ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 นักวิชาการต่างชาติ โดยเฉพาะอเมริกันสนใจศึกษาหมู่บ้านชนบทของไทย ในปี 1972 มีนักวิชาการได้รับเงินสนับสนุนจาก USAID (U. S. Agency for International Development) เพื่อรวบรวมงานเขียนและงานวิจัยเกี่ยวกับสังคมไทยและพม่า ในหัวข้อต่างๆ เช่น เศรษฐกิจของสังคมเกษตร, การเช่าที่ดิน, หมู่บ้านศึกษา, การศึกษาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์, การเมืองของชาวนา, วัฒนธรรมและโครงสร้างสังคม, การเมืองระดับชาติ ฯลฯ
งานวิจัยทั้งหมดราว 500 รายการ กว่า 450 รายการเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทย นั่นเป็นเพราะที่ตั้งของไทยอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์การทำสงครามเวียดนามของอเมริกา จึงส่งผลให้เกิดความสนใจของนักวิชาการอเมริกันต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ก่อนหน้านั้นอเมริกันมาสนใจศึกษาสังคมชาวนาของจีนและญี่ปุ่น แต่เมื่อมีการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ของจีนในปี 1949 อเมริกาไม่สามารถเข้าไปทำวิจัยในจีนได้อีก ประกอบกับอเมริกาเริ่มมองประเทศอื่นในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้นแล้ว รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังหันมาเป็นมิตรกับอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1940
มีมหาวิทยาลัยคอร์แนล เป็นสถานศึกษาสำคัญในการวิจัยและสนับสนุนการวิจัย ในช่วงทศวรรษ 1950 ถึงต้นทศวรรษ 1960 จนมีคำกล่าวเปรียบเทียบว่า คอร์แนลคือศูนย์การกลางอุตสาหรรมการวิจัยเกี่ยวกับสังคมไทยผ่านความรู้ด้านมานุษยวิทยาประยุกต์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
ตั้งแต่ปี 1951-1976 มีวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับไทยที่ผลิตโดยนักวิชาการมหาวิทยาลัยคอร์แนล จำนวน 36 เล่ม ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อปฏิบัติการทางทหารในประเทศไทย ปี 1956 Lauriston Sharp ที่ถูกขานนามว่า “บิดาของไทยศึกษา” และคณะ เขียนเอกสารชื่อ The Human Relations Area File Handbook on Thailand สำหรับให้ทหารอเมริกันใช้เป็นคู่มือการปฏิบัติการในประเทศไทย
ขณะที่กระทรวงกลาโหมอเมริกาก็มีบทบาทในการก่อตั้ง MRDC (Military Research and Development Center) ในกรุงเทพฯ เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชนบทของไทยและทดลองสร้างแผนพัฒนาชนบท โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นในหมู่บ้าน และปลอดจากคอมมิวนิสต์
Lauriston Sharp เห็นว่าอเมริกามีความเข้าใจน้อยมากเกี่ยวผู้คนและมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาเห็นว่า “คนธรรมดาสามัญกำลังคิดอะไรและกำลังทำอะไร เรามักจะมองคนธรรมดาสามัญที่อยู่บนถนน แต่เราละเลยคนธรรมดาสามัญในท้องทุ่งไร่นา…การศึกษาชุมชนจึงเป็นเทคนิคที่จะช่วยในการแก้ปัญหาดังกล่าว”
ปี 1950 เกิดโครงการเอเชียอาคเนย์ศึกษาของมหาวิทยาลัยคอร์แนล ด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มี Lauriston Sharp เป็นผู้อำนวยการคนแรก ภายหลังทศวรรษ1950 เกิดศูนย์ไทยศึกษาในอเมริกาตามอีกหลายแห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นความตื่นตัวของอเมริกาเกี่ยวกับประเทศไทย ผ่านองค์กรอย่าง USOM (United States Operations Mission) และมูลนิธิเอกชนอื่นที่สนับสนุนการจัดตั้งหน่วยงานราชการ ตลอดจนการทำวิจัยของสถาบันการศึกษาต่างๆ ในไทย รวมถึงการเกิดมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ตลอดจนการให้ทุน Fulbright แก่คนไทยจำนวน 8,000 คน ในช่วงปี 1950-1974 เพื่อไปศึกษาต่อในอเมริกา
นั่นมีเหตุผลมาจากความสัมพันธ์พิเศษระหว่างไทย-อเมริกา
ขณะที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์เร่งพัฒนาประเทศสู่ระบบทุนนิยมด้วยการเปิดรับระบบตลาดเสรี รวมถึงการลงทุนและการช่วยเหลือจากอมริกาในด้านต่างๆ รัฐบาลอเมริกาเองก็ต้องการขยายอิทธิพลและรักษาผลประโยชน์ของตนเองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉพาะอย่างยิ่งในไทย เพื่อสกัดการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์
ปี 1963 ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยคอร์แนล ทำสัญญาจ้าง USAID สำรวจหมู่บ้านชาวเขาในจังหวัดเชียงราย (อำเภอเชียงดาว เวลา 3 เดือน) ที่ชื่อว่า Benington-Cornell Anthropological Survey Of Hill Tribes in Thailand ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยเหลือหน่วยงานของอเมริกาที่ประจำอยู่ต่างประเทศ สนับสนุนเจ้าหน้าที่ต่างๆ ในการตัดสินใจชิงนโยบายอย่างสมเหตุผล นอกจากนี้ยังเป็นการสำรวจเพื่อวิเคราะห์ว่าจะบูรณาการชาวเขา กลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มย่อยทางวัฒนธรรมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาติได้อย่างไร
นอกจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ยังมีหน่วยงานอื่นในอเมริกาที่สนับสนุนนักวิชาการไทยศึกษาอเมริกันในการวิจัยทางการทหารและวิจัยหมู่บ้านชนบทของไทย เช่น RAND คอร์เปอเรชัน, มูลนิธิฟอร์ด, มูลนิธิเอเชีย ฯลฯ โดยเป้าหมายของานวิจัยก็เพื่อการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ เช่น ปี 1962 David Wilson เจ้าของผลงานหนังสือ Politics in Thailand เขียนเอกสารขนาดสั้นให้ RAND คอร์เปอเรชัน เพื่อให้รัฐบาลอเมริกันใช้ในการประเมินสถานการณ์ภัยคอมมิวนิสต์ในชนบทของไทย
ข้อมูลจาก
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. เขียนชนบทให้เป็นชาติ, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2562.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ธันวาคม 2563