แหล่งข้อมูลเรื่อง “ยศเจ้ายศนาย” แก้ปมที่คน(รุ่นใหม่)หลังยุคเปลี่ยนการปกครอง มักไม่เข้าใจ

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายแสดงการเขียนหนังสือให้เจ้านาย ภาพถ่ายราวยุค 2400 หรือสมัย รัชกาลที่ 4 ถึงถึงต้น รัชกาลที่ 5 จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ BW-1251-002

นับจากปี 2475 เป็นต้นมา ต้องยอมรับว่า ฐานันดรศักดิ์และความนิยม “เจ้า” ถูกทำให้ลดลงเป็นลำดับ จากเดิมที่เคยไล่ที่ทำวัง กลายมาเป็นยึดวังสร้างออฟฟิศ ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะฟื้นฟูระบบเจ้า และความนิยมเจ้าให้กลับมาใหม่ในสมัยประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นตลอดเวลา

จนกระทั่งความพยายามเฮือกสุดท้ายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่จะเรียกความนิยมเจ้ากลับมาใหม่ ในลักษณะโหยหาอดีต “เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี” ผ่านวรรณกรรมชิ้นเอกคือ “สี่แผ่นดิน” ในปี 2494 ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานประชาสัมพันธ์ระบบเจ้าที่ดีที่สุดและได้ผลที่สุดไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตาม

อย่างไรก็ดีแม้ว่าความนิยมจะเพิ่มขึ้น แต่ “จำนวน” ของเจ้าก็ลดน้อยลง นับแต่การเปลี่ยนพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปฎิเสธการมีมากผัวหลายเมียอย่างรุนแรง และทรงส่งเสริมให้ทำตามอย่างอารยประเทศคือการมี “ผัวเดียวเมียเดียว” พระบรมราโชบายนี้ส่งผลทางตรงทำให้จำนวนของเจ้าลดน้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าปัจจุบันสถาบันพระมหากษัตริย์มีความเข้มแข็ง และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนทั้งชาติ แต่ด้วยรูปแบบการปกครอง และวิถีชีวิตแบบใหม่ทำให้ “ไพร่” ต้องห่างเหินกับ “เจ้า” และไม่ได้พึ่งพาอาศัยกันเหมือนแต่ก่อน ทำให้ “ไพร่” ในปัจจุบันใกล้ชิดกับเจ้าทาง “ความรู้สึก” มากกว่า “ความเป็นอยู่” จึงทำให้คนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจ และขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเจ้า ทั้งที่ยังรักและเทิดทูลเหนือสิ่งอื่นใด

ความไม่รู้นี้เองทำให้เกิดคำถามขึ้นบ่อยๆ จากคนรุ่นใหม่ว่า “ในหลวง” องค์ปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9 – กองบรรณาธิการ) เสด็จขึ้นครองราชย์ตามสายไหน ทำไมจึงไม่เรียกทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ว่าเจ้าฟ้า หรือมีคำถามแม้กระทั่งว่า “ฮิวโก้” เป็นเจ้าหรือไม่ คำถามเหล่านี้จำเป็นต้องมีคนอธิบาย และทำความเข้าใจกับ “ไพร่ฟ้า” ให้ถ่องแท้ ไม่ควรปล่อยให้เข้าใจผิดๆ หรือไม่รู้

ความเข้าใจเรื่อง “เจ้า” นั้น มีผู้เขียนอยู่แล้วมากมายหลายร้อยเล่ม ในจำนวนนี้เล่มที่อธิบายความเป็นเจ้าได้อย่างดี และเป็นทางการคือหนังสือ “เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย”

หนังสือ “เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย” เคยพิมพ์ครั้งแรกในปี 2457 ในชื่อเรื่อง “จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ” เป็นหนังสือรวบรวมจดหมายเหตุ ว่าด้วยการตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ และมีการพิมพ์อีกเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2468

จนกระทั่งปี 2472 จึงมีการพิมพ์ “เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉะบับมีพระรูป” พระราชทานในงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ โดยในการพิมพ์ครั้งนี้ได้ตัดส่วนที่เป็นจดหมายเหตุออก คงไว้ไว้แต่ประกาศพระบรมราชโองการฯ

ต่อมาในปี 2538 จึงมีการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นใหม่ ในการพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ และบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 6 รอบ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา

หนังสือ “เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉะบับมีพระรูป” ที่จัดพิมพ์ใหม่ในครั้งนี้ 1 ชุด มี 2 เล่ม

เล่ม 1 คือ “เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉะบับมีพระรูป” พิมพ์ถอดแบบจากฉบับปี 2472 ว่าด้วยเรื่องเฉลิมพระยศเจ้านายพระองค์ต่างๆ จนถึงปี 2452 และยังมีคำอธิบายว่าด้วยยศเจ้า พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมถึงการตั้งเจ้านายนับแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา

เล่ม 2 ในชุดนี้คือ “เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย เล่ม 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)” เป็นเรื่องเฉลิมพระยศเจ้านายต่อจากเล่ม 1 คือตั้งแต่ปี 2453 สิ้นสุดในปี 2538 ในการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

หากพิเคราะห์อย่างผิวเผินหนังสือเล่มนี้คงจะเป็นเพียงบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และคู่มือนักค้นคว้า ส่วน “ไพร่ฟ้า” ยุคปัจจุบันจะได้ประโยชน์อะไรจากหนังสือเล่มนี้บ้าง ยังคงเป็นปัญหาที่ “ไพร่ฟ้า” ต้องตอบตัวเอง ส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบคงต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น มากกว่าการ “เฉลิมฉลอง” เมื่อถึงวโรกาสสำคัญ

เนื่องจากหนังสือเล่มนี้พิมพ์ในวโรกาส พระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา จึงน่าจะนำประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ มาสังเขปพระประวัติการ “เฉลิมพระยศ” ของพระองค์ ซึ่งปรากฏบางส่วนอยู่ใน “เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย เล่ม 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)”

สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา ประสูติในราชตระกูล เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือเป็น “เจ้า” โดยกำเนิด มี “สกุลยศ” เป็น หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้ “ยก” หม่อมเจ้า ขึ้นเป็นพระองค์เจ้า เนื่องจาก “เจ้า” เหลือน้อยลง ตามประกาศ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2470 ดังนี้

“มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ทรงพระราชดำริว่าในเวลานี้ พระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ก็มีน้อยแล้ว และหม่อมเจ้าในสมเด็จเจ้าฟ้าซึ่งมารดาเป็นพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้า ก็ได้สถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ให้บุตรมีบรรดาศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า ดั่งแจ้งอยู่ในประกาศแต่ก่อนแล้ว…”

ในการนี้จึงทรง “เฉลิมพระยศ” เป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงกัลยานิวัฒนา

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรง “เฉลิมพระยศ” เป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2478

ในรัชกาลเดียวกันนี้ทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์ เพื่อทรงเสกสมรสกับสามัญชน อันเป็นธรรมเนียมราชตระกูล ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2487

ในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9 – กองบรรณาธิการ) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ทรงดำรงพระอิสริยศฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์ตามเดิม คือ “เฉลิมพระยศ” กลับมาเป็น สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา

ต่อมาในปี 2538 อันเป็นปีสวรรคตของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรง “เฉลิมพระยศ” เป็น สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จนปัจจุบัน เรียกว่า “ทรงกรม” หรือ “เจ้าต่างกรม”

หนังสือ “เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย” ทั้ง 2 เล่ม ได้ประชุมเรื่องการเฉลิมพระยศเจ้านายแห่งพระราชวงศ์จักรีไว้พร้อมทุกพระองค์ จึงเป็นประโยชน์ที่จะศึกษาหาความรู้ เรื่องเจ้าเรื่องนาย อย่างน้อยที่สุดก็ควรได้อ่านคำอธิบายว่าด้วยยศเจ้าก็ยังดี

การแสดงความจงรักภักดี มิใช่มีเพียงการแสดงออกด้วยการ “เฉลิมฉลอง” เพียงประการเดียว แต่ด้วยการเข้าใจระบบระเบียบราชประเพณีย่อมเป็นหนทางหนึ่งที่มิใช่การ “ดึงฟ้าให้ต่ำ” แต่ย่อมเป็นการ “อยู่ใต้ฟ้า” ทั้งกายใจ


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความเดิมชื่อ “ยศเจ้ายศนาย คนรุ่นใหม่ ไม่รู้เรื่อง” เขียนโดย หลง ใส่ลายสือ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2547

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2564