“ท่าข้าวกำนันทรง” ท่าข้าวในตำนาน ที่เปิดซื้อขายข้าวเปลือก 24 ชั่วโมง

กำนันทรง (นายทรง องค์ชัยวัฒนะ) ผู้ก่อตั้ง “ท่าข้าวกำนันทรง” (ภาพจาก https://www.prachachat.net)

เมื่อมีโครงการชลประทานในภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ทำให้การค้าข้าวเปลือกในจังหวัดนครสวรรค์คึกคักและมีบทบาทมากขึ้น อำเภอพยุหะคีรีกลายเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวภาคเหนือ ที่สามารถทำการค้าข้าวเปลือกทางเรือได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับวิถีการเพาะปลูกที่เปลี่ยนเป็นเพื่อค้าขาย พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการตลาดและผู้เกี่ยวข้องในระบบการค้าข้าวเปลือก จนทำให้เกิด “ท่าข้าว” ขึ้นเป็นกลไกขึ้นในตลาดข้าวเมืองไทย

ท่าข้าวหนึ่งที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศก็คือ “ท่าข้าวกำนันทรง” ที่ กำนันทรง หรือ นายทรง องค์ชัยวัฒนะ ตั้งขึ้นในปี 2508 ท่าข้าวในตำนานที่ครั้งหนึ่งราคาซื้อขายข้าวเปลือกของที่นี้เป็นราคาอ้างอิงของตลาด, ท่าข้าวที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง

ข้อมูลเกี่ยวกับท่าข้าวกำนันทรงนี้ คงต้องอ้างอิงข้อมูลจากงานวิชาการของ สิรินภา กาฟัก เรื่อง “วิวัฒนาการตลาดข้าวไทย : กรณีศึกษาตลาดกลางท่าข้าวกำนันทรง”

ท่าข้าวของกำนันทรงมีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ห่างจาถนนใหญ่ 1 กิโลเมตร ด้วยขนาดที่ใหญ่สามารถรองรับปริมาณข้าวได้มากกว่าท่าข้าวอื่นถึง 3-4 เท่า ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ลดปัญหาของผู้ขายที่ขนสินค้ามาแล้วไม่มีที่จําหน่ายต้องตระเวนไปท่าข้าวหรือโรงสีต่างๆ และลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการตีรถกลับไปรับซื้อผลผลิตในเช้าวันใหม่

ซึ่งสอดคล้องกับวิถีการค้าของพ่อค้าในพื้นที่ภาคเหนือ ในตอนเช้าจะขับรถออกรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรตามไร่นา หลังเวลาเที่ยงก็จะออกจากพื้นที่นั้นมุ่งลงมาอําเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อนําข้าวที่มีมาจําหน่ายให้แก่พ่อค้าคนกลางหรือโรงสี หลังจากนั้นก็จะตีรถกลับไปเพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในเช้าวันต่อมา

ที่สำคัญและแตกต่างกับท่าข้าวอื่นอย่างชัดเจนคือ “บทบาทของการเป็นตลาดกลาง”

ที่ผู้เขียน (สิรินภา กาฟัก) ค้นคว้าและเรียบรียงไว้ดังนี้

การซื้อขายข้าวเลือกกําหนดจากความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขาย โดยที่ผู้ประกอบการ (ท่าข้าว) ไม่ได้เข้าไปรับซื้อ หรือแข่งซื้อกับพ่อค้าในตลาด ยกเว้นในช่วงแรกของการเปิดท่าข้าวที่ผู้ประกอบการทําการ กําหนดราคาขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้เกษตรกรที่จะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าข้าวซึ่งมีข่าวสารข้อมูลที่มากกว่า

หน้าที่หลักของท่าข้าวคือเป็นผู้ให้บริการสถานที่ซื้อขายข้าวเปลือก ที่รวมผู้ซื้อและผู้ขายจํานวนมากมายมาพบกัน และต่อรองซื้อขายกันด้วยวิธีการประมูลราคาหรือต่อรองราคา โดยราคาที่ซื้อขายกันในท่าข้าวกํานันทรงคิดคํานวณย้อนกลับจากราคาซื้อขายต่างประเทศ ราคาส่งออกของผู้ส่งออกและหยง [นายหน้าค้าข้าว] ในตลาดกรุงเทพ และราคาที่โรงสีในพื้นที่รับซื้อผลผลิต ตามลําดับ

นอกจากนี้ท่าข้าวยังให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารด้านการตลาดและราคาข้าว รวมทั้งกํากับดูแลไม่ให้ราคาซื้อขายต่ำกว่าที่ควรจะเป็น พร้อมทั้งหาสิ่งอํานวยความสะดวกและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ได้มาตรฐานไว้คอยให้บริการ ได้แก่ เครื่องชั่งรถยนต์ รถตักข้าว ยุ้งฉาง กรรมกร บ้านพัก ซึ่งการให้บริการอํานวยความสะดวกทางด้านการตลาดถือเป็นรายได้หลักของท่าข้าวใน

และนั่นทำให้ท่าข้าวกำนันทรงเป็นศูนย์กลางการซื้อขายข้าวเปลือกที่พ่อค้าและเกษตรกรนิยมใช้บริการ โดยข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนนครวสวรรค์ ในปี 2519 ปริมาณการซื้อขายข้าวเปลือกที่ท่าข้าวกํานันทรงมีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุดเฉลี่ยประมาณ 1,600-2,200 เกวียน/วัน

ในระหว่างปี 2521-24 ซึ่งถือเป็นยุคทองของตลาดกลางข้าวไทย หรือ “ท่าข้าว” เพราะราคาซื้อขายข้าวเปลือกของไทยปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการข้าวเพื่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลหันมาให้ความสําคัญในการจัดตั้งตลาดกลางข้าวเปลือก มีประชาสัมพันธ์จากภาครัฐ ท่าข้าวกํานันทรง ในฐานะตัวอย่างตลาดกลางข้าวเปลือก ทําให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการค้าข้าวของประเทศ

ส่งผลให้มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 257,000 ตัน ในปี 2520 เป็น 422,000 ตัน และ 527,000 ตัน ในปี 2522 และปี 2524 ท่าข้าวกํานันทรงจึงได้เปิดให้มีการซื้อขายตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น มีผู้นำขายมาขายไกลจากจังหวัดเชียงราย คิดเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 550 กิโลเมตร ซึ่งแสดงว่าส่วนต่างหรือกําไรที่เกิดขึ้นจากการนําข้าวมาขาย ณ ท่าข้าวกํานันทรง มากพอที่จะแลกกับค่าขนส่งและค่าเสียโอกาสในการขับรถที่มีระยะไกลนี้


ข้อมูลจาก

สิรินภา กาฟัก. วิวัฒนาการตลาดข้าวไทย : กรณีศึกษาตลาดกลางท่าข้าวกำนันทรง, การค้นคว้าอิสระของการศึกษาหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณพิต (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2563