คำสั่งเสียของ “เล่าปี่” เพื่อลองใจและซื้อใจขงเบ้ง รัชกาลที่ 4 ทรงใช้กับเจ้านายผู้ใหญ่

หลิวปัง (เล่าปัง) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น

วรรณกรรม “สามก๊ก” ฉบับสำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กล่าวถึงเล่าปี่ เมื่อป่วยหนัก ใกล้สิ้นใจ ว่าให้ทหารไปแจ้งกับขงเบ้งกุนซือคนสำคัญ และลิเงียม ขุนนางจากตระกูลใหญ่ของเสฉวนว่า ตนเองป่วยหนักขอเห็นหน้าจะได้สั่งเสียเรื่องกิจการบ้านเมือง

เล่าปี่สั่งเสียกับขงเบ้งถึง 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกต่อหน้าลิเงียม สั่งว่า ถ้าบุตรตนเองยังด้อยความสามารถขอให้ขงเบ้งช่วยเป็นธุระเรื่องบ้านเมืองให้ ขงเบ้งก็รับปาก

ครั้งที่ 2 หลังจากเล่าปี่เขียนราชโองการให้เล่าเสี้ยนครองแผ่นดินต่อจากตนเอง ต่อหน้าเหล่าขุนนางที่ปรึกษา เล่าปี่ก็กระซิบสั่งความในใจกับขงเบ้งว่า

“ปัญญาความคิดของท่านนี้ไม่มีใครเสมอแล้วดีกว่าโจผีสักร้อยส่วน ท่านดูเอาแต่การซึ่งจะบำรุงแผ่นดินให้เปนสุขพอประมาณเถิด ถ้าเห็นลูกเราไม่อยู่ในสัตย์ในธรรมทำผิดประเพณีไปไม่ฟังท่าน ก็ให้ท่านรักษาเมืองเสฉวนบำรุงแผ่นดินเองเถิด”

หากเสียงกระซิบสั่งเสียดังกล่าวนี้ ทำเอาขงเบ้งตกใจตัวสั่น ต้องถอยลงมากราบแผ่นดินจนหน้าแตกโลหิตไหลก่อนจะตอบว่า “ข้าพเจ้าคิดจะบำรุงบุตรพระองค์ไปกว่าจะตาย อย่าได้คิดว่าข้าพเจ้าจะเบียดเบียนบุตรพระองค์เลย”

เล่าปี่เห็นดังนี้จึงวางใจ ขงเบ้งมีความสัตย์ และเรียกลูกมาสั่งว่า ให้คอยดูแลกัน ถ้าติดขัดสิ่งใดให้ปรึกษาขงเบ้ง จงรักขงเบ้งเหมือนบิดา

สมัยรัชกาล 4 ก็มีเหตุการณ์รับสั่งลองใจขุนนางคล้ายๆ กับวรรณกรรมสามก๊กเช่นกัน ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช หนึ่งในทายาทของเจ้านายที่ทรงลองใจ บันทึกไว้ในหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” ว่า [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

“เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2396 ในอุโบสถวัดพระแก้ว รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชกุมารขึ้นทรงกรมเป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ เมื่อพระราชทานพระสุพรรณบัฏแด่พระราชกุมารแล้ว พระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่ได้ทรงกระทำสัตย์ปฏิญานต่อพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต แล้วแสดงความในพระราชหฤทัยว่า

ในเวลาต่อไป ถ้าเจ้านายทรงกรมเป็นกรมหมื่น 4 พระองค์คือ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ [รัชกาลที่ 5] กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ [ต้นราชสกุล มาลากุล] กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ [ต้นราชสกุล ปราโมช] และกรมหมื่นราชสีห์วิกรม [ต้นราชสกุล ชุมสาย] พระองค์ใดพระองค์หนึ่งจะได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพพระมหานครแล้วจะมิได้ทรงรังเกียจเดียดฉันท์เลย ทรงเห็นชอบตรงต่อพระราชประสงค์ทุกประการ…

ในพระอุโบสถนั้นมีเจ้านายขุนนางเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่มาก ทุกคนก็ได้ยินพระราชปณิธานนี้…

จึงทำให้เจ้านายที่ถูกเอ่ยพระนามนั้นต้องสะดุ้งสะเทือนเป็นอย่างยิ่ง ตาทุกคู่ในพระอุโบสถวัดพระแก้วก็จับมองมาที่เจ้านาย 3 พระองค์นั้น ทั้งสามพระองค์ก็หมอบนิ่งก้มพระพักตร์ไม่กล้าจะกระดิกพระองค์ เพราะทุกพระองค์แทนที่จะทรงยินดีกลับหวาดหวั่นพรั่นพรึงเป็นล้นพ้น

อันตำแหน่งพระมหากษัตริย์นั้นเป็นของสูงสุด ประกอบด้วยความศักดิ์สิทธิ์และพระราชอำนาจทั้งปวง ในใจของคนไทยนั้นเพียงแค่อาจเอื้อมคิดเอาตัวเข้าไปพัวพันก็ไม่เป็นสิริมงคลแก่ตัวเองเสียแล้ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ มีพระราชดำรัสดังนั้น กรมหมื่นทั้งสามพระองค์ ก็ตกอยู่ในฐานะลำบากอย่างยิ่ง ตาทุกคู่ที่จับมองในพระอุโบสถนั้น

ถึงแม้ว่าออกไปนอกพระอุโบสถไปแล้วก็ยังมิได้วางตาและมองต่อไปด้วยความระแวง หากทรงทำอะไรไปในทางส่งเสริมบุญวาสนา หรือแม้แต่จะมีข้าไทมากคนก็จะต้องพูดซุบซิบหรือนึกในใจว่าเตรียมพระองค์จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือจะคิดกบฏแย่งชิงราชสมบัติจากสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ไม่เป็นสิริมงคล และบังคับให้เจ้านายทั้ง 3 พระองค์ ต้องระวังพระองค์อย่างยิ่งยวดอยู่ทั้งนั้นจนตลอดรัชกาลที่ 4…”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สามก๊ก สำนวนเจ้าพระยาคัง(หน) ราชบัณฑิตสภาชำระ, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และสำนักพิมพ์สุขภาพใจ จัดพิมพ์เผยแพร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช. โครงกระดูกในตู้, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พิมพ์ครั้งที่ 5 พฤษภาคม 2544


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564