เผยแพร่ |
---|
ในพิธีศพของทหารอเมริกันน้อยใหญ่ที่ผ่านสงครามมานอกจากจะมีกองเกียรติยศ ยังมีการเป่า “แตรนอน” อีกด้วย “แตรนอน” ที่ว่าเป็นเพลงที่เป่าเป็นสัญญาณว่าถึงเวลานอนของทหารในกองทัพ และเมื่อมีเพลง “แตรนอน” ก็ต้อง “แตรปลุก”
แตรปลุกนั้น ไม่ต้องบอกก็คงเดากันออกว่าเป็นแตรที่ทหารส่วนใหญ่ไม่ชอบ แต่แตรนอนเป็นสัญญาณที่หลายครั้ง หลายคนรอคอย เพราะนั่นแสดงวันอันเหน็ดเหนื่อยได้ผ่านพ้นไปแล้ว และจะได้พักเสียที
ในยุคสมัยนาฬิกา, นาฬิกาปลุก เป็นของหายาก ของแพง เพลงแตรจึงเป็นวิธีง่ายๆ ที่ได้ผล
เพลงแตรนอนเกิดขึ้นครั้งแรกที่ใดไม่แน่ชัด หากเพลงแตรนอนที่ใช้กันแพร่หลายอยู่ปัจจุบันนี้ มาจากกองทัพอเมริกัน เรียกว่า Taps นี้ ถือกำเนิดขึ้นในสงครามกลางเมืองของสหรัฐ โดยนายพลจัตวา แดเนียล บัตเตอร์ฟิลด์ (Daniel Butterfield) ซึ่งพอมีความรู้ทางดนตรีอยู่บ้าง รู้สึกเบื่อเพลงนอนที่ใช้กันอยู่ เป็นผู้ประพันธ์ขึ้น โดยใช้โน้ต 24 ตัว
นายพลบัตเตอร์ฟิลด์ จดโน้ต มอบให้พลแตรลองเป่าให้ฟัง มีการปรับจังหวะ โดยยึดโน้ตตัวนั้น หดโน้ตตัวนี้จนถูกใจ แล้วสั่งให้ใช้เป็นเพลงนอนประจำกองทหารของตนเอง ด้วยความไพเราะของเพลงแตรนอนที่นายพลบัตเตอร์ฟิลด์แต่งขึ้น ถูกใจทหารกองอื่นๆ จึงนำไปบรรเลงบ้าง แม้แต่ทหารฝ่ายใต้ที่เป็นศัตรูก็ขอยืมไปบรรเลง
ในช่วงสงครามโลก ทหารอีกหลายชาติได้ยินเพลงแตรนอน หรือเพลง Taps ของอเมริกันแล้วชอบใจ จึงขอยืมไปใช้ รวมทั้งทหารไทยเราด้วย ซึ่งแต่ละประเทศอาจมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย
อาจด้วยความไพเราะของเพลง Taps นอกจากจะใช้ “กล่อม” แล้ว ทหารยังใช้เพลง Taps แบบเดียวกับที่เราใช้เพลงพญาโศก บรรเลงในพิธีศพของทหารที่เสียชีวิต เสียงโน้ตวังเวงของแตรนอนในพิธีเช่นนี้ บีบหัวใจและเรียกน้ำตาได้ดีพอๆ กับปี่มอญ
ทุกวันนี้ กองทัพสหรัฐยังส่งทหารไปเป่าแตรนอนในพิธีศพทหารผ่านศึกอยู่ แต่เพราะพลแตรมีน้อย จึงมีการประดิษฐ์คิดแตรแบบพิเศษ หน้าตาเหมือนแตรปกติ แต่ข้างในบรรจุชิปพิเศษไว้ พอกดปุ่มเสียงเพลง Taps อันไพเราะจะก้องกังวานขึ้น เหมือนจริงทุกประการ หรืออาจจะดีกว่าจริงอีกด้วยซ้ำ ทหารที่เป่าแตรนี้แต่ยืนให้หล่อไว้ก็เป็นอันโอเค
ข้อมูลจาก :
ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช. เพลงของโลกและของเรา, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2557
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2564