กำเนิดวันเด็ก “ยุคผู้นำเข้มแข็ง” ชาติกำลังพัฒนา..!?

ประเทศไทยในยุค พ.ศ. 2500 ได้รับขนานนามว่าเป็น “ยุคพัฒนา” ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากการปฏิวัติ ซึ่งจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาประเทศให้ทันสมัย เป็นผลมาจากภัยคอมมิวนิสต์และการเข้ามามีบทบาทของสหรัฐอเมริกา จึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมในประเทศโดยรวมแบบก้าวกระโดด การพัฒนาถูกส่งต่อเข้าสู่ชนบทอย่างไม่เคยมีมาก่อนจนเรียกได้ว่า เป็นยุค “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก”

ภิญญาพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อธิบายนโยบายการขยายอำนาจรัฐและพัฒนาประเทศของรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ได้อย่างน่าสนใจในหนังสือ “กำเนิด ‘ประเทศไทย’ ภายใต้ เผด็จการ” (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ปี2558) โดยชี้ให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวได้สร้างความเปลี่ยนแปลงของ พื้นที่รัฐ ได้แก่ พื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ทางความคิด ส่งผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความสำพันธ์ทางสังคม เกื้อหนุนและเชื่อมโยงกันเป็นเอกภาพของ “พื้นที่ประเทศไทย” ในยุคพัฒนา

Advertisement
ปกหนังสือวันเด็ก พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๕ ที่มา : http://www.su-usedbook.com

การพัฒนาในด้านต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้สภาพสังคมเมืองมีลักษณะที่สลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าในอดีต ประกอบกับจำนวนประชากรเด็กและเยาวชนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ “ปัญหาเด็กและเยาวชน” ปรากฎเด่นชัดมากขึ้นเป็นเงาตามตัว สวนทางกับนโยบายของรัฐที่ต้องการปลูกฝังอุดมการณ์การพัฒนาสู่เด็กและเยาวชน ในฐานะ “ต้นกล้าของชาติ”

รัฐมีการทำวิจัยและพบว่า เยาวชนมีลักษณะพูดจาหยาบคายและแต่งตัวไม่เรียบร้อย อีกทั้งยังเที่ยวเตร่ตามโรงแรม โรงหนัง ไนท์คลับ ฯลฯ ซึ่งในสายตาของรัฐสถานที่เหล่านี้คือความไม่ดีไม่งามและเสื่อมเสียของเยาวชนอันจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต โดยปัญหาเหล่านี้นอกจากจะมีสาเหตุมาจากการเพิ่มจำนวนของประชากรแล้ว “สื่อ” ยังเป็นอีกปัจจัยที่งานวิจัยชี้ว่าเป็นสาเหตุหลักของปัญหา เพราะเป็นตัวการในการเผยแพร่สิ่งยั่วยุทางกามารมณ์และอาชญากรรม อีกทั้งยังนำวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามาเผยแพร่สู่เยาวชน ขัดแย้งกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ในสายตาของรัฐจึงถือว่าเป็นภัย

การแก้ไข้ปัญหาของรัฐคือการปลูกฝังอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับการพัฒนาของยุคสมัยให้กับเด็ก คือสร้าง

ปกหลังสมุดแจกวันเด็ก สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. ๒๔๐๖ มีภาพลายเส้นพิมพ์โดยสำนักงานสลอกกินแบ่งรัฐบาล ที่มา : http://www.su-usedbook.com

ความเป็นเด็กดีในอุดมคติของรัฐขึ้นมา ผ่านพิธีกรรมที่เรียกว่า “งานวันเด็กแห่งชาติ” ซึ่งรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเคยจัดมาแล้วในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2502 โดยแต่ละปีจะมีการมอบคำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งคำขวัญวันเด็กเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ของรัฐและบุคลิกของผู้นำคนนั้นๆ ในขณะดำรงตำแหน่ง

หากพิจารณาคำขวัญวันเด็กในแต่ละปีของจอมพลสฤษดิ์ช่วง 5 ปีแรก จะทำให้เราได้เห็นถึงอุดมการณ์การสร้างชาติในยุค“น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” ได้เป็นอย่างดี

คำขวัญวันเด็กในยุคจอมพลสฤษดิ์

พ.ศ 2502 ขอให้เด็กในสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า

พ.ศ 2503 ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด

พ.ศ.2504 ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย

พ.ศ.2505 ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด

พ.ศ.2506 ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ขยันหมั่นเพียร

ต่อมาในช่วงรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร มีการปรับปรุงงานวันเด็กแห่งชาติให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น เปลี่ยนคำขวัญให้คล้องจองและท่องจำงาย ทั้งยังจัดให้มีการเปลี่ยนวันให้เป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมเพื่อความสะดวกในการจัดงาน และเป็นวันหยุดราชการ

คำขวัญวันเด็กในยุคจอมพลถนอม

พ.ศ. 2508 เด็กจะต้องรักเรียนและเพียรทำดี

พ.ศ. 2509 เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะบากบั่น และสมานสามมัคคี

พ.ศ. 2510 อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงเรียนดี และมีความประพฤติเรียบร้อย

ภิญญาพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อธิบายความแตกต่างของลักษณะคำขวัญวันเด็กระหว่างจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอมไว้ว่า

“ในยุคสฤษดิ์ด้วยบุคลิกส่วนตัวแล้ว มีความโผงผางและเชื่อมั่นในตัวเองสูง สร้างความยำเกรงต่อสาธารณชน โดยใช้อำนาจในการปราบปราม จับกุม คุมขังเหล่าอันธพาลตั้งแต่ผู้ใหญ่จนถึงเด็กเยาวชน ทำให้เด็กในยุคของสฤษดิ์ถูกขาดหวังให้มีลักษณะคล้ายกับทหารที่ต้องเคร่งครัดในวินัยและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชาติไทย ในทางตรงกันข้าม ถนอมที่มีบุคลิกที่ไม่แข็งกร้าว และพยายามนำศีลธรรมเชิงพุทธเข้ามาเป็นการสร้างความชอบธรรมของอำนาจ มุ่งเน้นให้เป็นเด็กดี เป็นพลเมืองดีของสังคม เป็นอนาคตของชาติ”

คำขวัญวันเด็กจึงเป็นกลไกอย่างหนึ่งของรัฐ ในการปลูกฝังอุดมการณ์สู่เยาวชน โดยเฉพาะในยุคพัฒนา ซึ่งประเทศมีความเปลี่ยนแปลงมหาศาล เด็กจึงมีความสำคัญในฐานะต้นกล้าของชาติในยุคถัดไป การย้อนกลับไปมองคำขวัญวันเด็กในยุคพัฒนา พ.ศ. 2500 จึงทำให้เราได้เห็นถึงกลไกการสร้างชาติในอดีต สะท้อนภาพของประวัติศาสตร์ที่เป็นรากของสังคมปัจจุบัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. กำเนิดประเทศไทย ภายใต้เผด็จการ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558.


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 14 มกราคม 2566