“ประทับ-ยืน ใช้อย่างไรดี ” ?

 

ในวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์มีคำที่มักใช้คลาดเคลื่อนกันบ่อยๆ เวลาบรรยายศิลปวัตถุอย่างพระพุทธรูป หรือรูปบุคคลที่มีสถานะเป็นเจ้าซึ่งต้องใช้ราชาศัพท์อธิบายอาการ “นั่ง” หรือ “ยืน” ของรูปเหล่านี้ ทั้งคำว่าประทับ ประทับนั่ง ประทับยืน

กรณีนั่ง: ควรใช้ว่า “ประทับ” แปลว่า “นั่ง” เช่น พระพุทธรูปประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ
การใช้ว่า “ประทับนั่ง” เช่น รูปพระโพธิสัตว์ประทับนั่งลลิตาสนะ จึงซ้ำซ้อน เพราะนั่งแล้วนั่งอีก และสำหรับ “ประทับยืน” ยิ่งใช้ไม่ได้ใหญ่ เพราะคนเราจะนั่งและยืนพร้อมกัน คงต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง

กรณียืน: ควรใช้ว่า “ทรงยืน” หรือ “ยืน” แต่ปกติแล้วนิยมใช้ยืน เช่น พระพุทธรูปยืน พระบรมรูปยืน ไม่ค่อยนิยมใช้ว่าพระพุทธรูปทรงยืน (แต่จะใช้ก็ได้นะ) และไม่ควรใช้ว่า “ประทับยืน” อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าจะยืนหรือนั่งให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง

กรณีอื่นๆ: “ทรงประทับ” ในความหมายว่านั่งใช้ไม่ได้ เพราะประทับเป็นกริยาราชาศัพท์ ต้องมีทรงนำหน้า แต่ “ทรงประทับ” ในความหมายดังนี้ เช่น ทรงประทับพระราชลัญจกรใช้ได้

ส่วน “ประทับทรง” นิยมใช้อธิบายการเข้าทรงหรือที่เรียกว่าองค์ลง

ทั้งนี้ ถ้าเห็นว่ายุ่งยากเกินไปจะเอาที่สบายใจว่านั่งหรือยืนธรรมดาๆ ก็ได้ เช่น พระพุทธรูปนั่ง พระพุทธรูปยืน ในเอกสารโบราณก็ใช้เหมือนกันแต่อาจจะต้องทนกับแรงเสียดทานบ้างเท่านั้นเอง

(ข้อเขียนเรื่องนี้นำมาจากเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts)