพระราชปรารภเกี่ยวกับสิทธิพิเศษที่ทรงเลือกใช้พวกเขาอย่างไม่เคยเสื่อมศรัทธาเลย

“เรื่องของกระทรวงกลาโหมนั้น เราได้ตั้งใจไว้เสียช้านานแล้วว่า หากว่าจะต้องการใช้ฝรั่ง จะไม่ใช้ชาติที่มีอำนาจใหญ่คืออังกฤษและฝรั่งเศส แต่จะใช้ชาติที่มีอำนาจชั้นที่ 2 คือพวกเดน (เดนมาร์ก) เท่านั้น”[6]

นอกจากความสำคัญทางการทหารที่ชาวเดนมาร์กได้รับความไว้วางพระทัยแล้ว ยังมีเหตุผลทางการเมืองอื่นๆ ที่ทำให้ “เสียง” ของชาวเดนมาร์กมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก เช่น เมื่อสยามต้องการทูลเชิญมกุฎราชกุมารนิโคลาสแห่งรัสเซียให้เสด็จมาเยือนสยามใน พ.ศ. 2434 และเมื่อสยามต้องการเสียงสนับสนุนในการชูนโยบายต่างประเทศ ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปทั้ง 2 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็จะทรงหยั่งเสียงจากราชวงศ์เดนมาร์กก่อนที่อื่น ทรงเชื่อว่ามันสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไปได้ เพราะพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 ทรงเป็นเสาหลักของราชสำนักยุโรปที่หลายประเทศเกรงพระทัย มีพระราชดำรัสอีกตอนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงพระทัยราชวงศ์เดนมาร์กอยู่มาก คือระหว่างที่ทรงพบปะเยี่ยมเยียนเชื้อพระวงศ์สายเดนมาร์ก-กรีก ซึ่งเป็นพ่อลูกกันอยู่ บังเอิญขณะนั้นกรีกทำสงครามอยู่กับตุรกี ทำให้ทรงตัดสินพระทัยถือหางข้างกรีก และเลือกที่จะไม่เสด็จไปตุรกี ก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง

“แต่เตอรกีเห็นเชิงจะไม่ดี ฉันมาอยู่ในหมู่ท่านพระญาติวงศ์ข้างกรีกทั้งนั้นท่านทรงเปรี้ยว (เกลียดชังกัน) กัน ฉันก็ต้องพลอยเปรี้ยวหงิดๆ ไปตาม เลยไม่คิดจะไปเพราะไม่มีประโยชน์อันใดนอกจากสนุก แต่ที่จริงก็มีใจสงสาร (ตุรกี) อยู่”[8]

พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 เคยทรงให้ท้ายนโยบายรุกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งหนึ่ง ด้วยคำถามที่ทำให้รัชกาลที่ 5 ต้องทรงอึ้งไปเหมือนกันว่า “ฉันจะขอถามว่าอ้ายฝรั่งเศสมันข่มขี่โดยไม่เปนยุติธรรม ทำไมจึงยอมให้มันข่มเหง?”[8]

๑ พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ ๓ แห่งรัสเซีย หลงกลลวงเจ้าหญิงมารีจนกลับตัวไม่ทัน, ๒ มารี เจ้าหญิงฝรั่งเศสผู้มีอิทธิพลในราชสำนักเดนมาร์ก, ๓ พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ ๓ กับพระมเหสีชาวเดนมาร์ก ทรงตรอมพระทัยเพราะน้องสะใภ้ชาวฝรั่งเศส ไม่ทรงหวนกลับไปเดนมาร์กอีกเลย จนเสด็จสวรรคต

นอกจากพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แล้ว เจ้าชายเดนมาร์กอีกพระองค์หนึ่งที่เป็นตัวชูโรงอย่างสม่ำเสมอ มีพระนามว่าเจ้าชายวัลเดอมาร์ (Prince Waldemar) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือชื่อเจ้าชีวิตว่า

“ประเทศไทยและเดนมาร์กติดต่อกันมามากในการค้าขาย บริษัทของเดนมาร์กชื่ออิสต์เอเชียติก ได้รับสัมปทานให้ทำไม้ทางเมืองเหนือ ทั้งทำการค้าขายอย่างอื่นๆ อีกมาก แม้แต่ในสมัยนั้นเจ้านายเดนมาร์กก็เข้าทำการค้าขายมาก่อนแล้วคือเจ้าชายวาลเดอมาร์ พระโอรสองค์สุดท้ายของพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 ฉะนั้นจึงเป็นพระอนุชาของควีนอะเล็กซานดราแห่งอังกฤษ และเอมเปรสมาเรียแห่งรุสเซีย เคยเสด็จมาเมืองไทยบ่อยๆ เกี่ยวกับการค้าขาย จนได้ทรงเป็นพระสหายสนิทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”[1]

เจ้าชายวัลเดอมาร์ไม่เหมือนกับนักธุรกิจเดนมาร์กทั่วๆ ไปที่เดินทางเข้าออกเมืองบางกอกเป็นว่าเล่นในยุคนั้น แต่พระองค์ทรงเป็นถึงผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัทอีสต์เอเชียติก ซึ่งมีการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ อย่างกว้างขวางอยู่ในสยามประเทศ พงศาวดารเดนมาร์กเล่มหนึ่งให้รายละเอียดผลประโยชน์อันมหาศาลของอีสต์เอเชียติกว่า ได้เข้ามารับสัมปทานใหญ่ๆ หลายโครงการ เช่น การเดินเรือ การทำป่าไม้ การทำเหมืองแร่ การโยธาสร้างสะพาน ถนน ขุดคูคลอง การไฟฟ้า การธนาคาร รถรางประจำทางใช้ม้าลาก และกิจการรถรางไฟฟ้า และ ฯลฯ ชาวสยามหันมาคบค้ากับชาวเดนมาร์กจนสนิทใจ เพราะสามารถประสานผลประโยชน์ร่วมกันทั้งการเมืองและทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี[10]

ทฤษฎีพันธมิตรซ้อนพันธมิตรที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นพระราชวิเทโศบายใหม่ที่ซับซ้อนแต่มีเหตุผล ในขณะที่ทรงสนับสนุนการแข่งขันทางจักรวรรดินิยมให้เกิดระบบคานอำนาจแบบสมดุลระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และเยอรมนี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเร่งส่งเสริมให้ชาติยุโรปที่มีนโยบายเป็นกลางอื่นๆ คือ เดนมาร์ก เบลเยียม และอิตาลี เข้ามามีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในสยามพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันภัยอีกทางหนึ่งด้วย

อังกฤษและรัสเซียเริ่มแข่งขันกันช่วงชิงอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง การที่สยามทาบทามราชวงศ์เดนมาร์ก ซึ่งเป็นพระญาติวงศ์ที่ใกล้ชิดกับผู้นำใน 2 ประเทศนี้มาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ความตึงเครียดผ่อนคลายลงไปมาก แต่กับเดนมาร์ก สัมพันธภาพที่ดำเนินอยู่ ก็ยังมีความแตกต่างออกไปจากราชสำนักอื่นๆ เพราะมีสมาชิกต่างด้าวคนหนึ่งจากราชนิกุลฝรั่งเศสพ่วงอยู่ด้วย จะว่าเป็นคราวเคราะห์หรืออย่างไรก็ตาม สยามจำต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้กับแกะดำในราชสำนักที่พระองค์ทรงหมายมั่นปั้นมือไว้แล้ว

พระชายาเชื้อสายราชนิกุลฝรั่งเศสของเจ้าชายวัลเดอมาร์ มีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนเชื้อสายราชวงศ์ฝรั่งเศสทั่วไป ซึ่งมักจะตกอับ ภายหลังราชวงศ์โบนาร์ปาตพ่ายแพ้สงครามฟรังโก-ปรัสเซียในปี ค.ศ. 1870 (พ.ศ. 2413) แต่เจ้าหญิงมารีก็ไม่ใช่คนหัวหายสะพายลอยเสียเลยทีเดียว เพราะเธอมีบรรพชนที่เคยช่วยกู้ชาติมาก่อน เพียงแต่คนฝรั่งเศสไม่นับถือเจ้านายเท่านั้น กล่าวคือ ภายหลังฝรั่งเศสเปลี่ยนระบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นสาธารณรัฐ เชื้อพระวงศ์ที่เหลืออยู่แยกออกเป็น 2 สายใหญ่ สายหนึ่งคือราชวงศ์โบนาร์ปาตที่ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป เพราะจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงยอมจำนนต่อเยอรมนี อีกสายหนึ่งคือราชวงศ์ออเล-องของเจ้าหญิงมารีนั่นแหละ สายนี้เป็นผู้สร้างเกียรติประวัติที่ดีต่อฝรั่งเศสเสมอมา

แม้ชนชั้นหลังในราชสกุลออเล-อง ก็ยังมีความคิดแบบชาตินิยมอยู่ ถึงแม้จะไม่สามารถหวนคืนสู่มาตุภูมิได้อีก แต่ถ้ามีโอกาสก็จะอุทิศตนเพื่อประเทศฝรั่งเศสอยู่ร่ำไป ทำให้เธอยังมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลฝรั่งเศสอย่างลับๆ ถึงกระนั้นก็ดีเรื่องของเชื้อพระวงศ์จะไม่ถูกรื้อฟื้นในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสสมัยใหม่อีกต่อไป เพราะขัดแย้งกับแนวความคิดในระบอบใหม่ เรื่องทั้งหมดของมารีกลับไปปรากฏอยู่ในพงศาวดารนอกประวัติศาสตร์ ที่เขียนโดยนักพงศาวดารชาวอเมริกันคนหนึ่ง มีความตื่นเต้นโลดโผนน่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ แต่มีอยู่ตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยอย่างเหลือเชื่อ อ่านแล้วทำให้เข้าใจอะไรๆ ดีขึ้นอีกเยอะ จึงขอนำข้อมูลบางตอนที่ขาดหายไปจากพงศาวดารไทยของเรามาเติมต่อให้เต็ม ก็จะได้เรื่องราวต่อไปนี้

หนังสือชื่อพันธมิตรร่วมชะตากรรม (The Fateful Alliance) มีเนื้อหาเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างฝรั่งเศสและรัสเซียตอนปลายศตวรรษที่ 19 แต่มีตอนหนึ่งที่ซัดทอดปัญหาทางการเมืองที่มารี ออเล-อง ก่อขึ้น เรื่องมีอยู่ว่าเธอถูกปรักปรำให้เป็นหัวโจกใหญ่ผู้สร้างความอลเวงขึ้นในราชสำนักเดนมาร์กที่เธอเป็นสะใภ้อยู่ จากการที่เธอมีความคิดแบบชาตินิยมฝรั่งเศส เธอจึงต้องการแสดงความเกี่ยวข้องว่า เธอเป็นส่วนหนึ่งของพันธไมตรีระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซีย ที่เรียกว่าพันธมิตรทวิภาคี (Dual Alliance) อันเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของยุโรปในสมัยนั้น

“เป็นที่ทราบกันดีว่า พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย เป็นลูกเขยระดับแนวหน้าของพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ พระเจ้าซาร์โปรดประเทศเดนมาร์กของพระชายามาก และโปรดที่จะแปรพระราชฐานช่วงฤดูร้อนมาเดนมาร์กเป็นประจำทุกปี เพื่อทรงออกป่าล่าสัตว์และพักร้อน เดนมาร์กเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของพระองค์ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งใน ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436 และปีเดียวกับที่เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ในสยาม-ผู้เขียน) ที่เกิดเรื่องขายหน้าขึ้น

พระเจ้าซาร์และพระชายาเสด็จฯ โดยเรือยอชต์มายังกรุงโคเปนเฮเกน และได้ประทับอยู่ที่พระราชวังเฟรเดนส์บอร์กเช่นเคย สัปดาห์แรกผ่านไปด้วยดี แต่ในสัปดาห์ต่อมาไม่มีผู้ใดคาดคิดว่าลูกสะใภ้ชาวฝรั่งเศสของกษัตริย์จะสร้างความอับอายขายหน้าให้เจ้าบ้านได้ขนาดนั้น เจ้าหญิงมารีแห่งออเล-อง ชายาของปรินซ์วัลเดอมาร์ ซึ่งรู้จักกันดีว่าเธอเป็นพวกชาตินิยมเต็มที่ แต่ไม่น่าจะเป็นเวลานี้ ที่พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียก็มาอยู่ที่นี่ด้วย มารีชอบทำตัวตีสนิทกับพระเจ้าซาร์เสมอ มีคนเชื่อว่าเธอคอยป้อนข้อมูลอะไรๆ ที่เกี่ยวกับสัญญาพันธมิตรทวิภาคีต่อพระเจ้าซาร์ ซึ่งไม่ถูกกาลเทศะเอาเลย แต่คราวนี้มันเลวร้ายกว่าทุกที มีคนโจทก์กันว่าระยะนี้มารีทำตัวใกล้ชิดกับพวกเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฝรั่งเศสจนผิดสังเกต โดยเฉพาะกับกงสุล คือ ม.ปาสเตอร์ และทูตทหาร ชื่อกัปตันโบชอง จนมีข่าวลือว่าเธออยู่เบื้องหลังความลับที่รั่วไหลออกไปเกี่ยวกับงานด้านข่าวกรองของเดนมาร์ก ซึ่งโยงใยไปถึงรัสเซียด้วย

ข่าวลือดังกล่าวย่อมสะท้อนกลับมาที่ตัวเธอซึ่งเป็นฝรั่งเศสอย่างช่วยไม่ได้ โดยเฉพาะในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานขณะนี้ ที่กำลังเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในสยาม (เรือรบฝรั่งเศสฝ่าแนวป้องกันเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา-ผู้เขียน) ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเต็มตัว เรื่องซุบซิบที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ การที่รัฐบาลกรุงปารีสเสนอให้ปลดที่ปรึกษาชาวต่างประเทศของพระเจ้ากรุงสยามออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารเรือชาวเดนมาร์กหลายคนที่รับราชการอยู่ในราชนาวีสยาม และให้ถอนตัวออกมาจากการช่วยเหลือรัฐบาลสยามต่อต้านฝรั่งเศสในทันที

เรื่องราวเหล่านี้กำลังเป็นข้อถกเถียงกันในราชสำนักเดนมาร์ก เป็นที่เชื่อว่าพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ ไม่ทรงเห็นด้วยกับคำขู่ของฝรั่งเศส ในขณะที่เจ้าหญิงมารีแสดงตัวว่าเห็นชอบด้วยกับความปรารถนาของรัฐบาลฝรั่งเศสทุกข้อ จนกระทั่งเจ้าหญิงอเล็กซานดรา (พระราชินีอังกฤษในอนาคต-ผู้เขียน) อดรนทนไม่ได้ต่อความกดดันที่พระบรมราชชนกทรงได้รับ ถึงกับประณามมารีว่าเธอเป็น ‘ไส้ศึก’ ของราชวงศ์เดนมาร์ก พระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ ทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ให้ทรงเป็นกลางที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตรัสว่า ‘มันไม่ใช่เรื่องดีเลยกับความขัดแย้งในครอบครัวของเรา’ “[12]

หนังสือพันธมิตรร่วมชะตากรรม “แฉข้อมูล” ที่สร้างความปวดร้าวในราชสำนักเดนมาร์กต่อไปอีกว่า

“เรื่องที่เลวร้ายกว่านี้ยังมีอีก ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ขณะที่พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 เสด็จมาพักร้อนอีกครั้งในเดนมาร์ก ก็มีข่าวว่ากองเรือรบฝรั่งเศสจะเข้ามาเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระเจ้าซาร์ ข่าวนี้สร้างความปั่นป่วนทันทีเพียงแค่ได้ยิน ไม่ใช่เพียงเดนมาร์กเท่านั้นแต่ยังลามไปถึงรัสเซียและเยอรมนีอีกด้วย เดนมาร์กซึ่งกำลังฟื้นฟูความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับเยอรมนี ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะเชื้อเชิญฝรั่งเศสซึ่งเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของเยอรมนีให้เข้ามาเผชิญหน้ากันแน่ นอกจากนั้นพระเจ้าซาร์ก็มิได้เสด็จมาเดนมาร์กโดยทางราชการ มันเป็นการเสด็จประพาสส่วนพระองค์แบบเงียบๆ ในวงศ์ญาติ และสุดท้ายที่นั่นไม่ใช่น่านน้ำรัสเซียเลย แค่คิดก็เหมือนลบหลู่เจ้าบ้านหนักพอตัวอยู่แล้ว แถมยังเฉียดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกด้วย ใครคือผู้บงการอยู่หลังแผนการนี้?”

ในวันที่ 10 ตุลาคม 1893 เรือรบฝรั่งเศสลำมหึมา 2 ลำ ชื่ออิสลี (Isly) และเซอร์คอล์ฟ (Surcolf) ก็ถือวิสาสะบุกเข้ามาจริงๆ สร้างความแตกตื่นต่อผู้คนทั่วไป มันเป็นแผนปฏิบัติการที่หวังผลทางการเมืองโดยตรง พระเจ้าซาร์เองก็ไม่ทรงทราบเรื่องมาก่อน จึงทรงกระอักกระอ่วนพระทัยมาก ขณะนั้นพระองค์ทรงอยู่ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์ก การกระทำโดยพลการเพื่อแสดงแสนยานุภาพจากประเทศที่ 3 ย่อมเป็นการฉีกหน้าเจ้าบ้านอย่างเดนมาร์ก และเย้ยหยันเยอรมนีพันธมิตรของเดนมาร์กโดยตรง

เมื่อเรือเข้ามาแล้ว ก็ไม่ใช่จะบังคับให้ออกไปง่ายๆ ปัญหาที่ตามมาคือ พระเจ้าซาร์ควรจะทรงตอบรับคำทูลเชิญให้เสด็จขึ้นไปบนเรือฝรั่งเศสหรือไม่? เจ้าหญิงมารีเสนอหน้าว่าควรจะเสด็จในขณะที่ทางการเดนมาร์กยังงุนงงอยู่กับเหตุการณ์ พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 ทรงมีปฏิกิริยาตอบโต้ความหวังดีที่ไม่เข้าท่านั้นอย่างเปิดเผย พระเจ้าซาร์จึงทรงอยู่ในสภาพตกกระไดพลอยโจน เพราะถ้าทรงปฏิเสธก็เหมือนบ่ายเบี่ยงไมตรีจิตจากคู่สัญญาทวิภาคี จึงทรงตัดสินพระทัยที่จะเสด็จไปเป็นเกียรติแบบเงียบๆ บนเรือรบนั้น พระจักรพรรดินีมาเรีย พระราชธิดาของพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 ผู้เป็นพระชายาของพระเจ้าซาร์ ทรงปฏิเสธที่จะเสด็จไปด้วย ทรงถือว่าพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์เดนมาร์กที่ไม่พอใจในเรื่องทั้งหมด ในขณะที่มารีแสดงความกระตือรือร้นที่จะตามเสด็จ ณ จุดนั้น พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 ทรงมีหมายรับสั่งให้ “คุมขัง” และกักบริเวณมารีลูกสะใภ้ชาวฝรั่งเศสไว้ในวังเพื่อเป็นการลงโทษ มารีทรงกันแสงอย่างแค้นเคืองเหมือนโลกจะถล่มทลาย

พระเจ้าซาร์ผู้หยั่งรู้สถานการณ์ดี มีพระราชดำรัสไปยังเรือรบฝรั่งเศสว่า ขอให้เป็นการรับรองอย่างเงียบที่สุด แต่พวกผู้บังคับการเรือรบทำเป็นไม่ได้ยินกระแสรับสั่งนี้ ออกคำสั่งให้ชักธงรัสเซียคู่กับธงฝรั่งเศสทั่วทั้งลำเรือ แล้วให้ยิงสลุตรับเสด็จด้วยปืนใหญ่ 31 นัด เป็นเหตุให้เรือยอชต์พระที่นั่งจากรัสเซียที่จอดอยู่ จำต้องยิงสลุตตอบดังกึกก้องกัมปนาทไปทั่วทั้งเมือง

ข่าวการตรวจเรือรบฝรั่งเศสของพระเจ้าซาร์ดังไปทั่วยุโรป หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสพาดหัวข่าวตอบรับว่าเป็นการแสดงออกที่เหมาะสม แต่ผลที่ตามมาคือตราบาปที่จะติดอยู่ในพระราชหฤทัยของพระเจ้าซาร์ตลอดไป เรือพระที่นั่งถอนสมอกลับรัสเซียทันที และประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า จะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินมาเดนมาร์กเป็นครั้งสุดท้าย

หนังสือพิมพ์ Figaro และ Le Gaulois ของฝรั่งเศสเขียนข่าวในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1894 (พ.ศ. 2437) ว่าเป็นวีรกรรมที่น่ายกย่องของเจ้าหญิงมารี ออเล-อง และกัปตันโบชอง ทูตทหารที่สามารถโน้มน้าวพระทัยพระเจ้าซาร์ได้ แต่ในความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นมันมีผลทางการเมืองทางอ้อมต่อฝรั่งเศส รัสเซีย และเยอรมนี และยังเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงว่ามารีเป็น “สาย” ของฝรั่งเศสที่ไม่แสดงตัวตลอดมา[12]

ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า เรื่องราวฉาวโฉ่ของมารีที่เกิดในเดนมาร์กมาถึงหูชาวสยามหรือไม่ แต่มารีก็ยังสื่อภาพนางฟ้าที่แสนดีเคียงข้างพระสวามีคือเจ้าชายวัลเดอมาร์ต่อไป ชื่อเสียงของเธอไม่มีทีท่าว่าจะแปดเปื้อนจากแรงสนับสนุนให้ปลดชาวเดนมาร์กออกจากสยามในระหว่างวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 แม้แต่น้อย การเผชิญหน้าของมารีกับพระเจ้ากรุงสยามระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก กลับแสดงความเป็นมิตรที่ยากต่อการวัดความรู้สึกที่แท้จริงได้ ดังพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ที่เกี่ยวกับเธอมีว่า

“ไปกินข้าวกับพวกเจ้านายมีแต่คิงควีนและวัลเดอมากับเมียเท่านั้น…คุ้นกับมารีแล้ว เปนคนสนุกสนานช่างยั่วช่างเล่น…ปรินเซสมารีเอาดอกบิโคเนียแดงมาเหน็บให้ฉัน…มารีมาชวนฉันเล่นไพ่…มารีให้รูปแมวที่เขียนแก่ฉันแผ่นหนึ่งงามนัก…มารีฝากความคำนับและคิดจะส่งรูปเขาไปให้รู้จัก”[8]

ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลัง ก็ยังทรงสรรเสริญมารีด้วยความบริสุทธิ์ใจ “มารีอ้วนแจ่มใสขึ้น ได้พบสนทนากันด้วยความสนุกแลพอใจเปนอันมาก…วัลเดอมาและมารีชวนให้พักที่วังเบอนสตอฟ” ยังมีคำยืนยันที่แสดงว่ามารีและพระสวามีตั้งตัวเป็นเจ้าภาพผูกขาดถวายการต้อนรับแต่ผู้เดียว อีกว่า

“(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) มีพระราชดำรัสตอบเปนใจความโดยสังเขปว่า ทรงขอบพระไทยปรินซ์แลปรินเซสวาลเดอมาร์ (มารี) ในการที่ได้ทรงรับรองอย่างแขงแรง อันเปนที่พอพระราชหฤทัยทุกสิ่งทุกอย่าง ในเวลาที่เสด็จมาเปนแขกของปรินซ์แลปรินเซสวาลเดอมาร์นั้น ทรงรู้สึกพระองค์เท่ากับประทับอยู่ในพระราชฐานพร้อมด้วยพระราชภาตาและภคินี”[3]

หากมองในมุมกลับบรรยากาศที่อบอุ่นจนผิดสังเกตนี้ สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นพระราชกุศโลบายที่ทรงกลบเกลื่อนเรื่องความร้าวฉานใดๆ ไว้ทั้งหมด ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ จึงมีความจำเป็นที่จะทำให้มองเห็นแต่เพียงด้านเดียว คือความสัมพันธ์อันดี อันเป็นพื้นฐานของสมาชิกในพระราชวงศ์ทั้งสองเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริงก็มีเหตุผลอื่นอีกที่ทำให้เชื่อว่ามีบางสิ่งบางอย่างถูกปิดบังไว้เช่นกัน ดังเหตุการณ์หนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) มารีส่งโทรเลขด่วนฉบับหนึ่งมายังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก โทรเลขนั้นมีใจความว่า

“ทูลฝ่าบาท, พระองค์จะรับรองเฮนรี น้องชายของหม่อมฉันได้หรือไม่? เขาจะถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 10 เมษายน จำต้องเปลี่ยนแผนเดิม โปรดตอบให้หม่อมฉันทราบ, รัก, มารี[14]

หนังสือบันทึกความทรงจำของเจ้าพระยาอภัยราชา (โรแลง แชเกอแมง) ที่ปรึกษาด้านกิจการต่างประเทศชาวเบลเยียมในราชสำนักสยาม เชื่อมโยงความประพฤติของมารีต่อจากหนังสือของชาวอเมริกันก่อนหน้านี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยอธิบายที่มาของโทรเลขประหลาดฉบับนี้ว่า

“พระเจ้าอยู่หัว มีหมายรับสั่งมายังข้าพเจ้าเกี่ยวกับโทรเลขของเจ้าหญิงมารี ออเล-อง จากเดนมาร์ก ในการมาถึงของพระอนุชาของเธอที่ชื่อเจ้าชายเฮนรี ออเล-อง แสดงว่าเฮนรีเปลี่ยนแผนที่จะไปสำรวจแอฟริกา เพราะปัญหากับพวกอังกฤษ พระเจ้าอยู่หัวทรงไม่พอพระทัยที่จะตอบโทรเลขฉบับนี้ แต่เป็นเพราะมันมาจากราชสำนักเดนมาร์ก จึงพระราชทานมาให้ข้าพเจ้าตอบแทน มีพระดำรัสว่าถ้าข้าพเจ้าเห็นสมควรให้เฮนรีเข้ามา ก็ให้ตอบรับไปในนามของพระองค์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของสยามเป็นสำคัญ และให้ส่งสำเนามาให้พระองค์ทอดพระเนตรด้วย”[14]

เจ้าชายเฮนรีเป็นน้องชายแท้ๆ ของมารี มีอาชีพนักสำรวจและนักเขียน แต่ภารกิจที่ไม่เปิดเผยอธิบายได้ว่าเขาเป็นหน่วยสืบราชการลับให้กระทรวงอาณานิคมในกรุงปารีส มีหน้าที่เก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศให้กับทางรัฐบาลฝรั่งเศส การเดินทางครั้งหนึ่งของเขาในอุษาคเนย์เป็นที่มาของหนังสือ 2 เล่ม ชื่อ รายงานการสำรวจแคว้นตองกิงสู่อินเดียตามลุ่มแม่น้ำอิรวดี (From Tonkin to India by The Sources of The Irrawaddy) อีกเล่มหนึ่งชื่อรอบแคว้นตองกิงและสยาม (Around Tonkin and Siam) ซึ่งได้รับการโจมตีอย่างหนักจากหนังสือพิมพ์อังกฤษในสิงคโปร์และกรุงเทพฯ ว่าเต็มไปด้วยเนื้อหาของพวกลัทธิจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสหัวรุนแรง ที่วิเคราะห์เหตุการณ์ในภูมิภาคนี้อย่างไม่เป็นธรรม และมีจุดมุ่งหมายในการเร่งเร้าให้เกิดความบาดหมางและปฏิกิริยาเชิงรุกในนโยบายขยายดินแดนของฝรั่งเศส

สรุปความได้ว่า รัฐบาลสยามเคยต้อนรับขับสู้เจ้าชายเฮนรีด้วยไมตรีจิตในปี ค.ศ. 1891 (พ.ศ. 2434) ในการเดินทางมาลงพื้นที่ครั้งแรก เขาได้กลับไปเขียนหนังสือที่มีเนื้อหาส่อไปทางปลุกระดมและยั่วเย้าให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างรัฐบาลสยามและฝรั่งเศส เขาจึงถูก “บอยคอต” ไม่ให้เข้ามาในสยามอีก เพียงชั่ว 2 ปี หลังจากหนังสือได้รับการตีพิมพ์ก็เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ขึ้น มีผลให้รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสมากมาย และเป็นที่เข้าใจกันว่าเจ้าชายเฮนรีมีส่วนพัวพันอยู่ด้วยคนหนึ่ง[13]

การกลับเข้ามาเพื่อเขียนหนังสือเล่มใหม่ในปี ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) จึงถูกต่อต้านจากทุกฝ่าย เป็นเหตุให้มารี ผู้เป็นพี่สาวคิดวิธีไกล่เกลี่ยและใช้อิทธิพลส่วนตัวโดยตรงกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยเหลือน้อง คำตอบของเจ้าพระยาอภัยราชาน่าติดตามมาก มันบ่งบอกถึงอิทธิพลมืดที่มารีมีต่อนโยบายต่างประเทศของสยาม เจ้าพระยาอภัยราชาทูลแนะนำให้ต้อนรับเฮนรีอีกครั้ง เพื่อผดุงไว้ซึ่งความปรารถนาดีต่อมารีและเจ้าชายวัลเดอมาร์ หรือมิฉะนั้นก็เพราะเธอยังมีบารมีเดนมาร์กคุ้มศีรษะอยู่ ความคิดเห็นของท่านต่อโทรเลขฉบับนี้คือ

“ก่อนอื่น ข้าพระพุทธเจ้าขอแสดงความเห็นใจพระองค์ ต่อการกระทำของเจ้าชายเฮนรีและภารกิจลึกลับของเขาที่แล้วมา ซึ่งเป็นการบังอาจไม่เกรงพระราชอาญากระทำการเป็นทรยศต่อราชบัลลังก์ของพระองค์และอธิปไตยของสยาม ถึงเขาจะมีโอกาสได้ทำเช่นนั้นอีกในคราวนี้ แต่พระองค์ก็ทรงตัดสินถูกต้องแล้วที่พระราชทานอภัยโทษด้วยเกรงต่อบาปและเวรกรรมในทางพระพุทธศาสนา ประเด็นที่เหลืออยู่ตามพระบรมราชวินิจฉัยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของสยาม ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าการปฏิเสธจะมีความหมายตรงกันข้ามกับผลประโยชน์นั้น และจะทำให้เจ้าหญิงวัลเดอมาร์ (มารี) ซึ่งมีอิทธิพลทางพระสวามีของเธอตีความว่าฝ่ายเราตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อเธอ มันจะยิ่งเป็นการสนับสนุนเฮนรีให้ได้ใจ แต่ก็ไม่ควรจะต้อนรับเขาอย่างให้เกียรติเสียทีเดียว ดังนั้นการตอบรับไม่ควรเน้นไปที่ความมุ่งหมายในการมา แต่ต้องแสดงว่าเป็นการสงเคราะห์ด้วยเห็นแก่หน้าเท่านั้น เหตุเพราะการแทรกแซงของเจ้าหญิงวัลเดอมาร์เป็นการเฉพาะ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ค่อยเชื่อใจว่าแผนเดิมเปลี่ยน บางทีจะเป็นคำลวงจากพี่สาวบังเกิดเกล้ามากกว่า โทรเลขตอบเจ้าหญิงมารี ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าควรมีใจความดังนี้

‘จะเป็นการดีกว่าถ้าจะลืมเรื่องเก่าๆ และให้อภัยต่อความผิดพลาดที่แล้วมา และเพื่อรำลึกถึงเธออย่างมีเมตตา ฉันอนุญาตให้ปรินซ์เฮนรีเข้ามาได้ แต่มีข้อแม้ว่าเขาต้องเขียนถึงฉันโดยตรง เพื่ออธิบายความประสงค์ของเขา ด้วยความปรารถนาดีถึงปรินซ์วัลเดอมาร์ (พระปรมาภิไธย) จุฬาลงกรณ์’ “[14]

การส่งความปรารถนาดีไปยังราชสำนักเดนมาร์ก บางทีจะมีความหมายมากกว่าการมาของเจ้าชายเฮนรีเสียอีก การแสดงออกของสยามเป็นการถนอมน้ำใจเจ้าชายวัลเดอมาร์อยู่ในตัว

แต่อย่างไรก็ตาม “ผลงานของมารี” ที่เป็นรูปธรรมและมีหลักฐานยืนยันในหน้าประวัติศาสตร์ไทยเกิดขึ้นในกรณีพิพาทครั้งใหม่ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เรื่องดินแดนบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ในเหตุการณ์นั้นฝรั่งเศสเสริมทหารจำนวนมากเข้าประชิดพรมแดน รัฐบาลสยามได้เสนอให้มีการเจรจากันขึ้นที่กรุงปารีส ซึ่งมีบรรยากาศของการเจรจาที่ดีกว่ากรุงเทพฯ เพราะอยู่ห่างไกลจากบริเวณที่มีความตึงเครียด ในการดำเนินการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงขอให้เจ้าหญิงมารี วัลเดอมาร์ ที่เดนมาร์ก ซึ่งขณะนั้นมีอิทธิพลอยู่ในหมู่นักการเมืองฝรั่งเศส รับเป็น “คนกลาง” อย่างลับๆ ในการเจรจา ในที่สุดรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้อนุโลมตาม ทำให้สามารถตกลงกันได้ในเวลาอันรวดเร็ว ถึงขั้นที่มีการร่วมลงนามในอนุสัญญาฉบับวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445)[2]

ภายหลังที่กรณีเจ้าชายเฮนรีผ่านไป 6 ปี บทบาทของมารีก็เริ่มขึ้นอีก คราวนี้เนื่องด้วยปัญหาเขตแดนเขมรที่ขึ้นอยู่กับสยาม เรื่องมีอยู่ว่า ในปี ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) ภายหลังงานพระบรมศพพระเจ้านโรดม กษัตริย์เขมรผ่านพ้นไป พระเจ้าศรีสวัสดิ์เสวยราชย์เป็นกษัตริย์องค์ใหม่ รัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มวิ่งเต้นที่จะสถาปนาเขมรให้เป็นรัฐในอารักขาอย่างเต็มรูปแบบ แต่ยังติดอยู่ที่ดินแดนเขมรส่วนในอันประกอบด้วยพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณยังอยู่ในครอบครองของสยาม จึงแสวงหาหนทางที่จะทวงดินแดนส่วนนั้นกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม คือ

1. ฝรั่งเศสกำลังวางโครงการสร้างทางรถไฟสายไซ่ง่อน-ฮานอย วิธีลดค่าใช้จ่ายที่สุด คือสร้างผ่านเมืองพระตะบอง และฝั่งขวาแม่น้ำโขง แทนที่จะตัดผ่านเส้นทางปกติทางญวนใต้-ญวนเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ทุรกันดาร

2. ฝรั่งเศสถือว่าดินแดนเขมรทั้งหมดมีความสำคัญต่อความมั่นคงปลอดภัยของอินโดจีนโดยรวม และเชื่อว่าสันติภาพระหว่างสยามกับฝรั่งเศสจะไม่อาจดำรงอยู่ได้ หากปัญหาเขมรส่วนในยังไม่คลี่คลาย

3. ฝรั่งเศสเห็นว่าพระตะบองและเสียมราฐเป็นเขตเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง อีกทั้งมีสภาพทางภูมิศาสตร์เหมาะที่จะอยู่กับเขมรมากกว่าตราดที่ฝรั่งเศสยึดครองอยู่ โดยเกิดความเข้าใจผิดในตอนแรกว่าพลเมืองในตราดเป็นชาวเขมร ต่อมาจึงพบว่าพลเมืองเป็นคนไทยทั้งหมด ตราดจึงไม่มีประโยชน์สำหรับฝรั่งเศสอีกต่อไป

แต่ก็ยังไม่รู้หนทางที่ได้พระตะบองมาโดยสันติวิธี ยุทธวิธีได้หมดสมัยไปแล้วในขณะนั้น ทางออกที่เหลืออยู่คือวิถีทางการทูต แรงสนับสนุนจากบุคคลที่ 3 ซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่ก็ถูกนำมาพิจารณาด้วย ชื่อของเจ้าหญิงฝรั่งเศสในราชสำนักเดนมาร์กได้รับการกล่าวขวัญอีกครั้งเมื่อชาติต้องการ หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสฉบับหนึ่งชื่อ Le Matin ฉบับวันอังคารที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) เปิดโปงความล้มเหลวของนโยบายแสวงหาอาณานิคมของฝรั่งเศสและ “เปิดเผย” มุมมองใหม่ที่คนส่วนใหญ่มองข้าม หัวเรื่องชื่อ

“พระมหากษัตริย์ที่แท้จริง” (Un vrai Roi)

“นักการเมืองยุโรปคุยกันนักหนาว่ารู้จักคิงจุฬาลงกรณ์เป็นอย่างดี บางคนรู้ลึกขนาดว่า พระองค์มีชายาถึง ๘๐๐ คน บางคนก็ว่าพระองค์จะอภิเษกกับพระขนิษฐาเท่านั้น แต่ทว่าคนอังกฤษกับคนฝรั่งเศสก็ยื้อแย่งประเทศของพระองค์อย่างไม่เป็นผลเท่าไหร่ และก็ยังไม่มีใครฮุบประเทศนี้ได้จริงจังเสียที ขนาดส่งเรือรบเข้าไปถึงกลางใจเมืองหลวง แต่ด้วยกลการเมืองที่เดอะคิงใช้หลอกล่อพวกเรา เรือรบเหล่านั้นก็ต้องถอยทัพออกมาหมด พร้อมกับเงิน (ค่าไถ่) ที่พระองค์มอบให้เราเพียงหยิบมือ ช่างเป็นเรื่องประหลาดเหลือเชื่อ แทนที่เราจะตั้งหน้ารบกันจริงๆ เรากลับต้องตั้งต้นคืนดีกันเพราะการที่เราได้เขมรมาไว้ในครอบครอง ฝรั่งเศสก็กลายเป็นเพื่อนบ้านของสยามไปโดยปริยาย เราได้สมบัติจากนครวัดมาไว้เชยชมมากมายแล้วก็จริง แต่ก็ยังเอื้อมไปไม่ถึงตัวนครวัดที่เป็นต้นตอของสมบัติเหล่านั้น ทำให้เราดูคล้ายแมลงหวี่ยุ่งๆ ที่คอยสร้างความรำคาญให้วัว แต่ก็ทำอะไรวัวไม่ได้ และแล้วฝรั่งเศสก็สูญเสียจันทบูรไป ทุกครั้งที่มีการลงนามในกระดาษเราก็จะพูดว่ามันเป็นชัยชนะทางการทูตร่ำไป แต่ที่แท้แล้วเราไม่เคยชนะอะไรเลย ฝรั่งเศสต้องสูญเงินเท่าไหร่เพื่อแลกกับผืนแผ่นดินที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันเหล่านั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) เราทุ่มเงินหลายล้านฟรังก์เพื่อพัฒนาท่าเรือเมืองตราด ที่ทดแทนจันทบูรมาได้ โดยที่เราวาดฝันไว้ว่ามันจะกลายเป็นเมืองท่า Le Havre อันยิ่งใหญ่ แต่แล้วมันก็กลายเป็นภาพลวงตาทั้งเพ ดูตามแผนที่มันช่างเป็นทำเลสุดวิเศษ แต่ที่จริงต้องใช้เวลาเดินเท้าเป็นวันๆ กว่าจะเข้าไปถึงมัน

ผู้ชนะที่แท้จริงน่าจะเป็นเดอะคิง พระองค์สามารถทำให้เราถอยออกไปได้แบบถอนรากถอนโคน การสิ้นสุดอำนาจของฝรั่งเศสในดินแดนของพระองค์ไม่ใช่เหตุบังเอิญ พระองค์รายล้อมไปด้วยพันธมิตรที่ไม่น้อยหน้าใครในยุโรป คือปรินซ์วัลเดอมาร์ ผู้มีพระชายาเป็นเจ้าหญิงชาวฝรั่งเศส คือปรินเซสมารี ปรินซ์วัลเดอมาร์ เป็นพระเชษฐาของจักรพรรดินีมารียา ฟีโยโดรอฟนา (เจ้าฟ้าหญิงดัคมาร์แห่งเดนมาร์ก) ของรัสเซีย ทำให้เดาได้ไม่ยากนักว่าใครคือผู้ปกป้องราชอาณาจักรเล็กๆ นี้ มันเป็นความกดดันสำหรับฝรั่งเศสในการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ (เรื่องคืนเขมรส่วนใน-ผู้เขียน) ซึ่งถึงแม้ฝรั่งเศสจะเดินหน้าไปก่อน แต่แท้ที่จริงกลับเป็นเดนมาร์กที่แซงหน้าเราขึ้นไป เห็นได้ชัดจากผลประโยชน์ของชาวเดนมาร์กจำนวนมหาศาลที่ฝังรากอยู่ได้อย่างมั่นคง ในธุรกิจเหมืองแร่ การเดินเรือ สัมปทานรถรางไฟฟ้า และอื่นๆ ในขณะที่มีชาวฝรั่งเศสเพียง 1 คน รับราชการอยู่ในราชสำนักสยาม (หมายถึง นายชอร์ช ปาดูซ์ ที่ปรึกษากฎหมายชาวฝรั่งเศส-ผู้เขียน) สยามก็ว่าจ้าง 87 อังกฤษ, 50 เยอรมัน, 38 เดนมาร์ก, 8 เบลเยียม, 7 อิตาเลียน และที่เหลือเป็นชาวญี่ปุ่น อย่างนี้หรือที่เรียกชัยชนะทางการเมืองของฝรั่งเศส?

ขณะนี้ฝรั่งเศสกำลังถอยหลังมาอยู่ที่จุดศูนย์ เราได้แต่ความเกลียดชังในขณะที่ชาวเดนมาร์กได้หน้า พวกเราหมดสิ้นแล้วในสยาม ถ้าจะมีอะไรเหลืออยู่คงเป็นเจ้าหญิงมารี ออเล-อง เท่านั้น ที่จะช่วยผลักดันทางอ้อมให้สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นจริงขึ้นมา การที่จะได้เขมรส่วนในกลับมาเป็นของเราเท่ากับเรียกขวัญกำลังใจทั้งหมดที่ฝรั่งเศสทุ่มเทลงไปในเขมรคืนมาด้วย

คิงจุฬาลงกรณ์ได้ทรงกระทำทุกอย่างเพื่อปกป้องประชาชนของพระองค์ การยอมเสียสละแผ่นดินเขมรที่เหลืออยู่ 40,000 ตารางกิโลเมตร และประชากร 280,000 คน ทำให้พระองค์เป็นผู้มีสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียวในลุ่มแม่น้ำ (เจ้าพระยา) อันกว้างใหญ่ ม.ปิชอง และ ม.ดูตัสตาร์ อธิบายว่ามันอาจจะเป็นภารกิจขั้นตอนสุดท้ายที่เราทำได้ แต่ความสำเร็จก็อาจจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเจ้าหญิงมารีจะไม่ใช้อิทธิพลของเธอกับพระเจ้ากรุงสยาม ผลที่สุดสยามก็พบเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของชาวสยาม คิงจุฬาลงกรณ์ที่จะกลับมาเยือนยุโรปอีกครั้งกำลังเสด็จมาในนามของผู้นำที่เป็นเอกราชจริงๆ”[16]

ใน ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) มีข่าวลือแพร่สะพัดว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสยุโรปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การที่พระองค์ต้องเสด็จฯ ในช่วงนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งรัดให้รัฐบาลฝรั่งเศสรีบขจัดปัญหาเรื่องเขมรให้เสร็จสิ้นก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จออกจากสยาม เพราะเกรงกันว่าเมื่อพระองค์เสด็จไปถึงยุโรปแล้ว อาจจะทรงสร้างความประทับใจอีกครั้งจนประเทศต่างๆ พลอยเห็นดีเห็นงามให้ผ่อนคลายความกดดันที่เคยมีต่อสยาม โดยเฉพาะเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่สยามต้องการมาก โดยที่ไม่หวังผลตอบแทนก็ได้ จะพลอยทำให้ฝรั่งเศสต้องยอมตามไปด้วย แต่แล้วฝรั่งเศสก็พบทางออกที่จะได้เขมรส่วนในคืนมาโดยสันติวิธี ด้วยการแลกเปลี่ยนดินแดนกันกับสยาม

รัฐบาลฝรั่งเศสเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะ “สร้างภาพ” ให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างสมศักดิ์ศรี จึงทูลเชิญพระเจ้าศรีสวัสดิ์ให้เสด็จประพาสฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการตัดหน้าทันที ทำให้มองได้อีกว่าฝรั่งเศสได้เปรียบอยู่ทางการเมือง แผนการเสด็จของพระเจ้าศรีสวัสดิ์มีขึ้นอย่างกะทันหัน โดยมีเจ้าภาพใหญ่คอยอำนวยความสะดวกให้อยู่พร้อมสรรพ ภาพลักษณ์ของการมาครั้งนี้ ฝรั่งเศสมีความประสงค์จะเลียนแบบพิธีการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ฝรั่งเศสไม่เคยปฏิบัติต่อผู้นำประเทศราช ซึ่งเป็นเมืองขึ้นมาก่อนเช่นนี้เลย เสมือนการต้อนรับผู้นำที่มีอำนาจ มีตรวจพลสวนสนามของกองทัพและให้ทอดพระเนตรการซ้อมรบใหญ่ที่ทุ่งลองชองป์ ดูงานโรงงานอุตสาหกรรม ซื้ออาวุธสมัยใหม่ ขึ้นหอไอเฟล ฯลฯ จุดมุ่งหมายอีกข้อหนึ่งของการมาก็เพื่อให้เสด็จมาทันงานเอ๊กซโปอาณานิคมที่เมืองมาร์เซลล์ ในงานนี้มีการจำลองนครวัดขนาดมหึมาไว้ในงานด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการที่จะได้นครวัดและเขมรส่วนในคืนมาจากสยาม ทันทีที่พระเจ้าศรีสวัสดิ์เสด็จกลับกรุงพนมเปญ ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสก็สั่งการให้ประติมากรชื่อธีโอดอร์ ริวีแอร์ จัดการหล่ออนุสาวรีย์รูปพระเจ้าศรีสวัสดิ์ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่เขมรจะได้ดินแดนคืนมาล่วงหน้า[15]

จากความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพของทุกฝ่าย สนธิสัญญาฉบับวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) จึงเกิดขึ้น รัฐบาลสยามยอมยกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณคืนให้แก่ฝรั่งเศส ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสคืนดินแดนด่านซ้าย (เขตจังหวัดเลย) และตราดให้แก่สยาม พร้อมทั้งเกาะแก่งที่ตั้งอยู่ทางใต้แหลมสิงห์รวมทั้งเกาะกูด และยอมคืนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตหรืออำนาจศาลให้อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพบและทรงวิสาสะกับบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วยพระองค์เอง เมื่อเสด็จฯ ถึงยุโรปแล้ว ทรงพบมารีที่เดนมาร์ก ในวันที่ 3 มิถุนายน 2450 และคณะรัฐมนตรีฝรั่งเศสในปารีสเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2450 ก่อนออกจากปารีส มีพระราชหัตถเลขามายังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้เตรียมการรับเสด็จที่เมืองตราดเป็นงานด่วน

“ลงมือร่างโทรเลขแต่ปารีสจะมาส่งถึงเธอที่นี่ ฉันเหนอยู่ว่าคงจะเปนความลำบากชิงกันกับการรับรองที่กรุง (รับเสด็จฯ ที่กรุงเทพฯ) ให้เธอพว้าพวัง แต่ไม่ควรจะให้เปนการประกาศ ให้เปนแวะเยี่ยม คือขึ้นไปมีคนมาประชุมรับพร้อมกัน และสปีชอะไรก็กลับเท่านั้น เหนเปนเข้าทีนักหนา เปนเราไปแลกเอาคืนมาได้ก็รีบแวะไปทีเดียว ฝรั่งเศสจะเหนเปนดิมอนสเตรชั่น (ประท้วง) อย่างไรก็ไม่ได้ เพราะเปนการแลกเปลี่ยนกันโดยดี” (27 กันยายน ร.ศ. 126 โรงแรม Grand Hotel, Lucerne)[7]

เป็นที่น่าสังเกตตรงที่ตรัสว่า “เปนเราไปแลกเอาคืนมาได้ก็รีบแวะไปทีเดียว” เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีลาดเลาว่าทรงตั้งพระทัยเป็นพิเศษแต่อย่างใด หรือบางทีจะเป็นราชการลับอีกเรื่องหนึ่งจนได้!

มารีได้ทำหน้าที่ผู้รักชาติสมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้น 2 ปี ในวันที่ 4 ธันวาคม 1909 (พ.ศ. 2452) เธอก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อนิวโมเนีย เจ้าชายวัลเดอมาร์อยู่ต่อมาจนได้เห็นประเทศสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย และเสด็จทิวงคตในสมัยรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 1939 (พ.ศ. 2482)

ความลี้ลับเรื่องเจ้าหญิงฝรั่งเศสในพงศาวดาร ร.5 อาจจะมีสอดแทรกอยู่ในที่อื่นๆ อีก เท่าที่พบในขณะนี้พอจะกล่าวได้ว่าเธอเคยมีตัวตนอยู่จริง และเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการเมืองระหว่างประเทศมากที่สุดคนหนึ่ง แต่ถูกกล่าวถึงน้อยที่สุดจนบัดนี้

 


หนังสืออ้างอิง

[1] จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. เจ้าชีวิต. โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2505.

[2] ฉลอง สุนทราวาณิชย์. รุสเซีย-ไทย สมัยรัชกาลที่ 5-6. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, 2516.

[3] นเรนทรราชา, นายพันเอก หม่อม. จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2. โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ร.ศ. 126.

[4] พระประวัติ จอมพล พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ กรมหลวงนครไชยศรีฯ. กรุงเทพฯ, 2459.

[5] พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน ในรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๓๗.

[6] พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล). กรุงเทพฯ, 2508.

[7] พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในเวลาเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450. พิมพ์ในงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร. กรุงเทพฯ, 2491.

[8] พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เมื่อเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด, 2535.

[9] สงวน อั้นคง. สิ่งแรกในเมืองไทย เล่ม 2, 3, 4. แพร่พิทยา, 2502.

[10] Cavling, Henrik. Osten. Copenhagen, 1901.

[11] Hutchinson, H.N. The Living Rulers of Mankind. London, 1902.

[12] Kennan, George F. The Fateful Alliance. New York, 1984.

[13] Orleans, Henri de, Prince. Around Tonkin and Siam (By Walter E.J. Tips). White Lotus, 1999.

[14] Tips, Walter E.J. Gustave Rolin-Jaequemyns and the making of modern Siam. White Lotus, 1996.

[15] หนังสือพิมพ์ L ‘Illustration ฉบับ 16 June 1906, Paris.

[16] หนังสือพิมพ์ Le Matin ฉบับ 18 June 1907, Paris.


เผยแพร่บทความในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 เมษายน 2560