ผู้เขียน | พีรวิชญ์ เอี่ยมปรีดา |
---|---|
เผยแพร่ |
ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้ในช่วงแรกถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้คนยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ไปจนถึงการกักตัว ฯลฯ หลายอย่างถูกเรียกว่าเป็น New normal แต่หากย้อนไปในอดีตจะพบว่า การกักตัว ปรากฏในประวัติศาสตร์เกือบ 700 ปีที่แล้ว
คำว่า “กักตัว” ในภาษาอังกฤษคือ “Quarantine” ถูกอธิบายว่ามีรากศัพท์มาจากภาษาอิตาลี จากความพยายามที่จะปกป้องเมืองชายฝั่งจากกาฬโรคที่ทำลายล้างในยุโรปในศตวรรษที่ 14 โดยเรือที่เดินทางมาถึงเวนิสจะต้องจอดทอดสมอเป็นเวลา 40 วัน (quaranta giorni) ก่อนลงจอด และมาตรการนี้ก็กลายเป็นที่รู้จักในฐานะ quarantine ซึ่งมาจากคำว่า ‘quarantino’ ในภาษาอิตาลีอันหมายถึงระยะเวลา 40 วัน
จุดเริ่มต้นของการกักตัว สามารถพาย้อนกลับไปถึงอิตาลีในยุคกลาง เมื่อครั้งที่ต้องเผชิญกับโรคร้ายคือ “กาฬโรค” เมื่อโรคระบาดได้เข้ามาถึงเมืองต่างๆ เช่น เวนิส หรือ มิลาน เจ้าหน้าที่ของเมืองได้วางมาตรการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด แม้แต่ในปัจจุบัน เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคมและ ฆ่าเชื้อพื้นผิวของวัตถุ โดยเฉพาะยิ่งอิตาลีในยุคกลางรู้ว่า สินค้าที่เข้ามาใหม่นั้นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และควรจำกัดการติดต่อระหว่างบุคคล
แหล่งข้อมูลบางแห่งอ้างว่า ในปี ค.ศ. 1374 เวนิสออกแถลงการณ์ว่าเรือและผู้โดยสารทั้งหมดต้องประจำอยู่ที่เกาะ บริเวณเมืองซาน ลาซซาโร จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเมืองได้ และสิ่งนี้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อนักเดินทางจากบางประเทศ ตลอดจนการกระทำผิดอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในเมืองเวนิส
หลังจากกาฬโรคได้คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1377 ที่เมือง Ragusa (ปัจจุบันคือเมือง Dubrovnik ในโครเอเชีย) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองการค้าที่ร่ำรวยที่สุดในสมัยนั้น ได้ออกมาตรการคำสั่งประจำพื้นที่ โดยเป็นมาตรการที่กำหนดให้มีการกักกันเรือขนส่งสินค้าขาเข้า รวมถึงขบวนคาราวานค้าขายที่เข้ามาต้องกักตัวเพื่อคัดกรองการติดเชื้อ โดยผู้ที่เดินทางเข้ามาจะต้องใช้เวลาหนึ่งเดือนในเขต Cavtat (เมืองเล็กๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ Dubrovnik) หรือที่เกาะ Mrkan ซึ่งเป็นเกาะหินที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ และเขต Cavtat ซึ่งอยู่บนเส้นทางที่พ่อค้าทางบกใช้ระหว่างเดินทางไป Ragusa
ในบทความของ Dave ross บนเว็บไซต์ History ได้อ้างถึง Zlata Blazina Tomic ที่กล่าวว่า นักประวัติศาสตร์ทางการแพทย์บางคนถือว่าคำสั่งกักกันของ Ragusa เป็นหนึ่งในความสำเร็จสูงสุดของการแพทย์ในยุคกลาง การสั่งแยกลูกเรือและพ่อค้าที่มีสุขภาพดีเป็นเวลา 30 วัน แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ใน Ragusan มีแนวโน้มเข้าใจสิ่งที่พอเทียบได้กับระยะฟักตัวในปัจจุบัน ผู้เดินทางมาใหม่อาจไม่แสดงอาการของโรค แต่จะถูกกักไว้ให้นานพอที่จะระบุได้ว่าปลอดเชื้อแล้วหรือไม่
ท่าเรือที่ Ragusa ในขณะนั้นถือเป็นท่าเรือแห่งแรกในแถบเมดิเตอร์เรเนียนที่มีมาตรการกักกันผู้คน อีกทั้งยังมีกำหนดบทลงโทษและค่าปรับที่เข้มงวดมากสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการกักกัน 30 วัน ซึ่งต่อมาที่เมืองเวนิสเพิ่มระยะเวลาเป็น 40 วัน
ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ทำไมระยะเวลาการกักตัวจึงเปลี่ยนจาก 30 เป็น 40 วัน บ้างก็อ้างว่า 30 วันอาจไม่เพียงพอที่จะป้องกันการแพร่กระจายของโรค เนื่องจากไม่ทราบระยะฟักตัวที่แน่นอน บ้างก็เชื่อว่าการกักกัน 40 วันเกี่ยวข้องกับการถือศีลอดของคริสเตียน
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออื่นๆ ที่เชื่อว่าตัวเลข 40 วัน อ้างอิงมาจากเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ เช่น น้ำท่วมใหญ่ การที่โมเสสอยู่บนภูเขาซีนาย หรือการเข้าพักของพระเยซูในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากการให้ข้อมูลของ Bakija-Konsuo บนเว็บไซต์ของ BBC ระบุว่าฝ่ายบริหารของเมือง Dubrovnik นำแนวคิดเรื่องการกักตัวอันเป็นผลมาจากประสบการณ์ในการแยกตัวผู้ป่วยโรคเรื้อน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคเรื้อน เนื่องจากประวัติศาสตร์ของเมือง Dubrovnik นั้นได้รับความเสียหายจากโรคต่างๆ มากมาย โดยมีโรคเรื้อนและโรคระบาดเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของประชาชน
ตามที่ Bakija-Konsuo ได้กล่าวว่า “การแยกตัวเป็นแนวคิดที่นำมาใช้ก่อนปีค.ศ. 1377 ตามที่ระบุไว้ในธรรมนูญเมือง Dubrovnik ซึ่งเขียนขึ้นในปีค.ศ. 1272 และการกล่าวถึงการแยกผู้ป่วยโรคเรื้อนครั้งแรกว่าเป็นที่ใด ธรรมนูญนี้เป็นหนึ่งในเอกสารทางกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดของโครเอเชีย”
โดยอาคารที่ใช้เป็นสถานที่กักตัวผู้เดินทางมาใหม่ เรียกว่า “Lazaretto” เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก Nazaretto ซึ่งเป็นชื่อของเกาะในทะเลสาบที่เมืองเวนิสใช้สร้างเป็นโรงพยาบาลสำหรับโรคระบาดแห่งแรกคือ Santa Maria di Nazareth
Lazaretto ทำหน้าที่เป็นทั้งศูนย์กลางการรักษาพยาบาลและห้องกักกัน เป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยที่มาใหม่และประชาชนในท้องถิ่นที่ป่วยด้วยโรคระบาด ขณะเดียวกันก็แยกพวกเขาออกจากกลุ่มที่มีสุขภาพดี ที่ Lazaretto ผู้ป่วยที่ติดเชื้อกาฬโรคจะได้รับอาหารสด เครื่องนอนที่สะอาด และการรักษาที่ส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดจ่ายโดยรัฐ
หลังจากนั้น Lazaretto ก็ยังสามารถรักษาสถานะของมันไว้ได้ยาวนาน ถึงแม้ว่าการปกครองของ Dubrovnik จะล่มสลายในเวลาต่อมา แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าฐานะของสถาบันสุขภาพของ Lazaretto ถูกยกเลิกไปเมื่อไหร่
Bakija-Konsuo ได้กล่าวถึง Lazaretto ว่า อาคารหินที่น่าประทับใจนี้ไม่เพียงแสดงถึงสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อนเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ซึ่งบอกเล่าถึงมรดกทางการแพทย์อันสมบูรณ์ของเมือง Dubrovnik ในสมัยก่อนได้ดีที่สุด
Lazarettos ในเมือง Dubrovnik ปัจจุบันนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น คอนเสิร์ตและการเต้นรำพื้นบ้าน Linđo (Lindjo) ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งเศรษฐกิจของเมือง Dubrovnik และประเทศโครเอเชีย ณ ปัจจุบัน โดยหลังจากที่เผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา มันถูกปิดรับนักท่องเที่ยว และต่อมาจึงเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว
ปัจจุบัน Lazarettos จึงยังคงทำหน้าที่ผดุงเศรษฐกิจของเมืองให้เดินหน้าต่อไปได้ เหมือนดั่งที่มันเคยเป็นอีกครั้ง และยังเป็นเครื่องเตือนใจถึงวิสัยทัศน์ในการต่อสู้กับโรคติดต่อเมื่อหลายศตวรรษก่อน
อ้างอิง :
Ross, Dave. “Social Distancing and Quarantine Were Used in Medieval Times to Fight the Black Death”. History. Online. Published 27 MAR 2020. Access 12 JUL 2021. <https://www.history.com/news/quarantine-black-death-medieval>
Schmitz, “Rob. How A Medieval City Dealing With The Black Death Invented Quarantine”. NPR. Online. Published 6 JUL 2021. Access 12 JUL 2021. <https://www.npr.org/2021/07/06/1012490871/how-a-medieval-city-dealing-with-the-black-death-invented-quarantine>
Vuković, Kristin. “Dubrovnik: The medieval city designed around quarantine”. BBC. Online. Published 23 APR 2021. Access 12 JUL 2021. <https://www.bbc.com/travel/article/20200421-dubrovnik-the-medieval-city-designed-around-quarantine>
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2564