ร. 4 ทรงเปลี่ยนธรรมเนียม “เสด็จฯเลียบพระนคร” ให้ ปชช.เฝ้าชมพระบารมีเป็นครั้งแรก

(ขอบคุณภาพจาก เพจ JS100)

พระราชพิธีที่ถูกกล่าวถึงเสมอและเป็นขั้นตอนสำคัญที่นับเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือ “การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร” ธรรมเนียมนี้อาจสืบเนื่องมาจากพิธีราชสูยะซึ่งมีการแห่แหนผู้ที่เป็นกษัตริย์หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีในขั้นตอนการรับมอบราชสมบัติ และการทำสัตย์สาบานว่าจะปกครองบ้านเมืองอย่างเป็นธรรม

ความหมายของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครกระทำขึ้นเพื่อ ประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเปลี่ยนความหมายของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระรัตนตรัยตามพระอารามหลวงที่สำคัญโดยทางสถลมารค (ทางบก) และทรงชลมารค (ทางเรือ) เพื่อให้ราษฎรได้เฝ้าพระบารมีทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

Advertisement

ในการนี้ทรงเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการเข้าเฝ้าโดยให้ราษฎรสามารถชมพระบารมีไม่ต้องปิดประตูบ้านเรือนเมื่อกระบวนเสด็จผ่านเหมือนอย่างแต่ก่อนมา ซึ่งทำให้เกิดธรรมเนียมการตั้งเครื่องบูชาสักการะจากบรรดาราษฎรเมื่อกระบวนเด็จผ่านนับแต่นั้นมา


ข้อมูลจาก

นนทพร อยู่มั่งมี. “พระราชพิธีและพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”, เสวยราชสมบัติกษัตรา, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2562