“เมืองใดไม่มีกวีแก้ว เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม” ความเข้าใจผิดเรื่องพระราชนิพนธ์ในร.6

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีการสอนเรื่องการเขียนเชิงวิชาการ ซึ่งต้องมีระบบอ้างอิงเอกสารที่นำมาใช้ประกอบการเขียน โดยนิยมทำกันในสองลักษณะ คืออ้างอิงท้ายหน้า กับอ้างอิงท้ายเรื่อง ที่เรียกกันว่า เชิงอรรถและบรรณานุกรม

แต่ผู้เรียนหลายคนอาจสงสัยไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องมีการอ้างอิง เพราะเรื่องหัวใจสำคัญของการอ้างอิงกลับไม่มีปรากฏในบทเรียน คือไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าอ้างอิงไปทำไม เสมือนว่าผู้เรียนและผู้สอนต่างรู้คำตอบอยู่แล้ว แต่เอาเข้าจริงอาจไม่รู้ก็เป็นได้

การอ้างอิงไม่น่าจะมีอยู่เพียงเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจจะสืบค้นเรื่องราวต่อไป หรือเพียงเพื่ออวดอ้างว่าผู้เขียนมีการศึกษาค้นคว้ามาอย่างดีเท่านั้น แท้จริงการอ้างอิงยังแสดงถึงความเคารพในภูมิปัญญา การให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีผู้คิดผู้เขียนไว้ก่อนหน้า เมื่อเราคิดเหมือนหรือคิดต่างไปอย่างไรก็นำมาประกอบกันไว้ได้ เพื่อให้มองเห็นทิศทางและเกิดความงอกงามของความคิดไปทางอื่นๆ ได้อีกหลายทาง ดังนั้นหัวใจของการอ้างอิงจึงน่าจะหมายถึงการเคารพในภูมิปัญญาของกันและกัน เป็นเรื่องของวัฒนธรรมซึ่งต้องมีการปลูกฝังทำความเข้าใจ และถือปฏิบัติจนกลายเป็นวิถีการดำเนินชีวิต

ทุกวันนี้ในโทรทัศน์ตอนเช้าตรู่หรือยามดึกดื่น จะเห็นมีนักร้องมีชื่อเสียงมากมายมาเรียงแถวหน้ากระดานร้องเพลงไพเราะ เหมือนจะปลุกใจอะไรสักอย่างในสังคมที่เต็มไปด้วยความฉาบฉวยนี้ แต่บทเพลงที่ร้องกลับไม่ค่อยมีใครทราบชื่อผู้ประพันธ์ ตัวอย่างเช่น

เมืองใดไม่มีทหารหาญ     เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า
เมืองใดไร้จอมพารา        เมืองนั้นไม่ช้าอับจน
เมืองใดไม่มีพณิชเลิศ      เมืองนั้นย่อมเกิดขัดสน
เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ      เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม
เมืองใดไม่มีกวีแก้ว        เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม
เมืองใดไร้นารีงาม         เมืองนั้นสิ้นความภูมิใจ
เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ     เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย
เมืองใดไร้ธรรมอำไพ      เมืองนั้นบรรลัยแน่นอน

ผู้เขียนเคยถามใครหลายคน ก็บอกฟังแล้วคุ้นหู แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าใครคือผู้ประพันธ์เพลงนี้ แม้แต่ในแบบเรียนภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งสอนเรื่องการเขียนแบบที่ต้องมีระบบการอ้างอิง แต่นักวิชาการผู้เขียนแบบเรียนชุดนี้เอง กลับไม่ได้ระบุว่าบทประพันธ์ข้างต้นที่นำมาอ้างไว้ในบทเรียนเรื่อง “ฟังให้เกิดวิจารณญาณ” นั้นเป็นบทประพันธ์ของผู้ใด ระบุไว้เพียงว่าเป็นงานประพันธ์ที่อ่านทางวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น (กรมวิชาการ 2543, น. 72)

แต่เนื่องจากบทประพันธ์ดังกล่าวนี้มีลักษณะเด่นทั้งทางวรรณศิลป์และแนวคิด ทำให้มักมีคนสงสัยใคร่รู้ว่าใครคือผู้ประพันธ์ ที่น่าแปลกคือ เกิดความเข้าใจผิดคิดกันไปว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสามเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6

ผู้เขียนเคยสอบถามไปที่อาจารย์ด้านวรรณกรรมไทยในมหาวิทยาลัยถึงสองท่านด้วยกัน ปรากฏว่าอาจารย์ทั้งสองท่านไม่ทราบว่าผู้ใดประพันธ์ไว้เมื่อใด และต่างก็คาดเดาอย่างเดียวกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ผู้เขียนจึงไปค้นคว้าดูที่ห้องสมุด ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ และด้วยความเกื้อกูลจากเจ้าหน้าที่ที่นั่น ได้พบว่ามีความเข้าใจผิดเช่นนี้มานานแล้ว และมีบุรุษนิรนามส่งบทร้อยกรองนี้ไปให้บรรณาธิการตีพิมพ์ในหนังสือ “สามมุข” เล่มที่ 51 ในชื่อบทร้อยกรองว่า “เมืองใดไร้ธรรม” ระบุในตอนท้ายว่าเป็น “พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6” ยิ่งเท่ากับสร้างความสับสนให้กับมวลชนไปอีกยกใหญ่

แท้จริงบทร้อยกรองนี้มีชื่อว่า “หัวใจเมือง” ผู้ประพันธ์คือถนอม อัครเศรณี ใช้นามปากกาว่า “อัครรักษ์” และเป็นคนเดียวกันกับที่ใช้นามปากกาว่า “ศิราณี” นักตอบปัญหาชีวิตชื่อดังในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้กรุณาเขียนชี้แจงความจริงไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 มีเนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า “คุณถนอม อัครเศรณี เป็นผู้ประพันธ์บทให้แก่โรงเรียนประจำอำเภอบ้านโป่ง ประมาณ 35 ปีมาแล้ว” (ปิ่น มาลากุล, 2527)

นับถอยหลังไป 35 ปี จากปี 2527 เห็นว่าน่าจะแต่งขึ้นในราวปี พ.ศ. 2492

พอในราวปี 2519-2520 ถนอม อัครเศรณี ผู้ประพันธ์เองตกใจมาก เมื่อได้ยินบทร้อยกรองของตัวเองออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุเป็นบทเพลง โดยมีการอ้างอิงว่าสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงพระราชนิพนธ์ การณ์นี้ทำให้ถนอม อัครเศรณี คับข้องใจถึงกับเขียนจดหมายถึงเพื่อนคือ “อิงอร” ซึ่งเป็นเจ้าของคอลัมน์ “พระอาทิตย์ชิงดวง” ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และ “อิงอร” ได้นำจดหมายของถนอม อัครเศรณี ฉบับนั้นมาตีพิมพ์ในคอลัมน์ดังกล่าว มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า

“บทกลอนของผมนั้นเปรียบได้เพียงเศษธุลี เป็นละอองธุลีพระบาทของบทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่าน เมื่อมีเหตุการณ์ทำให้ประชาชนเกิดความสำคัญผิดพลาดเช่นนี้ ขืนเพิกเฉยต่อไปมิเท่ากับว่าผมปล่อยให้ราคีเกิดแปดเปื้อนแก่บทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่านด้วความมิบังควรเช่นนั้นละหรือ? ช่วยชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจความเป็นจริงโดยถูกต้องด้วยเถิด” (ถนอมอัครเศรณี, อ้างในอิงอร, 2527, น. 9)

เหตุที่เกิดความสับสนเรื่องการอ้างอิงขึ้นนั้น เพราะก่อนหน้านี้หลายปีถนอม อัครเศรณี ซึ่งเป็นเพื่อนกับสง่า อารัมภีร นักประพันธ์ทำนองเพลง ได้มอบบทร้อยกรองให้ไปใส่ทำนองเพลง 3-4 ชิ้น รวมทั้งบท “หัวใจเมือง” นี้ด้วย แต่คงเป็นด้วยระยะเวลาที่ฝากไว้เนิ่นนาน

จนเมื่อในงานวันวชิราวุธานุสรณ์มีการจัดประกวดเพลงจากคำร้องบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ สง่า อารัมภีร เกิดจำผิดพลาดและได้นำมาใส่ทำนองเพื่อส่งเข้าประกวด ทำให้ผิดกติกาไปเพราะไม่ใช้บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ถ้าหากไม่ผิดกติกาด้วยเหตุนี้ก็อาจได้รางวัล ด้วยจังหวะและท่วงทำนองอันสอดคล้องเหมาะดี

สง่า อารัมภีร ผู้ประพันธ์ทำนองเพลง “เมืองกังวล” เข้าประกวดในงานวชิราวุธานุสรณ์ แต่ไม่ได้ส่งประกวด เพราะ “ไม่ใช่งานพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖”

ที่นำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ทั้งหมดนี้ เพราะถึงทุกวันนี้ยังมีผู้เข้าใจผิดกันอยู่อีกมาก และไม่ใช่เพียงแค่จะบอกว่าการอ้างอิงไม่ชัดเจนทำให้เกิดผลเสียหายแก่ใครอย่างไรเท่านั้น ที่สำคัญอย่างยิ่งคืออยากจะบอกว่าความเคารพในภูมิปัญญาเป็นหัวใจของการอ้างอิง และสมควรจะปลูกฝังจนก่อให้เกิดการกระทำอย่างเป็นวัฒนธรรมในสังคม และโดยนิสัยของบุคคล

น่าคิดว่าต้นฉบับที่ถนอม อัครเศรณี ส่งมอบให้สง่า อารัมภีร ไปก่อนนั้น ได้ระบุชื่อผู้ประพันธ์ไว้ชัดเจนหรือไม่ หรืออาจระบุแต่ผิดพลาดที่การคัดลอกอย่างหนึ่งอย่างใด ยิ่งเมื่อผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเสียชีวิตไปแล้วเช่นนี้ ก็ยิ่งยากแก่การสืบค้นบอกเล่า

การอ้างอิงที่ชัดเจนจึงเป็นประโยชน์แก่ที่มาที่ไป รวมความถึงการแสดงออกซึ่งความเคารพในภูมิปัญญาของตนและคนรอบข้าง อันเป็นวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การสร้างเสริมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กรกฎาคม 2560