ผู้ไท… “ถือผี”

พิธีเหยาของชาวผู้ไท

มีบันทึกไว้ในพงศาวดารเมืองแถนกล่าวถึงตำนานการเกิดมนุษย์ต้นกำเนิดผู้ไทว่าเกิดจากเทวดา ๕ พี่น้องกับภรรยา ก่อนตายเพื่อเกิดใหม่ได้อธิฐานจิตเข้าไปอยู่ในน้ำเต้าที่ลอยลงมาตกที่ทุ่งเมืองแถน เมื่อน้ำเต้าแตกออกเกิดเป็นมนุษย์ชายหญิง คนแรกเป็นพวกข่า คนที่สองเป็นไทดำ คนที่สามเป็นลาวพุงขาว คนที่สี่เป็นจีนฮ่อ คนที่ห้าเป็นแกวหรือญวน

ชาวผู้ไทที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองวัง เมืองตะโปน เมืองคำอ้อ หลังกบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ กระจายอยู่ในอีสานเหนือแถวอำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อำเภอหนองสูง อำเภอคำชะอี และอำเภอเมืองมุกดาหาร เรียกได้ว่ากระจัดกระจายอยู่โดยรอบเทือกเขาภูพานในเขตกาฬสินธุ์ มุกดาหาร นครพนม สกลนคร อำนาจเจริญ ยโสธร

ผู้ไทมี ๒ พวกคือ ไทดำ และไทขาว มีความคล้ายกันในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพิธีกรรมความเชื่อ การบวช แต่งงาน พ่อล่าม การเฆี่ยนเขย ผีเรือนผีบรรพบุรุษ

การนับถือผีของชาวผู้ไทจะมีการผสมผสานกับพุทธในพิธีกรรมตามฮีตสิบสอง เช่น การทำบุญข้าวสาก การทำบุญข้าวประดับดิน และการทำบุญซำฮะ เป็นพิธีกรรมอันสืบเนื่องจากความเชื่อเรื่องผีแต่มีพระเข้าร่วมพิธีด้วย

การเลี้ยงผีของชาวผู้ไทจะมีอยู่ ๒ ลักษณะคือ เลี้ยงประจำปีที่นิยมในวันสงกรานต์ และเลี้ยงในการบะและการคอบ (การบะหรือการบนบานศาลกล่าว ส่วนการคอบคือการแก้บนอาจเรียกว่าการขอบก็ได้) โดยมีเจ้าจ้ำเป็นสื่อกลางระหว่างคนกับผีที่ผู้ไทจะเรียกว่าผีเจ้าปู่เจ้าจ้ำจะเป็นคนที่สืบทอดมาตามสายตระกูลชั้นสูงในอดีต ดังนั้นการแต่งตัวในพิธีจะคล้ายนักรบโบราณ เสื้อผ้าสีแดงคลุมยาวถึงเข่า ถือง้าวและเหน็บดาบสั้น

เครื่องสังเวยขาดไม่ได้ในพิธีคือ น้ำหอมจากการฝนแก่นจันทร์แดงและแก่นจันทร์หอมผสมน้ำสะอาดถวายเป็นเครื่องดื่มช้างซึ่งหมายถึงเหล้าจากปลายข้าวผสมแกลบหมักเรียกเหล้าไหที่เป็นเหล้าโรงหรือเหล้าขาว ส่วนเครื่องเซ่นที่เป็นอาหารหลักต้องมีลาบแดง แกงร้อน (ลาบแดงคือก้อยหรือลาบเลือด แกงร้อนคือแกงเนื้อเครื่องใน) นอกจากนี้ยังต้องมีเนื้อสดๆ และเท้าสัตว์ครบข้างประกอบด้วย สำหรับของหวานจะเป็นข้าวดำ (ข้าวเหนียวนึ่งคลุกดินหม้อ) และข้าวแดง (ข้าวเหนียวนึ่งคลุกปูนแดง) ดอกไม้นิยมใช้พวงมาลัยดอกจำปา ที่เชื่อกันว่าเป็นดอกไม้บูชาผี