หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมกาใช้สังคมศาสตร์อเมริกันเป็นเครื่องมือ?!?

ภาพประกอบบทความ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ อเมริกาก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่ยากจะคาดการณ์ การเปลี่ยนแปลงจากระเบียบโลกภายใต้จักรวรรดิอังกฤษสู่จักรวรรดิอเมริกา ที่ไม่ได้ส่งผลต่อการแปลี่ยนแปลงระเบียบทางเศรษฐกิจ และการเมือง หากยังส่งผลต่อระเบียบวิชาการด้วย โลกหลังสงครามยังเต็มไปด้วยความวุ่นวายและกระแสเรียกร้องเอกราชจากชาติอาณานิคมที่แผ่ไปทั่วเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ล้อไปกับบริบทสงครามเย็นที่นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์

ในบริบทนี้ องค์ความรู้แบบใหม่ที่จะช่วยให้อเมริกาเข้าใจโลก เพื่อสถาปนาระเบียบโลก และกำหนดทิศทางของตน อาณาบริเวณศึกษา (Area studies) ที่มีสังคมศาสตร์อเมริกันเป็นฐาน จึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้อเมริการู้จักโลกและสร้างอัตลักษณ์ของอเมริกาในฐานะมหาอำนาจที่ไม่ได้กระหายอาณานิคม

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นักวิชาการอเมริกันจํานวนไม่น้อย อุทิศตนให้แก่การทํางานในหน่วย โอเอสเอส (Office of Strategic Services หรือ OSS) ซึ่งเป็นหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับแนวรบที่ขยายตัว ไปทั่วโลก โดยเฉพาะพื้นที่ยุทธศาสตร์ในเอเชีย ประสบการณ์ดังกล่าว ทําให้นักวิชาการอเมริกันตระหนักว่าความรู้ของพวกเขาเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการเปลี่ยนแปลงโลก ด้วยความรู้และบทบาทในฐานะผู้เชี่ยวชาญของพวกเขามีอิทธิพลต่อการกําหนดนโยบายต่างประเทศของอเมริกา

นับแต่ต้นศตวรรษที่ 20 องค์กรเอกชนอเมริกันได้ตั้งมูลนิธิเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนและการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในอเมริกาและนานาชาติ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ มูลนิธิฟอร์ด และมูลนิธิคาร์เนกี้ ที่ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีอเมริกัน คือหัวหอกสําคัญในการวางรากฐานสาธารณูปโภคสําหรับการวิจัย ฝึกอบรม และเผยแพร่สังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอาณาบริเวณศึกษา ในมหาวิทยาลัยอเมริกัน

ผู้ประกอบการทั้งหลายซึ่งเป็นเจ้าของมูลนิธิเหล่านี้เชื่อว่า ความรู้สังคมศาสตร์เกี่ยวกับอาณาบริเวณต่างๆ ของโลกสามารถนํามาใช้เป็นเครื่องมือ “วิศวกรรมทางสังคม” ที่จะช่วยปลดปล่อยผู้คนในประเทศด้อยพัฒนาออกจากความยากจนและล้าหลัง เข้าสู่ความทันสมัย (Modernization) การปลดปล่อยนี้จะช่วยสร้างโลกที่มีความมั่นคงทางการเมือง โดยมีประชาธิปไตยและทุนนิยมเป็นคุณลักษณะสําคัญ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินธุรกิจของพวกเขา

ผลประโยชน์ที่ลงตัวระหว่างรัฐบาล องค์กรเอกชน และนักวิชาการนี้ ทำให้เกิดเครือข่ายสนับสนุนการสร้างความรู้เกี่ยวกับโลกผ่านการรณรงค์สนับสนุนอาณาบริเวณศึกษา ที่ตัดแบ่งโลกออกเป็นภูมิภาคต่างๆ พร้อมไปกับการเปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้ให้กลายเป็นวัตถุแห่งความรู้ที่รอคอยการศึกษาและอธิบายจากนักสังคมศาสตร์

อย่างไรก็ตาม การสร้างความรู้อาณาบริเวณศึกษาที่มีสังคมศาสตร์ เป็นฐานนี้หาได้ปราศจากอคติดังที่นักสังคมศาสตร์อเมริกันเชื่อมั่น ความทันสมัยที่มีตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกาเป็นมาตรฐาน ถูกใช้เป็นตัวแบบในการพัฒนาประเทศด้อยพัฒนาความทันสมัยแบบอเมริกันที่มีประชาธิปไตยและทุนนิยมถูกมองว่าเป็นทางออกในการป้องกันไม่ให้ประเทศด้อยพัฒนาเอนเอียงไปหาความทันสมัยในอีกรูปแบบหนึ่งที่มีประเทศคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะสหภาพโซเวียตเป็นตัวแบบ

สังคมศาสตร์อเมริกันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ความสําคัญกับวัฒนธรรม ซึ่งแตกต่างจากความรู้อาณานิคมยุโรปที่เน้นเรื่องเชื้อชาติ หรือลัทธิมาร์กซ์ที่เน้นนิยัตินิยมทางเศรษฐกิจ (economic determinism) วงวิชาการอเมริกันพยายามก้าวพ้นการนิยามการพัฒนาและความก้าวหน้าที่ผูกติดกับเชื้อชาตินิยมตะวันตก ซึ่งไม่เหมาะกับบริบทโลกหลังสงคราม การพัฒนาในสายตาอเมริกันจึงเน้นทฤษฎีความทันสมัยที่กล่าวอ้างความเป็นสากล ในบริบทนี้วัฒนธรรมจึงเป็นแกนกลางสําคัญของสังคมศาสตร์ อเมริกันและอาณาบริเวณศึกษา

การศึกษาวัฒนธรรมของแต่ละชาติเป็นเครื่องมือสําคัญที่อเมริกาใช้ในการทําความเข้าใจโลกใบใหม่ ตั้งแต่ช่วงระหว่างสงคราม ความคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “วัฒนธรรมกับบุคลิกภาพ” (culture and personality) ที่พัฒนาโดยนักมานุษยวิทยา รูธ เบเนดิกต์ และมาร์กาเร็ต มี้ด ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก  ทั้งสองเสนอแนวคิดเรื่อง “บุคลิกภาพพื้นฐาน” (basic personality) และ “ลักษณะประจําชาติ” (national character) ซึ่งกลายมาเป็นเครื่องมือสําคัญสําหรับอเมริกาในการทําความเข้าใจโลกในระหว่างและหลังสงคราม การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของนักสังคมศาสตร์โดยเฉพาะนักมานุษยวิทยาในระหว่างสงครามเพื่อเข้าใจมิตรและศัตรูของสหรัฐอเมริกา ทําให้แนวคิดทางวิชาการนี้เริ่มได้รับความนิยมในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐและผู้กําหนดนโยบาย

ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมในแนวทางนี้ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการผลักดันสร้างความทันสมัยให้แก่ประเทศด้อยพัฒนา นักวิชาการที่สมาทานทฤษฎีความทันสมัยเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสําคัญในการบรรลุความทันสมัย ผ่านการตีความและอ้างอิงแนวคิดของแม็กซ์ เวเบอร์ นักคิดชาวเยอรมันเรื่อง “จิตวิญญาณทุนนิยม” (spirit of capitalism) ที่เป็นพลังผลักให้เกิดทุนนิยมว่า เป็นปัจจัยที่นําไปสู่การบรรลุความทันสมัย ที่มีเศรษฐกิจระบบตลาดและประชาธิปไตยเป็นองค์ประกอบการศึกษาวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ จึงมีเป้าหมายเพื่อค้นหาว่าสิ่งใดสนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อความทันสมัยของแต่ละวัฒนธรรม และ “จิตวิญญาณทุนนิยม”

 


ข้อมูลจาก

สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. เขียนจีนให้เป็นไทย, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2564


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ธันวาคม 2564