พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ตอนจบ)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเจิมเศวตฉัตรในพิธียกยอดเศวตฉัตรพระเมรุมาศสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๙๙ (ภาพจากFB: Pirasri Povatong)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรับปรุงพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร โดยเฉพาะที่กางกั้นเหนือพระที่นั่งมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยหลายอย่างด้วยกัน เช่น หุ้มทองที่คันและซี่ฉัตร หุ้มทองลงยาราชาวดีที่กำพูฉัตรและยอดฉัตร ในวันเดียวกับการจารึกพระสุพรรณบัฏของพระองค์และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 23941 ภายหลังเมื่อทรงพระราชดำริว่าผ้าที่ใช้ทำพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรเป็นผ้าตาดขาวทำให้เศวตฉัตรด้อยค่า ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนให้เป็นหุ้มผ้าขาว2 ในพระราชพิธีทรงเปลี่ยนผ้าพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรแล้วยกขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 23963

อนึ่ง ยังมีความเชื่อสืบต่อมาว่ามีเทพยดาสิงสถิตอยู่ในกำพูของพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร คอยอภิบาลรักษาสวัสดิภาพของพระมหากษัตริย์ เรียกว่า “เทพยดาประจำกำพูฉัตร” คตินิยมดังกล่าวอาจมีที่มาจากอินเดียซึ่งเชื่อว่า พระศรีหรือพระลักษมี เทวนารีแห่งความมั่งคั่งและโชคลาภ ทรงสิงสถิตอยู่ในเศวตฉัตร4 ซึ่งยังสะท้อนให้เห็นในคัมภีร์พุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างอรรถกถาเตมียชาดก กล่าวถึงเทพธิดาสถิตในเศวตฉัตร ผู้เคยเป็นพระชนนีของพระเตมีย์ในอดีตชาติ5 หรือไม่เช่นนั้นก็อาจสืบคตินิยมมาจากกัมพูชา ดังปรากฏในจารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จารเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ใจความสำคัญกล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ. 1345 – 1377) ทรงสถาปนา “พระเทวราช” หรือพระกัมรเตงชคัตราช อันมีความหมายว่า “ราชาแห่งปวงเทพ” เมื่อทรงปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าจักรพรรดิใน พ.ศ. 1345 เป็นเทพยดาที่ไม่ปรากฏรูปเคารพเช่นเดียวกับเทพยดาประจำกำพูฉัตรของไทยและกัมพูชาในปัจจุบัน6  โดยให้เป็นใหญ่กว่าเทพยดาทั้งปวงในอาณาจักรกัมพูชา และเพื่อผนวกพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กับพระเทวราชเข้าด้วยกัน

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรกางกั้นเหนือพระแท่นราชบัลลังก์ ภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง (ม.ร.ว. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง, เล่ม 1: น. 12)

จากคตินิยมข้างต้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริริเริ่มให้สร้างรูป “เทพยดารับกำพูพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร” เป็นรูปเทพยดาในท่าเหาะ ทำจากทองคำลงยาราชาวดีประดับอัญมณี พระหัตถ์ข้างหนึ่งทรงถือพระขรรค์ พระหัตถ์อีกข้างยกขึ้นเสมอพระเศียรกำก้านโลหะอันสอดตรึงไว้กับคันฉัตรใต้กำพู ทรงเชิญเทพยดาประจำกำพูพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรมาสิงสถิตในรูปเทวดานั้น คราวเดียวกับที่ทรงสร้างรูปเทพยดานามว่าพระราชบันฦๅธารและพระราชมุทธาธรเมื่อต้นรัชกาล7 ปัจจุบันรูปเทพยดาดังกล่าวยังตรึงติดที่กำพูพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และอีกองค์หนึ่งที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว8

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรอันปักกางกั้นเหนือพระที่นั่งมหาเศวตฉัตร และที่แขวนไว้ในพระราชมณเฑียรสถาน จะเชิญลงมาหุ้มผ้าใหม่เมื่อเปลี่ยนรัชกาลเท่านั้น และถือเป็นธรรมเนียมอย่างเคร่งครัดว่าหากยกขึ้นตั้งแล้วจะไม่ลดลงอีกเลยจนตลอดรัชกาล โดยขณะสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เจ้าพนักงานจะได้ยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งอมรินทรวินิจ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ขึ้นพร้อมกันทุกแห่ง9 อย่างไรก็ดี มีกรณีพิเศษซึ่งได้เชิญลงมาก่อนสิ้นรัชกาลเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนผ้าพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรใหม่ใน พ.ศ. 2396

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรใช้ปักหรือแขวน ณ สถานที่ หรือในกรณีดังต่อไปนี้

ปักเหนือพระที่นั่งมหาเศวตฉัตร พระแท่น หรือพระราชอาสน์สำคัญ เช่น พระที่นั่งมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งภัทรบิฐในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งมหาเศวตฉัตรประดับมุกในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งพุดตานถมบรมราชอาสน์ในท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งมนังคศิลาอาสน์ในท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต พระที่นั่งมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอิน และพระแท่นในพลับพลาจัตุรมุข พระราชวังจันทรเกษม จ.พระนครศรีอยุธยา พระแท่นมนังคศิลาอาสน์ ในพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง เป็นต้น

พระกรรภิรมย์เศวตฉัตร คือ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่พราหมณ์ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
(ที่มา: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ปักเหนือพระราชอาสน์สำคัญเป็นการชั่วคราวเมื่อเสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีใหญ่ เช่น การเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งชัยมังคลาภิเษก มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และพระที่นั่งกาญจนาภิเษก มณฑลพิธีท้องสนามหลวงในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2539 เป็นต้น

ปักบนยอดพระเมรุมาศ อันเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ปักเหนือพระยานมาศสามลำคาน เหนือพระโกศพระบรมศพ กรณีนี้จะใช้ฉัตรคันดาลเพื่อให้ศูนย์กลางของฉัตรอยู่ตรงกับยอดพระโกศพระบรมศพ

ปักเหนือพระโกศพระบรมศพ เมื่อเชิญจากพระยานมาศสามลำคานหรือราชรถปืนใหญ่ขึ้นประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถด้วยเกรินบันไดนาค กรณีนี้จะใช้ฉัตรคันดาลเช่นกันแต่มีขนาดเล็กกว่าที่ใช้บนพระยานมาศสามลำคานปักที่ท้ายเกริน

ปักเหนือพระโกศพระบรมอัฐิ โดยกรุระบายฉัตรเป็นผ้าขาวไว้ภายในสุวรรณฉัตร 9 ชั้นฉลุลาย ปักเหนือยอดฝาพระโกศพระบรมอัฐิเมื่อเวลาเชิญประดิษฐานในการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน

แขวนเหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์ คือ พระแท่นบรรทมภายในห้องพระฉากด้านทิศเหนือของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก

แขวนเหนือพระแท่นในห้องทรงเครื่อง คือ พระแท่นในห้องพระฉากด้านทิศใต้ภายในห้องทรงเครื่องพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก ตรงข้ามกับพระแท่นราชบรรจถรณ์ในห้องพระบรรทม

แขวนเหนือพระโกศพระบรมศพ เมื่อประดิษฐานพระบรมศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หรือบนพระเบญจาภายในพระเมรุมาศ

แขวนสุมพระบรมอัฐิในพระเมรุมาศ หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาจะได้เชิญพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรแขวนสุมพระบรมอัฐิ

แขวนเหนือพระบรมรูป เป็นต้นว่าพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในปราสาทพระเทพบิดร


อ้างอิง

1 ห้องเอกสารตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติ, “เรื่องถวายทองก้อน,” จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4, หนังสือสมุดไทยดำ, อักษรไทย, ภาษาไทย, เส้นดินสอ, จ.ศ. ไม่ปรากฏ, เลขที่ 263.

2 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สาส์นสมเด็จ, เล่ม 20: น. 218.

3 ประกาศพระราชพิธีของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์, เล่ม 1: น. 149 – 151.

4 J. Gonda, Ancient Indian Kingship from the Religious Point of View, p. 37.

5 หมวดธรรมะ, 2545, “อรรถกถาเตมิยชาดกว่าด้วยพระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี,” http://www.84000.org/tipitaka/attha/jataka.php?i=280394 (สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2560).

6 Claude Jacques, 2007, The Khmer Empire: Cities and Sancturies from the 5th to the 13th Century (Bangkok: River Books), p. 19.

7 ประกาศพระราชพิธีของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์, เล่ม 1: น. 163 – 164.

8นอกจากนี้ ยังมีรูปเทวดาดังกล่าวอีกองค์หนึ่งซึ่งปัจจุบันจัดแสดงในห้องมหรรฆภัณฑ์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สันนิษฐานว่าเคยเป็นรูปเทวดารับกำพูสัปตปฎลเศวตฉัตรประจำท้องพระโรงพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสร้างพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นกรณีพิเศษ ดังปรากฏในภาพถ่ายโบราณ โปรดดูภาพประกอบใน ม.ร.ว. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ, 2555, สถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม, 2 เล่ม (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ), เล่ม 1: น.176: ภาพที่ 1.

9 จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2466 (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิรรฒธนากร), น. 29. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หอพระสมุดสำหรับพระนครรวบรวมพิมพ์พระราชทานในงารเฉลิมพระชนม์พรรษา ปีกุญ พ.ศ. 2466); พระยาประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รามนันทน์), 2492, จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2468 (พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม), น. 23. (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นที่ระลึก ในการเชิฐพระบรมอัสถิเสด็จคืนเข้าสู่พระนคร พ.ศ. 2492).