“เครือญาติ”ชาติพันธุ์และชาติภาษา

"ม้อย" คนพื้นเมืองดั้งเดิมบริเวณลาว-เวียดนาม ภาพลายเส้นเขียนโดยชาวตะวันตก

คนสุวรรณภูมิ มีบรรพบุรุษคือมนุษย์อุษาคเนย์ ที่เป็นเจ้าของซากอวัยวะ เช่น โครงกระดูก และเป็นเจ้าของวัฒนธรรมที่เหลือซากสิ่งของต่างๆ เช่น เครื่องมือหิน เครื่องปั้นดินเผา โลหะ ฯลฯ

เหล่านั้นอาจจำแนกได้เป็นอย่างน้อย 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือคนที่สืบมาตั้งแต่ยุค “แผ่นดินซุนดา” นับแสนปีมาแล้ว กับคนที่เคลื่อนย้ายจากที่หลายแห่งเข้ามาตั้งหลักแหล่งตั้งแต่ยุค “โลหปฏิวัติ” ราว 3,000-4,000 ปีมาแล้ว คนทั้งหมดล้วนเป็นบรรพบุรุษของคนปัจจุบัน

ยุคนั้นยังไม่มีชื่อสมมุติอย่างปัจจุบัน แต่สิ่งที่แสดงความแตกต่างบางประการคือ ภาษา ที่แม้จะเป็นรากเหง้าเดียวกันแต่จำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เรียก “ตระกูลภาษา” ได้ราว 5 ตระกูล ดังนี้

1. ตระกูลมอญ-เขมร หรือ (Austroasiatic Language family) เช่น พวกมอญ เขมร ลัวะ ละว้า และบรรดากลุ่มที่คนอื่นๆ เรียกอย่างถูกว่าข่า ส่วย ม้อย ฯลฯ แยกเป็นภาษาหลัก และภาษาถิ่นย่อยๆ อีกมากมาย ล้วนมีหลักแหล่งดั้งเดิมบนผืนแผ่นดินใหญ่อาคเนย์

2.ตระกูลชวา-มลายู หรือออสโตรเนเซียน หรือมาลาโยโพลินีเซียน (Austronesian or Malayopolynesian Language family) เช่น พวกชวาและหมู่เกาะอินโดนีเซียมลายู จาม ฯลฯ มีหลักแหล่งตามชายฝั่ง และหมู่เกาะทางตอนใต้ของอุษาคะเนย์ รวมทั้งมอเก็นหรือ “ชาวเล” และ “เงาะ”

3. ตระกูลไทย-ลาว (Thai-Lao Language family) เช่น พวกไทย ลาว จ้วง หลี อาหม ฯลฯ มีหลักแหล่งทั้งหุบเขาและทุ่งราบบนผืนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์บริเวณตะวันออก-ตะวันตกสองฝั่งโขง

4. ตระกูลจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan Language family) เช่น กะเหรี่ยง อะข่า (อีก้อ) ปะดอง ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีพวกพม่า-ทิเบตด้วย

5.ตระกูลม้ง-เมียน หรือแม้ว-เย้า (Hmong-Mien or Miao Yao Language family) เช่น ม้ง(แม้ว) เมี่ยน (เย้า) มีหลักแหล่งอยู่บนดอยสูงทางตอนเหนือของแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์

คนทั้ง 5 พวกนี้ล้วนเป็น “เครือญาติ” กันหมดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น เครือญาติชาติพันธุ์ เครือญาติทางภาษา เป็นต้น ดังนิทานกำเนิดน้ำเต้าปุงมีคน 5 จำพวกด้วย


คัดบางส่วนจาก : หนังสือ “กรุงสุโขทัย มาจากไหน?”. โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. มติชน. 2548