เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙

ในการชมการถ่ายทอดพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เราพบเห็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศแวดล้อมพระบรมโกศอยู่หลายชนิด ที่สองฝั่งของฐานพระบรมโกศ มีโต๊ะหมู่ตั้งเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่เบื้องซ้าย และหมู่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เบื้องขวา

เบญจราชกกุธภัณฑ์หรือเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์คือเครื่องหมายของการแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ห้าอย่างนอกเหนือจากนพปฎลมหาเศวตฉัตรหรือฉัตรขาว 9 ชั้นแล้ว สิ่งของอีกห้าสิ่งคือ 1. พระมหาพิชัยมงกุฎ ที่มีน้ำหนักมาก เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นกษัตริย์ และเปรียบดั่งพระราชภาระอันหักหน่วงที่จะต้องทรงแบกรับ 2. พระแสงขรรค์ชัยศรี หรือดาบ แสดงพระราชอาญาสิทธิ์ในการปกครองประเทศ 3. ธารพระกร หรือไม้เท้า ที่ด้านบนสามารถถอดเป็นมีดได้ หมายถึงความมั่นคงในการปกครองแผ่นดิน 4. พัดวาลวิชนีแพระแส้หางจามรี เตือนให้พระมหากษัตริย์ต้องปกครองประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุข และ 5. ฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองในทุกที่ที่เสด็จพระราชดำเนินไป

เครื่องราชกกุธภัณฑ์นี้เป็นของผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์โดยได้สืบทอดผ่านพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์มาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์เริ่มปรากฏมีในประวัติศาสตร์ไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ที่ทรงได้รับพระราชทานถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากฝรั่งเศส จึงทรงสร้างเครื่องตอบแทนบำเหน็จราชการเป็นตราประดับเสื้อ เหมือนเครื่องราชอิสริยาภรณ์อย่างตะวันตก เพราะก่อนที่จะมีการสถาปนาดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์แบบตะวันตก พระมหากษัตริย์จะทรงสายสร้อยอ่อน เรียกว่าพระมหาสังวาลมีทั้งสิ้นสามเส้นทำจากทองคำและทองคำประดับอัญมณี มีลักษณะแตกต่างกันไป เป็นเครื่องแสดงเกียรติยศและพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงรับแนวคิดการประดับเสื้อด้วยเครื่องหมายแสดงเกียรติยศ จึงได้ทรงสร้างดวงตราสำหรับพระองค์ และตราสำหรับผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และขุนนางที่รับราชการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แล้วจึงมีสายสะพายตามแบบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตะวันตกตามมาในสมัยรัชกาลที่ 5 และทรงตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยแบ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นตระกูลต่างๆ โดยมีการจัดลำดับศักดิ์ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่ละชั้นด้วย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สถาปนามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ยังคงมีพระราชทานมาจนถึงทุกวันนี้ คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์ มีพระราชทานน้อยสำรับ (สำรับ หมายถึงชุดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์บางตระกูลจำกัดจำนวนสำรับที่จะพระราชทาน) ปัจจุบันสามัญชนเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลช้างเผือก ที่ได้พระราชทานสำหรับข้าราชการมาจนถึงปัจจุบัน

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งปวงหมายความว่าทรงเป็นเจ้าของและทรงสิทธิที่จะพระราชทาน หรือจะทรงเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ก็ได้ตามรัฐธรรมนูญ โดยนับตั้งแต่มีการสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกพระองค์นับแต่นั้นมา ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นเพื่อพระราชทานสำหรับเป็นบำเหน็จความชอบในราชการและส่วนพระองค์กับเหรียญที่ระลึกในโอกาสต่างๆ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เป็นบำเหน็จความชอบในราชการคือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะพระราชทานให้กับข้าราชการหรือผู้ทำประโยชน์อื่นๆแก่ชาติบ้านเมืองที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานเช่นอายุงานราชการระดับชั้นข้าราชการส่วนอีกประเภทหนึ่งคือเหรียญบำเหน็จความชอบส่วนพระองค์สำหรับพระราชทานเป็นการส่วนพระองค์และเหรียญที่ระลึกในโอกาสต่างๆเช่นครบรอบเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบรมวงศานุวงศ์เหรียญสถาปนาพระราชอิสริยยศพระบรมวงศานุวงศ์หรือโอกาสสำคัญอื่นๆ

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งสิ้น 32 ชื่อ แบ่งตามประเภทของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้แก่

  • เหรียญบำเหน็จความชอบส่วนพระองค์ มี 2 ชนิด รวม 7 ชั้น คือ เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 (..2495) ชั้นที่ 1-5 และเหรียญราชรุจิ (.. 2502) เหรียญทองและเงิน
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานประมุขต่างประเทศ มี 1 ชนิด 1 ชั้น คือเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่ง ราชมิตราภรณ์ (.. 2505) มีชั้นเดียว (ทดแทนการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์แก่ประมุขต่างประเทศ ซึ่งโดยปกติพระราชทานเฉพาะผู้ที่สืบสายพระโลหิตจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 และผู้ที่พระบรมวงศานุวงศ์ได้เสกสมรสด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัย)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เป็นบำเหน็จความชอบในราชการ สถาปนาทั้งสิ้น 2 ชนิดคือ
  • เหรียญรามกีรติ (.. 2530) มีชั้นเดียว สำหรับฉลองการสถาปนากิจการลูกเสือครบ 75 ปี
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่ง ดิเรกคุณาภรณ์ (.. 2534 – พระราชทาน พ.. 2538) มี 7 ชั้น รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์มีดำริให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์อีกตระกูลหนึ่ง เพื่อแยกการพระราชทานสำหรับเป็นบำเหน็จแก่ประชาชนที่ทำคุณประโยชน์ให้กับราชการ ศาสนา และประชาชน ระหว่างประชาชนและข้าราชการออกจากกัน (โดยได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อปี พ.. 2530) แทนการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลช้างเผือกและมงกุฎไทย ที่ได้เคยพระราชทานให้กับประชาชนและข้าราชการปะปนกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำรับแรกของตระกูลนี้ แด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่หน้าพระโกศพระบรมศพ
  • เหรียญที่ระลึก สถาปนาทั้งสิ้น 27 เหรียญ โดยเหรียญแรกที่ทรงสถาปนาคือ เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (.. 2493) และเหรียญสำคัญในมหามงคลวโรกาสต่างๆเช่น เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (..2515) เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (..2521) และเหรียญสุดท้ายที่สถาปนาในรัชสมัย คือ เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 (.. 2559)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกตระกูลมีข้อจำกัดในการสวมใส่ เกณฑ์การพระราชทาน และโอกาสในการพระราชทานแตกต่างกันไป เช่น เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ ดาราจักรีในสำรับที่เป็นของมหากษัตริย์และพระราชินี ต้องประดับด้วยเพชรล้วน (ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องขัตติยราชอิสสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ พุทธศักราช 2484) ในขณะที่ของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หรือผู้ได้รับพระราชทานรายอื่นประดับด้วยทองคำลงยาสีขาวเท่านั้น หรือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคล นพรัตน์ราชวราภรณ์ จะพระราชทานเฉพาะชาวพุทธ และใช้สวมไปในงานมงคลเท่านั้น หรือสตรีจะได้เปลี่ยนคำนำหน้านามเป็น คุณ คุณหญิง หรือท่านผู้หญิง ตามแต่สถานะสมรส เมื่อได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในตระกูลจุลจอมเกล้า ซึ่งมักพระราชทานเฉพาะในวันฉัตรมงคลในรัชกาลที่ 9 เป็นต้น

สำหรับในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สำนักพระราชวังได้ทอดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้ที่หน้าพระโกศพระบรมศพ โดยเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของไทยทั้งสิ้น แม้จะทรงได้รับพระราชทานและถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประมุขต่างประเทศหลายตระกูล เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของไทยในทุกตระกูลที่ถอดถวายไว้คือ

  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์
  • เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 (เสนางคะบดี)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นปฐมดิเรกคุณาภรณ์

และเหรียญราชอิสริยาภรณ์อีกหกเหรียญคือ

  • ดวงตราตติยานุจุลจอมเกล้าวิเศษ (สำรับเดียวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ)
  • เหรียญดุษฎีมาลา ฝ่ายทหาร
  • เหรียญราชการชายแดน
  • เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 1
  • เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
  • เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม พ.. 2554

เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชแล้ว เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สถาปนาในรัชกาลที่ 9 และจะพ้นสมัยพระราชทานคือจะไม่มีการพระราชทานอีกแล้ว ได้แก่ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 9 และเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 9