เปิดผู้กล้ายกตัวเป็นเจ้าของ “ดวงจันทร์” จากข้ออ้างโยงพระเจ้าเฟรเดอริก ถึงนายทุนมะกัน

ภาพประกอบเนื้อหา - Eugene A. Cernan นักบินอวกาศผู้ควบคุมภารกิจเดินไปที่พาหนะในปฏิบัติการสำรวจของนาซ่า (NASA) เมื่อ 13 ธ.ค. 1972 ภาพจาก AFP PHOTO / NASA / HARRISON H. SCHMITT

ก่อนหน้ามนุษย์จะออกไปสำรวจอวกาศ ในโลกเราก็เกิด “เจ้าของ” ที่อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินนอกโลกกันแล้ว ร่องรอยเหล่านี้นับย้อนไปได้ตั้งแต่เมื่อศตวรรษที่ 18 จนถึงยุค 80s ไล่เรียงมาจนถึงยุค 90s ซึ่งมีการซื้อขายสิทธิในดวงจันทร์กันเลยทีเดียว

เมื่อปี 1969 นักบินอวกาศ (จากสหรัฐฯ) จารึกสถิติว่าพวกเขาเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่ขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์ แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีกหลายทศวรรษ มนุษย์หยิบยกตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับดวงจันทร์มายาวนาน

Advertisement

ความเกี่ยวข้องนี้ไปไกลขั้นอ้างอิงความเป็นเจ้าของด้วย หากอ้างอิงตามคำกล่าวอ้างของนายมาร์ติน เจอร์เกนส์ (Martin Jürgens) จากเยอรมนี การอ้างสิทธิซึ่งเก่าแก่ที่สุดน่าจะเกิดขึ้นในยุคพระเจ้าเฟรเดอริกมหาราชแห่งปรัสเซีย ย้อนกลับไปเมื่อปีค.ศ. 1756 ซึ่งนายมาร์ติน อ้างว่า พระเจ้าเฟรเดอริก พระราชทาน “ดวงจันทร์” ให้ Aul Jürgens บรรพบุรุษของมาร์ติน ในฐานะสัญลักษณ์ของความเชื่อถือที่มีต่อกัน

มาร์ติน เล่าว่า พระเจ้าเฟรเดอริก เสด็จฯ ไปหา Aul Jürgens ผู้เป็นเกษตกรทุกปี พระองค์ทรงเชื่อว่าเขาเป็นผู้มีพลังพิเศษ และพลังที่ว่านี้ เชื่อกันว่า มีผลทำให้ชนะสงคราม พระองค์จึงพระราชทานดวงจันทร์ในฐานะเครื่องนำโชคเป็นสิ่งตอบแทน และประกาศให้ส่งต่อกันเป็นมรดกไปสู่บุตรในสกุล

จากข้อกล่าวอ้างข้างต้น มาร์ติน เจอร์เกนส์ จึงเป็นอีกหนึ่งผู้อ้างสิทธิในดวงจันทร์ โดยเหตุผลของเขายกว่าสิทธินั้นสืบทอดกันมาจนถึงทายาทรุ่นปัจจุบัน ซึ่งจนถึงวันนี้ มาร์ติน ก็ยังอ้างสิทธินี้อยู่ อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครพบเอกสารที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างของมาร์ติน แต่อย่างใด

ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนหน้าคำกล่าวอ้างของนายมาร์ติน มีผู้ที่อ้างแบบนี้มาแล้ว (และหลังจากนายมาร์ติน ก็มีผู้อ้างสิทธิอีกหลายรายตามมา) นั่นคือ เจนาโร กายาร์โด (Jenaro Gajardo) นักกฎหมายชาวชิลีซึ่งอ้างสิทธิเป็นเจ้าของดวงจันทร์อันทำให้เขาโด่งดังเป็นพลุแตกในเวลานั้น

กายาร์โด ทำงานเป็นนักกฎหมายพร้อมกับก่อตั้งชุมชนดูดวงดาวผ่านกล้องส่องทางไกล ไม่เพียงแค่วัตถุประสงค์เรื่องศึกษาดวงดาวแล้ว เป้าหมายหนึ่งของชุมชนคือการเพื่อก่อตั้งคณะกรรมการสำหรับต้อนรับแขกที่เป็นสิ่งมีชีวิตนอกโลก ชุมชนนี้มีสมาชิกระดับบิชอปที่ได้รับความเคารพนับถืออยู่ เหตุนี้ช่วยลดคำเสียดสีล้อเลียนต่อชุมชนนี้ได้อย่างมาก

ในปี 1954 กายาร์โด พยายามเข้าร่วมชุมชนชั้นสูงในทัลกา (Talca) แต่ถูกปฏิเสธเพราะเขาไม่ได้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ใดๆ ภายหลังเขาร่างเอกสารอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของดวงจันทร์อันมีใจความว่า เขาเป็นเจ้าของวัตถุนอกโลกนี้มาตั้งแต่ก่อนหน้าปี 1857 และประกาศการกล่าวอ้างนี้ลงในสื่อชิลี (ทำตามกฎหมาย)

ในประกาศระบุเนื้อหาเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นที่เชื่อว่าเป็นเจ้าของสิทธิทักท้วง เมื่อกระบวนการของเขาผ่านไปโดยราบรื่น เขายังสามารถลงทะเบียบอสังหาริมทรัพย์ในทัลกาได้ด้วย กายาร์โด เสียชีวิตในปี 1998 แต่มอบความรับผิดชอบในดวงจันทร์ส่งต่อไปถึงประชาชนชาวชิลี

กายาร์โด ไม่ได้เป็นบุคคลแรกและคนสุดท้ายที่อ้างสิทธิเป็นเจ้าของดวงจันทร์ ในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงที่เทรนด์การอ้างสิทธิในดวงจันทร์เฟื่องฟูอย่างมาก รายชื่อของบุคคลที่อ้างสิทธิผุดขึ้นมาเต็มไปหมด

ปี 1936 เอ. ดีน ลินด์ซีย์ (A. Dean Lindsay) อ้างสิทธิความเป็นเจ้าของในวัตถุนอกโลกทั้งหมดว่าเป็นของเขาเพียงผู้เดียว ส่งจดหมายไปยังเจ้าพนักงานรับรองเอกสารเมืองพิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh) พร้อมเงินและโฉนด

ปี 1948 เจมส์ ที. มันแกน (James T. Mangan) ก็เป็นอีกหนึ่งรายที่อ้างสิทธิอาณาบริเวณนอกโลกว่าเป็นของเขา และก่อตั้งอาณาเขตที่เรียกว่า Celestia ยื่นเรื่องลงทะเบียนกับสำนักงานโฉนดและเอกสารแห่งในมณฑล Cook ของรัฐอิลลินอยส์ จากนั้นก็ประกาศว่าอาณาเขตนี้เป็นพื้นที่ปลอดภาษีที่เป็นประชาธิปไตย และเตรียมขายพื้นที่ขนาดเท่าโลกในราคา 1 ดอลลาร์ต่อหนึ่งชิ้น

แต่ที่โด่งดังที่สุดน่าจะเป็นกรณีของนายเดนนิส โฮป (Dennis Hope) ในยุค 80s นักลงทุนชาวอเมริกันอ้างว่าเขาเป็นเจ้าของดวงจันทร์ เขายกข้อกล่าวอ้างนี้ไปถึงสหประชาชาติ เมื่อปี 1980 (สหประชาชาติไม่ได้ตอบกลับ เขาจึงเชื่อว่าสิทธิของเขานั้นถูกต้องแล้ว) และในฐานะประธานแห่งองค์กรการทูตแห่งดวงจันทร์ (Lunar Embassy Corporation) โฮป ขายอสังหาริมทรัพย์บนดวงจันทร์และดาวอื่นๆ ไปให้ลูกค้าไม่ต่ำกว่า 3 ล้านราย (VICTORIA JAGGARD, 2009)

เมื่อลูกค้าเพิ่มเยอะขึ้น เขาอ้างว่า ผู้ใช้บริการต้องการการรับประกันว่าสินทรัพย์ของพวกเขาจะปลอดภัย โฮป จึงก่อตั้งรัฐบาลของตัวเองเมื่อปี 2004 มีรัฐธรรมนูญ, รัฐสภา และค่าเงินของตัวเอง แม้แต่ที่ทำการรัฐบาล ไปจนถึงหนังสือเดินทาง

อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตามหลักกฎหมายสากลแล้ว ไม่มีใครเป็น “เจ้าของ” ดวงจันทร์ หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในอวกาศ ตามกฎที่เรียกว่า “สนธิสัญญาอวกาศสากล” (Outer Space Treaty) เมื่อปี 1967 ซึ่งได้รับการยืนยันโดยสมาชิกสหประชาชาติกว่า 100 ประเทศ ข้อตกลงนี้มีหลักการว่า การพิจารณาในหัวข้อที่เกี่ยวกับเรื่องในอวกาศจะต้องอยู่ภายใต้ระเบียบของรัฐชาติ และพื้นที่อวกาศเป็นสมบัติของมนุษยชาติ (all mankind)

แต่โฮป กล่าวอ้างว่าสนธิสัญญานี้มีช่องโหว่ เขาไม่ได้กล่าวอ้างทรัพย์สินในอวกาศในฐานะ “ประเทศ” แต่เขากล่าวอ้างในฐานะ “ปัจเจกบุคคล” หากนึกย้อนกลับไปว่ารัฐบาลแห่งกาแล็กซี่ของเขามีสิทธิถือครองดวงจันทร์ก็ย่อมมีปัญหาทางกฎหมาย แต่ในข้อนี้ โฮป ก็อ้างอีกว่า การปกครองน้องใหม่ของเขาไม่ได้อยู่ภายในสมาชิกภาพของสหประชาชาติ และไม่จำเป็นต้องทำตามระเบียบสหประชาชาติ

ในที่นี้มีข้อถกเถียงทางกฎหมายซึ่งละเอียดซับซ้อนว่าด้วยการบังคับใช้สนธิสัญญาที่ตัวแทนสถาบันกฎหมายอวกาศนานาชาติในเนเธอร์แลนด์ชี้ว่า สนธิสัญญาครอบคลุมถึงประเทศและประชาชนในประเทศนั้น แต่ก็ใช่ว่าการทำธุรกิจหารายได้จากดวงจันทร์จะเป็นเรื่องเพ้อฝัน

สนธิสัญญาอีกฉบับที่เรียกว่าข้อตกลงดวงจันทร์เมื่อปี 1979 ครอบคลุมระเบียบการใช้งานทรัพยากรธรรมชาติบนดวงจันทร์ ระเบียบว่าไว้ว่าเมื่อถึงเวลาที่ทรัพยากรบนดวงจันทร์สามารถใช้งานได้ ระเบียบนี้จะถูกนำมาบังคับใช้ในเชิงธุรกิจที่กำลังหารายได้จากการตั้งเหมือง ที่พักอาศัย หรือการค้าใดๆ บนดวงจันทร์

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องการใช้งานดวงจันทร์ยังไปไกลถึงการฟ้องร้องต่อนาซ่า (NASA) โดยกลุ่มชายชาวเยเมน ซึ่งอ้างว่า นาซ่า บุกรุกดวงจันทร์ที่เป็นพื้นที่ของบรรพบุรุษของเขาตลอด 3 พันปีที่ผ่านมา

หากเปรียบเทียบกับทรัพย์สินบนโลกแล้ว แม้แต่อสังหาริมทรัพย์บนผิวดินทั่วไปก็ยังมีข้อพิพาทที่ซับซ้อน นับประสาอะไรกับดินแดนที่อยู่ห่างไกลออกไป แม้แต่รอยเท้าหรือธงชาติสหรัฐฯ ในช่วงการสำรวจก็ยังถูกมองว่า เป็นร่องรอยสำคัญและมีคุณค่าในทางโบราณคดี ไม่แน่ว่าวันหนึ่ง ร่องรอยการลงจอดของยานบนดวงจันทร์อาจเป็นแหล่งท่องเที่ยว แม้นานาชาติพยายามหาข้อตกลงร่วมเพื่อช่วยกันดูแล

อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน นักวิชาการและหลายหน่วยงานกังวลว่า สนธิสัญญาที่ยังไม่เคยถูกบังคับใช้หรือมีกรณีตัวอย่างให้ได้ศึกษาอาจมีช่องโหว่ เมื่อเวลานั้นมาถึง สนธิสัญญา ระเบียบข้อตกลงที่ร่างมาอาจไม่พอควบคุมดูแลทรัพยากรนอกโลกและอาจทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างชาติได้

 


อ้างอิง:

JAGGARD, VICTORIA. “Who Owns the Moon? The Galactic Government vs. the UN”. National Geographic. Online. Published 16 JUL 2009. Access 26 SEP 2019.

Pop, Virgiliu. Unreal Estate – The Men who Sold the Moon. 2006


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2562