“วัฒนาวิทยาลัย” โรงเรียนมิชชันนารีหญิงแห่งแรกของสยาม

อาคารเรียนที่โรงเรียนวังหลัง ซึ่งขยายขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรองรับนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นก่อนจะย้ายมาสู่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน

ใน พ.ศ. ๒๓๙๕ นายแพทย์เฮาส์ หรือหมอเหา หนึ่งในกลุ่มมิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ ได้ก่อตั้งโรงเรียนมิชชันนารีชายแห่งแรกขึ้นในสยาม (อ่าน “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” โรงเรียนมิชชันนารีชายแห่งแรกของสยาม) ก่อนที่จะเดินทางกลับไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และแต่งงานกับนางสาวแฮเรียต เอ็ม. เพ็ททิต แล้วจึงเดินทางมายังสยามอีกครั้งพร้อมกับภรรยาใน พ.ศ. ๒๓๙๙

ภายหลังจากที่หมอเฮาส์กลับมายังสยามได้ ๑ ปี โรงเรียนชายที่ตั้งอยู่ข้างวัดอรุณฯ ก็ถูกย้ายไปอยู่ที่ตำบลสำเหร่ ซึ่ง ณ โรงเรียนแห่งนี้ แหม่มเฮาส์ก็ได้เข้ามาช่วยสอนด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อสอนหนังสือให้กับเหล่าเด็กชายได้สักระยะ แหม่มเฮาส์ก็มีความคิดว่าอยากจะให้โอกาสเด็กหญิงให้ได้มีความรู้ อ่านออกเขียนได้บ้าง จึงได้เริ่มต้นชักชวนเด็กหญิงมาที่บ้านพักของตน เพื่อสอนให้อ่านเขียน อีกทั้งยังสอนให้เย็บปักถักร้อย และสอนใช้จักรเย็บผ้าที่เธอนำมาจากอเมริกาอีกด้วย

Advertisement

การสอนหนังสือให้กับเด็กหญิงที่ดูจะดำเนินไปด้วยดีก็ต้องสะดุดลง เนื่องจากมีเด็กมาเรียนน้อยลงเรื่อย ๆ โดยสาเหตุที่ไม่มาเรียนก็เนื่องจากขาดรายได้จากการทำสวนทำไร่หาเงิน เพราะเอาเวลามาเรียนหนังสือ แหม่มเฮาส์จึงแก้ปัญหาด้วยการจ่ายค่าจ้างให้เด็กมาเรียนเท่า ๆ กับที่เด็กได้รับจากการทำสวน ทำให้มีเด็กหญิงกลับมาเรียนในจำนวนที่เพิ่มขึ้น

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๑๔ แหม่มเฮาส์เริ่มมีปัญหาสุขภาพจึงเดินทางกลับไปยังประเทศอเมริกาเพื่อพักผ่อน ซึ่งการกลับไปครั้งนี้แหม่มเฮาส์ก็ยังได้รายงานการสอนหนังสือให้กับเด็กหญิงในสยามที่เธอทำต่อเนื่องมา ๑๐ ปี ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากคริสตจักรและได้รับเงินทุนมาจัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงในสยามเป็นจำนวน ๓,๐๐๐ ดอลลาร์

เมื่อเดินทางกลับมายังสยามอีกครั้ง แหม่มเฮาส์ได้ใช้เงินทุนที่ได้ มาก่อสร้างโรงเรียนมิชชันนารีสำหรับเด็กหญิง ซึ่งแล้วเสร็จและเปิดทำการสอนครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๑๗ เรียกกันว่า “โรงเรียนวังหลัง” เพราะตั้งอยู่บริเวณวังหลัง นักเรียนที่เข้าเรียนนั้น นอกจากจะมีแต่ลูกชาวบ้านแล้วก็ยังมีลูกของเจ้านายและเหล่าข้าราชบริพารที่ต่างรู้จักและไว้วางใจแหม่มเฮาส์

แหม่มเฮาส์ผู้ก่อตั้งโรงเรียนวังหลัง และแม่ต่วน (ครู) ที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลกิจการโรงเรียนในเวลาถัดมา พร้อมด้วยนักเรียนรุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๑๘

กิจการของโรงเรียนวังหลังเจริญรุ่งเรืองเติบโต มีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทำให้จำเป็นต้องขยับขยายต่อเติมโรงเรียน แต่เนื่องจากแหม่มโคล หรือครูใหญ่โรงเรียนในขณะนั้นเห็นว่าไม่สามารถซื้อที่ดินเพิ่มเติมบริเวณวังหลังได้แล้ว จึงได้มองหาที่ดินแห่งใหม่ โดยใน พ.ศ. ๒๔๕๙ แหม่มโคลก็ได้ซื้อที่ดินที่ทุ่งบางกะปิเพื่อก่อสร้างอาคารเรียน

ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ หลังจากที่อาคารเรียนสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงได้ทำการย้ายโรงเรียนจากวังหลังมาอยู่ ณ ทุ่งบางกะปิ ซึ่งแน่นอนว่าโรงเรียนในสถานที่แห่งใหม่นี้ไม่ใช่โรงเรียน “วังหลัง” อีกต่อไปแล้ว โรงเรียนวังหลังหรือกุลสตรีวังหลัง ที่ทุ่งบางกะปินี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย” หรือชื่อที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน

แล้วที่ดินเดิมบริเวณวังหลังตอนนี้เป็นอะไร? 

ที่ดินเดิมบริเวณวังหลังถูกขายให้กับสมเด็จพระบรมราชชนกฯ เพื่อก่อสร้างเป็นหอพักพยาบาลของโรงพยาบาลศิริราชในเวลาต่อมา


(ข้อมูลจากบทความ “โรงเรียนมิชชันนารีชาย-หญิงแห่งแรกในสยาม กรุงเทพคริสเตียน-วัฒนาวิทยาลัย” เขียนโดย ผศ.ยุวดี ศิริ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม ๒๕๕๔)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2561