เผยแพร่ |
---|
CIA หรือ สำนักข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency) ได้เผยแพร่เอกสารลับของ CIA ทะเบียน CIA-RDP82-00457R003300290006-5 ระบุหัวข้อว่า “COMMUNIST STRATEGY AND TACTICS IN THAILAND” ลงวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1949 หรือ พ.ศ. 2492 (ตรงกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม) ได้ระบุถึงแนวทางและกลยุทธ์ของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย เอกสารมีการเซนเซอร์ข้อความบางส่วนไว้ แต่ข้อมูลส่วนใหญ่แล้วมีความครบถ้วนและน่าศึกษาสภาพการณ์ของประเทศไทยในยุคนั้นได้ไม่น้อย
ผู้เขียนรายงานให้ข้อมูลว่า ปรากฏหลักฐานที่บ่งชี้ว่าคอมมิวนิสต์มีการจัดระเบียบอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ แล้วได้ดำเนินการในประเทศไทยอย่างรวดเร็วมากกว่าที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสำนักข่าวกรองกลางเคยเชื่อกัน โดยในเอกสารได้สรุปเป็นประเด็น ดังนี้
a. เข้าควบคุมสื่นมวลแบบลับ ๆ อย่างแยบยลและเล่ห์เหลี่ยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทำให้คนไทย “Soften up” หรือโน้มเอียงให้เข้ากับคอมมิวนิสต์ได้ง่ายมากขึ้น โดยการโน้มน้าวใจให้คนไทยเชื่อว่าคอมมิวนิสต์เป็นเพียงเรื่องปรัชญา ไม่ขัดกับศาสนาพุทธ และมีแผนการที่มุ่งหวังให้คนมีงานทำ
b. เพื่อการต่อต้านในปัจจุบัน หรือการต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ในอนาคต โดยคอมมิวนิสต์จะไม่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยวิธีรุนแรงหรือดูเหมือนจะเป็นการสร้างภัยคุกคาม เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดที่มีประสิทธิภาพต่อคอมมิวนิสต์
c. เข้าควบคุมสหภาพแรงงานที่สำคัญ ๆ อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในภาคการผลิต “ข้าว” รวมถึงแรงงานในท่าเรือและแรงงานในภาคการขนส่ง นอกจากนี้ คอมมิวนิสต์ยังมีอิทธิพลหนึ่งในสี่ของฝ่ายบริหาร ซึ่งสามารถกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในเวลาใดก็ได้ตลอดเวลา เพื่อจะทำให้เกิดเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อวัตถุประสงค์ของคอมมิวนิสต์ เพราะภาคการผลิต “ข้าวไทย” นั้นไม่เพียงสำคัญต่อประเทศไทยเท่านั้น แต่สำคัญต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วย
d. ใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อหวังให้ได้รับการสนับสนุนจากชาวไทย โดยพยายามมุ่งเน้นไปที่ปัญญาชนชาวไทยเป็นหลัก และในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
e. ผ่านองค์กรที่ได้รับการฝึกควบคุมอย่างดี แล้วส่งต่อให้พรรคการเมืองที่มีประสิทธิภาพที่จะสามารถดำเนินการใต้ดินให้เป็นไปตามทิศทางตามเป้าหมาย และหน่วยเคลื่อนไหวสำหรับ “รัฐบาลประชาชนประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย” (Democratic People’s Government of Thailand)
f. ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนและโซเวียตเพื่อรับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมที่จำเป็นสำหรับแผนงานและการประสานงานระหว่างคอมมิวนิสต์ทั้งในไทย สหภาพโซเวียต และจีน
จากนั้นในรายงานได้ขยายความข้อข้อสรุปด้านบนเพิ่มเติม ในด้านสื่อมวลชนและการโฆษณาชวนเชื่อ ผู้เขียนได้เน้นย้ำว่า สื่อมวลชนได้ถูกคอมมิวนิสต์ควบคุมไว้แล้วมากกว่า 1 ปี โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ แต่ไม่ได้รีบดำเนินการโฆษณาชวนเชื่อจนกว่าจะถึงเวลาสำคัญ คือเหตุการณ์การล่มสลายแห่งนานกิง (Fall of Nanking) เหตุการณ์ที่คอมมิวนิสต์จีนนำโดย เหมา เจ๋อตง เข้ายึดครองเมืองนานกิงซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายจีนประชาธิปไตยของพรรคก๊กมินตั๋ง
หลังจากนั้นสื่อมวลชนจึงเริ่มแพร่แนวคิดคอมมิวนิสต์ผ่านข่าวและบทความ โดยช่วงแรกระบุว่า คอมมิวนิสต์เป็นเพียงหลักแนวความคิดของผู้คน และอธิบายว่าคอมมิวนิสต์ไม่ขัดกับระบอบกษัตริย์ของไทย ขณะเดียวกันทั้งบรรดานักธุรกิจชาวจีนและรัฐบาลไทยกำลังพยายามเผชิญหน้ากับคอมมิวนิสต์ ผลคือสื่อมวลชนที่สนับสนุนพระมหากษัตริย์และสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษไม่ได้ถูกครอบงำโดยคอมมิวนิสต์ แต่ในแวดวงสื่อมวลชนนั้นกลับมีการโต้แย้งเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อของคอมมิวนิสต์กันน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ Royalist อย่าง “Kiatisak” ที่มีบรรณาธิกร (Sub-editor) เป็นชาวเวียดนาม เสนอข่าวอย่างโน้มเอียงในหนังสือพิมพ์ให้สอดคล้องกับแนวคิดของคอมมิวนิสต์ และหนังสือพิมพ์ “Prachakorn” ก็ตีพิมพ์บทความที่มีเนื้อหา “Pro-Communist” โดยการแปลบทความภาษาจีนเป็นภาษาไทยด้วยการแปลที่ฉลาดหลักแหลม ผู้เขียนรายงานอ้างต่อว่า มีการควบคุมสื่อที่เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์น้อยมาก ซึ่งอาจทำให้สื่อสิ่งพิมพ์สำหรับการโฆษณาชวนเชื่อตกอยู่ในกำมือของคอมมิวนิสต์
ส่วนเหตุที่คอมมิวนิสต์ไม่ขัดขวางให้ชาวไทยนับถือศาสนาพุทธต่อไปนั้น เนื่องจากพวกเขายึดเหตุว่าศาสนาพุทธมีความเชื่อเรื่อง “พระศรีอริยเมตไตรย” ที่กล่าวกันว่าเป็นยุคแห่งความรุ่งโรจน์เสมือนโลกยูโทเปีย ซึ่งความเชื่อนี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคอมมิวนิสต์ที่ต้องการเปลี่ยนโลกสู่ความเจริญรุ่งเรือง (ในโลกอุดมคติ) เช่นเดียวกับยุคพระศรีอริยเมตไตรย
ผู้เขียนรายงานยังระบุอีกว่า คอมมิวนิสต์กำลังพยายามต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบันแต่ยังไม่ถึงขั้นความรุนแรง โดยใช้การโฆษณาชวนเชื่อเป็นเครื่องมือ และเพื่อจูงใจฝ่ายค้านให้สนับสนุนคอมมิวนิสต์ เพื่อโจมตีรัฐบาลที่ทำงานไร้ประสิทธิภาพ มีการทุจริต และไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน รายงานยังระบุต่อว่า รัฐบาลไทยอยู่ข้างเดียวกับสหรัฐอเมริกา เสนอความเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาควรจะให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยต่อไปเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ และได้แสดงความกังวลว่าคอมมิวนิสต์ได้พยายามปลุกกระแสต่อต้านชาวตะวันตก โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยเคยเผชิญความขมขื่นจากชาวตะวันตกมาก่อน คอมมิวนิสต์จึงค่อย ๆ จุดกระแสเรื่องนี้อย่างช้า ๆ ตามความส่วนหนึ่งว่า “There is mounting evidence of a slowly increasing anti-farang” และแผนการนี้เหมือนว่าจะประสบผลสำเร็จเสียด้วย
ส่วนแผนของคอมมิวนิสต์ในด้านเศรษฐกิจ ในเอกสารกล่าวถึง Yi Mei-hou ชาวจีนเจ้าของกิจการโรงสี ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพล ได้เดินทางไปที่ประเทศจีนเพื่อปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้เขียนรายงานแสดงทัศนะว่า ประเทศไทยโดดเด่นเรื่องเศรษฐกิจในภาคการผลิตข้าว นั่นจึงทำให้คอมมิวนิสต์ให้ความสนใจและมุ่งเป้าหมายไปที่แรงงานในภาคส่วนนี้ และเน้นย้ำว่ากิจกรรมโรงสีคือส่วนสำคัญที่สุด (Control at the mill level is the key spot for maximum influence) และยังเป็นส่วนที่สามารถสร้างความเสียหายแก่ประเทศได้เป็นวงกว้างโดยใช้ “สมัครพรรคพวก” (adherents) จำนวนเล็กน้อยเท่านั้น อย่างเช่น นาย Yi เจ้าของโรงสีผู้นี้
เอกสารระบุว่า คอมมิวนิสต์เชื่อมั่นว่าแรงงานในโรงสีจะเข้ากับคอมมิวนิสต์ได้ง่าย เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่เป็นชาวจีน และมีความอ่อนไหวต่อการปลูกฝังและควบคุมง่ายมากกว่าชาวไทย แต่รัฐบาลไทยได้รับคำเตือนเรื่องนี้ จึงพยายามบังคับให้มีการว่าจ้างแรงงานชาวไทยสู่ธุรกิจโรงสีให้มีสัดส่วนแรงงานชาวไทยมากขึ้น รวมถึงวางแผนการให้ชาวไทยเข้าสู่ธุรกิจโรงสีอย่างกว้างขวาง
นอกจากแรงงานในภาคการผลิตข้าวแล้ว เป้าหมายต่อไปของคอมมิวนิสต์คือแรงงานในภาคการขนส่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยและเป็นพวก “weakened” รวมถึงเป้าหมายที่เป็นแรงงานในท่าเรือด้วย ผู้เขียนรายงานให้ข้อมูลว่า คอมมิวนิสต์มุ่งเน้นที่วิศวกรและช่างเทคนิคเป็นเป้าหมายสำคัญ จากนั้นแผนการต่อมาคือการแทรกซึมเข้าสู่สหภาพแรงงาน ผู้เขียนรายงานระบุว่าสหภาพแรงงานเป็นเพียงแค่ชื่อ เพราะแท้จริงแล้วสหภาพแรงงานนั้นคือคอมมิวนิสต์นั่นเอง สหภาพแรงงานดังกล่าวมีชื่อว่า Central Labor Union ซึ่งทำงานร่วมกับ Thailand Labor Union และเช่นเดียวกับกรณีโรงสีข้าว รัฐบาลไทยได้รับคำเตือนเรื่องนี้มาแล้วเช่นกัน จึงส่ง “Spies” เข้าไปใน Thailand Labor Union เพื่อหวังจะเปิดเผยตัวตนคอมมิวนิสต์ที่แทรกซึมเข้ามาในองค์กร
สำหรับชาวไทยทั่วไปนั้น ผู้เขียนรายงานถึงเรื่องนี้ว่า ชาวไทยไม่สนใจแนวคิดของคอมมิวนิสต์ เพราะด้วยศาสนาพุทธที่เฟื่องฟู อุปนิสัยชาวไทยที่เป็นคนง่าย ๆ สบาย ๆ (easy-going) และไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่คอมมิวนิสต์ดำเนินกลยุทธประสบความสำเร็จแค่องค์กรที่ใกล้ชิดกับพวกตนและคนบางกลุ่มที่สนใจแต่แรกอยู่แล้วเท่านั้น ส่วนการทำงานโดยผ่านการสื่อสารมวลชนและการโฆษณาชวนเชื่อนั้นก็มีผลแค่ “สมัครพรรคพวก” ที่นิยมคอมมิวนิสต์
อย่างไรก็ตาม ปรากฏข้อบ่งชี้ว่าคอมมิวนิสต์พยายามเข้าไปดำเนินการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ผู้เขียนรายงานว่า เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องเผชิญกับภัยแล้ง เป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่แหล่งปลูกข้าวสำคัญเมื่อเทียบกับภาคกลางของประเทศ และซ้ำยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณหรือการดำเนินนโยบายจากส่วนกลางใด ๆ ที่ให้ความสำคัญต่อเกษตรกรรมในภาคนี้ ด้วยความแร้นแค้นเหล่านี้ จึงผลักดันให้ลูกหลานเกษตรกรต้องเข้ามาศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ และคนกลุ่มนี้ก็จะกลับสู่ดินแดนบ้านเกิดด้วยความรู้ ความสามารถ และความตั้งใจที่จะทำให้บ้านเกิดของตนนั้นมีสภาพดีกว่าที่เป็นอยู่
ดังนั้น ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่ม “ปัญญาชน” ชาวอีสาน จึงเป็นเป้าหมายของคอมมิวนิสต์
ในช่วงท้ายของรายงานระบุว่า นักการเมืองชาวไทยบางคนพร้อมที่จะร่วมงานกับคอมมิวนิสต์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง และรัฐสภาของไทยนั้นก็อ่อนแอและติดสินบนได้ไม่ยาก และเชื่อว่า คอมมิวนิสต์สามารถสร้างแรงกดดันหรือซื้อตัวนักการเมืองได้เพื่อแลกกับการสนับสนุนจากพวกเขา ส่วนชาวไทยก็พร้อมขานรับการตัดสินใจของรัฐบาล โดยไม่มีการตั้งคำถามใด ๆ
ย่อหน้าสุดท้ายของรายงานสรุปว่า คอมมิวนิสต์ได้พยายามเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อด้วยสื่อสารมวลชน โดยใช้ “Spokesmen” อย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ และพระยาศราภัยพิพัฒ (ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น Royalist และ Conservative มาก่อนนั้นได้เปลี่ยนแนวความคิดมานิยมคอมมิวนิสต์) ผ่านประกาศและบทความที่โน้มเอียงคอมมิวนิสต์ หรือ “Pro-Communist” นั่นเอง
เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2562