
เผยแพร่ |
---|
“เจ้าจอมทับทิม” ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 …ชื่อนี้ปรากฏขึ้นในนิยายเรื่อง “แอนนาและพระเจ้ากรุงสยาม” (Anna and The King of Siam) ซึ่งแต่งขึ้นโดยใช้โครงเนื้อหาในหนังสือของแหม่มแอนนา ซึ่งคนที่อ่านนิยายเรื่องนี้แล้ว บางคนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่ส่วนมากบอกว่าไม่ใช่เรื่องจริง หากไม่ใช่เรื่องจริงแล้ว “เจ้าจอมทับทิม” ที่มีตัวตนจริงนั้น มีประวัติอย่างไร
นิยาย “แอนนาและพระเจ้ากรุงสยาม” (Anna and The King of Siam) เขียนโดยมาร์กาเร็ต แลนดอน (Margaret Landon) ดังที่กล่าวแล้วว่า เรื่องนี้เขียนโดยใช้เค้าโครงหนังสือของแหม่มแอนนา หญิงม่ายซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดว่าจ้างให้เข้ามาสอนภาษาในพระราชสำนัก 2 เล่ม คือ The English Governess at the Siamess Court กับ “รักในราชสำนัก” (The Romance of the Harem)
เนื้อหาในนิยาย “แอนนาและพระเจ้ากรุงสยาม” เอ่ยถึงเจ้าจอมชื่อ ทับทิม ว่า เป็นเด็กสาวอายุ 16 ปี ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับบิดามารดา ถูกเกณฑ์มาเป็นคนงานขนอิฐทุบดินพร้อมสามีชื่อ แดง ที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เมื่อรัชกาลที่ 4 พบทับทิม ครั้งแรกระหว่างเสด็จไปประกอบพระราชพิธีฝังลูกนิมิต พระองค์ทรงชื่นชมในความงามของทับทิม จึงมีผู้นำทับทิมเข้าถวายตัว และกลายเป็นที่โปรดปรานกว่าเจ้าจอมคนอื่น
เจ้าจอมทับทิมยังคงคิดถึงนายแดง สามีซึ่งบวชเป็นพระจำพรรษาที่วัดราชประดิษฐฯ และเป็นพระครูซึ่งคนเรียกกันว่า “พระครูปลัด” และมักได้รับนิมนต์มาบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังอยู่บ่อยครั้ง
ครั้งหนึ่งเจ้าจอมทับทิมเห็นโอกาสจึงปลอมตัวเป็นเณรติดตามไปอยู่กับพระครูที่วัดราชประดิษฐฯ เมื่อมีผู้จับได้ ทั้งสองถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็น นิยายยังเล่าว่า แอนนารับรู้เรื่องการประหารชีวิต และเข้าไปทูลขอให้ทรงผ่อนผันโทษแต่ไม่เป็นผล
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย คอลัมนิสต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม อธิบายไว้ว่า เรื่องที่ปรากฏในนิยายข้างต้นเป็นเรื่องแต่งขึ้นโดยอาศัยฉากและชีวิตคนในพระบรมมหาราชวังมาประกอบกับจินตนาการ หากแต่ในความเป็นจริงนั้น สมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏเจ้าจอมทับทิมซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นธิดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องในนิยายทั้งสิ้น
เจ้าจอมทับทิมท่านแรก เป็นธิดาของ เจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)
เจ้าพระยาท่านนี้เป็นข้าหลวงเดิม รับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ยังทรงครองเพศสมณะ เป็นที่โปรดปราน มีเรื่องเล่ากันมาว่า ทรงเลี้ยงนายเพ็งประดุจบุตรบุญธรรม เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง จึงถวายทับทิมธิดาอันเกิดแต่ท่านหุ่นให้เป็นเจ้าจอม ครั้นเสด็จสวรรคต เจ้าจอมทับทินท่านนี้กลับมาอยู่กับบิดา ภายหลังได้วิวาหมงคลกับพระยาราชาประพันธ์ (สุดใจ)
เจ้าจอมทับทิมท่านที่ 2 เป็นธิดาของพระยาราชสุภาวดี (ปาน)
พระยาราชสุภาวดี (ปาน) เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่สืบเชื้อสายจากขุนนางรามัญซึ่งตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา มีบุตรหลานรับราชการสนองพระเดชพระคุณทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในมาโดยตลอด
พระยาราชสุภาวดี (ปาน) เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 จึงถวายธิดาชื่อทับทิมเป็นเจ้าจอม เมื่อเสด็จสวรรคต เจ้าจอมทับทินท่านนี้เข้ารับราชการเป็นเสมียนหลวงฝ่ายใน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าจอมทับทิมท่านที่ 3 เป็นธิดาของพระจำนงภูษิต (อยู่ วัชโรทัย)
ท่านสืบเชื้อสายจากข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสถึงต้นสกุลพระจำนงภูษิตว่า เป็นผู้เชิญพระกลดกั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็นเจ้าพระยาจักรี เมื่อครั้งอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวคราวสงครามไทยพม่า พ.ศ. 2318 มีบุตรหลานเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณต่อเนื่อง
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระจำนงภูษิต ข้าราชการสำนักกรมพระภูษามาลา ถวายธิดาชื่อทับทิม เข้ารับราชการในพระราชสำนักฝ่ายในตำแหน่งเจ้าจอม และมีชีวิตเป็นปกติตลอดมาจนสิ้นอายุขัย
นอกจากนี้ ยังมีผู้อ้างอิงถึงเจ้าจอมทับทิม ในรัชกาลที่ 4 อีกท่านที่เป็นธิดาของพระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร)
พระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) เป็นบุตรของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ฤาแอนนาอ้างอิงบุคลิกและอุปนิสัยจากบุคคลจริง?
แม้ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวตนของเจ้าจอมทับทิมในนิยายซึ่งเขียนโดยมาร์กาเร็ต แลนดอน จะเป็นเรื่องแต่งขึ้นโดยเค้าโครงจากหนังสือของแหม่มแอนนา แต่ความคิดเห็นของศันสนีย์ มองว่า ลักษณะของเจ้าจอมทับทิม นางแอนนา น่าจะเขียนขึ้นจากบุคลิกของใครสักคนหนึ่งที่นางเคยรู้จักและเกี่ยวข้องด้วย
ศันสนีย์ วิเคราะห์ไว้ว่า
“มีสตรีผู้หนึ่งซึ่งน่าที่นางแอนนาจะนำลักษณะของท่านมาผสมผสานเข้ากับจินตนาการ บรรยายออกมาเป็นภาพเจ้าจอมทับทิมในนวนิยายของนาง สตรีผู้ที่มีลักษณะใกล้เคียงและน่าที่นางแอนนาจะสนใจ ก็คือ เจ้าจอมมารดาทับทิม ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แอนนา บรรยายรูปโฉมเจ้าจอมทับทิมว่า เป็นสตรีที่งามเป็นเลิศ และในเรื่องได้กล่าวเกี่ยวเนื่องกับ เจ้าจอมมารดาเที่ยง ว่ามีหน้าที่ดูแลและจัดการนำเจ้าจอมทั้งหลายขึ้นเฝ้าถวายงาน ซึ่งเจ้าจอมมารดาเที่ยงได้ปรับทุกข์กับนางแอนนาถึงเรื่องเจ้าจอมทับทิมว่า ยังเป็นเด็กนักจึงมักหลีกเลี่ยงการเข้าเฝ้าถวายงาน ด้วยการชอบหลบไปแอบซ่อนตามที่ต่างๆ ทำความลำบากใจให้แก่ผู้มีหน้าที่ดูแลเป็นที่ยิ่ง
แต่ในเรื่องของความเป็นจริงนั้น เจ้าจอมมารดาทับทิม และเจ้าจอมมารดาเที่ยง มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน คือเป็นธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าจอมมารดาทับทิมเกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2400 ด้วยเหตุที่บิดาเป็นข้าหลวงเดิม และมีพี่สาวรับราชการเป็นพระสนมเอกอยู่ในพระราชสำนัก คุณทับทิมจึงมีโอกาสถวายตัวเป็นข้าราชสำนักตั้งแต่อายุได้เพียง 6 ปี โดยพักอาศัยอยู่กับเจ้าจอมมารดาเที่ยงผู้พี่สาว
คุณทับทิมเป็นเด็กที่มีรูปร่างหน้าตางดงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย คุณท้าววรคณานันท์ (หุ่น) ครูผู้ฝึกละครในพระราชสำนัก พิจารณาเห็นวี่แววความงามและหน่วยก้านที่แสดงถึงความฉลาดเฉลียว จึงขอรับไปอบรมเลี้ยงดูอย่างลูกหลาน คุณทับทิมจึงได้ไปพำนักอยู่กับคุณท้าววรคณานันท์ และได้ฝึกหัดละครตั้งแต่ยังเด็ก”
คุณทับทิม เคยได้แสดงถวายหน้าพระที่นั่ง เมื่อปลายรัชสมัยได้รับคำชมเชยว่างามทั้งท่ารำและรูปร่างหน้าตา ศันสนีย์ จึงมองว่า ในช่วงเวลานี้ แอนนาคงเคยเห็นคุณทับทิม เพราะนางแอนนามักมาเยี่ยมเจ้าจอมมารดาเที่ยงในฐานะคนสนิทคุ้นเคยกันเสมอ จน 5 ปีต่อมา เมื่อลงมือเขียนเรื่อง The Romance of the Harem จึงน่าจะนำความงามและเรื่องราว ชื่อของทับทิมตลอดจนเรื่องเจ้าจอมมารดาเที่ยงมาผสมกับจินตนาการเขียนออกมาเป็นเรื่องอันเหลือเชื่อ
สำหรับในความเป็นจริงนั้น ชีวิตเจ้าจอมมารดาทับทิมดำเนินอย่างราบเรียบ เมื่อรัชกาลที่ 4 สวรรคต คุณทับทิมมีอายุ 11 ปี เข้ารับราชการเป็นละครหลวง ต่อมาเป็นที่เลื่องลือเรื่องความงามและความสามารถ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเจ้าจอม
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงชีวิตและอุปนิสัยของเจ้าจอมมารดาทับทิมว่า “…ได้ยินแต่คนชมอยู่เสมอ ว่าท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยดี ไม่มีใครเกลียดชัง มีแต่คนชอบทั้งวัง และว่าท่านทำราชการด้วยความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมาก…”
หน้าที่อันสำคัญของเจ้าจอมมารดาทับทิมคือ การอภิบาลพระเจ้าลูกเธอ 3 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าชายจิรประวัติวรเดช พระองค์เจ้าหญิงประเวศวรสมัย พระองค์เจ้าชายวุฒิไชยเฉลิมลาภ
หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงขึ้นจากบทความ “เจ้าจอมมารดาทับทิม” โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2535 เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 เมษายน 2563