เผยแพร่ |
---|
ราชสีห์เป็นสัตว์ในจินตนาการของศิลปินและปราชญ์ไทยมาตั้งแต่ดั้งเดิมว่าเป็นสัตว์ประเภทจตุบาทที่มีพลังอำนาจเหนือสัตว์ทั้งหลาย มีชีวิตอยู่ในป่าหิมพานต์อันเป็นป่าเชิงเขาสัตตบรรพต รอบเขาพระสุเมรุอันเป็นสวรรค์ที่องค์พระอินทร์อธิบดีแห่งเหล่าเทวดาสถิตอยู่
อาจกล่าวได้ว่าความจริงแล้วราชสีห์ก็คือ สัตว์ที่ท่านนักปราชญ์ทั้งหลายได้จินตนาการมาจากสิงห์โตนั่นเอง
คติความนิยมในการกีฬาล่าสัตว์ที่ดุร้ายโดยเฉพาะการล่าสิงห์โตของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยโบราณได้แพร่หลายเหมือนกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอินเดียโบราณ เปอร์เซีย อีจิปต์ เมโสโปเตเมีย ตลอดจนถึงอาณาจักรโรมันโบราณ นอกจากจะล่าสิงห์โตเพื่อนำหนังมาประดับพระราชวัง แสดงความกล้าหาญและบุญญาบารมีของตนแล้ว กษัตริย์เหล่านี้ยังนิยมเลี้ยงสิงห์โตไว้ข้างพระองค์ด้วย คล้ายกับสามัญชนทั่วไปที่นิยมเลี้ยงสุนัข
พระมหากษัตริย์โบราณในแต่ละอาณาจักรนี้ เมื่อประทับอยู่ที่ใดก็จะมีสิงห์โตหมอบอยู่ข้างพระราชบัลลังก์เสมอ จนถือกันว่าเป็นสัตว์ที่คู่ควรแก่ความเป็นพระราชา
ดังนั้น จึงมีการสืบทอดคติความเชื่อนี้มายังประเทศอื่นๆ ด้วย แม้ว่าในดินแดนของประเทศนั้นๆ จะไม่มีสิงห์โตให้ล่าเป็นกีฬาก็ตาม และปรากฏว่ามีการนำรูปสิงห์โตหรือราชสีห์มาสลักนั่งหมอบ หรือนั่งชันเข่ามองเห็นเต็มตัวอยู่ข้างๆ ราชบัลลังก์ด้วย
จึงเรียกที่ประทับนี้ว่า ราชสีหาสน์ หรืออาจจะมีการสั่งซื้อหนังสิงห์โตจากต่างประเทศมาปูลาดอยู่เบื้องหน้าราชบัลลังก์ก็มี อย่างไรก็ดี เราจะพบราชสีหาสน์ปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมโบราณเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพสลักหินหรือภาพปูนปั้นเพื่อประดับอาคารศาสนสถาน แม้แต่รูปเคารพอย่างเช่นพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์ก็มีรูปสิงห์ปรากฏอยู่
งานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นจากความเป็นจริงนี้พบว่าค่อยๆ มีวิวัฒนาการเรื่อยมา จากราชสีหาสน์ที่มีรูปสิงห์โตเต็มตัว เหลือเพียงราชบัลลังก์ที่มีขาเป็นเพียงรูปสิงห์เท่านั้น ซึ่งจะพบและสามารถศึกษาได้ในศิลปกรรมโบราณในราชอาณาจักรไทย นับตั้งแต่ศิลปกรรมทวารวดี ศิลปกรรมศรีวิชัย ศิลปกรรมลพบุรี เป็นลำดับเรื่อยมาจนในแบบสุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะพบว่ามีพระราชบัลลังก์ที่สลักขาเป็นรูปเท้าสิงห์ พระแท่นบรรทมเท้าสิงห์ โต๊ะเท้าสิงห์ ตู้เท้าสิงห์ เป็นต้น
ความสำคัญของราชสีห์ได้ฝังแน่นอยู่ในคติความเชื่อที่ว่า องค์พระมหากษัตริย์จะทรงมีพระเกียรติยศอันสูงยิ่ง เมื่อประทับบนพระราชบัลลังก์ที่มีหนังราชสีห์ปูลาด โดยเฉพาะในราชอาณาจักรไทย
ดังนั้นในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงมีระเบียบว่าพระที่นั่งภัทรบิฐอันเป็นพระที่นั่งที่ประทับ ให้พราหมณ์พระราชครูทำพิธีทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ราชสมบัติ และพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ตลอดจนเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอื่นๆ พระที่นั่งภัทรบิฐจะต้องปูลาดด้วยหนังราชสีห์ หรือเวลาที่องค์พระมหากษัตริย์จะทรงยืนประกอบพิธีกรรมก็ต้องทรงยืนบนหนังราชสีห์
แต่อย่างไรก็ดีสำหรับการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการปรับปรุงใหม่ เปลี่ยนเป็นใช้แผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรคุณ มาปูลาดบนพระที่นั่งภัทรบิฐแทน (พระที่นั่งภัทรบิฐกางกั้นด้วยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ) ซึ่งเข้าใจว่าจะได้ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้นำหนังไกรสรราชสีห์มาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ปรากฏบนพระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ครั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓
อาจจะเป็นเพราะหนังราชสีห์หรือหนังสิงโตเป็นของหายากประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งอาจจะเป็นด้วยพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัดไม่โปรดใช้ของที่เกิดจากการต้องทำลายชีวิตเจ้าของมาใช้ อย่างเช่นหนังสิงห์โตนั้นจะได้มาก็จากการล่านั่นเอง จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงไปดังที่กล่าวแล้ว
บางส่วนจาก “รายงานพิเศษ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”. โดย ณัฏฐภัทร จันทวิช. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2531