โจชง อัจฉริยะผู้คิดวิธีชั่งช้าง ลูกที่โจโฉรักที่สุด แม้ตายแล้วยังจัดงานแต่งให้

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก พระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร

โจชง เป็นลูกชายที่โจโฉ รักที่สุด, ให้ความสำคัญมากที่สุด, คาดหวังมากที่สุด ในบรรดาลูกชายที่มีทั้งหมด 25 คน โจชงมีคุณสมบัติถึงพร้อมในทุกด้าน คือปัญญาดี, บุคลิกหน้าตาดี, จิตใจดี  นี่คือลูกชายที่โจโฉตั้งใจจะให้เป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากตน

แต่ก็ต้องกลายเป็นแค่ความฝัน เพราะโจชงก็อายุสั้นเสียชีวิตแต่ยังเยาว์

โจชง (ค.ศ. 196-208) เป็นลูกของโจโฉ กับหวนฮูหยิน อนุภรรยา เมื่ออายุเพียง 5-6 ขวบ ได้แสดงความเฉลียวฉลาดเกินหน้าขุนนางปัญญาดีทั้งหลาย ซึ่งบันทึกพงศาวดารสามก๊กจี่ ภาควุ่ยก๊ก บันทึกไว้ว่า

ซุนกวนให้คนนำช้างมามอบให้โจโฉเชือกหนึ่ง โจโฉอยากรู้น้ำหนักช้าง แต่ไม่มีเครื่องชั่งที่ใหญ่พอจะชั่งช้างทั้งตัวได้ ขุนนางผู้มากความสามารถของโจโฉจำนวนมากในที่นั้น แต่กลับไม่มีใครหาวิธีแก้ปัญหานี้ได้

ขณะโจชงยังเป็นเด็กอายุเพียง 5-6 ขวบ เป็นผู้เสนอวิธี “ชั่งช้าง” โดยใช้หลักเรื่องการลอย-จม เอาช้างใส่เรือแล้วขีดรอยที่ข้างเรือไว้ จากนั้นเอาช้างขึ้น แล้วชั่งก้อนหินค่อยๆ ใส่เรือไปจนเรือจมถึงรอยที่ขีดไว้ แล้วรวมน้ำหนักหิน ทำให้ทราบน้ำหนักช้างได้ นับเป็นเด็กอัจฉริยะคนหนึ่งซึ่งมีไม่มากนักในประวัติศาสตร์จีน

โจชงยังมีจิตใจเมตตา ขอร้องโจโฉให้ใช้กรุณาและคุณธรรมอยู่เสมอ ทั้งยังช่วยข้าราชการที่พลั้งพลาดทำผิดกฎหมายไว้หลายครั้ง หรือสืบหาความจริงที่ซ่อนเร้น ชำระคดีที่ผิดพลาด คืนความยุติธรรมให้ผู้คน นับว่าเป็นผู้มีปัญญาและจิตใจกว้างขวาง นอกจากนี้โจชงยังมีรูปร่างหน้าตาดีอีกด้วย นับว่าหาได้เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติดีพร้อมคนหนึ่งที่หาได้ยาก โจโฉจึงรักใคร่ชื่นชมมากโจชงมาก และเคยแสดงออกต่อเหล่าขุนนางหลายครั้งว่าจะให้โจชงเป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากตน

การให้ความสำคัญแก่โจชงของโจโฉนี้เห็นได้เป็นปกติ ยิ่งเมื่อโจชงป่วย โจโฉถึงกับทิ้งงานสำคัญของบ้านเมืองมายื้อยุดชีวิต ยื้อโจชง ไม่ว่าจะเป็นการหาหมอฝีมือดี, ตัวยาที่มีสรรพคุณวิเศษ หรือการบนบานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ซึ่งปกติโจโฉที่ไม่เชื่อเรื่องผีสางเทวดา

เมื่อโจชงจากไปโจโฉเสียใจโศกเศร้าอาลัยเป็นที่สุดประหนึ่งจะตายตาม เพราะในใจเขารู้ดีว่าการสูญเสียครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เมื่อโจผีปลอบโยน โจโฉถึงกับพูดว่า “นี่เป็นเคราะห์ร้ายของพ่อ [โจโฉ] แต่เป็นโชคดีของพวกเจ้า”

ความสามารถของโจชงนี้แม้แต่โจผีก็ไม่ปฏิเสธ เมื่อโจผีขึ้นสืบอำนาจต่อจากโจโฉ พูดอยู่เสมอว่า “หากโจชงไม่ตาย ข้าก็ไม่ได้ครองแผ่นดิน”

หากความรักของโจโฉที่มีต่อโจชงไม่ได้จบลงเมื่อโจชงสิ้นชีวิต โจโฉพยายามจัด “ยมอาวาห์-แต่งงานหลังตาย” ให้กับโจชง ครั้งแรกโจโฉได้ติดต่อปิ่งหยวนขุนนางที่เสียลูกสาวในเวลาไล่เลี่ยกับโจชง โจโฉติดต่อทาบทามปิ่งหยวนว่าขอนำร่างของลูกสาวเขาฝังร่วมกับลูกชายตน แต่ปิ่งหยวนปฏิเสธว่าจารีตของขงจื๊อต่อต้านการแต่งงานหลังตาย

ทว่าโจโฉยังไม่หมดความพยายามได้ติดต่อของลูกสาวนผู้ล่วงลับของหญิงแซ่เอียนมาฝังร่วมกับโจชง ทำพิธี “แต่งงานหลังตาย” จนสำเร็จ เพื่อชดเชยความรู้สึกของพ่อแม่ต่อลูกที่อายุสั้น ยังไม่ทันได้แต่งงาน ได้รู้จักความรักของชายหญิงในปรโลก


ข้อมูลจาก

หลี่ฉวนจวินและคณะ เขียน, ถาวร สิกขโกศล แปล. 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน 2556


เผยแพร่ในระบบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ธันวาคม 2563